เปิดเทรนด์ Quiet vacationing เมื่อ Gen Y ไม่กล้า 'ลางาน' กลัวถูกมองว่าขี้เกียจ
เปิดเทรนด์ ‘Quiet vacationing’ เมื่อวัยทำงาน Gen Y Gen Z ไม่อยากหยุดงานในวันหยุด กลัวทำงานไม่ทัน แต่ก็ไม่กล้าลางาน กลัวถูกมองว่าขี้เกียจ เลยแก้ปัญหาด้วยการแอบพักผ่อนขณะทำงานไปด้วย
KEY
POINTS
- แม้ว่าแรงงานจะสามารถลางานแบบได้ค่าจ้าง (PTO : ลาพักร้อน ลากิจ ลาป่วย) ก็ตาม แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่ลางานดีกว่า แต่แอบพักผ่อนขณะทำงานไปด้วย หรือที่เรียกว่า Quiet vacationing
- 78% ของพนักงานในสหรัฐไม่ได้ใช้วันลาเต็มที่ตามสิทธิ โดยกลุ่มพนักงานที่ไม่ใช้ “วันลาแบบได้รับค่าจ้าง” มากที่สุดก็คือ Gen Z และ Gen Y
- พวกเขาเลือกที่จะไม่หยุดงานในวันหยุด เพราะกลัวทำงานไม่ทัน แต่ก็กังวลที่จะขอ “ลางาน” เพราะพวกเขากลัวจะถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจ”
เป็นปกติที่วัยทำงานจะสามารถ “ลางาน” ได้ตามกฎหมาย เช่น ลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน ซึ่งการลางานต่างๆ เหล่านี้ทางบริษัทยังคงจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน โดยเรียกว่า Paid Time Off (PTO) หมายถึง การลางานแบบได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ มีแรงงานในสหรัฐบางส่วนเมื่อลางานแล้วอาจจะไม่ได้รับค่าจ้าง (หากลางานจะถูกตัดเงิน) และแม้ว่าพวกเขาจะลางานแบบได้ค่าจ้างก็ตาม แต่แรงงานกลุ่มดังกล่าวก็เลือกที่จะไม่ลางานดีกว่า เพราะอยากหลีกเลี่ยงปัญหาในที่ทำงาน
จากผลสำรวจใหม่ของ Harris Poll (ณ พ.ค. 67) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและวิเคราะห์ตลาดในอเมริกา ได้ทำการสำรวจพนักงานออฟฟิศชาวอเมริกัน 1,170 คน รายงานข้อมูลว่า พนักงานสหรัฐส่วนใหญ่ถึง 78% ไม่ได้ใช้วันลาแบบ PTO โดยกลุ่มพนักงานที่ไม่ใช้ “วันลาแบบได้รับค่าจ้าง” มากที่สุดก็คือ กลุ่มพนักงานรุ่น Gen Z และคนรุ่นมิลเลนเนียลหรือ Gen Y
ลิบบี้ ร็อดนีย์ (Libby Rodney) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของ The Harris กล่าวถึงผลสำรวจตามแบบสอบถามความคิดเห็นดังกล่าวไว้ว่า คนทำงานอายุน้อยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างรายงานว่า พวกเขาไม่ขอหยุดงานในวันหยุด เพราะพวกเขารู้สึกกดดันที่จะต้องทำงานให้ทันตามกำหนดเวลา กลัวทำงานไม่ทัน และกลัวว่าจะไม่มีประสิทธิผลในงาน ขณะเดียวกันพวกเขาก็กังวลที่จะขอ “ลางาน” แบบ PTO (ลาพักร้อน ลากิจ ลาป่วย) เพราะพวกเขากลัวจะถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจ”
อย่างไรก็ตาม การไม่ได้ลางาน ไม่ได้แปลว่าพวกเขาทำงานตลอดเวลาหรือทำงานแบบไม่หยุดพักเลย แน่นอนว่าพวกเขาหาเวลาพัก เพียงแต่พวกเขาไม่ได้แจ้งเจ้านายเท่านั้นเอง โดยพฤติกรรมนี้เรียกว่า “Quiet vacationing” หรือการเลือกที่จะไม่หยุดงานไม่ลางาน แต่ใช้วิธีพักผ่อนไปด้วยทำงานไปด้วย
คนทำงานรุ่นมิลเลนเนียล (Gen Y) มีแนวโน้มเกิดพฤติกรรม Quiet vacationing มากที่สุด
ตามรายงานพบว่า พนักงานรุ่น Gen Y มีพฤติกรรม Quiet vacationing หนีไปพักผ่อนขณะทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตบ่อยเป็นพิเศษ โดยเกือบ 4 ใน 10 กล่าวว่าพวกเขาแอบหยุดงานเองโดยไม่แจ้งให้หัวหน้างานทราบ
นอกจากนี้ ชาว Gen Y บางคนจากกลุ่มตัวอย่างของการสำรวจดังกล่าวยังแชร์ด้วยว่า พวกเขาเลือกที่จะทำงานแบบ “Move the mouse” กล่าวคือ การทำงานประมาณหนึ่งเพียงพอที่จะไม่ให้ถูกมองว่าเป็นคนเกียจคร้านหรือไม่มีประสิทธิผลในงาน หรือเพื่อแสดงให้เจ้านายเห็นว่าพวกเขายังคงใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มการทำงานของบริษัท (เช่น Slack หรือ Microsoft Teams) แต่ก็ไม่ได้ทุ่มเททำงานเต็มเวลาทั้งวัน แล้วแบ่งเวลาบางช่วงไปพักผ่อนหรือทำธุระส่วนตัวอื่นๆ รวมถึงการส่งข้อความและส่งงานในช่วงที่ไม่ใช่เวลางานปกติ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังทำงานล่วงเวลา
