ปิดตำนาน 43 ปี ‘กัปตันซึบาสะ’ มังงะพลิกโฉมโลกฟุตบอล
ปิดตำนาน 43 ปี ‘กัปตันซึบาสะ’ มังงะพลิกโฉมโลกฟุตบอล โยอิจิ ทาคาฮาชิ ผู้เขียนมังงะเหนือกาลเวลาเรื่องนี้ได้เขียน “ตอนจบ” ในเรื่องราวของ โอโซระ ซึบาสะ ลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Key Points
- มังงะเรื่อง “กัปตันซึบาสะ” นั้นเป็นผลงานเอกของโยอิจิ ทาคาฮาชิ นักเขียนมังงะชาวญี่ปุ่นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ได้ชมศึกฟุตบอลโลก 1978 ซึ่งแข่งขันกันที่ประเทศอาร์เจนตินา
- เรื่องราวการต่อสู้เพื่อชัยชนะในสนามของเด็กๆที่แสนบริสุทธิ์เหล่านี้สร้างความประทับใจให้แก่แฟนๆไม่เพียงเฉพาะในญี่ปุ่น แต่บุกทะลวงถึงใจแฟนบอลทั่วโลกซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่เป็นมังงะฟุตบอลเรื่องแรกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด
- นักเตะผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหลายคนมีซึบาสะเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็น ซีเนอดีน ซีดาน, อเลสซานโดร เดล ปิเอโร หรือแม้แต่ลิโอเนล เมสซี ราชาลูกหนังโลกเองก็ตาม
- การประกาศออกมาตั้งแต่ต้นปี 2024 ว่าเรื่องราวของกัปตันซึบาสะจะยุติลงในนิตยสาร Captain Tsubasa ฉบับที่ 20 ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายที่ญี่ปุ่นไปเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา
“มากันเลยมิซากิ ลูกชิ่งคู่ขาแข้งทอง” ก่อนที่ซึบาสะจะรับบอลกลับมาแล้วง้างเท้าเพื่อเตรียมทำประตูในท่าไม้ตาย
“รับไปเลย ลูกยิงไดรฟ์ชู้ต!”
ประโยคข้างต้นคือส่วนเดียวของภาพความทรงจำที่หวนกลับมาเมื่อคิดถึงเรื่องราวของ “กัปตันซึบาสะ” (Captain Tsubasa) มังงะฟุตบอลที่ดีที่สุดตลอดกาล ที่อยู่คู่กับเด็กๆมายาวนานตั้งแต่ปี 1981 หรือกว่า 43 ปีแล้ว
เพียงแต่เมื่อวานนี้ (4 เมษายน 2024) โยอิจิ ทาคาฮาชิ ผู้เขียนมังงะเหนือกาลเวลาเรื่องนี้ได้เขียน “ตอนจบ” ในเรื่องราวของโอโซระ ซึบาสะลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่เรื่องราวของเด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่บอกกับใครต่อใครเสมอว่า “ฟุตบอลคือเพื่อน” เรามาร่วมเดินทางย้อนเวลาไปด้วยกันถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด
เรื่องราวที่สามารถพลิกโฉมโลกฟุตบอลได้ทั้งใบอย่างน่าอัศจรรย์
กำเนิดซึบาสะ
มังงะเรื่อง “กัปตันซึบาสะ” นั้นเป็นผลงานเอกของโยอิจิ ทาคาฮาชิ นักเขียนมังงะชาวญี่ปุ่นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ได้ชมศึกฟุตบอลโลก 1978 ซึ่งแข่งขันกันที่ประเทศอาร์เจนตินา
