โลกการทำงานถูก AI ดิสรัปต์ วัยทำงานอยากอยู่รอด ต้องเพิ่มทักษะอะไรบ้าง?

โลกการทำงานถูก AI ดิสรัปต์ วัยทำงานอยากอยู่รอด ต้องเพิ่มทักษะอะไรบ้าง?

เมื่อโลกการทำงานกำลังถูก AI ดิสรัปต์ หลายองค์​กรต้องการ "แรงงาน" ที่มีทักษะใหม่ๆ มากขึ้น แล้ว "วัยทำงาน" ยุคใหม่ควรเพิ่มทักษะอะไรบ้าง เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

KEY

POINTS

  • แรงงานยุคนี้อยู่ในยุค Digital economy เป็นโลกของการทำงานที่มีทั้งความเสี่ยงและโอกาสเข้ามาพร้อมกัน
  • ในมุมผู้ประกอบการ คนไทยเก่งเรื่อง Creativity หากนำมาบวกกับเทคโนโลยีดิจิทัล แล้วทำสินค้าหรือบริการในแบบฉบับของเราเอง ก็จะแข่งขันกับนานาชาติได้
  • ขณะที่ในมุมแรงงาน ตอนนี้ไทยมีแรงงานทักษะสูงน้อยมาก หากแรงงานอยากอยู่รอดในยุค AI ก็ต้องเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้ตนเองมากขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “โลกการทำงาน” ในยุคนี้กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง จากการถูกดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยี AI ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่า นี่อาจเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งของโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ “แรงงาน” อย่างแน่นอน เพราะองค์กรหรือเจ้าของธุรกิจต่างๆ ย่อมมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่าแรงงานทั่วไป

แล้วแบบนี้ “วัยทำงาน” จะมีวิธีปรับตัวเพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานยุคใหม่ได้อย่างไร และควรเพิ่มทักษะอะไรให้ตนเองบ้างเพื่อให้อยู่รอดในตลาดงาน?

ยุค Digital economy มีความเสี่ยง แต่ก็มีโอกาส! แรงงาน-องค์กร ต้องปรับตัวให้พร้อม

“ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล” กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง “Skooldio” ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ให้บริการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับวัยทำงาน ได้ตอบข้อสงสัยดังกล่าวบนเวทีเสวนา Research and Policy Dialogue #8 ในหัวข้อ ‘ถอดรหัสอนาคตแรงงานไทย’ จัดขึ้นโดย 101 PUB ร่วมกับ สกสว. เมื่อไม่กี่วันก่อน ซึ่งได้แชร์มุมมองความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ไว้ว่า 

แรงงานยุคนี้อยู่ในยุคที่เรียกว่า Digital economy เป็นยุคที่เศรษฐกิจทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลมากขึ้น ทุกธุรกิจนำดิจิทัลเข้ามาใช้ เพราะมันคือทางรอดไม่ใช่แค่ทางเลือก ซึ่งโลกของการทำงานในยุคนี้ก็มีทั้งความเสี่ยงและโอกาสเข้ามาพร้อมกัน 

โลกการทำงานถูก AI ดิสรัปต์ วัยทำงานอยากอยู่รอด ต้องเพิ่มทักษะอะไรบ้าง?

ในมุมของความเสี่ยงก็คือ ตอนนี้คนไทยใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลผ่าน “แพลตฟอร์มออนไลน์” แบบสมัครสมาชิกอยู่มากมาย ดูได้จากแอปฯ ในสมาร์ทโฟนของทุกคน จะเห็นว่ามีการจ่ายค่าบริการให้แอปฯ เหล่านี้ทุกเดือน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติทั้งนั้น เงินคนไทยกำลังไหลออกให้ต่างชาติหมด ยกเว้นแอปฯ ธนาคารแบงกิ้ง ที่ตอนนี้คนไทยยังใช้ของไทยอยู่ (แต่อีกไม่นานแบงก์ต่างชาติก็กำลังจะเข้ามาบุกไทยแล้ว) สิ่งเหล่านี้คือความเสี่ยงอย่างจริงจัง เพราะไทยเรายังทำแบบนั้นไม่ได้ 

