เมื่อ Gen Z เป็นผู้บริหาร รุกเปลี่ยนวิธีทำงาน งดประชุม เน้นความยืดหยุ่น

เมื่อ Gen Z เป็นผู้บริหาร รุกเปลี่ยนวิธีทำงาน งดประชุม เน้นความยืดหยุ่น

เมื่อ Gen Z ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร รุกเปลี่ยนวิธีทำงานและเกิดวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น งดประชุม เน้นความยืดหยุ่น ให้พนักงานเลือกเวลาทำงานเองได้ รวมถึงเปิดกว้างเรื่องปัญหาสุขภาพจิต

KEY

POINTS

  • ประชากรชาว Gen Z ก้าวขึ้นมาเป็นระดับผู้นำ (CEO, COO, CFO) ในโลกการทำงานมากขึ้น พวกเขานำพาวิธีการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่มาเผยแพร่ด้วย
  • บริษัท The Z Link นำโดยหัวเรือใหญ่ชาว Gen Z วัย 24 ปี เน้นวัฒนธรรมองค์กรหลักคือ แทบจะไม่มีการประชุม และพนักงานสามารถกำหนดตารางงานเองได้
  • ขณะที่ซีอีโอบริษัท Kona วัย 24 ปี เน้นบรรยากาศการทำงานในองค์กรแบบเป็นกันเอง เปิดกว้างและเปิดเผยในประเด็นสุขภาพจิต

ภายในสิ้นปี 2024 คาดการณ์กันว่าพนักงานรุ่น Gen Z จะมีจำนวนมากกว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ในตลาดแรงงานสหรัฐ และอาจรวมถึงในหลายประเทศทั่วโลก โดยคนรุ่นเจนซีในตลาดแรงงานมีอายุมากที่สุดอยู่ที่ราวๆ 27 ปี โดยพวกเขาบางคนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งงานระดับผู้บริหาร (C-suite) แล้วด้วย ปรากฏการณ์นี้นำมาซึ่งสิ่งแปลกใหม่ในวัฒนธรรมการทำงาน

กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่สมัยนี้จะพบเห็นประชากรชาว Gen Z ก้าวขึ้นมาเป็นระดับผู้นำ (CEO, COO, CFO) ในโลกการทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในสำนักงานหรือการทำงานแบบออนไลน์ (Remote work) ก็ตาม ทั้งนี้ มีข้อมูลผลสำรวจจาก McKinsey & Co. รายงานว่า อายุเฉลี่ยของซีอีโอส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ประมาณ 54 ปี แต่ที่น่าสนใจคือจำนวนซีอีโอที่มาจากรุ่น Gen Z กำลังเพิ่มขึ้น 

วัยทำงานเจนเนอเรชันนี้มีทัศนคติอยากไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงอย่างรวดเร็ว โดยตามรายงานชี้ว่า ชาว Gen Z มีแนวโน้มอยากเป็นซีอีโอ 38% ซึ่งมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับ Gen X ที่มีคนอยากเป็นซีอีโออยู่ที่ 18% ขณะที่คนรุ่นมิลเลนเนียลมีความต้องการอยู่ที่ 31% 

Gen Z ส่วนใหญ่ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดความไม่สงบในสังคม พบอัตราการลาออกจากงานและภาวะหมดไฟเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่งผลให้พวกเขาอยากทำงานแบบเป็นนายของตัวเอง และทำงานที่มีความหมายด้วยความรู้สึกเป็นอิสระ และความยืดหยุ่น 

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ได้รวบรวมความคิดเห็นด้านวิธีการทำงานและแง่มุมด้านการบริหารของผู้นำชาว Gen Z ที่นำมาซึ่งวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ และอาจเข้ามาเปลี่ยนโฉมโลกการทำงานไปจากเดิม ดังนี้ 

ไม่มีการประชุม และให้พนักงานออกแบบตารางเวลางานได้เอง

บริษัท The Z Link ซึ่งเป็นเอเจนซี่การตลาดที่ประกอบด้วยพนักงานรุ่น Gen Z ทั้งหมด นำโดยหัวเรือใหญ่เอริฟิลี กัวนาริ (Erifili Gounari) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Gen Z วัย 24 ปี ซึ่งเปิดตัว The Z Link ในปี 2020 ขณะที่เธอเป็นนักศึกษาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ในสกอตแลนด์ วัฒนธรรมองค์กรหลักของบริษัทนี้คือ แทบจะไม่มีการประชุม

โดยการทำงานของที่นี่ บริษัทอนุญาตให้พนักงานทั้งหมดทำงานแบบ Remote work (ทำงานระยะไกลจากที่ไหนก็ได้) แม้แต่ซีอีโออย่าง กัวนาริ ก็ทำงานออนไลน์โดยมีฐานที่มั่นในจากกรุงลอนดอน แต่เธอบริหารจัดการพนักงาน 25 คนที่กระจายอยู่ทั่วหลายสิบประเทศทั่วโลก รวมถึงโปรตุเกส ฟินแลนด์ สเปน และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ บริษัท The Z Link ค่อนข้างเติบโตได้ดี โดยมีลูกค้าเป็นองค์กรใหญ่ระดับโลกอย่างเช่น Deloitte และ Ikea

