เวลาที่หมุนเร็วขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

เวลาที่หมุนเร็วขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

ตอนนี้ได้ย่างเข้าเดือนที่ 3 ของปี 2567 แล้ว มีความรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วหรือไม่? เหมือนจะเพิ่งฉลองปีใหม่เมื่อไม่นานมานี้ และก็เพิ่งไปไหว้บรรพบุรุษเนื่องในเทศกาลตรุษจีนอยู่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ขณะเดียวกันอีกไม่นานก็จะเข้าช่วงสงกรานต์อีกแล้ว

ทุกท่านคงทราบว่าจริงๆ แล้วเวลาบนโลกนี้ก็เดินอย่างสม่ำเสมอและเป็นปกติมาเหมือนในอดีต เพียงแต่เมื่อคนอายุมากขึ้น ก็จะมีความรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ

ท่านผู้อ่านยังจำสมัยเยาว์วัยที่จะมีความรู้สึกว่า เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกินกว่าจะหมดแต่ละเทอมการศึกษาก็ใช้เวลานานแสนนาน แต่ในปัจจุบันเมื่อท่านอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีความรู้สึกว่าเวลาเพียงแค่ 2-3 เดือน เดี๋ยวก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ความรู้สึกที่ว่าเมื่ออายุมากขึ้น เวลาจะหมุนไปเร็วขึ้นเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เป็นกันทั่วโลก และนักวิชาการก็พยายามหาสาเหตุ โดยมีการวิจัยต่างๆ ออกมา และพบว่าพอจะมีสาเหตุที่อธิบายได้ง่ายๆ อยู่สองสาเหตุ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของการรับรู้และความรู้สึกของคนเป็นหลัก โดยเวลาที่แท้จริงนั้นยังคงเดินอยู่ด้วยความเร็วเท่าเดิม

สาเหตุแรกมาจากเรื่องของการเปรียบเทียบ นั้นคือเมื่อมีอายุมากขึ้นเวลาที่เหลืออยู่จะน้อยลง ดังนั้น ความรู้สึกและการรับรู้ต่อเรื่องเวลาของเราก็จะเปลี่ยนไป โดยเป็นลักษณะของการเปรียบเทียบระหว่างเวลาที่ผ่านไปกับเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิต

เมื่อยังเด็ก จะมีความรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากการเปรียบเทียบกับเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิต ในขณะที่เมื่ออายุมากขึ้นเวลาที่เหลืออยู่ลดน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบเวลาที่ผ่านไปแต่ละวันหรือแต่ละปีแล้วจะรู้สึกว่าผ่านไปอย่างรวดเร็ว

สมมติว่าอายุเฉลี่ยของคนอยู่ที่ 70 สำหรับเด็กอายุ 10 ขวบแล้ว ยังเหลือเวลาอยู่อีกตั้ง 60 ปี ดังนั้น เวลาที่ผ่านไป 1 ปี คือผ่านไปแค่ 1/70 หรือ 1.6% ของชีวิตที่ยังเหลืออยู่ ขณะที่ผู้ใหญ่อายุ 50 จะมีเวลาเหลืออยู่แค่ 20 ปี เวลา 1 ปีที่ผ่านไปจึงเท่ากับ 5% ของเวลาที่เหลืออยู่

ดังนั้น การเปรียบเทียบดังกล่าวจึงทำให้รู้สึกและรับรู้ว่าเมื่ออายุมากขึ้น เวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วขึ้น

ข้อแนะนำนอกจากการหยุดการเปรียบเทียบแล้วก็คือ การพยายามอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด ทั้งการให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ หรือบุคคลที่กำลังพูดคุยด้วย ไม่ต้องคิดถึงอนาคตที่ไกลเกินไป เพราะเมื่ออายุมากขึ้นก็จะพบว่าอนาคตข้างหน้านั้นสั้นลงกว่าเมื่อยังเยาว์วัย

สาเหตุประการที่สองมาจากความคุ้นเคย เมื่ออายุมากขึ้น จะผ่านประสบการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ มาอย่างมากมาย สิ่งต่างๆ ที่พบเจอในแต่ละวันจึงยากจะเป็นเรื่องใหม่ แต่จะกลายเป็นสิ่งเดิมๆ เป็นเรื่องประจำที่ทำเป็นประจำมาตลอด

เวลาที่หมุนเร็วขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

โดยมีการทดลองที่พบว่าการทำแต่เรื่องเดิมๆ ที่คุ้นเคย สมองจะไม่ได้มีการบันทึกเรื่องราวดังกล่าวลงไปในความทรงจำ (เนื่องจากเคยบันทึกไว้แล้ว) ทำให้การทำเรื่องเดิมๆ ที่คุ้นเคย ทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว (ลองย้อนนึกถึงช่วงโควิดที่ผ่านมา ที่ทุกคนต้องอยู่บ้าน และใช้ชีวิตแบบเดิมๆ จะมีความรู้สึกว่าเวลาได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว)

 แต่ถ้ามีการทำสิ่งใหม่ พบประสบการณ์ใหม่ สมองจะบันทึกเรื่องราวใหม่ๆ เข้าไปในความทรงจำและทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับว่าใช้เวลานานและเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า

ตัวอย่างง่ายสุดคือเมื่อนั่งรถหรือเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ ในเที่ยวขาไป จะมีความรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างยาวนาน ในขณะที่ในเที่ยวขากลับนั้นจะมีความรู้สึกว่าเร็วกว่าขาไป ทั้งนี้เนื่องจากขากลับมีความคุ้นเคยกับทิวทัศน์และเส้นทางแล้วจึงทำให้รู้สึกว่าเร็วขึ้น

ดังนั้น สำหรับผู้ใหญ่แล้วการได้มีโอกาสเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะจะเป็นการทำให้สมองรับรู้และจดบันทึกในเรื่องใหม่ๆ และทำให้รู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้าลงกว่าการใช้ชีวิตเหมือนๆ เดิมในทุกๆ วัน

สรุปแล้วเมื่ออายุมากขึ้น เวลาไม่ได้หมุนเร็วขึ้น แต่ความรู้สึกดังกล่าวมาจากการรับรู้ของแต่ละคน และเมื่อเข้าใจสาเหตุของการรับรู้ที่บิดเบือนไปดังกล่าวก็สามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นการอยู่กับปัจจุบัน และการแสวงหาสิ่งใหม่ๆ.