แต่ในความเสี่ยงก็มีโอกาส ในยุค Digital economy มีโอกาสรออยู่เยอะมาก เพราะทุกๆ ธุรกิจสามารถเป็น Global Company ได้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำ สตาร์ทอัพหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จในตอนนี้ ล้วนเกิดจากเด็กรุ่นใหม่นั่งเขียนโปรแกรมในห้องนอน แล้วกดปุ่มเผยแพร่ออกไป อยู่ดีๆ คนทั่วโลกก็ชื่นชอบและให้การสนับสนุน นั่นแปลว่าทุกธุรกิจที่นำดิจิทัลเข้ามาใช้ล้วนมีโอกาสเติบโตได้เยอะมากในยุคนี้ 

ไม่เหมือนยุคก่อนที่กว่าจะเป็น Global Company ได้ ต้องเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเยอะ ต้องมีซัพพลายเชนไปทั่วโลก เพื่อให้ขายของส่งออกไปต่างประเทศได้ แต่ทุกวันนี้วัยทำงานคนรุ่นใหม่สามารถทำแอปฯ ทำซอฟต์แวร์ แล้วกดปุ่มเดียว ก็สามารถไปเวิลด์ไวด์ได้ทันที แม้ว่าตอนนี้ไทยยังอาจไปไม่ถึงจุดนั้น แต่เราก็มีซอฟต์พาวเวอร์หลายอย่าง ตรงนี้มีนัยยะที่คนไทยเอาไปใช้ต่อยอดในเชิงความคิดสร้างสรรค์ได้

“ผมมองว่าคนไทยเราเก่งเรื่อง Creativity เราชนะต่างชาติเรื่องนี้ได้ เรามีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเลิศมากๆ ส่วนเรื่อง Deep Tech ถ้าเราไปถึงจุดนั้นได้ก็ดี แต่ระหว่างที่ประเทศเราอาจยังไปไม่ถึงจุดนั้นเร็วๆ นี้ ระหว่างนั้นเราสวมหมวกเป็น “ผู้ใช้งาน” เทคโนโลยี (User) แล้วเอา Creativity บวกเข้าไป เราก็ทำสินค้าหรือบริการในแบบฉบับของเรา สร้างเป็นนวัตกรรมของเราได้ ซึ่งผมเชื่อว่าเราจะเอาสิ่งนี้ไปแข่งขันกับนานาชาติได้” ดร.วิโรจน์ กล่าว 

เมื่อยุคนี้เป็นยุคที่มีทั้งความเสี่ยงและมีโอกาสในเวลาเดียวกัน ดังนั้น สิ่งที่ทุกองค์กรต้องทำให้ได้ก็คือ การเตรียมแรงงานให้มีทักษะเพียงพอที่จะพัฒนาองค์กรหรือธุรกิจไปแข่งขันในระดับนานาชาติได้

โลกการทำงานถูก AI ดิสรัปต์ วัยทำงานอยากอยู่รอด ต้องเพิ่มทักษะอะไรบ้าง?

ไทยควรพัฒนาแรงงานทักษะสูงอย่างไรให้แข่งขันในตลาดโลกได้ ในขณะที่แรงงานเวียดนามเริ่มเข้ามาแย่งงาน

คำถามต่อมาคือ เราควรจะทำธุรกิจอย่างไร ควรจะมีแรงงานแบบไหน ที่จะนำพาธุรกิจของไทยเติบโตไปในจุดนั้นได้? ขณะที่ตอนนี้แรงงานไทยทักษะสูงมีอยู่น้อยมาก โดยพบว่าบริษัทใหญ่ๆ บางแห่งในไทย หันไปใช้ Outsource แรงงานต่างชาติจากเวียดนามก็มี 