ซีอีโอของ The Z Link เล่าว่า จากประสบการณ์ในการฝึกงานและการทำงานมาก่อนหน้านี้ ทำให้เธอพบว่าองค์กรเหล่านั้นมีการประชุมมากมาย จนรู้สึกเหมือนเป็นการเสียเวลาจริงๆ การทำบางสิ่งที่ดูดีบนกระดาษ แต่นำไปปฏิบัติไม่ได้จริง นั่นเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล และไม่ใช่การดำเนินงานของผู้นำที่ดี นั่นยิ่งทำให้พนักงานเสียเวลาในการทำงานของพวกเขา

พนักงานของบริษัทนี้จะพูดคุยเรื่องงานด้วยการส่งข้อความเสียงหรือข้อความอักษรผ่านระบบ Slack และทำงานร่วมกันใน Google Docs เพื่อแบ่งปันข้อเสนอแนะและแก้ไขปัญหาร่วมกัน การประชุมจะจัดขึ้นตามคำขอของลูกค้าหรือเมื่อมีเหตุฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ พนักงานที่ The Z Link ยังทำงานในรูปแบบที่เรียกว่า “Asynchronous work” หรือการเลือกตารางเวลางานของตนเองได้ สำหรับพนักงานที่ทำงานในโปรเจ็กต์ของลูกค้าร่วมกันจะประสานเวลาทำงานของแต่ละคนให้ตรงกัน แต่นอกเหนือจากนั้น พนักงานจะมีอิสระในการกำหนดตารางเวลาของตน

Gen Z ชอบการทำงานแบบยืดหยุ่นในช่วงเวลาที่สะดวกมากกว่าตารางงานที่กำหนดไว้ ตามรายงานผลสำรวจของ Adobe ปี 2023 ซึ่งในรายงานยังพบด้วยว่า 1 ใน 4 ของกลุ่ม Gen Z ชี้ว่า ประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดระหว่างเวลา 18.00 น. ถึง 03.00 น. ขณะที่ กัวนาริ อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า “คุณไม่สามารถเร่งสร้างสรรค์ผลงานได้และคุณไม่สามารถบังคับมันได้ ดังนั้นการไว้วางใจให้ผู้คนทำงานในช่วงเวลาที่พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์ จะนำมาซึ่งประสิทธิผลสูงสุด และช่วยให้เราผลิตผลงานที่ดีที่สุดได้” 

ทำให้สถานที่ทำงานมีความเป็นกันเองและเปิดกว้างมากขึ้น 

ขณะที่ ซิด แพนดิยา (Sid Pandiya) ซีอีโอวัย 24 ปี ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Kona ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบ Slack-integrated สำหรับการทำงานระยะไกลของผู้จัดการ กล่าวว่า บริษัทของเขาเน้นบรรยากาศการทำงานแบบเป็นกันเอง เปิดกว้างและเปิดเผยในประเด็นสุขภาพจิต โดยตัวเขาเองใส่การนัดหมายการบำบัดไว้ในปฏิทินการทำงานของเขา และชอบที่จะสื่อสารกับพนักงานด้วยภาพเคลื่อนไหว GIF ที่ชาญฉลาด มากกว่าการส่งอีเมลอย่างเป็นทางการ และเพื่อนร่วมงานของเขาก็ทำแบบเดียวกัน

“ที่นี่เราเปิดกว้างทางความรู้สึก และมอบความสบายใจต่อกันและกัน สำหรับตัวผมเคยทำงานที่อื่นมาหลายแห่งและพบว่ามักจะมีความเป็นทางการและเคร่งครัดในแบบแผนเก่าๆ มากเกินไป” ซีอีโอวัย Kona กล่าว และเขาก็ทำงานจากระยะไกลจากฐานที่ตั้งในซานฟรานซิสโก ดูแลแลพนักงานทางออนไลน์ ซึ่งเป็นคนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z

Pandiya กล่าวว่า Gen Z กังวลกับภาพลักษณ์ของ “ความเป็นมืออาชีพ” น้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ แต่พวกเขากลับให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในที่ทำงานมากว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสื่อสารเรื่องสุขภาพจิตในที่ทำงาน 

“ผมพบเจอผู้นำที่มีอายุมากกว่าผมหลายคนตอนที่เคยร่วมงานด้วยในการฝึกงาน พวกเขามีทัศนคติว่าทำงานก็คือทำแต่งานไป ไม่จำเป็นต้องแบ่งปันความรู้สึกหรือชีวิตส่วนตัวของคุณ แต่ผมกลับมองว่าการกล้ายอมรับว่าเราก็อ่อนแอได้ และเปิดกว้างทางความรู้สึก ช่วยให้พนักงานของเราไว้วางใจซึ่งกันและกัน และรู้สึกสบายใจที่จะทำงานร่วมกันมากขึ้น” เขาบอก

