‘ความฉลาดทางอารมณ์’ ยิ่งมีมากในที่ทำงาน ยิ่งลดความเครียดให้พนักงานได้
‘ความฉลาดทางอารมณ์’ คืออาวุธทรงพลัง! ช่วยให้ ‘ผู้นำ’ รับมือกับปัญหาสุขภาพจิตของพนักงาน และช่วยเพิ่มพลังบวกในที่ทำงานได้
ผู้นำยุคนี้นอกจากจะต้องบริหารงานให้องค์กรเติบโตก้าวหน้าแล้ว ก็ต้องบริหารคน (พนักงาน) ที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งในแง่กระบวนการทำงาน ทัศนคติ รวมถึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ “สุขภาพจิต” ของพนักงานกว่าที่เคย เมื่อมีรายงานพบว่า พนักงานออฟฟิศยุคนี้กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา
วิจัยจากหลายแหล่งชี้ตรงกัน พนักงานยุคนี้มีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น
จากผลวิจัยล่าสุดของ Traliant บริษัทที่ปรึกษาด้านการฝึกอบรมพนักงานเพื่อเสริมสร้างการส่วนร่วมและประสิทธิภาพ ได้สำรวจความเห็นพนักงานในสหรัฐฯ มากกว่า 1,000 คน (รายงาน ณ ก.พ. 2567) พบว่า 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยอย่างยิ่งหรือค่อนข้างเห็นด้วยว่า นายจ้างจำเป็นต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่านี้ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพจิตในที่ทำงาน
ขณะที่ผลวิจัยจาก Gullup ณ ปี 2565 ชี้ว่า 47% ของคนงานรุ่นใหม่ชาวสหรัฐ ที่มีอายุระหว่าง 18-29 ปี รายงานว่างานของตนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต อีกทั้งพบว่า เกือบหนึ่งในห้าของคนงานสหรัฐ (19%) ให้คะแนนว่าตนเองมีสุขภาพจิตที่ไม่ดี และเกิดการลางานเนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าพนักงานทั่วไปถึง 4 เท่า โดยรวมแล้วแรงงานในสหรัฐฯ ที่ลางานเนื่องจากปัญหานี้ คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจถึง 47.6 พันล้านดอลลาร์ต่อปีจากการสูญเสียผลิตภาพ
นี่เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่ยืนยันว่า “ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน” กำลังปะทุมากขึ้นในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับพนักงานระดับปฏิบัติการเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้บริหาร-ผู้จัดการในแผนกต่างๆ ด้วย
โดยพบว่ายุคนี้พนักงานส่วนใหญ่มีความวิตกกังวล ความซึมเศร้า ความเครียด และความเหนื่อยหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อองค์กรโดยตรง นำมาซึ่งการสูญเสียการมีส่วนร่วม ประสิทธิภาพการทำงาน และความเป็นอยู่โดยรวมทั่วทั้งองค์กร
ทักษะ “ความฉลาดทางอารมณ์” อาจช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานได้มากกว่าที่คิด
คำถามที่ตามมาคือ แล้วจะมีวิธีไหนที่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ในองค์กรได้บ้าง?
