เทรนด์ Ghosting ‘Gen Z’ 87% ได้งานแต่ไม่เอา วันเริ่มงานปล่อยให้นายจ้างรอเก้อ

เทรนด์ Ghosting ‘Gen Z’ 87% ได้งานแต่ไม่เอา วันเริ่มงานปล่อยให้นายจ้างรอเก้อ

‘Gen Z’ 87% ได้งาน แต่ไม่เอา พอถึงวันเริ่มงานกลับปล่อยให้นายจ้างรอเก้อ รู้จักเทรนด์ ‘Ghosting’ ที่หลายบริษัทต้องเผชิญวันนี้

KEY

POINTS

  • รู้จักเทรนด์ ‘Ghosting’ เมื่อ ‘Gen Z’ 87% ได้งาน แต่ไม่เอา พอถึงวันเริ่มงาน กลับบิดพลิ้ว ทิ้งงาน ปล่อยให้นายจ้าง-บริษัท ต้องรอเก้อ 
  • ไม่ใช่แค่ Gen Z แต่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ Gen X Gen Y ต่างก็เคยมีพฤติกรรมนี้เช่นกัน แม้จะน้อยกว่าก็ตาม
  • “วิกฤติค่าครองชีพ” ที่สูงขึ้น อาจเป็นผู้ร้ายตัวจริง ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ Ghosting ในโลกของการหางาน

ในบริบทของความรักความสัมพันธ์ คำว่า Ghosting หมายถึง การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหายหน้าไปดื้อๆ โดยไม่บอกกล่าว แม้อีกฝ่ายจะพยายามติดต่อไปรัวๆ แค่ไหนก็ไม่ตอบรับ เป็นการตัดความสัมพันธ์โดยไม่มีคำอธิบาย แต่รู้หรือไม่? พฤติกรรม Ghosting ดังกล่าว เริ่มเกิดขึ้นในบริบทของการสมัครงาน-สัมภาษณ์งาน ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างชาว Gen Z ในยุคนี้ด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ Indeed แพลตฟอร์มจัดหางานและการสรรหาบุคลากรทั่วโลก ได้เปิดเผยถึงเทรนด์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกการทำงาน นั่นคือ “Ghosting นายจ้าง” หมายถึง การที่ผู้สมัครงานส่งใบสมัครไปยังบริษัท เมื่อบริษัทตอบรับและนัดสัมภาษณ์แล้ว ผู้สมัครกลับไม่ไปตามนัด หรือแม้ว่าจะไปตามนัด สัมภาษณ์งานผ่านแล้ว และลงนามในสัญญาจ้างงานแล้ว แต่พอถึงวันเริ่มทำงานกลับเทนายจ้างตั้งแต่วันแรก โดยไม่แจ้งให้บริษัททราบ ติดต่อไม่ได้

Gen Z 93% ระบุว่า เคยเบี้ยวนัดสัมภาษณ์งาน และ 87% แม้จะได้งานแล้วแต่ไม่เอา และไม่แจ้งให้ทราบ

เทรนด์ดังกล่าวอ้างจากผลสำรวจของ Indeed ที่สำรวจในธุรกิจ 1,500 แห่ง และคนทำงาน 1,500 คนในสหราชอาณาจักร พบว่า พนักงานกลุ่มตัวอย่าง 75% รายงานว่าพวกเขาเพิกเฉยต่อว่าที่นายจ้างในช่วงปีที่ผ่านมา (เช่น ไม่ตอบรับการสัมภาษณ์งาน-ไม่ตอบรับเข้าทำงานแม้จะได้งานแล้ว หรือที่เรียกว่า Ghosting) โดยสัดส่วนของพนักงานที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมากที่สุดก็คือ พนักงานอายุน้อยรุ่น Gen Z 

โดยผลสำรวจชี้ชัดว่า Gen Z จำนวนมากถึง 93% บอกว่า พวกเขาเคยเบี้ยวนัดการสัมภาษณ์งาน และที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ 87% ของชาว Gen Z แม้จะสามารถผ่านการสัมภาษณ์งานแล้ว ได้งานแล้ว แต่กลับบิดพลิ้ว ทิ้งงาน ปล่อยนายจ้างรอเก้อตั้งแต่วันแรก

ส่วนสาเหตุที่พวกเขาทำเช่นนั้น ก็เพราะว่ามันทำให้พวกเขา “รู้สึกมีอำนาจในการควบคุมชีวิตการงานของตนเองได้” แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เนื่องจากการกระทำดังกล่าวทำให้บริษัทตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยมากกว่าครึ่งของบริษัทกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า การที่ Gen Z ได้งานแต่เงียบหายไปโดยไม่บอกกล่าวนั้น ทำให้บริษัทจ้างงานได้ยากยิ่งขึ้น

