สรุป TREND 2025 เข้าใจคนต่างเจเนอเรชั่น โดย TCDC
สรุป TREND 2025 เข้าใจคนต่างเจเนอเรชั่น โดย TCDC ผ่าน e-book "เจาะเทรนด์โลก 2025" หรือ "Trend 2025: BEYOND IMAGINATION" เจาะพฤติกรรม ความคิด ความฝัน และความเชื่อ ของคนแต่ละเจเนอเรชั่น
นิตยสาร “คิด” Creative Thailand ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิดตัว e-book "เจาะเทรนด์โลก 2025" หรือ "Trend 2025: BEYOND IMAGINATION" คู่มือทางความคิดที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ นักออกแบบ นักการตลาด นักบริหารแบรนด์ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทุกสาขา รวมถึงผู้สนใจทั่วไป ได้มองเห็นแนวทางของสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2025
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งจากรายงานเป็นเรื่องของ Generation ซึ่งกรุงเทพธุรกิจ สรุปข้อมูลน่าสนใจของแต่ละเจเนอเรชั่น ทั้งเพื่อเข้าใจคนต่างวัย รวมถึงนักธุรกิจ นักการตลาด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อ มาไว้ให้ที่นี่
Baby Boomer (1946 - 1964) เมื่อ 'การแก่' ไม่ใช่เรื่องตลก
รายงานจากสหประชาชาติ คาดการณ์ว่า ในปี 2050 จะมีจำนวนผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า คนที่มีอายุ 15 - 24 ปี
ทั้งนี้ มีอินไซต์ที่น่าสนใจ คือ ชาวบูมเมอร์มองว่า การวางตัวให้เท่าทันโลก ตามกระแสโซเชียล หรือใช้มีมตามวัยรุ่น ไม่ใช่เรื่องตลกที่ต้องโดนล้อเลียน
ผลสำรวจผู้สูงอายุในสหรัฐ โดย The Guardian เผยว่า แม้พวกเขาจะอายุมากขึ้น แต่ครั้งหนึ่งก็เป็นเด็กที่ต่อสู้กับอุปสรรคตามบริบทของคนยุคหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ พวกเขาพร้อมปล่อยจอย ด้วยการใช้ชีวิตตามบริบทของคนยุคนี้บ้าง
ผลสำรวจจาก Demandsage ชี้ว่า 54% ของธุรกิจในสหรัฐ มีเจ้าของเป็นบูมเมอร์ วัย 60 ปีขึ้นไป และมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ในวัย 70 ปีขึ้นไปด้วย
ขณะที่ธุรกิจยุคนี้มักให้ความสนใจไปกับผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล และ เจน Z แต่กลับลืมไปว่า ผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์และต้องการสินค้าที่มีคุณภาพยิ่งกว่า คือ เหล่าเบบี้บูมเมอร์
และแม้บูมเมอร์มักถูกมองว่า โลว์เทค แต่ทราบหรือไม่ว่า นี่คือผู้บริโภคกลุ่มใหญ่สุดในสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และสมาร์ทวอทช์ โดยเฉพาะถ้าเป็นแก็ดเจ็ทเกี่ยวกับสุขภาพ คนกลุ่มนี้จะให้ความสนใจ
ส่วนเรื่องการรับสื่อ กลุ่มบูมเมอร์ชอบดูวิดีโอแต่ไม่เปิดเสียง อ่านซับแทน ฉะนั้น ขนาดตัวหนังสือต้องใหญ่ ถ้าเป็นเว็บไซต์ให้เกิน 16 pt และเลือกประโยคสั้น ตรงประเด็น
Gen X (1965 - 1980) 'สนามอารมณ์' ของคนเจนอื่น
