‘คำแห่งปี 2024’ รวมฮิตทุกประเด็นในโลกโซเชียล
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม “คำแห่งปี” ที่ใช้กันในโซเชียลมีเดียประจำปี 2024 สะท้อนให้เห็นเรื่องราว เหตุการณ์และอารมณ์คนไทยต้องประสบพบเจอตลอดทั้งปี รวมถึงความหมายและวิธีการใช้งาน
ปี 2024 เป็นอีกหนึ่งปีที่ชาวโซเชียลคิด “คำศัพท์” และวลีฮิตมากันใช้อย่างแพร่หลายมากมาย ซึ่งมีทั้งคำพูดจากเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ และสื่อบันเทิงที่โดนใจจนเอามาใช้กันเป็นวงกว้าง หรือบางทีก็เป็นคำที่ถูกดัดแปลง หรือสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม “คำแห่งปี” ที่ใช้กันในโซเชียลมีเดียประจำปี 2024 สะท้อนให้เห็นเรื่องราว เหตุการณ์และอารมณ์คนไทยต้องประสบพบเจอตลอดทั้งปี รวมถึงความหมายและวิธีการใช้งาน เพื่อนำไปใช้ต่อได้อย่างถูกต้อง ไม่ตกเทรนด์ โดยเรียงลำดับตามตัวอักษร ประกอบไปด้วย
เกิดแต่กับกู
“เกิดแต่กับกู” กลายเป็นคำที่แสดงความรู้สึกของคนไทยในปีนี้ได้อย่างดี โดยใช้สถานการณ์ที่ชีวิตเจอแต่เรื่องวุ่นวาย แต่ละวันมีแต่เรื่องไม่ดีประดังประเดเข้ามา ราวกับว่าเรื่องไม่ดีเหล่าพุ่งเข้ามาตนเองคนเดียว กลายเป็นเรื่องตลกร้าย ที่ทำให้หัวเราะ (ทั้งน้ำตา) กับชะตาชีวิตที่แสนขมขื่น คำนี้ยังถูกนำมาแปลงเป็นภาษาอังกฤษเป็น “birth but with me” ซึ่งเป็นการแปลแบบตรงตัว โดยไม่ได้สนหลักไวยากรณ์
ในปีนี้ยังมีอีกหนึ่งคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับ “เกิดแต่กับกกู” นั่นคือ “แต่ละมื้อแต่ละ day” โดยคำนี้มีที่มาจากผู้ใช้ TikTok ที่ใช้ชื่อว่า Psychopitchy ผู้บ่าวลอนดอน ที่พูดว่า “แต่ละมื้อ แต่ละ day (แต่ละวัน) have แนวมาให้ think (มีแต่เรื่องมาให้คิด) 1 วันนี่ 1000 situation (หนึ่งวันพันเหตุการณ์) ฉันละปวด head กลุ้ม Heart (ฉันละปวดหัวกลุ้มใจ)”
จะล่าแบ้/ จะเครซี่
ในปีนี้ฟลุ๊คกะล่อนผลิตคำศัพท์ฮิตไว้หลายคำ หนึ่งในนั้นคือ “จะเครซี่” หมายถึง จะบ้า เพราะเหนื่อยใจกับเพื่อน ปรากฏครั้งแรกในวล็อกวีคของฟลุ๊ค เป็นช่วงที่ ตูน หิ้วหวีกล่าวว่าตอนนี้โสดแล้ว ฟลุ๊คเลยตอบกลับพร้อมทำหน้าเหนื่อยใจเอือมระอาว่า “วีคหนึ่งโสด วีคหนึ่งรัก กูจะเครซี่” ซึ่งเป็นที่ถูกใจชาวเน็ตและนำมาใช้ต่อกันอย่างแพร่หลาย
นอกจากนี้ ความสร้างสรรค์ของคนไทยยังได้มีการใช้คำว่า “จะล่าแบ้” แปลว่าจะบ้าเช่นเดียวกัน โดย “ล่าแบ้” แปลว่า บ้า ซึ่งคำนี้เริ่มมาจากแผลง “ภาษาลู” ซึ่งเป็นภาษาเฉพาะกลุ่มของชาว LGBTQ+ โดยวิธีการแปลงคำนี้จะแปลง 1 พยางค์เป็น 2 โดยที่พยางค์แรก แค่เอา ล ไปแทน พยัญชนะต้น ส่วนพยางค์สอง เอา พยัญชนะต้น กับ ตัวสะกด ไปเข้าสระ อุ หรือ อู ดังนั้นบ้าในภาษาลูจึงเป็น ล่าบู้ แต่เพื่ออรรถรสในการสื่อสาร จึงแปลงเสียงออกมาเป็น ล่าแบ้ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นกว่าอีกทีหนึ่ง