ไม่ใช่แค่ Gen Z แต่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ Gen X Gen Y ต่างก็เคยมีพฤติกรรมนี้เช่นกัน แม้จะน้อยกว่าก็ตาม

แม้ว่าชาว Gen Z จะเป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมากที่สุด และมากกว่าครึ่งหนึ่งของ Gen Z ก็ทำพฤติกรรม Ghosting อยู่ซ้ำๆ แต่ผลสำรวจของ Indeed ยังพบด้วยว่า พนักงานรุ่นอื่นๆ อย่าง เบบี้บูมเมอร์ Gen X และ Gen Y ต่างก็เคยทำพฤติกรรม Ghosting เช่นกันแต่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ขณะเดียวกัน ในฟากฝั่งของบริษัทหรือนายจ้างเอง ก็ล้วนแต่เคยทำพฤติกรรมนี้ด้วยเหมือนกัน 

จากการสำรวจทางฝั่งของพนักงานกลุ่มตัวอย่างพบว่า พนักงาน 1 ใน 5 รายงานว่า ฝ่ายบริษัทหรือนายจ้างก็เบี้ยวนัดในการสัมภาษณ์งานกับลูกจ้างทางโทรศัพท์เช่นกัน ในขณะที่ 23% ของผู้สมัครงาน เคยได้รับข้อเสนอเรื่องงานด้วยวาจาแล้ว เช่น บอกว่าจะติดต่อกลับมาในการสัมภาษณ์ แต่กลับปล่อยให้ฝ่ายลูกจ้างรอเก้อเหมือนกัน

นั่นเป็นสาเหตุให้พนักงานในปัจจุบันคิดว่าการที่พวกเขา Ghosting ใส่บริษัทก็เป็นเกมที่ยุติธรรม โดยพนักงานมากกว่า 50% ยอมรับว่า เนื่องจากนายจ้างเองก็หลอกผู้สมัครงานเช่นกัน มันก็แฟร์แล้วที่จะทำพฤติกรรมเดียวกันนี้กลับไป และน่าประหลาดใจที่บริษัทมากกว่า 1 ใน 3 ยอมรับว่า “ความรู้สึกนี้สมเหตุสมผล”

“วิกฤติค่าครองชีพ” ที่สูงขึ้น อาจเป็นผู้ร้ายตัวจริง ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ Ghosting ในโลกของการหางาน

จากผลสำรวจทั้งหมดดังข้างต้น Indeed ได้นำมาวิเคราะห์และสรุปได้ว่า หากนายจ้างอยากได้พนักงานรุ่น Gen Z มาร่วมงานด้วย ควรทำให้ข้อตกลงหรือข้อเสนอในการจ้างงานหอมหวานมากขึ้น เนื่องจากพนักงานรุ่นใหม่จะจัดอันดับการเลือกงานจากบริษัทที่จ่ายค่าจ้างที่สูงกว่าก่อน ตามด้วยบริษัทที่มีสวัสดิการที่ดีกว่า

ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก “วิกฤติค่าครองชีพ” ที่สูงขึ้นในยุคปัจจุบัน เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ Ghosting รุนแรงขึ้นในหมู่พนักงาน โดยประมาณ 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจยอมรับว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะ Ghosting มากขึ้น หากพวกเขาหางานที่ได้เงินเดือนดีกว่าเดิม หรือได้งานในบริษัทที่มีค่าเดินทางถูกกว่า

ท้ายที่สุดแล้ว มันไม่ใช่แค่การได้งานเท่านั้น สิ่งสำคัญสำหรับคนงานรุ่นใหม่ คือ ข้อเสนอต้องสอดรับกับค่าครองชีพ สภาพสังคมการทำงาน และเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Gen Z ต้อง “ปฏิเสธข้อเสนอ” ของบริษัทนั้นๆ (แม้จะได้งานแล้ว) เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเริ่มงานใหม่ได้ เช่น การซื้อเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับการทำงาน และตั๋วรถไฟฟ้ารายเดือน ฯลฯ 

“เห็นได้ชัดว่าข้อเสนอทางการเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับนายจ้าง ที่พยายามดึงดูดผู้มีความสามารถ ด้วยค่าจ้าง สวัสดิการ และปัจจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนค่าครองชีพยุคนี้ที่สูงขึ้นกว่าแต่ก่อน รวมถึงความโปร่งใสเกี่ยวกับแพ็กเกจทางการเงินตั้งแต่เริ่มแรก สิ่งเหล่านี้จะป้องกันไม่ให้นายจ้างถูก Ghosting จากผู้สมัครงาน” แดนนี่ สเตซี่ หัวหน้าฝ่าย talent intelligence ของบริษัท Indeed ในสหราชอาณาจักร กล่าวสรุป