“ตอนนี้บริษัทด้านเทคฯ ในไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน หลายบริษัทที่จำเป็นต้องใช้คนไอทีเยอะๆ ต้องใช้นักพัฒนาโปรแกรมเยอะๆ ทุกที่บ่นหมดว่าคนไม่พอ กลายเป็นว่าตอนนี้ Outsource จากเวียดนามรวยมาก ด้วยว่าคนไทยหลายบริษัทไปจ้าง เพราะแรงงานไทยมีไม่พอ ช่วงนี้ผมเห็นบ่อยๆ ว่ามีบริษัทเวียดนามส่งอีเมลเข้ามาถามเลยว่าบริษัทคุณขาดแรงงานด้านนี้ๆ หรือไม่ สนใจจ้างงานแรงงานของเขาหรือเปล่า ผมมองว่าตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะวันนี้เราอยู่ในยุคแห่ง Digital economy แต่ไทยกลับยังไม่มีแรงงานด้านนี้ที่เพียงพอ” ดร.วิโรจน์ เล่าให้เห็นภาพแรงงานไทยที่ขาดแคลน

ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท “Skooldio” เล่าต่อว่า สิ่งที่เศร้าที่สุดคือ แม้ไทยเรากำลังขาดแคลนแรงงานทักษะสูงหนักมาก แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่ามีเด็กจบใหม่ในสาขาวิศวะคอมพิวเตอร์กำลังตกงาน ทำไมสองเรื่องนี้เกิดขึ้นพร้อมกันได้? เพราะส่วนที่หายไปตรงกลางคือคำว่า “คุณภาพ” บริษัทหาคนที่เก่ง แต่แรงงานไทยไม่เก่งพอที่จะทำงานนั้น จึงตกงาน 

สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นจากหลักสูตรการศึกษาของไทยยังก้าวไม่ทันกับสิ่งที่ตลาดงานต้องการ และสิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับมากๆ เลยก็คือ เทคโนโลยีเหล่านี้มันเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่เคยเป็นมา ก็เป็นการยากที่โรงเรียน สถาบัน และมหาวิทยาลัยต่างๆ จะผลิตเด็กที่เก่งๆ ในสายงานเหล่านี้ออกมาได้ทัน อีกทั้งสิ่งที่ตลาดงานต้องการจากแรงงานในยุคนี้ก็เปลี่ยนไปจากเดิม พอสถานการณ์โลกเปลี่ยนเร็ว ความต้องการแรงงานก็เปลี่ยนเร็วตาม องค์กรต่างๆ ต้องการคนที่มี Skill Based economy 

“อย่างตอนนี้ AI เริ่มเข้ามา ทุกธุรกิจก็ต้องปรับตัวตามเทคโนโลยี อยู่ดีๆ บริษัทก็อยากได้พนักงานตำแหน่ง Prompt Engineer หรือตำแหน่ง Self-driving Car Engineer ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งองค์กรยุคนี้คาดหวังให้พนักงานสายนี้ต้องรู้เครื่องกลนะ ต้องรู้ไฟฟ้า หรืออาจต้องการคนที่เขียนโปรแกรมสั่ง AI ให้ทำงานได้ด้วย ภาคองค์กรบริษัทต่างๆ จะเริ่มมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะหลากหลายและผสมผสานกันไปหมด เพราะฉะนั้นเรื่อง skill Based จึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากทักษะทั้งด้าน Hard skill ก็ต้องมีทักษะ Soft skill ด้วย” 

โลกการทำงานถูก AI ดิสรัปต์ วัยทำงานอยากอยู่รอด ต้องเพิ่มทักษะอะไรบ้าง?