ขณะที่ มิกซ์ เฉลิมศรี ก็มีการใช้คำว่า “กูจะบ้า” ซึ่งเป็นคำที่คล้ายกับกูจะเครซี่ โดยใช้เป็นประโยค ปิดการสนทนา เวลาที่เมาท์คนอื่น หรือพูดออกมาแล้วถูกใจ ปิดจบประโยคให้สวย ให้รู้ว่าเราอินเรื่องที่พูด หรือ เป็นอะไรที่มันเริ่ดเกินคาด
จริงหรือเค้ก/ รีอัลออฟาเก้
ในช่วงหนึ่งที่คลิปวิดีโอประเภทให้ทางว่าของต่าง ๆ ที่เห็นในคลิปนั้นเป็นของจริงหรือเค้ก โดยใช้ชื่อว่า “Real or Cake” (จริงหรือเค้ก) ได้รับความนิยมอย่างมาก จน “Netflix” เอาไปทำรายการ “Is It Cake?” เกมโชว์ที่ให้ทายว่าชิ้นไหนคือของจริง ชิ้นไหนเป็นเค้กกันแน่ และเทรนด์นี้ก็เข้ามาในประเทศไทยโดย babyjolystar เบบี้โจลี่สตาร์ ติ๊กต็อกเกอร์ชื่อดังนำมาทำเป็นคอนเทนต์แนวพาโรดี้ในชื่อ “จริงหรือเค้ก” ซึ่งภายหลังคำนี้ก็กลายเป็นคำฮิต โดยใช้ในความหมายว่า นี่คือเรื่องจริงหรือล้อเล่น
ขณะเดียวกัน เทรนด์จริงหรือเค้กก็แพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งหลัง ๆ เปลี่ยนเป็นของจริงหรือของปลอม หรือ “Real or Fake” คอนเทนต์ในคลิปจะให้ทายว่าของที่เห็นนี้เป็นของจริงหรือของปลอม ซึ่งจะเฉลยด้วยการไปสัมผัสสิ่งนั้น โดยคลิปฉบับที่โด่งนั้นออกเสียงว่า “รีอัลออฟาเก้” แทนที่จะเป็นเรียล-ออร์-เฟค และคอนเทนต์นี้ก็เข้ามาสู่ประเทศไทยโดย “เลิ่กลั่ก” จากนั้นคนก็นำไปใช้อย่างแพร่หลาย
เซรั่มนารา
“เซรั่มนารา” เป็นอีกหนึ่งคำศัพท์ที่มาแรงในช่วงปลายปี ซึ่งมีที่มาจากสินค้าเซรั่ม ของ “นารา เครปกะเทย” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เจ้าตัวทำออกมาขายจริง โดยคำนี้เริ่มเป็นที่รู้จักจากไลฟ์ของ “มิกซ์ เฉลิมศรี” ร่วมกับ นารา ที่คอยพูดโปรโมทสินค้าอยู่ตลอดเวลา จนทำให้ผู้คนหลอนหู จะนำมาใช้เรื่อยมา ดังนั้นคำนี้จึงใช้อวยสิ่งต่าง ๆ ว่า ดีมาก เริ่ดมาก ให้ดูเกินจริง
แต่หลังจากนั้น เซรั่มนารา ถูกใช้เป็นคำสร้อย คำต่อท้ายเฉย ๆ หรือจะใช้บรรยาย อธิบายได้หมดทุกสถานการณ์ คล้ายกับนาราที่หาโอกาสขายของได้ตลอดเวลานั่นเอง
นาราและเซรั่มนารา
เครดิตภาพ: เฟซบุ๊กนาราเครปกะเทย
เดี๋ยวมันจะไอ้นั่น
ปีที่ผ่านมา “ป้าติ๋มตักแกง” เจ้าของร้านข้าวแกงแถวย่านบางลำพู กลายเป็นไวรัลจากลีลาการขายอาหารที่ไม่เหมือนใคร ด้วยการเจรจาโอภาปราศรัยกับลูกค้าอย่างเป็นมิตร โดยหนึ่งในคำพูดติดปากของป้าติ๋ม คือ “เดี๋ยวมันจะไอ้นั่น” ซึ่งก็ไม่เหมือนจะไม่มีใครเข้าใจว่า ไอ้นั่นของป้าติ๋มแปลว่าอะไร แต่ชาวเน็ตก็ซื้อวลีนี้ของป้า จนนำมาใช้ทั่วโซเชียล กลายเป็นประโยคพูดเพื่อละไว้ในฐานที่เข้าใจ (แต่ไม่มีใครเข้าใจ)
