สัตยา เผย วัยทำงานอย่ากังวล AI แต่จงฝึกใช้มัน แล้วจะก้าวล้ำหน้ากว่าคนอื่น

สัตยา เผย วัยทำงานอย่ากังวล AI แต่จงฝึกใช้มัน แล้วจะก้าวล้ำหน้ากว่าคนอื่น

ซีอีโอ Microsoft เผย อย่ามัวกังวลว่า AI จะไม่คุ้มทุน แต่ผู้นำองค์กร และวัยงานควรฝึกใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ให้เชี่ยวชาญตั้งแต่ตอนนี้ แล้วต่อไปในอนาคตพวกคุณจะก้าวล้ำหน้ากว่าคนอื่น

เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดกระแสดราม่าในโลกการทำงานกรณีการนำเทคฯ AI เข้ามาใช้งานในบริษัท และองค์กรต่างๆ ซึ่งพนักงานยังใช้ประโยชน์จากมันได้ค่อนข้างน้อย โดยผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่า การทุ่มทุนในการพัฒนา AI ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน

ตามรายงานล่าสุดของ Goldman Sachs ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคารเพื่อการลงทุน และกลุ่มหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่า การลงทุนในการพัฒนา AI ทบสูงขึ้นเรื่อยๆ และกำลังจะเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และ ไมโครซอฟท์ ก็เป็นนักลงทุนชั้นนำ ที่มอบเงินทุน 13,000 ล้านดอลลาร์ให้กับ OpenAI ซึ่งเป็นผู้ผลิต ChatGPT จนถึงปัจจุบัน 

รายงานของ Goldman Sachs ระบุอีกว่า แม้จะทุ่มทุนลงไปมากแค่ไหน แต่เงินทั้งหมดนั้น ยังไม่สามารถผลิตเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจส่วนใหญ่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ เมื่อสำรวจถึงการใช้งาน AI ในที่ทำงานหลายๆ แห่งพบว่า มีเพียงการใช้งานเครื่องมือ AI อยู่ไม่กี่อย่าง เช่น AI ช่วยตรวจสอบไวยากรณ์, AI จดบันทึกระหว่างการประชุม, AI ช่วยค้นหาความคิดสร้างสรรค์ในระดับเริ่มต้น ฯลฯ ซึ่งถือว่าคนเราใช้งานมันน้อยมาก

เทคโนโลยี AI มีราคาแพงมาก และอาจไม่คุ้มทุน?!

จิม โคเวลโล (Jim Covello) หัวหน้าฝ่ายวิจัยหุ้นระดับโลกของ Goldman Sachs บอกว่า เทคโนโลยี AI มีราคาแพงมาก และหากอยากให้มันคุ้มกับต้นทุนดังกล่าว เทคโนโลยีจะต้องสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ ซึ่งตอนนี้พบว่ามันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำแบบนั้น

ด้าน สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ประธานกรรมการบริหาร และซีอีโอของไมโครซอฟท์ ผู้สนับสนุนทุนรายใหญ่ให้กับการพัฒนา AI ได้กล่าวระหว่างปรากฏตัวในงาน Fast Company Innovation Festival 2024 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การใช้ AI ในที่ทำงาน สามารถช่วยให้พนักงานเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้แล้ว ทั้งในตอนนี้ และในระยะยาว นอกจากนี้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยังมีบทบาทในการช่วยทำงานที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการดูแลสุขภาพ การเงิน หรือด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย 

“ผมไม่จำเป็นต้องเห็นหลักฐานมากกว่านี้อีกแล้ว เพื่อที่จะยืนยันว่าการใช้ AI สามารถช่วยทำงานอย่างได้ผล และจะสร้างความแตกต่างในโลกการทำงานอย่างแท้จริง” นาเดลลา กล่าว 

นักวิชาการมองว่าประสิทธิภาพของ AI สำหรับการทำงานในปัจจุบันยังไม่น่าเชื่อถือ

การที่นาเดลลาออกโรงปกป้องเครื่องมือ AI นั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะตอนนี้ในบริษัทของเขาก็มีการใช้เครื่องมือ Copilot ซึ่งเป็น AI ของ Microsoft ซึ่งเจ้าตัวก็มีการใช้งานเครื่องมือดังกล่าว ในการกำหนดลำดับความสำคัญของกล่องจดหมายอัตโนมัติในวันทำงานของเขาเป็นประจำ

ยังไม่จบแค่นั้น แต่ก่อนหน้านี้ เกรย์ มาร์คัส (Gary Marcus) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้กล่าวในรายการ “Squawk on the Street” ของ CNBC (ณ เดือนพฤษภาคม) ว่า การที่จะพัฒนาให้ AI สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้นั้น อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี เขาจึงมองว่าการใช้จ่ายหรือลงทุนด้าน AI นั้น ไม่ยั่งยืนในระยะยาว 

“บริษัทที่พัฒนา AI จำเป็นต้องพัฒนามันให้ดีขึ้น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ายากมาก หรือไม่ก็ต้องค้นหากรณีตัวอย่าง การใช้งานด้านการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมาเผยแพร่ต่อผู้ใช้งาน ซึ่งเท่าที่ติดตามดูปรากฏว่ายังไม่เห็นอะไรแบบนั้นออกมา นี่ทำให้มองได้ว่าประสิทธิภาพของ AI ไม่น่าเชื่อถือ” มาร์คัส กล่าว

ซีอีโอไมโครซอฟต์ ยอมรับว่า AI ยังไม่คุ้มทุน แต่วัยทำงานก็ควรฝึกใช้งานอยู่ดี 

สำหรับประเด็นนี้ นาเดลลา ยอมรับว่าประโยชน์ที่ได้รับจาก AI ในปัจจุบัน ยังไม่คุ้มกับต้นทุน และประสิทธิภาพของ AI จะต้องใช้เวลาสักระยะจึงจะสะท้อนออกมาเป็นกำไร โดยสรุปแล้วเขาบอกว่า หากวัยทำงานฝึกใช้ AI ในการทำงานจนคุ้นเคยกับตั้งแต่ตอนนี้ คุณจะก้าวล้ำหน้ากว่าคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อ AI พัฒนาไปมากกว่านี้ในอนาคต คนที่ใช้งานเป็นอยู่แล้วก็ยิ่งจะได้รับประโยชน์อย่างน่าเชื่อถือ (มันจะมีประโยชน์มากกว่าการใช้งานด้านธุรการแน่ๆ)

สอดคล้องกับผลสำรวจของ Slack Workforce Lab ที่ทำการสำรวจวัยทำงานระดับผู้เชี่ยวชาญกว่า 10,000 คน ในเดือนมีนาคม 2567 ระบุว่า พนักงานที่เริ่มใช้ AI พวกเขายอมรับว่า AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้จริง แต่พนักงานกลุ่มนี้ยังเป็นส่วนน้อยอยู่ ในขณะที่พนักงานออฟฟิศกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 3 รายงานว่า พวกเขาไม่เคยใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการทำงานเลย

“ผมคิดว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งกังวลหรือสงสัยว่า AI จะเป็นประโยชน์หรือไม่อีกต่อไป แต่วัยทำงานควรลองเล่นกับเทคโนโลยีเหล่านี้ และฝึกใช้งานมัน อันที่จริงแล้ว พนักงานควรย้อนมองดูตัวเองว่าคุณมีความสามารถแค่ไหนในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในการทำงาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกระบวนการต่างๆ นั่นต่างหากที่เป็นคีย์หลักสำคัญ” นาเดลลา กล่าวทิ้งท้าย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์