ทำงาน กิน นอนเน่าบนเตียงทั้งวัน อาจกระทบการนอนหลับกว่าที่คิด

ทำงาน กิน นอนเน่าบนเตียงทั้งวัน อาจกระทบการนอนหลับกว่าที่คิด

เทรนด์ bed rotting หรือนอนเน่าบนเตียงทั้งวัน (กินข้าว ดูหนัง ทำงาน บนเตียงตลอดเวลา) เทรนด์ที่วัยทำงานทำเพื่อชดเชยการนอนไม่พอ แต่ยิ่งทำอาจยิ่งนอนไม่หลับมากกว่าเดิม

KEY

POINTS

  • วัยทำงานจำนวนมากเผชิญกับปัญหานอนไม่หลับ เหตุเพราะความเครียดจากเรื่องงาน มีผลสำรวจพบว่า 52% ของวัยทำงานสหรัฐ ชี้ งานทำให้พวกเขานอนไม่พอ บางคนจึงหันไปใช้วิธี Bed Rotting ซึ่งเป็นเทรนด์การดูแลตัวเองที่กำลังมาแรงในโลกออนไลน์ หวังช่วยชดเชยการพักผ่อนมากขึ้น
  • Bed Rotting คือ การใช้เวลานานๆ อยู่บนเตียง อาจจะทั้งวันหรือหลายวัน เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การนอน เช่น เล่นโซเชียลในมือถือ ดูซีรีส์รวดเดียวจบ

การนอนหลับให้เพียงพอสำคัญกับวัยทำงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นระดับพนักงาน ผู้จัดการ หรือแม้แต่ผู้บริหารอย่างซีอีโอ เพราะมีผลต่อทั้งสุขภาพกายและใจ รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานและความก้าวหน้าในอาชีพ แต่ในยุคของการทำงานแบบผสมผสาน พนักงานสามารถทำงานอยู่บ้านสลับกับเข้าออฟฟิศได้ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เส้นคั่นระหว่างเวลางานกับเวลาพักผ่อนส่วนตัวหายไป ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจและรบกวนระบบการนอนหลับให้แย่ลง 

อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากกลับต้องเผชิญกับปัญหาการนอนเนื่องจากความเครียดจากงาน มีผลสำรวจพบว่า 52% ขอวัยทำงานชาวอเมริกันบอกว่า งานทำให้พวกเขานอนไม่พอ บางคนจึงหันไปใช้วิธี "Bed Rotting" ซึ่งเป็นเทรนด์การดูแลตัวเองที่กำลังมาแรงบนโลกออนไลน์

การนอนเน่าบนเตียง ไม่ใช่การนอนหลับพักผ่อน แต่หมายถึงการทำงาน ดูหนัง เล่นมือถือ กินข้าว ทำทุกอย่างอยู่บนเตียงทั้งวัน เพื่อให้รู้สึกว่าได้พักผ่อนมากขึ้น แต่รู้หรือไม่? ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเตือนว่า วิธีนี้อาจไม่ได้ช่วยให้ได้พักผ่อนมากขึ้นอย่างที่คิด แถมระบบการนอนอาจแย่กว่าเดิม!

‘Bed Rotting’ คืออะไร?

จากผลสำรวจของ Mattress Firm Sleep Index ที่จัดทำโดย The Harris Poll พบว่า 53% ของวัยทำงานชาวอเมริกันประเมินคุณภาพการนอนของตัวเองว่า "ปานกลาง" หรือ "แย่" ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว พวกเขาหลายคนจึงหันมาใช้วิธี Bed Rotting ซึ่งหมายถึงการใช้เวลานาน ๆ อยู่บนเตียง อาจจะทั้งวันหรือหลายวันติดต่อกัน เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการไถฟีดเล่นโซเชียลบนจอโทรศัพท์ ดูซีรีส์รวดเดียวจบ หรือแม้แต่ทำงานอยู่บนเตียง

หากดูผิวเผิน เหมือนเป็นวิธีพักผ่อนที่ดี แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การนอนแช่เตียงนานเกินไปอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพการนอนหลับและระดับพลังงานโดยรวม โดย ดร.เจด วู (Jade Wu) นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนและที่ปรึกษาของ Mattress Firm อธิบายประเด็นนี้ว่า จริงๆ เทรนด์ของพฤติกรรมเหล่านี้มีมานานแล้ว เพียงแต่ถูกเรียกด้วยชื่ออื่น

“โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็น ‘นกฮูกกลางคืน’ (Night Owls) หรือวัยทำงานที่มีนาฬิกาชีวิตแบบนอนดึกตื่นสาย แม้จะเช้าแล้วแต่สมองของพวกเขายังคงไม่ตื่นเต็มที่ ทำให้รู้สึกอยากอยู่บนเตียงต่อ แต่อย่างไรก็ตาม เทรนด์นี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะเวลาที่รู้สึกเหนื่อยล้าเป็นพิเศษ หรือแค่อยากมีวันพักผ่อนแบบ ‘ไม่ต้องทำอะไรเลย’ ทั้งวัน” ดร.วู อธิบาย

ทำไมพฤติกรรม ‘Bed Rotting’ อาจทำให้ระบบการนอนแย่ลง?