“Quiet vacationing คือการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมการหลีกเลี่ยงปัญหาครั้งใหญ่ (work-around culture) พวกเขาพยายามที่จะหาวิธีสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานอย่างเหมาะสม แต่มันกลับเกิดขึ้นแบบซ่อนไว้ไม่ให้บริษัทรู้ ซึ่งพฤติกรรมนี้ ไม่เชิงว่าเป็น Quiet quitting แต่มันน่าจะนิยามว่าเป็น Quiet vacationing มากกว่า” ร็อดนีย์กล่าวเสริม
ในกลุ่มวัยทำงานรุ่น Gen Z พวกเขามีแนวโน้มที่จะแสดงความเห็นอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนเกี่ยวกับสถานที่ทำงานว่าไม่เอื้อให้พนักงานกล้าที่จะขอลางานหรืออายที่จะลางาน ในขณะที่พนักงานรุ่น Millennials กลับเลือกที่จะจัดการเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง แต่ทำแบบปิดบังเอาไว้
[หมายเหตุ: work-around culture หรือ วัฒนธรรมการหลีกเลี่ยงปัญหา : เกิดขึ้นเมื่อพนักงานค้นหาวิธีหลีกเลี่ยงอุปสรรค แทนที่จะแก้ไขที่สาเหตุที่แท้จริง นำไปสู่ข้อผิดพลาดและสิ้นเปลืองทรัพยากรไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้อง และอาจส่งผลให้องค์กรเสี่ยงต่อการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด]
ข้อผิดพลาดของการมีวันลาแบบ PTO โดยไม่จำกัดจำนวนวัน
ร็อดนีย์ สะท้อนความเห็นอีกว่า เมื่อพนักงานจำนวนมากรู้สึกว่าจำเป็นต้อง Quiet vacationing เพื่อแอบออกไปพักผ่อนในวันทำงานปกติ นั่นเป็นสัญญาณว่า ออฟฟิศหรือสำนักงานของพวกเขาไม่มีระบบ PTO ที่ดีพอ หรือขาดวัฒนธรรมที่สนับสนุนวันหยุดทำงานอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นจะนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ขององค์กรในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับบัญชาสามารถบรรเทาความตึงเครียดดังกล่าวได้หลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น กำหนดให้แสดงความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับเหตุผลที่พนักงานขอลางาน, ปรับมุมมองให้พนักงานเห็นว่า การลางาน PTO เป็นเรื่องปกติ เริ่มจากเจ้านายใช้วันลางานเป็นตัวอย่าง, สนับสนุนเมื่อพนักงานลาหยุดหรือขอลางานแบบ PTO, มอบหมายงานหรือฝากงานให้คนในทีมช่วยดูแลในช่วงที่ตนเองลางาน เป็นต้น
“การมอบวันลาแบบไม่จำกัด (Unlimited PTO) ให้กับพนักงานไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีในที่ทำงานเสมอไป พนักงานที่ได้รับวันลา 11-15 วันต่อปี มีแนวโน้มที่จะใช้วันลาเหล่านั้นบ่อยขึ้น แต่พบว่าพนักงานจะใช้วันลาน้อยลงหากพวกเขาได้วันลา 16 วันต่อไปขึ้นไป” ร็อดนีย์อธิบาย
ในทางกลับกัน แทนที่จะให้วันลาแบบไม่จำกัด นายจ้างควรหันมาเพิ่มสิทธิประโยชน์ในวันลาให้สร้างสรรค์มากขึ้น เช่น
1. เสนอการหยุดงานนานหนึ่งสัปดาห์ทั่วทั้งบริษัทในช่วงที่มีวันหยุดยาวสำคัญๆ ของปี
2. เสนอให้พนักงานใหม่ลาพักร้อนก่อนเริ่มงาน
3. กำหนดให้พนักงานต้องใช้วันลาหลายวันในแต่ละไตรมาสของปี เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสใช้วันลาในการพักผ่อนได้ครบจำนวนวันได้เต็มที่ตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ ตามการสำรวจของ Harris Poll ยังพบว่าชาวอเมริกันจำนวนมากอยากให้บริษัทต่างๆ ในสหรัฐ ใช้กฎหมายทั่วไปเหมือนกับในยุโรปที่มีกฎหมายบังคับใช้ในการแบ่งชั่วโมงทำงานกับเวลาส่วนตัวเพิ่มเติม เช่น นโยบายการขยายเวลาลาพักร้อน (หยุดหนึ่งเดือนในเดือนสิงหาคม), ให้เวลาช่วงพักกลางวันนานขึ้น, ปรับสัปดาห์การทำงานสั้นลงหรือลดลงน้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์, ตั้งกฎไม่ให้มีการแชทคุยเรื่องงานนอกเวลาทำงาน เป็นต้น