ไม่มี ‘ความเท่าเทียม’ ในที่ทำงาน องค์กรจะขาดแคลนแรงงานทักษะสูง

ไม่มี ‘ความเท่าเทียม’ ในที่ทำงาน องค์กรจะขาดแคลนแรงงานทักษะสูง

องค์กรที่ไม่มี "ความเท่าเทียม" ในที่ทำงาน จะขาดแคลนพนักงานเก่งๆ เพราะในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า "แรงงานทักษะสูง" จะหายากยิ่งกว่างมเข็ม เหตุคนเกิดใหม่น้อย คนสูงวัยล้นเมือง!

KEY

POINTS

  • องค์กรที่ไม่มีความเท่าเทียมในที่ทำงาน ในอนาคตจะยิ่งหาบุคลากรเก่งๆ มาร่วมงานด้วยยาก เพราะต่อไปปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูงจะรุนแรงมากขึ้น เหตุจากคนเกิดใหม่น้อยลง
  • หนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้องค์กรดึงดูดแรงงานทักษะสูงให้มาอยู่ด้วยได้นั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า องค์กรต้องสร้างวัฒนธรรม “ความเท่าเทียม” และ “การมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นในที่ทำงานให้ได้
  • วิจัยจาก Mckincy ยืนยันว่า บริษัทที่มีทีมงานที่หลากหลายมีแนวโน้มที่จะทำผลงานได้ดีกว่าบริษัทคู่แข่งถึง 35% 

บริษัทของคุณให้ความสำคัญเรื่อง “ความเท่าเทียม” มากแค่ไหน? รู้หรือไม่? สิ่งนี้จะมีความสำคัญและเป็นตัวชี้วัดว่าองค์กรไหนจะได้คนเก่งไปอยู่ด้วย ยิ่งต่อไปคนเกิดใหม่น้อยลงเรื่อยๆ ส่งผลให้แรงงานในตลาดลดลงตามไปด้วย จนเกิดภาวะ “ขาดแคลนบุคลากรทักษะสูง” หนักมาก อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

งานวิจัยจาก Randstad ที่สำรวจเกี่ยวกับเทรนด์โลกทำงานและปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูง เปิดเผยข้อมูลคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 ประชากรโลกที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า จาก 12% เป็น 22% โดยเฉพาะตลาดสำคัญๆ เช่น ญี่ปุ่นและเยอรมนี จะมีประชากรในวัยทำงานลดลงถึง 40% ในอีก 26 ปีข้างหน้า ..นี่เป็นสถานการณ์ที่ทุกองค์กรต้องเตรียมรับมือและปรับตัวให้ทัน

หนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้องค์กรดึงดูดแรงงานทักษะสูงให้มาอยู่ด้วยได้นั้น ผู้เชี่ยวชาญอย่าง "ซานเดอร์ ฟาน นูร์เดนเด้" (Sander van’t Noordende) ซีอีโอของ Randstad ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานขนาดใหญ่ระดับโลก มองว่า ผู้นำองค์กรควรสร้างวัฒนธรรมของ “ความเท่าเทียม” และ “การมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นในที่ทำงานให้ได้ 

เนื่องจากการปลูกฝังความเสมอภาคให้เติบโตในองค์กรธุรกิจ ถือเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และเป็นวิธีแก้เกมเชิงกลยุทธ์เพื่อตอบสนองความต้องการในการค้นหาพนักงานที่เหมาะสมสำหรับบทบาทหน้าที่โดยตรง

ทำไมความเท่าเทียมจึงสำคัญกับองค์กรหรือการบริหารธุรกิจ ?

นูร์เดนเด้ อธิบายว่า องค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค ไม่เพียงแต่จะดึงดูดบุคลากรที่มีพรสวรรค์ให้มาร่วมงานด้วยเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรได้ (เช่น การขึ้นแท่นเป็นบริษัทที่วัยทำงานอยากร่วมงานด้วยที่สุด) 

ทั้งนี้ ความเสมอภาค หมายถึง การมีมาตรการที่ทำให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์หรือภูมิหลังใด ก็สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้เท่าเทียมกัน ดังนั้น ตามคำจำกัดความแล้ว การมีแนวทางปฏิบัติที่เสมอภาคกันในที่ทำงาน จะทำให้พนักงานพัฒนาตนเองได้ และยิ่งทำให้มีคนทักษะสูงในองค์กรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

อีกทั้ง การที่บริษัทมีกลุ่มคนทำงานที่มีความหลากหลาย เช่น กลุ่มเพศทางเลือก คนพิการ พนักงานที่มีอายุมากกว่า และกลุ่มคนชายขอบ ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้จะนำมาซึ่งมิติใหม่ๆ และมุมมองใหม่ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีงานวิจัยจาก Mckincy ยืนยันว่า บริษัทที่มีทีมงานที่หลากหลายมีแนวโน้มที่จะทำผลงานได้ดีกว่าบริษัทคู่แข่งถึง 35% 