แม้ว่าการงีบสั้นๆ ตอนกลางวันจะช่วยเพิ่มพลังงานและบูสต์สมองได้ แต่การใช้เวลานานเกินไปบนเตียง หรือการทำกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่การนอนอยู่บนเตียงจนเคยชิน อาจมีผลเสียต่อระบบการนอนหลับของคนเรา 4 ข้อสำคัญ ได้แก่

1. ทำให้เวลาเห็นเตียงนอนแล้วไม่รู้สึกอยากนอน

เมื่อตื่นนอนแล้ว แต่ใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ บนเตียงต่อเนื่องนานเกินไป ทำให้สมองของคนเราเชื่อมโยงเตียงเข้ากับการตื่น มากกว่าการนอน ส่งผลให้หลับยากขึ้นในเวลากลางคืน

2. ทำให้ระบบนาฬิกาชีวิตแปรปรวน

ดร.วู อธิบายว่า การนอนแช่บนเตียงจนสายทำให้ร่างกายสับสน ส่งผลให้ความรู้สึกง่วงนอนหรือความอยากที่จะนอนหลับพักผ่อน (Sleep Drive) ลดน้อยลง และอาจทำให้หลับยากขึ้นในคืนถัดไป

3. ทำให้เหนื่อยล้ามากขึ้นแทนที่จะช่วยให้สดชื่น

หลายคนเข้าใจผิดว่าการนอนแช่เตียงช่วยฟื้นฟูร่างกาย หรือช่วยชดเชยให้ได้พักมากขึ้นหลังจากนอนไม่พอมาหลายวัน แต่ ดร. วู เตือนว่า “การนอนเน่าอยู่บนเตียงทั้งวัน ทำให้คนเราเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไป ส่งผลให้เกิดความอ่อนเพลียได้มากกว่าการพักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้น เราควรเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น ด้วยการลุกออกไปเจอแสงธรรมชาติ และลุกขึ้นจากเตียงไปทำกิจกรรมอย่างอื่น จะช่วยปรับระดับพลังงานได้ดีกว่า”

4. ทำให้สมองตื่นตัวตลอดเวลา

การใช้เวลาบนเตียงทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การนอนหลับ เช่น ดูทีวีหรือทำงาน อาจทำให้สมองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แม้ร่างกายจะอ่อนล้าแล้วก็ตาม ดร.วู เสริมว่า “ยิ่งเราใช้เตียงทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการนอนมากเท่าไหร่ สมองก็จะยิ่งเชื่อมโยงเตียงเข้ากับความตื่นตัวมากขึ้น”

วิธีเพิ่มคุณภาพการนอนโดยไม่ต้องใช้วิธี ‘Bed Rotting’

การนอนหลับไม่เพียงพออาจส่งผลเสียหลายอย่าง ตั้งแต่ความเครียด สมองล้า ตัดสินใจผิดพลาด ไปจนถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ น้ำหนักขึ้น ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานประเภทที่ 2

แทนที่จะพึ่งพาพฤติกรรม Bed Rotting เพื่อให้ได้พักผ่อน แต่ควรใช้วิธีอื่นๆ เพื่อปรับปรุงการพักผ่อนจะดีกว่า โดย ดร.วู มีคำแนะนำสำหรับวัยทำงานเพื่อปรับพฤติกรรมการนอนให้ดีขึ้น ได้แก่ 

ขยับร่างกายตอนเช้า: การลุกจากเตียง เคลื่อนไหวร่างกาย และรับแสงแดดยามเช้าจะช่วยปรับสมดุลนาฬิกาชีวิต และเพิ่มระดับพลังงานตลอดวัน

ใช้เตียงสำหรับการนอนเท่านั้น: หลีกเลี่ยงการทำงานหรือดูทีวีบนเตียง เพื่อให้สมองจดจำว่าเตียงคือที่สำหรับการนอนเท่านั้น

ตื่นให้เป็นเวลา: การตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกวัน จะช่วยให้ร่างกายปรับจังหวะการนอน และทำให้นอนหลับได้ดีขึ้นตอนกลางคืน

รับแสงธรรมชาติในตอนเช้า: แสงแดดยามเช้าช่วยส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่าเป็นเวลากลางวัน และช่วยปรับนาฬิกาชีวิตให้สมดุล ทำให้หลับง่ายขึ้นในตอนกลางคืน

ท้ายที่สุด ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่าหากต้องการการพักผ่อนที่ดีและมีคุณภาพอย่างแท้จริง ไม่แนะนำให้ใช้วิธี Bed Rotting แต่ควรปรับเวลาการเข้านอนและการตื่นนอนให้ตรงเวลา เพื่อช่วยให้นาฬิกาชีวิตทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ควรจัดห้องนอนให้เหมาะสม เช่น ทำให้ห้องมืด อากาศถ่ายเทดี และหลีกเลี่ยงแสงรบกวน การออกกำลังกายในช่วงเช้า หรือหากออกกำลังกายช่วงเย็นก็ควนทำอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน ฯลฯ วิธีเหล่านี้ช่วยให้นอนหลับได้ดีมีคุณภาพมากขึ้น

 

อ้างอิง: Forbes, PRnewswire, MattressFirm