‘หมูเด้ง’ สุดฟีเว่อร์ วิจัยเผย ดูคลิปสัตว์น่ารัก ช่วยสุขภาพจิตดี

‘หมูเด้ง’ สุดฟีเว่อร์ วิจัยเผย ดูคลิปสัตว์น่ารัก ช่วยสุขภาพจิตดี

ดูคลิปสัตว์น่ารัก ช่วยสุขภาพจิตดี มีสมาธิ ทำงานได้ดีกว่าเดิม เพราะเพิ่มระดับของโดพามีนและออกซิโทซิน สารเคมีในระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกภาคภูมิใจและผูกพันกัน

KEY

POINTS

  • งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การชมคลิปสัตว์น่ารัก ช่วยให้สุขภาพจิตดี มีความสุข เพิ่มสมาธิ สามารถทำงานได้ดีกว่าเดิม
  • เพราะการชมคลิปสัตว์ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดวงจรแห่งความพึงพอใจและอารมณ์ดี เพิ่มระดับของโดพามีนและออกซิโทซิน
  • เมื่อมนุษย์ลูกสัตว์น่ารักก็จะคิดไปถึงเด็กทารก ทำให้แสดงนิสัยอยากเข้าหา ดูแล และปกป้องสัตว์ตัวน้อยเหล่านั้น เพื่อให้พวกเขามีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย

ตอนนี้หน้าฟีดกำลังเต็มไปด้วยภาพ “หมูเด้ง” ฮิปโปแคระ จากสวนสัตว์เขาเขียว กับภาพลักษณ์สุดดีด และความน่ารัก น่ามันเขี้ยว ทำให้น้องขึ้นแท่นเป็นขวัญใจชาวไทยคนใหม่ ซึ่งการดูภาพและคลิปของหมูเด้ง รวมถึงบรรดาสัตว์โลกน่ารักทั้งหลาย ทั้งลูกหมา ลูกแมว คาปิบารา มาร์มอต ล้วนช่วยทำให้สุขภาพจิตของคุณดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ดร. แอนเดรีย อุทลีย์ รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ ร่วมกับการท่องเที่ยวเวสเทิร์นออสเตรเลีย ทำการศึกษาให้ผู้เข้าร่วมการทดลองชมภาพและวิดีโอของสัตว์น่ารัก ได้แก่ ลูกแมว ลูกสุนัข กอริลลาตัวน้อย และควอกก้า สัตว์ที่ขึ้นชื่อว่ามีความสุขที่สุดในโลก เป็นเวลา 30 นาที เพื่อดูว่าคลิปเหล่านี้ส่งผลต่อความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และความวิตกกังวลอย่างไร 

ผลการศึกษาพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการชมสัตว์น่ารักอาจช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้ โดยความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และความวิตกกังวลลดลงของผู้เข้าร่วมการทดลองลดลงจากการรับชมวิดีโอ การศึกษาบันทึกว่าความดันโลหิตเฉลี่ยลดลงจาก 136/88 เป็น 115/71 ซึ่งการศึกษาชี้ให้เห็นว่า “อยู่ในช่วงความดันโลหิตที่เหมาะสม” อัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ยลดลงเหลือ 67.4 ครั้งต่อนาที ซึ่งลดลง 6.5%

ขณะที่ อัตราความวิตกกังวลยังลดลง 35% โดยวัดโดยใช้ State-Trait Anxiety Inventory ซึ่งเป็นวิธีการประเมินตนเองที่มักใช้ในทางคลินิกเพื่อวินิจฉัยความวิตกกังวล ตามข้อมูลของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมการทดลองระบุว่าพวกเขาชอบดูคลิปสัตว์มากกว่าที่เป็นรูปภาพธรรมดา

การทดลองดังกล่าวจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2019 โดยมีผู้เข้าร่วม 19 คน ได้แก่ นักศึกษา 15 คนและเจ้าหน้าที่ 4 คน และจัดขึ้นในช่วงเวลาสอบฤดูหนาวโดยเฉพาะช่วงที่มีความเครียดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักศึกษาแพทย์ 

สอดคล้องกับการทดลองของเจน กอลเบค และ สเตซี โคลิโน จากมหาวิทยาลัยเมรีแลนด์ ที่ให้ผู้เข้าร่วม 1,880 คน ตอบแบบสำรวจเรื่องความรู้สึกเป็นอยู่ที่ดี โดยวัดจากความรู้สึกมีความสุข ปลอดภัย สงบ พอใจ ควบคุมตัวเองได้ และรู้สึกขอบคุณ จากนั้นพวกเขาเลือกอ่านโพสต์ตลกที่เป็นไวรัล อ่านโพสต์ของโดนัลด์ ทรัมป์ หรือมีมรูปสุนัขน่ารัก ๆ เป็นเวลา 5 นาที จากนั้นพวกเขาทำแบบสำรวจความเป็นอยู่ที่ดีอีกครั้ง