แรงงานไทยในยุค AI ควรปรับตัวและเพิ่มทักษะอะไรบ้าง? เพื่อให้อยู่รอดในตลาดงานที่ต้องการคนสายเทคฯ มากขึ้น

โดยสรุป ดร.วิโรจน์ แนะนำว่า การที่แรงงานจะอยู่รอดในตลาดงานยุคใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วให้ได้นั้น ต้องมีการปรับตัวและต้องมีทักษะการทำงานที่ดีไปได้ยาวนานตลอดชีวิต (Lifetime Employability Skills) เพื่อที่จะถูกจ้างงานได้ตลอดชีวิต ซึ่งทักษะที่แรงงานทุกคนควรมี แบ่งเป็น 3 หมวดหลักๆ ได้แก่ 

1. Enduring Human Skill ทักษะความเป็นมนุษย์ที่ AI ไม่สามารถแทนที่ได้ 

เมื่อคนเรามีทักษะนี้แล้วก็จะนำมาใช้ได้ตลอดไป เช่น Creative thinking หรือทักษะด้านการคิดวิเคราะห์กลั่นกรองข้อมูล การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการเขียนคำสั่ง Promp ให้ออกมาได้ดี รวมถึงสามารถแยกแยะข้อมูลจริงกับข้อมูลปลอมได้ แยกแยะ FakeNews ได้ นอกจากนี้ก็ควรมี Motivation & Self-awareness หรือ ทักษะในการตระหนักรู้ความสามารถของตนเอง รู้ว่าตัวเองเก่งหรือถนัดด้านไหน ด้านไหนที่ไม่เก่งก็จะได้พัฒนาเพิ่มเติม สร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมไปถึง Leadership & Social influence หรือ ทักษะการเป็นผู้นำและทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทักษะกลุ่มนี้เป็นทักษะที่สำคัญมากขึ้นยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา 

2. The New Literacy ทักษะความรู้พื้นฐานใหม่ที่ทุกคนต้องมี-ต้องรู้-ต้องทำได้

ทักษะนี้เป็นทักษะด้านการเรียนรู้การใช้งานสิ่งใหม่ ที่แรงงานยุคใหม่จะถูกคาดหวังว่าจะต้องรู้ต้องทำเป็น เช่น การใช้ Excel หรือ การใช้สเปรดชีทในกูเกิล เป็นต้น ยิ่งต่อไปในอนาคตแรงงานก็จะยิ่งต้องรู้การใช้งานสิ่งใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ มากขึ้นไปอีก เช่น การวิเคราะห์ Big Data การใช้งาน AI ในการเก็บข้อมูล การอ่านกราฟข้อมูล การใช้ Tool ต่างๆ ที่จะมาเพิ่ม productivity ได้ ก็ควรต้องรู้และใช้ให้เป็น เพื่อที่คุณจะได้ทำงานเก่งขึ้น และ productive มากขึ้น รวมไปถึงทักษะ Digital Citizens หรือการเป็นพลเมืองยุคดิจิทัล  

3. Advanced Technical Skills ทักษะทางเทคนิคขั้นสูง 

นี่คือทักษะที่จะทำให้ธุรกิจที่ทำอยู่หรือแม้แต่ตัวแรงงานเองไปอยู่ในจุดที่แข่งขันได้ เอาชนะคนอื่นได้ ทักษะในหมวดนี้จะเน้นไปที่ทักษะด้านเทคโนโลยีทั้งหมด ถือเป็นสิ่งที่จะทำให้องค์กรมีความพร้อมในการแข่งขันในตลาดได้ เช่น ทักษะในกลุ่ม Software Development, Cybersecurity, Cloud Computing, AI / Machine Learning, Digital Marketing เป็นต้น 

ทั้งนี้ สำหรับแรงงานที่กังวลเรื่อง AI ก็มีคำแนะนำว่า ไม่ต้องกลัวว่า AI จะเข้ามาแย่งตำแหน่งงาน (Job, Career) ของคนเราไปโดยตรง มันไม่สามารถทำแบบนั้นได้ง่ายๆ เพราะในหนึ่งตำแหน่งงานคนเราทำหลายอย่างหลายขั้นตอนมาก เพียงแต่ AI จะเข้ามาช่วยทำงาน (Task) ในบางขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนหรือมีข้อมูลเยอะๆ เพื่อให้มนุษย์ทำงานง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เพียงแค่ต้องรู้วิธีใช้งานมันให้เป็น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่ช่วยให้เราเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในยุคนี้ได้