งานหนัก ถูกคาดหวังสูง แต่ทรัพยากรจำกัด ทำพนักงานเครียด ยื่นใบลาออก

งานหนัก ถูกคาดหวังสูง แต่ทรัพยากรจำกัด ทำพนักงานเครียด ยื่นใบลาออก

ผลวิจัยชี้ "งานหนัก" เป็นสาเหตุหลักของความเครียดจนพนักงานตัดสินใจลาออก ยิ่งทำงานหนัก ถูกคาดหวังสูง แต่ทรัพยากรที่มีให้จำกัด ทั้งเงิน ทั้งคน ยิ่งเสี่ยงให้พนักงานมีปัญหาสุขภาพจิต

ข้อมูลจากรายงานการจ้างงาน ผลตอบแทนและสวัสดิการปี 2567 โดย Jobsdb by SEEK ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยด้าน "ความเครียดในที่ทำงาน" ทำให้พนักงานลาออก สูงถึง 33% 

โดยเมื่อดูที่ "ระดับความเครียด" พบว่า ผู้ประกอบการ 69% ให้คะแนนองค์กรของตนว่า เป็นสถานที่ทำงานที่มีความเครียดระดับปานกลาง และมีผู้ประกอบการ 18% ที่บอกว่า องค์กรตนมีความเครียดต่ำ ขณะที่ผู้ประกอบการ 14% บอกว่า องค์กรตน มีความเครียดสูง ซึ่งส่วนใหญ่ที่ตอบ เป็นกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้านบริการทางธุรกิจ

ความเครียดในที่ทำงาน

การดูแลสุขภาพจิตของพนักงานจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กร เพราะพนักงานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการเติบโตของธุรกิจ ในภาวะการแข่งขันที่ทวีรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by SEEK ได้เปิดเผยถึง "รายงานการจ้างงาน ผลตอบแทนและสวัสดิการปี 2567" ในเรื่องสุขภาพจิตในสถานที่ทํางาน รวมถึงความท้าทายที่องค์กร และพนักงานต้องเผชิญจากปัจจัยด้านสุขภาพจิต

งานหนัก คือ สาเหตุหลักของความเครียด

จากรายงานข้างต้น โดยรวมแล้วผู้ประกอบการรู้สึกว่าสาเหตุหลักของ "ความเครียด" ในองค์กร ดังนี้ 

- ภาระงานหนัก (43%) 
- ทรัพยากรไม่เพียงพอ เช่น จำนวนพนักงาน งบประมาณ และ อื่นๆ (26%) 
- ความกดดันสูงจากฝ่ายบริหาร การทำงานแข่งกับเวลา (24%) 

โดยสาเหตุเหล่านี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มบริษัทที่อยู่ในช่วงความเครียดสูงซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การลาออกสูง (33%) อคติหรือการเลือกปฏิบัติ (31%) ขาดการชื่นชมและยอมรับในผลงาน (26%) ค่าตอบแทนต่ำ (27%) และลำดับชั้นที่มากเกินไป (27%)

สาเหตุของความเครียดในที่ทำงาน

สมดุลชีวิต คือ เรื่องสำคัญ องค์กรควรใส่ใจมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจแนวโน้มในอนาคตของสวัสดิการด้านความสมดุลของชีวิตและการงาน ชี้ให้เห็นว่า มีองค์กรถึง 43% เริ่มหันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับสภาพจิตใจของพนักงานมากขึ้น โดยริเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ  วันหยุดเพื่อสุขภาพจิต และ การให้คำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพ สายด่วน/การสื่อสาร/การให้คำปรึกษาเพื่อสนับสนุนพนักงานที่มีความเครียด หลายบริษัทจัดการพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือการดูแลสุขภาพบ่อยขึ้น โดยเฉลี่ย 4.6 ครั้งต่อปี แสดงให้เห็นว่าสวัสดิการที่มากขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องปกติ

นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการอีกหลากหลายรูปแบบที่มีความน่าสนใจ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การดูแลด้านสุขภาพจิตของพนักงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสมดุลให้กับชีวิตของพนักงาน เพื่อให้พนักงานเกิดความผ่อนคลายจากการทำงานมากยิ่งขึ้น อาทิ กิจกรรมขององค์กร (ท่องเที่ยว, วิชาเรียนที่น่าสนใจ), เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น, การจัดหาอาหารว่าง/ เครื่องดื่ม/ ผลไม้ให้พนักงานได้รับประทานระหว่างวัน, การลาก่อนช่วงเทศกาล, วันทำงานที่ยืดหยุ่น หรือความบันเทิง/กิจกรรมออกกำลังกายที่สำนักงาน เช่น จ้างเทรนเนอร์มาที่สำนักงานในชั่วโมงออกกำลังกาย เป็นต้น

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการมีศึกษาสวัสดิการเพิ่มเติมเหล่านี้เพื่อนำมาปรับใช้กับบุคลากร นอกจากจะเป็นการช่วยให้พนักงานมีความสุข และมีสมดุลในการทำงานมากขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรและบุคลากรอีกด้วย

"สุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการจึงควรมีการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือพนักงานให้มากขึ้น จากผลรายงานพบว่า 58% ของผู้ประกอบการเห็นว่าสิ่งที่องค์กรทำเพียงพอที่จะช่วยให้พนักงานรับมือกับความเครียดได้ ซึ่งจากสัดส่วนดังกล่าวที่ไม่สูง ทำให้เห็นว่าในองค์กรยังมีพื้นที่สำหรับการพัฒนาสวัสดิการด้านสุขภาพจิตได้มากขึ้นอีกในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับรายงานจากกรมสุขภาพจิตที่พบว่าแนวโน้มของความเครียดของพนักงานมีอัตราที่สูงขึ้นในทุกปี ดังนั้นการสนับสนุนและสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีความเครียดในองค์กร จึงเป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่ผู้ประกอบการไม่ควรละเลยเช่นกัน" กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by SEEK กล่าวทิ้งท้าย

 

 

อ้างอิง : รายงานการจ้างงาน ผลตอบแทนและสวัสดิการปี 2567