De-influencing เทรนด์ใหม่เจน Z ไม่ตามอินฟลู ซื้อของเท่าที่จำเป็น

De-influencing เทรนด์ใหม่เจน Z ไม่ตามอินฟลู ซื้อของเท่าที่จำเป็น

“อินฟลูเอนเซอร์” เคยมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ คือ “De-influencing” ซื้อของแค่จำเป็นไม่สนอินฟลู

การใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” หรือผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด และการตัดสินใจ ของผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย มักเป็นหนึ่งในการตลาดที่หลายแบรนด์นิยมใช้ เพราะคนเหล่านี้สามารถโน้มน้าวให้ผู้ติดตามซื้อสินค้าหรือบริการของแบรนด์ได้ง่าย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์และให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ในโซเชียลมีเดีย

แต่ปัจจุบันมีเทรนด์ที่ตรงข้ามกับการตลาดรูปแบบนี้ นั่นก็คือ “De-influencing” ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อลดอิทธิพลที่มาจากอินฟลูเอนเซอร์ เนื่องจากคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ “เจน Z” เบื่อกับการบริโภคที่ขับเคลื่อนโดยเหล่าผู้มีอิทธิพลในโซเชียล อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้แต่ตัวอินฟลูเอนเซอร์บางคนเองก็รณรงค์เทรนด์นี้เช่นกัน ด้วยการแนะนำให้ผู้ติดตามซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็นก็พอ และแน่นอนว่าการเคลื่อนไหวนี้ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อของคนรุ่นใหม่

De-influencing คือ การเคลื่อนไหวเพื่อปฏิเสธอิทธิพล เป็นกระแสในโซเชียลมีเดียที่อินฟลูเอนเซอร์บางคนเริ่มพยายามห้ามไม่ให้ผู้ติดตามซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น หรือสินค้าราคาแพงจากแบรนด์ดัง แทนที่จะบอกให้ผู้ติดตามซื้อสิ่งของเหล่านั้น โดยบางคนก็พูดชื่อแบรนด์ออกมาเลย เช่น การตั้งคำถามว่าผู้ติดตามต้องการซื้อกางเกงโยคะ Lululemon ราคา 118 ดอลลาร์ (ประมาณ 3,900 บาท) จริงๆ ไหม ?

การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ “การตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์” เริ่มเปลี่ยนทิศทางไป เมื่อผู้บริโภคเริ่มหันมาซื้อของเท่าที่จำเป็นแบบมีสติมากกว่าการ “บริโภคนิยม” ที่หมายถึงการบริโภคฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นในชีวิตรวมถึงเกินฐานะและรายได้ของตัวเอง

ตัวอย่างเช่น การดูแลผิว ที่เมื่อก่อนอินฟลูเอนเซอร์ด้านความงามแต่ละคนต้องพูดถึงกิจวัตร 10 ขั้นตอนในการใช้สกินแคร์ และการใช้เซรั่มราคา 200 ดอลลาร์ หรือราว 6,000 บาท แต่ทุกวันนี้พวกเขากลับบอกว่าการมีผิวที่ดีได้นั้นไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเยอะขนาดนั้น ใช้แค่ผลิตภัณฑ์พื้นฐานก็พอแล้ว

การลดอิทธิพลนั้นค่อนข้างส่งผลกระทบอย่างมากต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค การศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน New York State Communication Association Proceedings พบว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้ามากขึ้นหลังจากได้รับคำแนะนำจากผู้มีอิทธิพลบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะถ้าพวกเขาติดตามอินฟลูเอนเซอร์อยู่แล้ว

นอกจากนี้การลดอิทธิพลยังเป็นวิธีของชาว เจน Z ในการต่อสู้กับลัทธิบริโภคนิยม และยังเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมอินฟลูเอนเซอร์อีกด้วยโดยเฉพาะเรื่องความจริงใจในการรีวิวสินค้า เพราะหลายคนยึดเป็นอาชีพหลักและสร้างเงินหลายล้านดอลลาร์ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ติดตามซื้อสินค้า แต่เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามถึงความจำเป็นของ “ของที่ต้องมี” เหล่านี้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?

เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะอินฟลูหลายคนทำเงินด้วยการทำให้ผู้อื่นใช้เงินไปกับสิ่งของที่พวกเขาไม่เคยรู้ว่าต้องการหรือต้องการมาก่อนบ็อบบี้ รีเบล (Bobbi Rebell), CFP ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Financial Wellness Strategies กล่าว (อ้างอิงใน salon) เขายังกล่าวต่อว่าการลดอิทธิพลมีผลตรงกันข้าม มันทำให้ผู้ติดตามของพวกเขาได้รับการยืนยันในเชิงบวกว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าบางอย่างเพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง

ทั้งนี้ยังคล้ายกับการบังคับให้อินฟลูเอนเซอร์ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แต่คนที่จะประสบความสำเร็จได้ในยุคนี้คืออินฟลูที่จริงใจและเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองโปรโมต

การเคลื่อนไหวแบบ “De-influencing” ไม่ได้ส่งผลแค่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังกดดันให้แบรนด์ต่างๆ ต้องพัฒนาและวางแผนการตลาดใหม่อีกด้วย จากรายงานล่าสุดที่ First Insight ทำขึ้นร่วมกับ Baker Retailing Center ที่ Wharton School University of Pennsylvania พบว่า ผู้บริโภค เจน Z ร้อยละ 75 มองว่าความยั่งยืนมีความสำคัญต่อพวกเขามากกว่าชื่อแบรนด์เมื่อต้องตัดสินใจซื้อ ซึ่งหมายความว่าการให้คนดังรับรองผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปานกลางจะไม่ได้ผลอีกต่อไป แต่พวกเขาจะต้องส่งมอบคุณค่า ความยั่งยืน และความโปร่งใสเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภค

แต่ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดของการลดอิทธิพลอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเงินและสิ่งของต่างๆ คนเจน Z แสดงให้เห็นว่าการปฏิเสธแรงกดดันให้ตามเทรนด์ไม่ใช่เรื่องผิด การปฏิเสธวัฏจักรการซื้อของ ทิ้งของ และซื้อใหม่ไม่สิ้นสุด และการเมินความคิดที่ว่าคุณค่าของเราถูกกำหนดโดยสิ่งที่เราต้องมี และไม่ได้สนใจว่าตัวเองจะตกเทรนด์หรือไม่เพราะเชื่อว่าการซื้อของเท่าที่จำเป็นอย่างมีสติก็เพียงพอแล้ว

อ้างอิงข้อมูล : salon