Gen Z ไม่สมัครงานที่ไม่บอกเงินเดือน อยากรู้ค่าจ้างที่ยุติธรรม

Gen Z ไม่สมัครงานที่ไม่บอกเงินเดือน อยากรู้ค่าจ้างที่ยุติธรรม

หนุ่มสาวชาว Gen Z ไม่สมัครงานที่ไม่ระบุเงินเดือน! เหตุชีวิตเจอค่าครองชีพสูง - ภาระเงินกู้ยืมเรียน เลยอยากแน่ใจว่าได้ค่าจ้างที่ยุติธรรม

KEY

POINTS

  • ผลสำรวจเผย 58% ของ Gen Z เลือกที่จะไม่สมัครงานกับบริษัทที่ไม่เปิดเผยข้อมูลเงินเดือนล่วงหน้า เนื่องจากพวกเขาต้องเผชิญกับค่าครองชีพสูง และภาระหนี้เงินกู้เ

การจ้างงาน-รับสมัครงานสมัยนี้ บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวตามเทรนด์โลกใหม่ให้ทัน โดยเฉพาะประเด็นของการ “เปิดเผยเงินเดือน” ตั้งแต่เริ่มเปิดรับสมัครงาน เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส และเป็นมืออาชีพขององค์กร เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เริ่มมีมาหลายปีแล้ว และกำลังถูกผลักดันให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ในโลกการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ 

ยกตัวอย่างเคสของนครนิวยอร์ก และหลายๆ รัฐในสหรัฐอเมริกา บังคับใช้ “กฎหมายเงินเดือนโปร่งใส” (Pay Transparency Law) มาตั้งแต่ปี 2022 โดยระบุให้นายจ้างต้องระบุช่วงของเงินเดือนตั้งแต่ต่ำสุดจนถึงสูงสุด โอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง และการย้ายงาน ในประกาศรับสมัครงาน ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ ใบปลิวที่แจกตามงานจัดหางาน รวมไปถึงเว็บไซต์หางาน (LinkedIn, Glassdoor, Indeed) ต่างๆ ด้วย

สาเหตุ Gen Z ไม่สมัครงานที่ไม่เปิดเงินเดือน เพราะเผชิญความไม่มั่นคงทางการเงิน

รายงานจาก Newsweek ระบุว่า เกิดปรากฏการณ์ที่วัยทำงานหนุ่มสาว Gen Z เลือกที่จะไม่สมัครงานกับบริษัทที่ไม่เปิดเผยเงินเดือนตั้งแต่แรก ทั้งนี้ กลุ่มประชากร Gen Z มีแนวโน้มที่จะครองสัดส่วน 58% ของตลาดแรงงานทั่วโลกภายในปี 2030 และอาจมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงค่านิยม บรรทัดฐานต่างๆ ในโลกการทำงาน และในแผนกการจ้างงานด้วย ท่ามกลางการแข่งขันของบริษัทต่างๆ ที่แย่งกันดึงตัวบุคลากรที่มีความสามารถสูง 

ล่าสุดการสำรวจใหม่ของ EduBirdie ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มงานฟรีแลนซ์ด้านงานเขียนมืออาชีพ ที่ได้รวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามของวัยทำงานผู้ใหญ่จำนวน 2,000 คนที่มีอายุระหว่าง 18-27 ปี (กลุ่มประชากรชาว Gen Z) พบว่า Gen Z มากถึง 58% เลือกจะไม่สมัครงานกับบริษัทที่ไม่เปิดเผยเงินเดือนล่วงหน้า เพราะรู้สึกกังวลเรื่องค่าจ้างที่อาจไม่เป็นธรรม ขณะที่ 71% ของคนรุ่นใหม่ชี้ว่า ควรมีการหารือเรื่องเงินเดือนอย่างเปิดเผยในที่ทำงาน

สาเหตุที่ทำให้เกิดการผลักดันให้ “เปิดเผยเงินเดือน” มากขึ้นนั้น ก็เนื่องจากคนรุ่น Gen Z จำนวนมากต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเงินอันเป็นผลจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และมีภาระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา พวกเขาจึงอยากรู้ฐานเงินเดือนของงานตำแหน่งนั้นๆ ตั้งแต่แรก เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับเงินจากบริษัทอย่างยุติธรรม ตั้งแต่ก่อนถึงขั้นตอนการสัมภาษณ์งานด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า Gen Z 58% บอกว่าเงินเดือนระหว่าง 50,000 - 100,000 ดอลลาร์ต่อปี (ราวๆ 1,690,000 - 3,380,000 บาทต่อปี) คือ ฐานเงินเดือนที่จะช่วยให้พวกเขามีเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่ 1 ใน 4 ของพวกเขารายงานว่า ต้องการเงินเดือนระหว่าง 100,000 - 200,000 ดอลลาร์ต่อปี (3,380,000 - 6,760,000 บาทต่อปี) เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย

คนทำงานที่อายุน้อยที่สุดมักยังต้องพึ่งพาพ่อ แม่เพื่อหาเลี้ยงชีพ รายงานชี้ Gen Z 41% รายงานว่าพวกเขายังคงต้องพึ่งพาเงินจากครอบครัว 

คนรุ่น Gen Z เชื่อมโยงความสุขของตนเข้ากับเงินเดือนที่ได้

เอเวอรี่ มอร์แกน (Avery Morgan) หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ EduBirdie กล่าวในแถลงการณ์ว่า แม้ว่า Gen Z หลายคนยังคงพึ่งพาเงินจากพ่อแม่ แต่คนรุ่นนี้มีความทะเยอทะยานอย่างไม่ต้องสงสัย รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้หวังพึ่งโชคลาภ อย่างการแต่งงานกับคนรวยเพื่อความมั่งคั่งหรือรอรับมรดก

แต่กลับกันคือ 17% ของพวกเขาเชื่อว่าจะหารายได้ 200,000 ดอลลาร์เมื่ออายุ 30 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กล้าหาญ ซึ่งต้องอาศัยความก้าวหน้าในอาชีพการงานอย่างมีกลยุทธ์ การเรียนรู้ต่อเนื่อง และความโชคดีอีกเล็กน้อย

ด้าน อเล็กซ์ บีน (Alex Beene) อาจารย์สาขาความรู้ทางการเงิน มหาวิทยาลัยเทนเนสซี วิทยาเขตมาร์ติน อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลการวิจัยข้างต้นทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าคนรุ่น Gen Z เชื่อมโยงความสุขในชีวิตส่วนตัว และการทำงาน เข้ากับเงินที่หามาได้มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ และพวกเขาส่วนใหญ่มองว่า งานไม่ได้เกี่ยวกับความสมหวัง แต่เป็นวิธีสร้างรายได้ที่ทำให้พวกเขาได้ซื้อของที่อยากได้ และได้มีประสบการณ์ชีวิตอย่างที่ต้องการ

นายจ้างที่ไม่เปิดเผยช่วงเงินเดือนของตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร บางครั้งก็มีเหตุผลอยู่เบื้องหลัง เช่น ไม่อยากสร้างข้อกังวลให้เกิดขึ้นภายในองค์กรว่า พนักงานอาจเปรียบเทียบเงินเดือนของตนกับเพื่อนร่วมงาน หรือเกิดการเปรียบเทียบกับงานที่คล้ายกันของนายจ้างรายอื่น 

บริษัทที่ปกปิดข้อมูลเงินเดือน จะเสียเปรียบในการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อคนรุ่น Gen Z เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดแรงงาน อาจถึงเวลาที่นายจ้างจะต้องพิจารณาทางเลือกใหม่ๆ ที่สำคัญกว่านั้น อาจไม่ใช่แค่คนรุ่น Gen Z ที่มีความต้องการแบบนี้ แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคนทุกรุ่นก็อาจมีความต้องการนี้เช่นกัน เนื่องจากพนักงานทุกเจเนอเรชันต้องการที่จะเห็นภาพรวมของเงินเดือนที่ดีขึ้น เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในปัจจุบัน

ขณะที่ ไบรอัน ดริสคอลล์ (Bryan Driscoll) ที่ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) สะท้อนความเห็นส่วนตัวว่า วัยทำงานคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการสมัครงาน โดยพวกเขาต้องการความโปร่งใสเรื่องเงินเดือนตั้งแต่ต้น เพราะพวกเขาได้เห็นบทเรียนจากคนรุ่นก่อนที่ถูกบริษัทหลอกล่อด้วยคำสัญญาลมๆ แล้งๆ

บริษัทที่ยังปกปิดข้อมูลเงินเดือนจะมีโอกาสเสียเปรียบในการแข่งขัน เพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถ ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากคนรุ่น Z เป็นคนเรียกร้องมากเกินไป แต่เป็นเพราะวิธีการทำธุรกิจแบบเก่าที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

 

อ้างอิง: Edubirdie, Newsweek, Newyorkpost

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์