ความร้อนแรงของการแข่งขันทำให้ทาคาฮาชิตั้งใจที่จะวาดมังงะฟุตบอล (หรือในญี่ปุ่นเรียกว่า “ซัคก้า”) โดยหวังว่าจะสามารถช่วยเพิ่มความนิยมของกีฬาลูกกลมๆให้เป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่นในบ้านเกิดได้บ้าง เพราะในยุคนั้นชาวญี่ปุ่นนิยมชมชอบกับกีฬาเบสบอลมากกว่าถ้าพูดถึงกีฬาในประเภททีม
แต่ไอเดียของเขาไม่ได้รับการตอบสนองจากกองบรรณาธิการนิตยสารการ์ตูนที่มองว่าฟุตบอลไม่ใช่กีฬาที่ได้รับความนิยมมากพอสำหรับคนทั่วไป ทำให้ทาคาฮาชิต้องใช้ลูกตื้อเป็นระยะเวลาถึง 2-3 ปีกว่าจะได้รับอนุญาตให้วาดมังงะเรื่องนี้ขึ้นมาได้
โดยไอเดียที่ได้รับไฟเขียวนั้น ไม่ใช่เรื่องราวของนักเตะอาชีพระดับซูเปอร์สตาร์ที่โด่งดังแล้ว แต่เป็นไอ้หนูสิงห์นักเตะวัยประถม กับเรื่องราวการผจญภัยผ่านเกมฟุตบอลที่จะได้พบพานกับเพื่อนพ้อง ผองเพื่อน คู่แข่ง การแข่งขันที่ดุเดือดแต่ก็เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
ทาคาฮาชิเชื่อว่าฟุตบอลมีจิตวิญญาณของความ “อิสระ” มีรูปแบบการเล่นไม่ตายตัวเหมือนเบสบอล นั่นทำให้เขาตั้งชื่อตัวเอกของเรื่องว่า โอโซระ ซึบาสะ
โดยคำว่าโซระ (Sora) แปลว่าท้องฟ้า ส่วนซึบาสะ (Tsubasa) แปลว่าปีก ปีกที่โบยบินไปในท้องฟ้าสื่อความหมายถึงคำว่า “อิสระ” อย่างชัดเจน
แรงบันดาลใจและไฟฝัน
มังงะเรื่องกัปตันซึบาสะเริ่มตีพิมพ์ในนิตยสาร “Weekly Shonen Jump” เป็นครั้งแรกในปี 1981 ก็พบกับความยากลำบากอยู่บ้าง แต่ไม่นานนักผู้อ่านก็เริ่มหลงรักกลุ่มเด็กๆที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจของทีมโรงเรียนนันคัตสึ ซึ่งไม่ได้เป็นโรงเรียนที่มีอยู่จริง
ไม่ใช่เพียงแค่ตัวละครเอกอย่างซึบาสะเท่านั้น ยังมีเพื่อนๆอย่าง มิซากิ ทาโร นักเตะจอมพเนจรที่ย้ายโรงเรียนตามคุณพ่อ, เรียว อิชิซากิ กองหลังที่ไม่ได้มีความสามารถหรือพรสวรรค์แต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจไม่ยอมแพ้ใคร ทุ่มเทถึงขั้นใช้หน้าพุ่งรับบอล (ซึ่งในปัจจุบันเป็นเรื่องต้องห้ามไปแล้วเพราะจะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนทางสมอง)
รวมถึงคู่แข่งที่แกร่งสุดๆอย่าง เฮียวงะ โคจิโร แห่งโรงเรียนเมวะ ที่ถือเป็นคู่แข่งคนแรกที่สมน้ำสมเนื้อกับพรสวรรค์ของซึบาสะที่เกิดมาพร้อมพรอันยิ่งใหญ่จนได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็น “Soccer no Mishigo” หรือ “เด็กที่สวรรค์ส่งมาเล่นฟุตบอล”
เรื่องราวการต่อสู้เพื่อชัยชนะในสนามของเด็กๆที่แสนบริสุทธิ์เหล่านี้สร้างความประทับใจให้แก่แฟนๆไม่เพียงเฉพาะในญี่ปุ่น แต่บุกทะลวงถึงใจแฟนบอลทั่วโลกซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่เป็นมังงะฟุตบอลเรื่องแรกที่
