ทำความรู้จัก ม่วงเทพรัตน์ ไม้มงคลพระราชทาน พืชถิ่นกำเนิดบนพื้นที่มรดกโลก
ทำความรู้จัก "ม่วงเทพรัตน์" ไม้มงคลพระราชทาน จุดเด่นดอกสีม่วงอมฟ้า เกสรเหลือง กลิ่นหอมอ่อนๆ พืชถิ่นกำเนิดในเกาะ Socotra บนพื้นที่มรดกโลก ในมหาสมุทรอินเดีย ของประเทศเยเมน ส่วนในประเทศไทยปรับปรุงพันธุ์ให้ทนร้อน ทนหนาวก่อนปลูกในอากาศบ้านเราได้
ชวนมาทำความรู้จัก "ม่วงเทพรัตน์" ไม้มงคลพระราชทาน จุดเด่นดอกสีม่วงอมฟ้า เกสรเหลือง กลิ่นหอมอ่อนๆ ซึ่งพืชมีถิ่นกำเนิดในเกาะ Socotra บนพื้นที่มรดกโลก ในมหาสมุทรอินเดีย ของประเทศ Yemen ส่วนในประเทศไทยมีการปรับปรุงพันธุ์ให้ทนร้อน ทนหนาวก่อนปลูกในอากาศบ้านเราได้
ม่วงเทพรัตน์ ไม้มงคลพระราชทาน
- ม่วงเทพรัตน์ (Persian violet) 𝘌𝘹𝘢𝘤𝘶𝘮 𝘢𝘧𝘧𝘪𝘯𝘦 Balf.f. ex Regel
- วงศ์ : GENTIANACEAE
ความเป็นมาของม่วงเทพรัตน์ ในประเทศไทย
ในเดือน มีนาคม พ.ศ. 2551 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานต้น Persian violet ที่ได้รับการถวายมาจากเกาะ Socotra ประเทศเยเมน
ซึ่งมีดอกสีม่วงอมฟ้า เกสรเหลือง และมีใบสีเขียวเข้ม ให้แก่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ (อพ.สธ.) เพื่อปลูกเลี้ยงและทดลองขยายพันธุ์ ในการนี้โครงการฯ ได้ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีความสัมฤทธิผล และไม้ต้นจิ๋วที่ได้สามารถออกดอกในขวดสวยงามแปลกตา
โครงการจึงได้ขอพระราชทานผลิตและจำหน่ายเพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นทุนในการก่อตั้ง "มูลนิธิอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" เนื่องในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 55 พรรษา
โดยผลิตจำนวน 155,000 ขวด จำหน่ายในราคาขวดละ 155 บาท และได้ขอพระราชทานชื่อไทย ให้กับพืชชนิดนี้ โดยได้รับพระราชทานชื่อเรียกไทยว่า "ม่วงเทพรัตน์" ในเดือน กันยายน พ.ศ. 2552
ลักษณะเด่นของ"ม่วงเทพรัตน์"
ไม้ล้มลุก อายุ 1-2 ปี สูงประมาณ 40 ซม. ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ แผ่นใบสีเขียวเข้ม รูปไข่ ยาวไม่เกิน 4 ซม.
ดอกออกเดี่ยวที่ปลายยอด สีม่วงอมฟ้าเข้มและจะซีดลงเมื่อใกล้โรย กลีบดอก 5-6 กลีบ เกสรตัวผู้สีเหลืองที่ปลายมีรู เรียงเป็นมัดอยู่กลางดอก ผลแห้งรูปกระสวยสั้นๆ แต่มักไม่ติดผล
ถิ่นกำเนิดม่วงเทพรัตน์
เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเกาะ Socotra ซึ่งเป็นมรดกโลก ตั้งในมหาสมุทรอินเดีย ของประเทศ Yemen
ด้วยดอกสีฟ้าอมม่วงที่สดใสและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จึงมีการนำไปปรับปรุงพันธุ์ให้ทนร้อน ทนหนาว สีเข้ม สีอ่อน ฯลฯ ให้เข้ากับอากาศบ้านเรา
นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ทั้งไม้พื้นล่าง ไม้กระถางและไม้แขวนทั่วโลก
อ้างอิง-ภาพ : ดร.วีระชัย ณ นคร , กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , อุทยานหลวงราชพฤกษ์ : Royal Park Rajapruek