มีผลสำรวจจาก Monster รายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า Gen Z ส่วนใหญ่ถึง 92% กล่าวว่า การที่พวกเขารู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตในที่ทำงานถือเป็นสิ่งสำคัญต่อพวกเขา ขณะที่ 52% ของ Gen Z จะปฏิเสธงานที่ไม่มีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดี (สำรวจความคิดเห็นจากวัยทำงานกลุ่มเป้าหมาย 1,000 คนที่มีอายุ 18 - 24 ปี) 

แพนดิยา บอกอีกว่า การสร้างพื้นที่ทำงานแบบเปิดโล่งที่เป็นกันเอง ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงานรุ่นใหม่ ยิ่งมีช่องว่างก็ยิ่งสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในที่ทำงานควรมีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิต ความเบิร์นเอาท์ และความท้าทายอื่นๆ ที่คุณอาจเผชิญในการทำงาน มันง่ายกว่าที่จะรู้สึกสบายใจและมีแรงบันดาลใจในการทำงานที่คุณสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ 100%” เขากล่าวย้ำ

Gen Z และ Baby Boomers ทำงานร่วมกันได้ในระดับ C-Suite 

ฉากทัศน์อีกอย่างที่อาจมีให้เห็นมากขึ้นในโลกการทำงานยุคใหม่ นั่นคือ ภาพการทำงานร่วมกันของซีอีโอ Gen X และทีมผู้บริหารรระดับสูงอื่นๆ (COO, CFO) ที่เป็น Gen Z ยกตัวอย่างบริษัท Hemmat Law Group ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายขนาดเล็กในซีแอตเทิล ที่นี่มี สตีเฟน เฮมแมท (Steven Hemmat) CEO รุ่นเก๋าวัย 62 ปีเป็นเจ้านาย และบริหารร่วมกับรุ่นน้องชาว Gen Z อย่าง จอห์น อาวี โซจา (John Avi Socha) COO วัย 27 ปี ที่เป็น COO หรือ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการด้านกฎหมายของบริษัท

ในมุมของ สตีเฟน เฮมแมท เขาต้องการจ้างคน Gen Z ที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในบริษัทมากขึ้น อีกทั้งเขายังเปิดเผยเงินเดือนที่จะได้รับในขั้นตอนการรับสมัครงาน และ โซจา ก็เลือกมาทำงานที่นี่เพราะเห็นว่าที่นี่วัฒนธรรมการเปิดเผยเงินเดือนที่โปร่งใส 

รู้หรือไม่? เงินเดือนกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้หางานชาว Gen Z โดยผลสำรวจของ Adobe ในเดือนธันวาคม 2566 ระบุว่า 85% ของชาวเจนซีมีแนวโน้มที่จะสมัครงานน้อยลง หากบริษัทไม่เปิดเผยช่วงเงินเดือนในขั้นตอนการรับสมัครงาน 

โซจา บอกอีกว่า เขาคิดว่าการใส่รายละเอียดค่าตอบแทนในประกาศรับสมัครงาน อาจทำให้บริษัทมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในการสรรหาและรักษาคนที่มีความสามารถ ในเมืองซีแอตเทิลมีตลาดการจ้างงานที่มีการแข่งขันสูงสำหรับผู้มีความสามารถด้านกฎหมาย แต่ถ้าบริษัทไหนมีความโปร่งใสเรื่องค่าตอบแทน ย่อมได้รับความสนใจจากแรงงานรุ่นใหม่ที่มีความสามารถสูง 

ปัจจุบัน Hemmat Law Group มีพนักงาน 30 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Gen Z หรือคนรุ่นมิลเลนเนียล โซจากล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา บริษัทมีอัตราการรักษาลูกค้าไว้เกือบ 100% ทั้งที่เป็นบริษัทเล็กๆ แต่ผลการดำเนินงานที่ดีแบบนี้เกิดขึ้นได้จากการที่บริษัทฝังคุณค่าและลำดับความสำคัญของ Gen Z ไว้ในแนวทางปฏิบัติขององค์กร นั่นรวมถึงการแนะนำกระบวนการทบทวนผลการปฏิบัติงานที่นำโดยเพื่อนร่วมงานแบบใหม่ เพื่อขจัดความวิตกกังวลและความรู้สึกไม่สบายที่ “พนักงานรุ่นเยาว์” มักจะรู้สึกระหว่างการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ในเจนเนอเรชันก่อนๆ และยังเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

“แนวทางนี้ดูสมเหตุสมผลสำหรับพนักงานของเรา บริษัทของเราต้องการรักษาสภาพแวดล้อมในสำนักงานที่กลมกลืนและทำงานร่วมกันได้ในทุกเจนเนอเรชันโดยที่ทุกคนมีคุณค่า” Hemmat กล่าวในที่สุด