ความน่าสนใจของคนเจน X คือ แม้พวกเขาจะเติบโตในบ้านที่ให้ความสำคัญเรื่องความประหยัดและอดออม แต่ทุกวันนี้ เจน X จัดเป็นกลุ่มผู้บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยในอันดับต้นๆ ทั้งนี้เพราะพวกเขาเข้าใจสมการความคุ้มค่าที่แท้จริง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับแค่ราคา แต่สินค้าเหล่านั้นต้องสร้างประสบการณ์หรือมอบคุณค่าที่ดีกว่าได้
ส่วนในสนามแรงงาน ชาวเจน X ต้องรับแรงกดดันหลายด้าน ไหนจะโดนเหยียดอายุ แล้วยังต้องเครียดเรื่องการวางแผนเกษียณ แต่ก็ถือเป็นเจนที่ปรับตัวเก่ง
อีกหนึ่งความน่าสนใจจากรายงานชิ้นดังกล่าว ระบุว่า ชาวเจน X เริ่มตกอยู่ในสนามอารมณ์และตกเป็นประเด็นมากว่าขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อบูมเมอร์ลดบทบาทลงไป ทำให้เจน X ขึ้นมาที่อำนาจและบทบาทแทน
ทั้งนี้คอลัมนิสต์จาก New York Times บอกไว้ว่า "การด่าเจนเอ็กซ์ให้เจ็บนั้นยากมาก เพราะ นี่คือเจนที่ไม่ชอบตัวเองอยู่แล้ว" อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวย้ำว่า เราไม่สามารถเหมารวมว่า เจน X ทุกคนจะมีทัศนคติดังกล่าวได้
ในมุมของการบริโภค พบว่า เจน X เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่สุดในตลาดความงาม แต่กลับเป็นเจนที่มักถูกลืม ทั้งที่เป็นเจนที่มีกำลังซื้อสูง โดยพบว่า ผู้หญิงเจนนี้มองหาการนำเสนอความงามแบบวัยกลางคนมากขึ้น
ในส่วนความสนใจบริโภคสื่อของคนเจน X จะผสมผสานระหว่างสื่อดั้งเดิมและสื่อดิจิทัลที่เน้นคุณภาพ ย้อนความทรงจำ อ้างอิงถึงวัฒนธรรมป๊อปยุค 70 80 และ 90
Millennials (1980 - 1995) โสด..โสด อยู่ทางนี้
Tri-life Crisis หรือ วิกฤติชีวิตวัยสามสิบ สามารถเกิดขึ้นทั้งในทุกเพศ ส่วนใหญ่พบในวัย 34-37 ปี โดยมีอาการเครียดทั้งการงาน การผ่อนบ้าน การแต่งงาน มีลูก รวมถึงเป้าหมายชีวิตที่ยากเกินจะทำให้สำเร็จภายในอายุ 30 ปี
และเมื่อเป้าหมายชีวิตมันยาก ทำให้ความสุขเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน กลายเป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตให้กับคนเจนนี้
ขณะที่ Morgan Stanley ให้ข้อมูลว่า กลุ่มมิลเลนเนียล คือ รุ่นที่หย่าร้างมากสุด จนเกิดประชากรคนโสดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และคาดว่า คนโสดอายุ 25-44 ปีจะมีมากถึง 45% ในปี 2030
ทั้งนี้พบว่า คู่รักบางคู่ แม้จะเลิก(รัก)กันแล้ว แต่ยังคงอยู่ด้วยกันต่อไป ทั้งเหตุผลเรื่องลูก รวมถึงกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายหากต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ หรือ ต้องกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่
ในแง่มุมการจับจ่าย พบว่า คนมิลเลนเนียลเป็นลูกค้า Buy Now Pay Later จำนวนมากที่สุดถึง 36% แต่น่าสนใจตรงที่ eMarketer ระบุว่า คนกลุ่มนี้เป็นผู้บริโภคที่จ่ายเงินผ่อนตรงเวลา
