เจน 3 “ตลาดสี่มุมเมือง” ชู Trust & Relationship นำทัพ‘สร้างตลาดสู่เมือง’

เจน 3 “ตลาดสี่มุมเมือง” ชู Trust & Relationship นำทัพ‘สร้างตลาดสู่เมือง’

ตลาดสี่มุมเมือง รังสิต ตลาดค้าส่งผัก-ผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ถูกพลิกโฉมครั้งใหญ่เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ด้วยเงินลงทุน 4,500 ล้านบาท โดยมีผู้บริหารรุ่นใหม่ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล “ปณาลี ภัทรประสิทธิ์” นั่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ตลาดสี่มุมเมือง

ตลาดสี่มุมเมือง รังสิต ตลาดค้าส่งผัก-ผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ถูกพลิกโฉมครั้งใหญ่เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ด้วยเงินลงทุน 4,500 ล้านบาท ขยายและปรับปรุงตลาดในโครงการ “ตลาดสี่มุมเมืองยุคใหม่” มีผู้บริหารรุ่นใหม่ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล “ปณาลี ภัทรประสิทธิ์” เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ตลาดสี่มุมเมือง

ผู้บริหารคนนี้ เข้ามาลบภาพจำเดิมๆ ของตลาดสดในอดีต ที่ทั้งรกและเลอะเทอะ สู่อาคารเปิดโล่งโปร่งสบาย สะอาดตา ไม่เฉอะแฉะ มีของจัดเรียงแบ่งเป็นโซนชัดเจน สะดวกต่อการเลือกซื้อสินค้า

นางสาวปณาลี กล่าวว่า หลังจากปี 2566 ตลาดสี่มุมมองเพิ่มโซนตลาดปลา-อาหารทะเลเข้ามา ในปี 2567 เตรียมประกาศเปิดเฟสใหม่บนพื้นที่ 25 ไร่ เป็นโปรเจคดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาจับจ่ายและใช้บริการอื่นๆ ที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากมาย สอดรับเป้าหมายการพัฒนาตลาดสี่มุมเมือง สู่แลนด์มาร์คแห่งใหม่ และต้องเป็นสถานที่ที่ทุกคนต้องนึกถึงเมื่อมาเมืองไทยที่ไม่ได้มีเพียงตลาดค้าส่งผัก-ผลไม้ แต่ยังมีสินค้าอื่นหลากหลาย ทั้งเป็นตลาดผลไม้ที่สะอาดและใกล้กรุงเทพฯ

เจน 3 “ตลาดสี่มุมเมือง” ชู Trust & Relationship นำทัพ‘สร้างตลาดสู่เมือง’

โครงการบนพื้นที่ 25 ไร่นี้ รายละเอียดทั้งหมดยังอยู่ระหว่างเตรียมแผน รวมทั้งประเมินการงบลงทุน ซึ่งโครงการจะแล้วเสร็จในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะเข้ามาช่วยผลักดันเงินหมุนเวียนในตลาดสี่มุมเมืองให้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีเงินหมุนเวียนประมาณวันละ 300 ล้านบาท

หลักบริหาร : กล้าคิดต่อยอด-ทันสมัย

นางสาวปณาลี กล่าวว่า จากการที่คุณพ่อให้อิสระและให้อำนาจตัดสินใจเต็มที่ ทำให้กล้าที่จะคิดและพัฒนาต่อยอด ตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามารับหน้าที่ ก็ใช้วิธีการปรับจูนการทำงาน ปรับองค์กรให้คล่องตัว สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และมีความทันสมัย ตอบรับกับโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะบริการที่นำเข้ามาเป็นช่องทางรายได้ที่สำคัญกับผู้ค้าในตลาดสี่มุมเมือง นอกเหนือจากการให้เช่าพื้นที่ รายได้หลักยังมาจาก ค่าเช่าพื้นที่ และการให้บริการระบบสาธารณูปโภค

