ลาป่วยเป็นสิทธิ แต่มีเงื่อนไขลูกจ้างต้องรู้ ตามกฎหมายลาได้สูงสุดกี่วัน?
จากกรณีสาวโรงงานไม่สบาย ขอลางานหลายวันติดต่อกัน หัวหน้าแจ้งต้องมีใบรับรองแพทย์ สุดท้ายอาการหนักจนเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ลาป่วยเป็นสิทธิตามกฎหมายแต่มีเงื่อนที่ลูกจ้างต้องรู้ เปิดข้อกฎหมายลาได้สูงสุดได้กี่วัน?
จากกรณีสาวโรงงานรายหนึ่งไม่สบายด้วยอาการลำไส้ใหญ่อักเสบ จึงขอลางานไปหาหมอ พักรักษาตัวอยู่หลายวันแต่อาการไม่ดีขึ้น จึงขอลางานเพิ่มติดต่อกันหลายวันต่อเนื่อง หัวหน้าแจ้งต้องมีใบรับรองแพทย์ เจ้าตัวจึงตัดสินใจไปทำงานเพราะกลัวโดนไล่ออก สุดท้ายอาการหนักจนเสียชีวิต
โดยมีข้อมูลเพิ่มเติมจาก เพจหนุ่มสาวโรงงาน และ เพจสปอร์ตไลท์บางปู ระบุว่า เคสดังกล่าวเธอไม่มีประวัติการลางานมาก่อน ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา เธอไม่สบายด้วยอาการลำไส้ใหญ่อักเสบ จึงขอลางานไปหาหมอและได้นอนรักษาตัววันที่ 5-9 กันยายน หลังจากออกมาอาการไม่ดีขึ้น จึงขอลาต่อ 10-12 กันยายน และช่วงเย็นวันที่ 12 กันยายน ได้ขอลางานต่ออีกในวันที่ 13 กันยายน ซึ่งรวมแล้วเธอขอลาป่วยไปทั้งหมด 8 วัน ซึ่งตามกฎหมายแล้วสามารถใช้สิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และไม่มีผลต่อการบังคับให้มาทำงานหรือบังคับให้ต้องออกจากงาน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสิทธิการ ‘ลางาน’ หรือ ‘ลาป่วย’ ของลูกจ้างขึ้นมาอีกครั้ง หลายคนยังมีข้อสงสัยว่าสิทธิในการลาป่วยนั้น ลาได้กี่วัน และการลาป่วยแบบไหนต้องใช้หรือไม่ใช้ใบรับรองแพทย์ ?
ทบทวนสิทธิการลางานตามกฎหมายแรงงาน มีเงื่อนไขที่ลูกจ้างต้องรู้
จากข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในกรณีของการลางานประเภทต่างๆ นั้น มีเงื่อนไขและรายละเอียดที่ลูกจ้างต้องรู้ เพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของตนเอง ดังนี้
กรณีลาป่วย: ลูกจ้างสามารถลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง สูงสุด 3 วันที่ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ แต่หากมากกว่า 3 วันขึ้นไป นายจ้างอาจขอให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ แต่หากลูกจ้างไม่สามารถชี้แจงให้นายจ้างทราบได้ถึงเหตุผลในการลางาน ก็จะไม่นับว่าเป็นวันลาป่วย ทั้งนี้ลูกจ้างลาป่วยได้สูงสุด 30 วันทำงานต่อปีโดยที่ยังได้ค่าจ้าง
กรณีลากิจ: ลูกจ้างสามารถลาไปทำกิจธุระได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี และในวันที่ลากิจ ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างจากการทำงานตามปกติ โดยจะเป็นการทำเรื่องลาไว้ล่วงหน้า หรือกลับมาเขียนใบลาย้อนหลังก็สามารถทำได้
กรณีลาพักร้อน: ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพุทธศักราช 2541 ระบุไว้ว่า พนักงานทุกคนมีสิทธิได้รับวันลาพักร้อนหรือวันหยุดประจำปี อย่างน้อย 6 วันต่อปี หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง
นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ. ยังระบุอย่างชัดเจนด้วยว่า วันลาทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว ไม่ได้มีข้อกำหนดตามกฎหมายว่า ต้องผ่านระยะการทดลองงานหรือทำงานครบ 1 ปีขึ้นไปจึงจะได้รับ พนักงานหรือลูกจ้างจะได้รับวันลาทันทีที่เริ่มงาน ไม่เพียงเท่านั้น ลูกจ้างยังได้สิทธิวันลาตามกฎหมายประเภทอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น วันลาทำหมัน ระยะเวลาตามแพทย์กำหนด, วันลารับราชการทหาร (เพศชาย) ไม่เกิน 60 วันต่อปี, วันลาคลอดบุตร (เพศหญิง) ไม่เกิน 90 วันต่อปี, วันลาฝึกอบรม ฯลฯ
ถึงจะ 'ลางาน' แต่ลูกจ้างประจำยังคงได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย
คำถามต่อมาที่หลายคนอาจยังสงสัยคือ เมื่อลางานแล้วลูกจ้างจะยังได้รับค่าจ้างในวันลานั้นๆ หรือไม่ เรื่องนี้มีข้อมูลตามกำหมายแรงงานระบุว่า สำหรับ “ค่าจ้างในวันลา” มีข้อกำหนดให้นายจ้าง ต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยไม่เกิน 30 วันทำงาน/ปี, ต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อทำหมัน, จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหาร ไม่เกิน 60 วัน/ปี, จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร ไม่เกิน 45 วัน/ครรภ์
นอกจากนี้ลูกจ้างประจำยังจะได้รับ “ค่าจ้างในวันหยุด” โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างประจำ (ยกเว้นลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงาน ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์)
หากลูกจ้างเชื่อว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ้างงาน เช่น ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา วันลา วันหยุดพักผ่อน หรือ ถูกให้ออกจากงานโดยที่ไม่มีความผิด ก็สามารถขอความช่วยเหลือได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ศาลแรงงาน หรือ ยื่นคำร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงาน
อย่างไรก็ตาม ทั้ง “ลูกจ้าง” และ “นายจ้าง” ควรทำความเข้าใจร่วมกันในสิทธิการลาต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหากับทั้งสองฝ่าย รวมถึงลูกจ้างเองก็ควรศึกษากฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองด้วย ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 0 2246 0801 โทรสาร 0 2245 0998