วิจัยยืนยัน ‘สุนัข’ เข้าใจความหมายคำศัพท์ ที่อยู่บนแผ่นซาวด์บอร์ด

วิจัยยืนยัน ‘สุนัข’ เข้าใจความหมายคำศัพท์ ที่อยู่บนแผ่นซาวด์บอร์ด

สุนัขที่ได้รับการฝึกให้ใช้ซาวด์บอร์ดจะสามารถเข้าใจคำศัพท์เฉพาะเหล่านั้นได้จริง ส่งผลให้ตอบสนองได้อย่างเหมาะสม

KEY

POINTS

  • สุนัขที่ได้รับการฝึกด้วยปุ่มเสียงจะสามารถเข้าใจคำศัพท์เฉพาะ เช่น “เล่น” และ “ข้างนอก” ได้จริง ส่งผลให้ตอบสนองได้อย่างเหมาะสม
  • สุนัขไม่ได้แค่ “อ่าน” ภาษากายหรือการปรากฏตัวของเจ้าของเท่านั้น แต่พวกมันกำลังประมวลผลคำเหล่านั้นอยู่
  • วิธีการสื่อสารของสุนัขอาจมีความซับซ้อนมากกว่าที่เคยคาดไว้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงขนปุยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลายคนคงเคยเห็นวิดีโอ “สุนัข” กดปุ่มเสียงซาวด์บอร์ดแทนคำพูดต่าง ๆ ตามโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำเอา “ทาสหมา” ใจบางชื่นชมกับควาแสนรู้ของพวกมัน แต่ก็ทำให้เกิดคำถามว่า สุนัขเหล่านี้เข้าใจความหมายของคำเหล่านั้นจริง ๆ หรือตอบสนองต่อสัญญาณ โดยสังเกตจากพฤติกรรมหรือภาษากายของเจ้าของกันแน่ ? การศึกษาวิจัยใหม่ได้พิสูจน์คำตอบของคำถามนี้ และพบว่าสุนัขเข้าใจความหมายของคำจริง ๆ

การศึกษาวิจัยของ รศ. ฟเดอริโก รอสซาโน จากภาควิชาวิทยาการปัญญา ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนดีเอโก พบว่า สุนัขที่ได้รับการฝึกด้วยปุ่มเสียงจะสามารถเข้าใจคำศัพท์เฉพาะ เช่น “เล่น” และ “ข้างนอก” ได้จริง ส่งผลให้ตอบสนองได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าคำเหล่านั้นจะพูดโดยเจ้าของ ถูกกระตุ้นเมื่อเจ้าของกดปุ่ม หรือถูกกระตุ้นเมื่อบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกดก็ตาม

ซึ่งบ่งชี้ว่าสุนัขไม่ได้แค่ “อ่าน” ภาษากายหรือการปรากฏตัวของเจ้าของเท่านั้น แต่พวกมันกำลังประมวลผลคำเหล่านั้นอยู่

รศ.รอสซาโน อธิบายว่า “ผลการศึกษาของเรามีความสำคัญ เพราะแสดงให้เห็นว่าคำพูดมีความสำคัญต่อสุนัข และสุนัขตอบสนองต่อคำพูดนั้นเอง ไม่ใช่แค่ต่อสัญญาณที่เกี่ยวข้องเท่านั้น” 

การศึกษานี้ใช้การทดลอง 2 แนวทาง ได้แก่ การทดลองแบบพบหน้าและแบบทางไกล การทดลองแบบพบหน้า ทำโดยให้ผู้วิจัยไปเยี่ยมบ้าน 30 หลังเพื่อวัดปฏิกิริยาของสุนัขต่อปุ่มบนแผงเสียง ส่วนการทดลองครั้งที่สอง ให้ผู้ฝึกสุนัข 29 คน ทำการทดลองด้วยตนเองที่บ้าน ภายใต้คำแนะนำจากระยะไกล

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้เราเข้าใจความสามารถในการรับรู้ของสุนัขมากขึ้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่าวิธีการสื่อสารของสุนัขอาจมีความซับซ้อนมากกว่าที่เคยคาดไว้ ด้วยการตรวจสอบรูปแบบเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายความลึกซึ้งของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัข และเพิ่มความสามารถในการสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงขนปุยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การวิจัยในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเจาะลึกถึงความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ต่าง ๆ ในความสามารถในการเข้าใจความหมายและใช้ปุ่มเสียง รวมถึงวิธีที่สุนัขปรับกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อตอบสนองต่อลักษณะเฉพาะตัวของผู้ดูแล

ในขณะที่เรายังคงถอดรหัสภาษาของสุนัขต่อไป ในที่สุด เราอาจค้นพบความเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าของการวิจัยการสื่อสารข้ามสายพันธุ์ได้

งานวิจัยชิ้นนี้ ถือเป็นการศึกษาเชิงประจักษ์ครั้งแรก ๆ ที่เป็นการวิจัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการฝึกให้กดปุ่ม แต่ยังเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น การวิจัยในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเจาะลึกลงไปอีกในการทำความเข้าใจว่าสุนัขใช้ปุ่มเสียงได้อย่างไรโดยธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความซับซ้อนของการรับรู้และการสื่อสารของสุนัขได้ดียิ่งขึ้น


ที่มา: EarthNewsweekThe Guardian