ผลการศึกษาพบว่า ทั้ง 3 รูปแบบสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อความเป็นอยู่ที่ดีและอารมณ์ที่แตกต่างกัน โดยคนที่อ่านโพสต์ของทรัมป์จะมีความเป็นอยู่ที่ดีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นคนที่สนับสนุนทรัมป์และผู้ที่ไม่สนับสนุนก็ตาม โดยคนที่สนับสนุนทรัมป์ จะโกรธในสิ่งที่เขาโกรธ แต่หากไม่สนับสนุนเขา คนเหล่านั้นจะไม่พอใจคำพูดของเขา

ส่วนในอีก 2 รูปแบบ ช่วยให้ผู้อ่านมีความเป็นอยู่ที่ดีเพิ่มขึ้น ซึ่งคนที่ดูรูปมีมสุนัขน่ารักจะมีความเป็นอยู่ดีที่สุด แสดงให้เห็นว่าภาพสุนัขเป็นตัวเลือกที่ทรงพลังที่สุดในการกระตุ้นความเป็นอยู่ที่ดีให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งการพิสูจน์สุนัขทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้จริง ไม่เพียงแค่การสัมผัสและเล่นกับน้องเท่านั้น แต่การมีมีปฏิสัมพันธ์ทางเสมือนจริง เช่น การดูคลิปก็ยังส่งผลให้เรารู้สึกดีได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ วิดีโอสัตว์โลกแสนน่ารักยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อีกด้วย การศึกษาวิจัยโดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ฮิโรชิ นิตโตโนะ ทำการทดลองให้ผู้คนทำกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะและสมาธิ ก่อนที่จะพวกเขาเลือกดูคอนเทนต์ที่แตกต่างกัน 3 รายการ ได้แก่ ภาพลูกสัตว์แสนน่ารัก ภาพสัตว์โตเต็มวัย และภาพที่เป็นกลาง เช่น อาหาร และหลังจากนั้นกลับไปทำกิจกรรมอีกครั้ง

ผลการศึกษา พบว่า ผู้ที่ดูภาพสัตว์น่ารักมีประสิทธิภาพการทำงานดีกว่ากลุ่มอื่นทั้งสองกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด นักวิจัยระบุว่าประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้นเกิดจากปัจจัยบางประการ ซึ่งเป็นผลมาจาการดูวิดีโอสัตว์ทารกที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีสมาธิจดจ่อมากขึ้น

 

ดูภาพสัตว์แสนน่ารักช่วยให้คนมีความสุข

แล้วทำไมการดูภาพสัตว์แสนน่ารักถึงช่วยให้คนเรามีความสุขได้ ดานา สมิธ นักเขียนอาวุโสด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์ และอดีตนักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง กล่าวว่า เมื่อเวลามนุษย์มองและเล่นกับสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงของตนเอง จะช่วยกระตุ้นให้เกิดวงจรแห่งความพึงพอใจ (Brain Reward Circuit) และอารมณ์ดี เพราะการสัมผัสสัตว์ช่วยลดระดับคอร์ติซอลซึ่งเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดความเครียดได้

อีกทั้งยังเพิ่มระดับของโดพามีนและออกซิโทซิน สารเคมีในระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกภาคภูมิใจและผูกพันกันตามลำดับ ขณะเดียวกันสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขสามารถสัมผัสความรักของเจ้าของได้ พวกมันจะมีระดับออกซิโทซินเพิ่มขึ้นในลักษณะเดียวกัน เมื่อมองเข้าไปในดวงตาของเจ้าของ

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์คิดว่าการตอบสนองของสมองมนุษย์เมื่อเห็นสัตว์น่ารักนั้น เป็นไปตามหลักวิวัฒนาการและการสืบพันธุ์ เนื่องจากสัตว์ตัวเล็กจะมีลักษณะลักษณะคล้ายกับเด็กทารก ทั้งมีดวงตาขนาดใหญ่ แต่มีตัวเล็ก ร่างกายอ่อนนุ่ม เมื่อมนุษย์เหล่าสัตว์เหล่านี้ก็จะคิดไปถึงเด็กทารก ทำให้แสดงนิสัยอยากเข้าหา ดูแล และปกป้องสัตว์ตัวน้อยเหล่านั้น เพื่อให้พวกเขามีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย

ส่วนความรู้สึก “มันเขี้ยว” อยากจะกัดอยากจะฟัดเด็กหรือลูกสัตว์ เกิดขึ้นเมื่อสมองของมนุษย์รับมือไม่ไหวกับความน่ารักนั้นได้ สมองจึงเริ่มรวบรวมความรู้สึกเชิงลบที่ตรงกันข้ามเพื่อสงบสติอารมณ์ หากคุณหลงใหลในความน่ารักของพวกเขามากเกินไป คุณจะไม่สามารถดูแลได้อย่างเหมาะสม สมองจึงพยายามลดความตื่นเต้นโดยใช้ประโยชน์จากอารมณ์ที่ตรงกันข้าม 

นักจิตวิทยาสังคม โอรีอานา อารากอน เป็นผู้ค้นพบปรากฏการณ์นี้เป็นคนแรก กล่าวว่า “การแสดงอารมณ์ในทางที่แตกต่างออกกัน อาจช่วยควบคุมอารมณ์ได้ โดยการสร้างสมดุลระหว่างอารมณ์หนึ่งกับอีกอารมณ์หนึ่ง”


ที่มา: CNNElementalPsychology TodayVerywell Mind