นอกจากนี้ “สาววาย” ยังนำคำนี้มาใช้สื่อความรู้สึกที่ยากจะบรรยายออกมา บอกไม่ได้ว่าความรู้สึกนี้คืออะไร ซึ่งมักจะเป็นเวลาที่คู่จิ้น คู่ชิปของตัวเองมีโมเมนต์
ตบทรัพย์
“คดีดิไอคอน” กลายเป็นคดีใหญ่ที่เกิดคดีสืบเนื่องตามมามากมาย และทำให้คำว่า “ตบทรัพย์” ปรากฏในหน้าสื่อและคนสังสัยว่ามีความหมายอะไร ซึ่งแท้จริงแล้ว การตบทรัพย์ เป็นภาษาปากของ “การกรรโชกทรัพย์” หมายถึงการข่มขู่ให้ผู้อื่นยอมให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินเช่นกัน
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 ได้ระบุโทษของการกระทำผิดฐานกรรโชกทรัพย์จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
ติดแกลม
อีกหนึ่งคำที่เห็นได้บ่อยในโซเชียลตอนนี้ คือ “ติดแกลม” ซึ่งแกลมในที่นี้มาจากคำว่า glamorous (แกลมเมอรัส) ที่แปลว่า ดึงดูดใจ, มีเสน่ห์ ดังนั้นติดแกลมจึงถูกใช้อธิบายรูปแบบการใช้ชีวิตแบบหรูหรา มีระดับ ดูลักชูรี ตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าหน้าผม ไลฟ์สไตล์ การทานอาหาร การท่องเที่ยว โดย “ติดแกลม” กลายเป็นคำที่ผู้คนไทยค้นมามากที่สุดของ Google ในหมวด ...แปลว่า (Trending …Meaning) ประจำปี 2024
ปัจจุบัน มักมีคนพิมพ์ติดแกลมผิดเป็น “ติดแกรม” ด้วยเช่นกัน ซึ่งผิดความหมาย เพราะ “แกรม” คือหน่วยที่ใช้วัดมวลกระดาษ
ทำดี ๆ เราเป็นดารา
“ทำดี ๆ เราเป็นดารา” เป็นคำพูดที่แฟนคลับใช้แซวและเตือนใจเมนให้รักษาภาพลักษณ์ เวลาที่ศิลปินที่ชื่นชอบทำตัวแปลก ๆ ตลก ๆ เป็นตัวของตัวเองมากเกินไป จนลืมตัวว่าเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ได้จริงจัง ออกแนวเอ็นดูเสียมากกว่า
ไทป์หมาเด็ก
“หมาเด็ก” หรือ “ลูกหมา” เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารัก เป็นมิตร ขี้เล่น ไร้เดียงสา ไม่ดูมีพิษมีภัย ใคร ๆ ก็ต่างตกหลุมรักได้ง่าย ๆ น่ารัก น่าเอ็นดู ซึ่งถูกนำมาเปรียบเทียบกับลักษณะของคนที่มีลักษณะเหมือนกับลูกหมา จนถูกเรียกว่า “ไทป์หมาเด็ก” โดยคนแรก ๆ ที่ถูกนำมาเปรียบว่าตรงไทป์นี้ก็คือ “จูเนียร์-ภาคิน กาญจนจูฑะ” พ่อค้าเสื้อมือสองใน TikTok ที่ใคร ๆ ก็ต่างเอ็นดู ในความตาแป๋ว และความสุภาพ
นอกจากจะมีคำว่าหมาเด็กแล้ว ยังมีคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น “บ้อกแบ้ก” ซึ่งเป็นคำแทนอาการของชาวไทป์หมาเด็ก ที่สดใส ยิ้มง่าย มีเอเนอจี้ มองโลกในแง่ดี มองแล้วสบายตาสบายใจ รวมไปถึง “หมาเด็กกับพี่คนสวย” ที่หมายถึงคู่รัก คู่จิ้น หรือคู่ชิปที่คนหนึ่งสดใสเป็นหมาเด็ก แต่อีกคนก็สวยเลอค่าโตกว่า ดูตรงข้ามกันสุด ๆ แต่ก็เข้ากันอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกเพศ ไม่ได้จำกัด