ได้รับความนิยมสูงที่สุด ก่อนที่จะมีอีกหลายเรื่องตามมา เช่น Shoot! ยิงประตูสู่ฝัน, อิตโต้ นักเตะจอมบู๊ หรือ Viva Calcio กับเรื่องราวของโย ชีนะ อัจฉริยะที่ไปผจญภัยในกัลโช เซเรีย อา ดินแดนแห่งเทพเจ้าลูกหนังในอิตาลี
ความนิยมที่เพิ่มสูงทำให้ทาคาฮาชิต้องสานต่อเรื่องราวให้ไปไกลขึ้น สู่การแข่งขันในระดับฟุตบอลเยาวชนโลก ซึ่งมีทีมที่แข็งแกร่งจากทั่วโลกเป็นคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นอาร์เจนตินาที่มี ฮวน ดิอาซ นักเตะฟ้าประทานที่มีต้นแบบจาก ดีเอโก มาราโดนา เทพเจ้าลูกหนังอาร์เจนไตน์ที่เก่งที่สุดในโลกเวลานั้น ฝรั่งเศสที่มี เอลซิด ปิแอร์ (และคู่หูหลุยส์ นโปเลียน ที่มีลูกชิ่งหอไอเฟล) หรือเยอรมนีตะวันตกที่มีเทพบุตรลูกหนัง คาร์ล-ไฮนซ์ ชไนเดอร์ เจ้าของท่า “ไฟเออร์ช็อต” ลูกไฟที่ไม่มีใครหยุดได้
ตัวละคนและทีมเหล่านี้เป็นการเชื่อมโยงกับแฟนๆในชาติต่างๆที่ติดตามกัปตันซึบาสะ ที่แม้ว่าสุดท้ายจะรู้อยู่แล้วว่าบทสรุปในตอนจบเกมจะเป็นอย่างไร แต่มันทำให้เกิดแรงบันดาลใจของเด็กๆเหล่านี้ที่อยากจะเป็นเหมือนอย่างตัวละครในเรื่อง
และใช่! ทุกคนอยากมีท่าไม้ตายของตัวเอง
เพราะฟุตบอลคือเพื่อน
ถึงแม้ว่าผู้เขียนอย่างทาคาฮาชิจะตั้งใจอยากให้กัปตันซึบาสะช่วยให้ฟุตบอลกลายเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น แต่เจ้าตัวก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าเรื่องราวจากจินตนาการของเขาจะส่งผลต่อโลกใบนี้มากมายถึงขนาดนี้
เริ่มจากในญี่ปุ่นก่อน กัปตันซึบาสะมีส่วนช่วยจุดกระแสความคลั่งไคล้ในเกมฟุตบอล เด็กๆต่างอยากจะเป็นซึบาสะ มิซากิ หรือเฮียวงะ ทำให้นอกจากจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นในเวลาต่อมาอย่าง เจลีก (1993) ก็ทำให้มีเด็กจำนวนมหาศาลที่สนใจจะเล่นฟุตบอล
สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การค่อยๆเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นให้เป็นชาติที่รักฟุตบอล มีเป้าหมายในการไปเล่นฟุตบอลโลก และคว้าชัยชนะเหนือคู่แข่งที่เก่งกาจเหมือนในเรื่องกัปตันซึบาสะให้ได้ จนในปัจจุบันนี้เจลีกเป็นหนึ่งในลีกที่ดีที่สุดของเอเชีย และนักฟุตบอลญี่ปุ่นก็ไปโด่งดังในลีกระดับดีที่สุดของยุโรป เช่น วาตารุ เอ็นโด กัปตันทีมชาติญี่ปุ่นก็เป็นแกนหลักคนสำคัญของทีม “หงส์แดง” ลิเวอร์พูลไปแล้ว
แต่อิทธิพลของมังงะเรื่องนี้ไม่ได้จบแค่ญี่ปุ่น ยังทะลุกลางใจไปถึงแฟนๆทั่วโลกที่ได้รู้จักซึบาสะจากทั้งมังงะ อนิเมะ ไปจนถึงสื่อบันเทิงรูปแบบอื่นๆ เช่น OVA (หนังใหญ่) หรือวีดีโอเกม ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง จนทำให้มีเด็กทั่วโลกที่เติบโตมาพร้อมกับเรื่องราวของซึบาสะ และได้รับแรงบันดาลใจมาเต็มๆ
นักเตะผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหลายคนมีซึบาสะเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็น ซีเนอดีน ซีดาน, อเลสซานโดร เดล ปิเอโร หรือแม้แต่ลิโอเนล เมสซี ราชาลูกหนังโลกเองก็ตาม (ทาคาฮาชิบอกในช่วงหลังว่าซึบาสะ ซึ่งในเรื่องได้ย้ายไปเล่นให้บาร์เซโลนา มีต้นแบบจากอันเดรส อิเนียสตา และเมสซี ตำนานแห่งคัมป์นู)
นี่คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับทาคาฮาชิ มากกว่ารายได้มหาศาลหรือยอดจำหน่ายมังงะที่ปัจจุบันมากกว่า 90 ล้านเล่ม
เสียงนกหวีดสุดท้ายของซึบาสะ
เกมฟุตบอล มีเวลาในสนาม 90 นาที แต่ซึบาสะโลดแล่นมายาวนานกว่า 43 ปีเข้าไปแล้ว แม้ว่าเวลาในเรื่องจริงๆจะกินระยะเวลาเพียงแค่ 11 ปีก็ตาม (ในมังงะตอนแรกซึบาสะอายุ 11 ปี ปัจจุบันในภาค Rising Sun Finals อายุ 22 ปี)
แต่สำหรับเจ้าของผลงานอย่างทาคาฮาชิแล้ว เขารู้ตัวว่าเวลาของเขาอาจจะเหลือไม่มากพอที่จะพาซึบาสะไปได้ไกลกว่านี้ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการประกาศออกมาตั้งแต่ต้นปี 2024 ว่า
เรื่องราวของกัปตันซึบาสะจะยุติลงในนิตยสาร Captain Tsubasa ฉบับที่ 20 ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายที่ญี่ปุ่นไปเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา
(ซึ่งเพื่อไม่เป็นการสปอยล์เนื้อหาขออนุญาตสงวนบทสรุปเอาไว้)
ถือเป็นการปิดฉากตำนานลูกหนังอันเป็นที่รักของผู้คนมาอย่างยาวนาน ด้วยเสียงนกหวีดสุดท้ายที่ยาวนาน
แต่ในข่าวเศร้าก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อทาคาฮาชิเปิดเผยล่าสุดก่อนหน้านี้ไม่กี่วันว่าถึงแม้จะยุติการตีพิมพ์ลง แต่เขาจะเล่าเรื่องราวของซึบาสะกับผองเพื่อนต่อไป
แค่เปลี่ยนรูปแบบเล็กน้อยมาเป็นการวาดในแบบภาพร่างง่ายๆ ไม่ได้มีการลงรายละเอียดเหมือนในมังงะ ซึ่งเหมาะสมกับวัยของทาคาฮาชิที่ปัจจุบันอายุ 63 ปีแล้ว และจะเผยแพร่บนเว็บไซต์กัปตันซึบาสะแทน โดยจะเริ่มรูปแบบใหม่นี้ในช่วงฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่น
ถือเป็นการ “ต่อเวลาพิเศษ” สำหรับซึบาสะที่ทาคาฮาชิตั้งใจไว้ว่า หลังจบภาคโอลิมปิกแล้วจะพาซึบาสะไปให้ถึงฟุตบอลโลกให้ได้
แบบนี้เดาได้ไม่ยากว่าบทสรุปสุดท้ายของเรื่องราวจริงๆจะเป็นอย่างไร แต่ถึงอย่างนั้นก็อยากติดตามและเอาใจช่วยทั้งซึบาสะและทาคาฮาชิในการเดินทางครั้งใหม่
ถึงแม้ว่าชัยชนะจะไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร
เพราะตลอด 43 ปีที่ผ่านมา ซึบาสะและทาคาฮาชิได้มอบอะไรที่ดีและมีความหมายมากกว่าให้แก่โลกใบนี้มาเยอะแล้ว
ความรัก ความฝัน แรงบันดาลใจ และมิตรภาพที่จะอยู่กับเราตลอดไป
อ้างอิง