ประวัติวันวิสาขบูชา 2567 วันพระพุทธเจ้า วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ขึ้น 15 ค่ำ
ประวัติวันวิสาขบูชา 2567 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันพระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันพระใหญ่ ดูหลักธรรมสําคัญ คำสอนพระพุทธเจ้า อริยสัจ 4 เหตุการณ์สําคัญ เข้าวัดทำบุญต้องทำไง "ขั้นตอน - เวลาถวายเพล" สถานที่จัดงานวันวิสาขบูชา เวียนเทียนไหนดี
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านมาเปิด"ประวัติวันวิสาขบูชา 2567" วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันพระพุทธเจ้า "ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน" ในวันและเดือนเดียวกันคืนในวันเพ็ญ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันพระใหญ่ หรือเดือนเวสาขะ พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์
พร้อมดูหลักธรรมสําคัญ คำสอนพระพุทธเจ้า เหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้น เข้าวัดทำบุญต้องทำไง "ขั้นตอน - เวลาถวายเพล" สถานที่จัดงานวันวิสาขบูชา 2567 เวียนเทียนที่ไหนดี?
"วันวิสาขบูชา 2567" ตรงกับวันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2567 เป็นวันหยุดราชการประจำปีตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เปิดประวัติวันวิสาขบูชา 2567 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันพระพุทธเจ้า "ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน"
วันวิสาขบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน คือ ในวันเพ็ญ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือนเวสาขะ พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์
ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมการเกิดเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า วิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะนั่นเอง
ประวัติวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
จากหลักฐานพบว่า วันวิสาขบูชา ได้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา โดยพระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกาได้เป็นผู้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา นับจากนั้นกษัตริย์แห่งลังกาพระองค์อื่นๆ ก็ได้ถือปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบต่อกันมา
ส่วนการเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยนั้นอาจเป็นเพราะเมื่อครั้งสมัยสุโขทัย ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด จะเห็นได้ว่ามีพระสงฆ์จากเมืองลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
ซึ่งการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกเอาไว้ใน "หนังสือนางนพมาศ"
สรุปใจความได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย
ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ
ความสำคัญของวันวิสาขบูชา เหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) บรรจบกันทั้ง 3 คราว ได้แก่
เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ
เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ภายหลังจากการออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
ภายหลังจากการตรัสรู้ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกประกาศพระธรรมวินัย และโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา พระองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
หลักธรรมสําคัญ คำสอนพระพุทธเจ้า "วันวิสาขบูชา"
หลักธรรมสำคัญในวันวิสาขบูชา หรือ "อริยสัจ 4" เป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นพบวิธีการดับทุกข์ โดยมีความหมายว่า ความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงเป็นอริยะ มีอยู่ 4 ข้อ ได้แก่
- ทุกข์ สภาพที่ทนได้ยาก (ทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ การเกิด การแก่ และการตาย)
- สมุทัย เหตุแห่งการเกิดทุกข์ "ตัณหา" และ "กิเลส"
- นิโรธ การดับทุกข์
- มรรค หนทางสู่ความดับทุกข์ 8 ประการ (ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ)
ขั้นตอนปฏิบัติ "วันวิสาขบูชา" บทสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุอัน ได้แก่ พระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ด้วยบทสวดมนตร์ตามลำดับดังนี้คือ
- บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ ด้วยบท "อิติปิโสภควา อรหังสัมมาสัมพุทโธ...พุทโธภควาติ"
- บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ ด้วยบท "สวากขาโต ภควตาธัมโม...วิญญูหิติ"
- บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ ด้วยบท "สุปฏิปันโน ภควโตสาวกสังโฆ...โลกัสสาติ"
การเวียนเทียน "วันวิสาขบูชา 2567"
จากนั้นมีการเริ่มการ "เวียนเทียน" รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฎิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ
- รอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ
- รอบที่สองจะสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ
- รอบที่สามสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ
เมื่อครบ 3 รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชาอันควรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน
เข้าวัดต้องปฏิบัติตนอย่างไร? ขั้นตอนและเวลาถวายเพลวันวิสาขบูชา 2567 เป็นสิริมงคลชีวิต
เนื่องในวันวิสาขบูชา 2567 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ วันพระใหญ่ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ชาวพุทธมักจะใช้ช่วงเวลาตอนเช้าเข้าวัดทำบุญกันกับครอบครัวภายในวัดใกล้บ้าน หรือวัดที่ตามแต่ละบุคคลสะดวก ตามที่ศรัทธา
เข้าวัดทำบุญต้องปฏิบัติตนอย่างไรในวันวิสาขบูชา
- ช่วงเช้าพระภิกษุจะออกบิณฑบาตตามกิจของสงฆ์
- พระภิกษุจะฉันภัตตาหารเช้า ระหว่างเวลา 07.00 - 08.00 น.
- พระภิกษุฉันภัตตาหารเพล อาหารกลางวัน ระหว่างเวลา 11.00 - 12.00 น. โดยกิจของสงฆ์จะฉันอาหารในเวลาล่วงเลยเกินเที่ยงไม่ได้
สถานที่จัดงานวันวิสาขบูชา 2567 ในพื้นที่ กทม. เวียนเทียนด้วยต้นไม้ที่ไหนดี?
- วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
- วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
- วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ
- วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร กรุงเทพฯ
- วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
- วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ
- วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ
- วัดนางชีโชติการาม กรุงเทพฯ
- วัดสามพระยา กรุงเทพฯ
- วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ
- วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพฯ
- วัดทองสุทธาราม กรุงเทพฯ
- วัดสุทธาโภชน์ กรุงเทพฯ
- วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต กรุงเทพฯ
- วัดลาดปลาเค้า กรุงเทพฯ
- วัดดีดวด กรุงเทพฯ
- วัดสวนแก้ว นนทบุรี
- วัดสังฆทาน นนทบุรี
- วัดกก ปทุมธานี
- สถานปฏิบัติธรรมกัลยาณกิตติคุณ (สาขาวัดศรีชมพู) ปทุมธานี
- วัดปัญญานันทาราม ปทุมธานี
- วัดจากแดง สมุทรปราการ
- วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี สมุทรปราการ
อ้างอิง-ภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม , สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