อีกทั้งการมีทีมงานที่หลากหลายยังช่วยให้บริษัทรักษาพนักงานเก่งๆ เอาไว้ได้นาน มีรายงานด้วยว่า สถานที่ทำงานที่เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายนั้น มีอัตราการลาออกต่ำกว่า 22% ประเด็นสำคัญเหล่านี้เน้นย้ำถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ ผ่านการส่งเสริมความเท่าเทียมกันในที่ทำงาน 

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกของการทำงานมีความเฉพาะทางมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ ผู้นำองค์กรต้องมองให้ไกลไปอีกหนึ่งสเต็ป เปิดรับเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกการทำงาน และทำความเข้าใจว่าพนักงานของคุณคิดอย่างไร การวิจัยของ Workmonitor เผยให้เห็นว่า 65% ของบุคลากรทักษะสูงระดับผู้เชี่ยวชาญ พวกเขาจัดอันดับให้ “ความเท่าเทียม” ในค่าตอบแทนของพนักงานทุกเพศ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตการทำงาน

ในขณะเดียวกัน 40% ของผู้ดำรงตำแหน่งระดับปฏิบัติการ จะไม่ยอมรับงานที่ไม่ตรงกับค่านิยมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของพวกเขา การคำนึงถึงความแตกต่างเหล่านี้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

เปิด 4 วิธีสร้างวัฒนธรรมแห่งความเท่าเทียม เพื่อดึง 'แรงงานทักษะสูง' มาอยู่กับองค์กร

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเห็นแล้วว่า “ความเสมอภาคหรือความเท่าเทียม” เป็นปัจจัยสำคัญในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ทั้งยังเป็นเหมือนแม่เหล็กที่จะดึงดูด-รักษาบุคลากรเก่งๆ เอาไว้ ว่าแต่.. จะทำอย่างไรให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน เรื่องนี้ นูร์เดนเด้ มีคำแนะนำถึงผู้บริหารองค์กรให้ลองนำไปพิจารณา ดังนี้

1. ความคิดแบบยืดหยุ่น

การเสนอรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นช่วยให้บริษัทสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นได้ ความยืดหยุ่นดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ปรับตารางเวลางานให้ยือหยุ่น, ออกแบบโปรเจกต์งานที่ยืดหยุ่น, ปรับสถานที่ทำงานที่ยืดหยุ่น หรือปรับตัวแปรอื่นๆ ที่เฉพาะเจาะจงกับบริษัทของคุณ ซึ่งสิ่งนี้น่าดึงดูดใจเป็นพิเศษสำหรับพนักงานในยุคนี้

2. สร้างความมั่นใจว่าจ่ายค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและโปร่งใส

นโยบาย “การจ่ายเงินเดือนที่โปร่งใส” สามารถดึงดูดคนเก่งที่มีความสามารถหลากหลายให้เข้ามาได้ และช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจภายในองค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลดีต่อชื่อเสียงขององค์กร และการรักษาพนักงานเดิมเอาไว้ได้ การศึกษาหนึ่งพบว่า พนักงาน 78% เห็นว่าวิธีที่บริษัทปฏิบัติต่อพนักงานเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญถึงความน่าเชื่อถือของบริษัท การให้ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันของคนทุกเพศ จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างความไว้วางใจและดึงดูดบุคลากรชั้นนำได้อย่างต่อเนื่อง

3. ส่งเสริมแนวทางการจ้างงานแบบไร้อคติ

นี่คือจุดที่เทคโนโลยี AI สามารถให้การสนับสนุนได้อย่างมาก เพราะมันไม่ลำเอียงและไม่มีอคติส่วนตัว โดยบริษัทอาจประโยชน์จาก AI ในการสรรหาบุคลากรที่ต้องการ เพื่อช่วยให้กระบวนการจ้างงานยุติธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีนี้ยังใช้วัดความรู้สึกของพนักงานและระบุโอกาสในการย้ายงานได้ ทุกวันนี้มีผู้นำมากถึง 78% ที่เห็นด้วยกับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีดังกล่าว

4. เสริมสร้างกลุ่มทรัพยากรทางธุรกิจ (ERG)

กลุ่มทรัพยากรพนักงานหรือสหภาพแรงงาน (ที่พัฒนามาจากหลัก ERG หรือทฤษฎีความต้องการของมนุษย์) ควรได้รับการพิจารณาให้เป็นที่ปรึกษาหลักที่ให้การสนับสนุนและให้ความรู้ เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ทำงานที่เท่าเทียมกันต่อไป เช่น สนับสนุนฐานพนักงานที่มีความหลากหลายทั้งเรื่องเพศหรือเชื้อชาติ สิ่งนี้จะช่วยขับเคลื่อนวาระและนโยบายต่างๆ ของบริษัทได้จากภายในองค์กร

ย้ำอีกครั้งว่า การให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในที่ทำงาน ถือเป็นกุญแจในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทักษะสูง และยังช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ผู้นำควรสนับสนุนแนวทางปฏิบัติและกลยุทธ์ที่ครอบคลุมซึ่งขับเคลื่อนความเสมอภาคตามสถานการณ์เฉพาะของตนเอง การทำเช่นนี้จะผลักดันให้องค์กรมีทีมงานที่แข็งแกร่งขึ้น สร้างสรรค์ผลิตผลได้มากขึ้น และแข่งขันได้มากขึ้นในอนาคต