นอกจากนี้ ยังเปิด Simummuang Online ธุรกิจขายส่งผัก ผลไม้ ของสดทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มเว็บไซต์ และยังทำแอปพลิเคชั่น Simummuang Sourcing บริการจัดหาสินค้าให้กับบริษัทหรือผู้ต้องการสินค้าในปริมาณมาก

นอกจากเรื่องการขยายการลงทุนใหม่ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียนในตลาดสี่มุมเมือง นางสาวปณาลี ยังบอกว่า ได้ใช้กลยุทธ Trust & Relationship ที่ให้ความสำคัญกับลูกค้า (Customer Centric) ทำให้สามารถผูกใจพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ที่อยู่กันต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ด้วยการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ที่จะมีการพัฒนาสิ่งใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

นางสาวปณาลี กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาตลาดและรูปแบบใหม่ๆ ของบริการสำหรับตลาดสี่มุมเมืองแล้ว สิ่งที่ทำควบคู่กันคือเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแกนสำคัญในการพัฒนาโครงการ เพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ

ด้านสิ่งแวดล้อม กำหนดเป้าหมายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ สี่มุมเมืองต้องเป็นตลาดที่ Zero Waste และอนาคตต้องการต่อยอดไปสู่ Green Market ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่พยายามทำมานานแล้ว และพยายามจะทำให้ทุกอย่างชัดเจนมากขึ้น ด้วยการกำหนดแผน และการลงทุนพัฒนาทั้งการคัดแยกขยะ การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ และการนำขยะไปพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ ซึ่งในตลาดสี่มุมมเมือง ผู้ค้าในตลาดแยกขยะ แยกประเภทเศษผลไม้ที่เหลือจากการตัดแต่งอย่างชัดเจน

ผู้บริหารตลาดสี่มุมเมือง อธิบายต่อว่า การบริหารจัดการขยะภายในตลาด ที่มีทั้งพลาสติก กล่องโฟม และขยะอื่นๆ ถูกแยกจัดเก็บเรียบร้อย หลังจากนั้น จะมีบริษัทเข้ามารับซื้อต่อ สร้างเป็นรายได้กลับมาให้กับตลาดสี่มุมเมือง

ทำให้ขณะนี้ขยะที่เกิดขึ้นในตลาดสี่มุมเมืองราว 230 ตันต่อวัน จากที่เคยนำไปฝังกลบ ปัจจุบันกลายมาเป็นของที่มีมูลค่า ขวด แก้ว พลาสติก แยกไปขาย เศษใบผักนำไปจำหน่าย เช่น ขายให้ผู้ทำบ่อเลี้ยงปลา เปลือกข้าวโพด จุกสับปะรด แปรรูปเป็นอาหารโคเนื้อและโคนม น้ำจุลินทรีย์ EM จากเศษผลไม้จุกสับปะรด ส้ม แตงโม และมะนาว นำมาทำความสะอาดตลาดและห้องน้ำ

นางสาวปณาลี กล่าวว่า เกี่ยวกับขยะ ยังมีส่วนที่แยกไปรีไซเคิล ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ตลาดสี่มุมเมืองในอนาคต

เป้าหมายที่ผู้บริหารคนนี้้ตั้งไว้ คือ การบริการ (provide service) ที่ตอบโจทย์ให้กลุ่มคนที่อยู่กับตลาดสี่มุมเมือง และการพัฒนาสี่มุมเมือง ให้เป็นเมืองและเดสติเนชั่นที่ไม่เพียงผู้ค้า แต่รวมถึงนักท่องเที่ยวได้แวะเวียนเข้ามาใช้บริการ ซึ่งขณะนี้ถ้าเข้าไปในตลาดสี่มุมเมือง จะเริ่มเห็นร้านค้าใหม่ๆ ที่เป็นแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จัก และจะขยายต่อเนื่อง เพื่อขยายกลุ่มผู้ใช้บริการตลาดสี่มุมเมือง ไปสู่รูปแบบใหม่ที่ครบวงจรมากยิ่งขึ้น