คน กทม. ’ทำงานหนัก‘ อันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลก ส่งผล ‘หมดไฟ’ พุ่ง
ผลสำรวจชี้ คน กทม. "ทำงานหนักเกินไป" ติดอันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลก ใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของแต่ละวันไปกับการทำงาน ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 มีอาการหมดไฟในการทำงาน
จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2567 แถลงโดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วันที่ 27 พ.ค.67 ซึ่งหนึ่งในสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจจากรายงานดังกล่าว คือหัวข้อเกี่ยวกับ "Mental health ปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง" โดยส่วนหนึ่งระบุถึงปัญหาสุขภาพจิตของ "วัยทำงาน" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรับผิดชอบสูง และมีหลายปัญหารุมเร้า
โดยพบว่า สาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตในวัยทำงานมีด้วยกันหลายปัจจัย ทั้งความเครียดจากการทำงาน การติดสุรา การใช้สารเสพติด และ ปัญหาจากการดำรงชีพ โดยปัจจัยสำคัญอาจทำให้ต้องเผชิญปัญหาสุขภาพจิต คือ การทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับการทำงาน รายละเอียดได้แก่
- การใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของแต่ละวันไปกับการทำงาน [ที่มา : กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ,2566]
- กรุงเทพฯ จัดอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 100 เมืองของประเทศทั่วโลก ที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป และมีพนักงานประจำกว่า 15.10% ทำงานล่วงเวลามากกว่า 48 ชั่วโมง/สัปดาห์ [ที่มา : บริษัทKisi, 2565]
- คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 มีอาการหมดไฟในการทำงาน [ที่มา : วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562]
ทำงานหนัก ส่งผล เครียด ซึมเศร้า ภาวะหมดไฟ
ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าวได้ระบุถึงผลกระทบจากการทำงานหนัก ว่า ส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า และหมดไฟในการทำงานได้ง่าย
โดยในปี 2566 วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน จำนวนมากถึง 5,989 สาย จาก 8,009 สาย ซึ่งหากภาวะเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่อง จะทำให้ปัญหาสุขภาพร่างกายรุนแรงมากขึ้นตาม