Gen Z (1996 - 2011) First Job Crisis กลายเป็นคนไม่ถูกเลือก
ประเด็นน่าสนใจจากรีพอร์ทชิ้นนี้ ระบุว่า เจน Z เป็นกลุ่มที่เริ่มไม่แฮปปี้กับโซเชียลมีเดีย ที่นอกจากจะไม่ช่วยให้หายเหงา กลับตรงกันข้ามคือเหงายิ่งกว่า แถมยังทำให้พักผ่อนน้อยลงด้วย
ทั้งนี้ ขณะที่โลกวุ่นวายด้วยปัญหา แต่เจน Z ต้องการความโรแมนติกมากกว่าใคร
ในโลกการทำงาน เจน Z บางส่วนกำลังเผชิญ First Job Crisis ต้องปรับตัวเข้ากับสังคมและการทำงานหลังการระบาดของโควิด19 และเจน Z จำนวนหนึ่ง "ถูกคัดออกจากงาน" ลำดับต้นๆ
หนุ่มสาววัยนี้ บอกว่า ตัวเองหางานยากกว่ารุ่นพ่อแม่ และไม่มั่นใจในฐานะการเงินของตัวเอง
เกร็ดน่าสนใจของชาวเจน Z คือ เรื่องแบบทดสอบทางจิตวิทยา (MBTI) เป็นอะไรที่ฮิตมากๆ ในกลุ่มเจน Z โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ เพราะมองว่า การบอกคนอื่นให้รู้ถึงตัวตนของเรา จะเป็นประโยชน์ในการสร้างสัมพันธ์ เพื่อรับมือกับคนต่างบุคลิกภาพได้ดียิ่งขึ้น
Gen Alpha (2010 - 2024) เจเนอเรชั่นแห่งการถดถอย
ในปีนี้ เจน Alpha มีจำนวน 2.2 พันล้านคน โดยในปี 2030 เจนอัลฟ่ารุ่นแรกจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (อายุ 20 ปี)
มีการคาดการณ์ว่า 65% ของ เจน Alpha จะทำงานในตำแหน่งที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน และมีเพียง 50% ของคนเจนนี้ ที่จะจบมหาวิทยาลัย ขณะที่ Content Creator คือ อาชีพในฝันของชาวอัลฟา
การที่เจน Alpha เติบโตขึ้นท่ามกลางภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ ทำให้คนเจนนี้ ตระหนักถึงความท้าทายด้านสภาพอากาศอย่างมาก
ขณะเดียวกัน เจน Alpha ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพจิตมาก โดยในสิงคโปร์ คนเจนนี้ที่เข้าสู่วัยรุ่น 1 ใน 3 มีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล
ทั้งนี้ เจน Alpha ถูกนิยามว่า เป็นเจเนอเรชั่นแห่งการถดถอย (The Regression Generation) จากอัตราการอ่านออกเขียนได้ที่ลดลง
BETA (2025 - 2039) เจนแห่ง AI-First
เจเนอเรชั่นเบต้า เกิดระหว่างปี 2025 - 2039 โดย เบต้า คือ การตั้งชื่อที่สอดคล้องกับลำดับอักษรกรีก หลังจากเจนอัลฟา (Alpha a) มาถึง (Beta B)
ขณะที่คนเจน X โตมามีไฟฟ้าใช้ คนเจน Z เกิดมาก็มีอินเทอร์เน็ตแล้ว ส่วนเจน Beta เติบโตมาในโลกของปัญญาประดิษฐ์ โดยในปี 2026 พบว่า 90% ของเนื้อหาออนไลน์สามารถสร้างขึ้นได้โดย AI
โลกในปี 2050 ซึ่งเจน Beta รุ่นแรกก้าวสู่วัย 25 ปี คาดว่า เกินครึ่งจะอยู่อาศัยในเขตเมือง โดยเมืองในโลกอนาคต จะเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อความเท่าเทียม และ เจน Beta จะเติบโตในสังคมที่ "ความแตกต่าง" ไม่เพียงเป็นที่ยอมรับ แต่ยังได้รับการยกย่องอีกด้วย
อ่านรายงานฉบับเต็ม คลิกที่นี่