เจ้าของรายการ These Fukken Feelings พอดแคสต์ชื่อดังที่เปิดพื้นที่พูดคุยถึงปัญหาสุขภาพจิตอย่าง “ไมกา บราเวอรี” ให้ความเห็นว่า หนึ่งในวิธีที่ผู้นำสามารถแก้ไขวิกฤติสุขภาพจิตของพนักงานออฟฟิศได้ก็คือ การนำทักษะ “ความฉลาดทางอารมณ์” มาใช้ในองค์กร สิ่งนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานด้านสุขภาพจิตของเราทุกคน และเป็นเครื่องมือที่องค์กรต่างๆ อาจต้องพิจารณานำมันมาใช้
“ความฉลาดทางอารมณ์สามารถปรับปรุงความเคลื่อนไหวในที่ทำงานและสุขภาพจิตได้ มันช่วยให้บุคคลต่างๆ ส่งเสริมการเอาใจใส่และการตระหนักรู้ในตนเอง” ไมกา อธิบาย
เขาบอกอีกว่า การเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับรู้ (ความจำ) และจัดการอารมณ์ของเราได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้อื่นรู้สึกและประสบอยู่ ช่วยให้เราสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงใช้ความเห็นอกเห็นใจในการโต้ตอบกับผู้อื่นในที่ทำงาน
นอกจากนี้ การเพิ่มขีดความสามารถในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้มากขึ้นนั้น มีข้อดีในเชิงวิทยาศาสตร์ นั่นคือ ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และความเหนื่อยหน่าย (Burnout) ทั้งยังช่วยลดความตึงเครียดระหว่างเพื่อนร่วมงาน และเพิ่มบรรยากาศเชิงบวกมากขึ้นทั่วทั้งองค์กร
เปิดวิธีการนำทักษะ “ความฉลาดทางอารมณ์” มาใช้ในที่ทำงานให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ส่วนวิธีการนำทักษะ “ความฉลาดทางอารมณ์” มาใช้ในที่ทำงานเพื่อลดปัญหาสุขภาพจิตของผู้คนโดยรวมนั้น ไมกาอธิบายว่า ผู้นำองค์กรอาจเริ่มจากการสร้างการตระหนักรู้ในตนเองก่อนเป็นสิ่งแรก เพราะมันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ ผู้ที่มีความตระหนักรู้ในตนเองในระดับสูง จะสามารถเข้าใจว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นของตนเอง รวมถึงประเภทของ “คำพูด” และ “สถานการณ์” ที่กระตุ้นอารมณ์ของตน
สิ่งนี้ช่วยให้พวกเขาหลีกเลี่ยงการโต้ตอบอย่างหุนหันพลันแล่น ต่อสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่บานปลาย และอาจเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้นได้
ดังนั้น แทนที่จะโต้ตอบอย่างหุนหันพลันแล่น ผู้คนที่มีความตระหนักรู้ในตนเองในระดับสูงจะสามารถข้ามผ่านสถานการณ์เหล่านั้นไปได้ ลดความขัดแย้งที่บานปลาย และคิดวิธีแก้ปัญหาได้ การตระหนักรู้ในตนเองยังช่วยให้เราตระหนักได้ว่า เมื่อใดที่เรากำลังถึงจุดที่เราต้องการหยุดพักและต้องแยกตัวออกจากสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการระเบิดอารมณ์
การทำความเข้าใจความฉลาดทางอารมณ์และวิธีใช้อย่างมีประสิทธิผล จึงถือเป็นเครื่องมืออันทรงคุณค่าในการช่วยให้เราสร้างความยืดหยุ่นในที่ทำงาน อีกทั้งการตระหนักถึงอารมณ์ของเราและอารมณ์ของผู้อื่น จะช่วยสร้างความมั่นใจให้เราในการหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกับผู้อื่น และเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในฐานะทีม
“ยิ่งมีคนในที่ทำงานสามารถทำเช่นนี้ได้มากเท่าไร ระดับความตึงเครียดก็จะยิ่งลดลง และระดับการมีส่วนร่วมก็เพิ่มมากขึ้น”
หากผู้นำ “เอาใจใส่” พนักงานมากขึ้น จะช่วยลด “การตีตรา” พนักงานที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้
องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งของความฉลาดทางอารมณ์ คือ "การเอาใจใส่" สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้นำเข้าใจได้ดีขึ้นว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร ความเห็นอกเห็นใจช่วยให้ทำลายอุปสรรคระหว่างพนักงานด้วยกัน และระหว่างพนักงานกับฝ่ายบริหาร
ไมกา กล่าวสรุปว่า ในสถานที่ทำงานใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญคือผู้นำจะต้องแสดงความฉลาดทางอารมณ์ ต้องกระตือรือร้นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้พนักงานสามารถแสดงความกังวลด้านสุขภาพจิตอย่างเปิดเผย ตลอดจนพัฒนาทรัพยากรและโปรแกรมที่จะสนับสนุนพนักงานในทุกด้าน ผู้นำที่เปิดกว้างและเต็มใจที่จะอ่อนแอ และแบ่งปันความยากลำบากของตนเองจะแสดงให้พนักงานเห็นว่าคุณเข้าใจพวกเขาและจะหาทางออกร่วมกันได้อย่างเป็นทีมเวิร์ก
ในอดีต การแบ่งปันปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานถูกตีตรา ผู้นำที่ฉลาดทางอารมณ์และเห็นอกเห็นใจ จึงมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงมุมมองใหม่ ลดการตีตราดังกล่าวให้กับพนักงาน ซึ่งช่วยลดความบาดเจ็บทางจิตใจของพนักงานในองค์กรได้