ตัวอย่างไทป์หมาเด็ก
(ซ้ายบน) จูเนียร์ ภาคิน (ขวาบน) มาร์คคริส วง BUS
(ซ้ายล่าง) สกาย วงศ์รวี (ขวาล่าง) เจค Enhypen
“ปลาหมึกแถวบน”
รถขายปลาหมึกบด จะมีปลาหมึกขายด้วยกันหลายราคา โดยปลาหมึกที่มีราคาแพงคุณภาพดีจะถูกแขวนไว้บนแถวบนสุด ส่วนปลาหมึกชั้นถัดลงมา คุณภาพและราคาก็จะลดหลั่นกันลงไป ด้วยลักษณะนี้ชุมชน LGBTQ+ จึงได้นำเอาปลาหมึกมาเรียกแทนคนในชุมชน
“ปลาหมึกแถวบน” หมายถึง คนที่ตรงลักษณะบิวตี้สแตนดาร์ด เป็นสเปคของคนส่วนใหญ่ ที่ใคร ๆ ก็ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา การแต่งตัว ฐานะ ระดับการศึกษา ไลฟ์สไตล์ และบทบาททางเพศ หรือเรียกว่า “เกย์ตัวท็อป” ส่วน “ปลาหมึกแถวล่าง” จะคือกลุ่มคนที่มีลักษณะไม่ตรงกับบิวตี้สแตนดาร์ดหรือค่านิยมของคนในชุมชน
พี่ไม่ได้ใส่อารมณ์!
ดูเหมือนว่าปี 2024 คนในสังคมทวิตเตอร์ หรือ X ในปัจจุบัน จะมีอารมณ์เกรี้ยวกราดมากขึ้น อาจเป็นเพราะ ผู้คนใช้ X เป็นช่องทางสำหรับการบ่น ระบายอารมณ์ และวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ รอบตัว แต่หลายครั้งก็ดูใช้อารมณ์และคำหยาบเกินเหตุ จนเกิดคำถามว่าชาวทวิตฉุนเฉียวง่ายเกินไปหรือเปล่า มีอาการเหมือนคนเพิ่งเริ่ม “งดน้ำตาลวันแรก” และคำนี้ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งคำฮิตที่ชาวโซเชียลใช้อธิบาย เมื่อเจอเรื่องราวน่าโมโหจนต้องวีน
สืบเนื่องจากอาการงดน้ำตาลวันแรก babyjolystar เบบี้โจลี่สตาร์ ได้ทำคลิปสาธิตอาการดังกล่าว โดยในคลิปจะเป็นสถานการณ์ที่รุ่นน้องเอาของไปวางผิดที่ แล้วรุ่นพี่ก็ขึ้นเสียง มีท่าทีฉุนเฉียว แต่กลับบอกว่า “พี่ไม่ได้ใส่อารมณ์!” รุ่นน้องจึงเอาน้ำหวานให้ดื่ม รุ่นพี่ก็กลับมาเสียงหวานอารมณ์สงบในทันที ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง และหลายคนพบเจอ จึงกลายเป็นที่ถูกใจชาวโซเชียล
สังคมมอมเมา เยาวชนมอมแมม
“สังคมมอมเมา เยาวชนมอมแมม” เป็นประโยคที่ดัดแปลงมาจาก “สังคมอ่อนแอ เยาวชนมอมเมา” ที่ “เอแคลร์ จือปาก” เคยพูดแซวนัทนิสาในรายการของหิ้วหวี แต่ในบริบทของสังคมมอมเมา เยาวชนมอมแมม จะนำมาใช้ในสภาวะที่ใครบางคนถูกคนรอบข้างหล่อหลอมกลายเป็นคนมอม ๆ ตลก หรือ แปลก ๆ แล้วแต่สถานการณ์
หมูเด้ง
“หมูเด้ง” ฮิปโปแคระขวัญใจคนทั้งโลก ที่กลายเป็นมีมอันโด่งดังในอินเทอร์เน็ต ครองแชมป์มีม จนมีหน้า มีมแห่งปี 2024 บนแพลตฟอร์ม X ไปครองได้สำเร็จ จากกระแสการโพสต์แชร์ภาพน้องหมูเด้งกว่า 7.7 ล้านครั้งทั่วโลก จนมี “วิกิพีเดีย” เป็นของตัวเอง รวมถึงได้รับรางวัล บุคคลที่มีสไตล์แห่งปีจาก New York Times อีกด้วย และหากเสิร์จคำว่าหมูเด้งในกูเกิลก็จะเจอกับกองทัพหมูเด้งขึ้นมาเต็มหน้าจอ
หมูเด้งกลายเป็นที่รักของคนไทยและทั่วโลก จากการที่เพจ “ขาหมูแอนด์เดอะแก๊ง” ซึ่งเป็นเพจที่จัดทำโดยพี่เลี้ยงของหมูเด้ง ลงภาพความน่ารักของน้อง ทั้งความร่าเริง ความดีดมากกว่าฮิปโปโปเตมัสตัวอื่น ๆ รวมถึงความอ้วนกลม ปุ๊กปิ๊ก น่ามันเขี้ยว และคลิปกิจวัตรประจำวันของน้องที่ทำตลก น่าเอ็นดูจนทำให้กลายเป็นไวรัลดังไปทั่วโลก
นอกจากนี้แบรนด์ต่าง ๆ ยังได้ร่วมคอลแลบกันหมูเด้งมากมาย ซึ่งจะนำรายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมและดูแลสัตว์ป่าใน 6 สวนสัตว์ภายใต้การดูแลขององค์การ อีกทั้ง GMM GRAMMY ยังทำเพลงหมูเด้งออกมาถึง 4 ภาษาให้เด็ก ๆ ทั่วโลกได้เต้นตามกันอีกด้วย
อดทนจนกว่าจะแลนด์
“ละครสั้นกะเทยธรรม” จากผลงานของ “แต๋งและดุจดิว” เจ้าของร้าน “อาฟเตอร์ยำ” ได้สร้างวลีฮิตที่โด่งดังอย่าง “อดทนจนกว่าจะแลนด์” ซึ่งเป็นฉากที่แอร์โฮสเตสให้กำลังใจกัน ในการรับมือกับผู้โดยสารที่รับมือได้ยาก โดยแลนด์ ในที่นี้หมายถึง แลนดิ้ง (Landing) หรือ เครื่องบินลงจอด นั่นเอง
ชาวเน็ตได้นำคำนี้มาใช้ในสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจ ไม่อยากทำ แต่ก็ต้องฝืนใจทำ เพราะเป็นหน้าที่ และต้องทำภารกิจให้สำเร็จ
อย่าอ่อม อย่าอ่อม อย่าอ่อม Energy Energy Energy
ทุกวันนี้ชีวิตของเราต่างเจอกับเรื่องราววุ่นวาย แต่ละวันพันเหตุการณ์ ทำให้หมดไฟ หมดกำลังใจทำงาน จึงต้องมีบทพูดสำหรับปลุกใจ เพื่อให้มีแรงใจสู้ต่อในแต่ละวัน นั่นก็คือ “อย่าอ่อม อย่าอ่อม อย่าอ่อม Energy Energy Energy” ซึ่งมาจาก TikTok ของ “พลัสเตอร์ ภัทร์นิธิ” ที่เอาไว้เชียร์เวลาเพื่อนอ่อม และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย
สำหรับ “อ่อม” เป็นคำเก่าที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุค 2000 โดยหลักฐานที่เก่าที่สุดที่พอจะหาได้จากอินเทอร์เน็ตคือกระทู้ ศัพท์ใหม่กะเทย ที่คุณอาจยังไม่รู้ ภาค 2 ที่ตั้งเอาไว้ตั้งแต่ปี 2548 ในกระทู้ดังกล่าวได้ให้ความหมายของคำว่าอ่อมไว้ว่า กร่อย ไม่เลิศ ไม่เพอร์เฟค โดยสันนิษฐานว่าเพี้ยนเสียงมาจากการพูดคำว่า “เอิ่ม” ซึ่งยังคงเป็นความหมายเดียวกันกับใช้ในปัจจุบัน
สรุปในปี 2024 คนไทยเจอเรื่องวุ่นวายตลอดเวลา มีแต่เรื่องที่ “เกิดแต่กับกู” แต่ก็ยังมีอารมณ์ขัน ทำให้เรื่องร้าย ๆ ยิ้มได้ และหาสิ่งฮีลใจช่วยให้ใจฟูอย่าง “ไทป์หมาเด็ก” และ “หมูเด้ง” พร้อมด้วยคำปลุกใจ “อย่าอ่อม อย่าอ่อม อย่าอ่อม Energy Energy Energy” เพื่อมีพลังสู้ต่อในปี 2025
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจรวบรวม
กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง