บัตร(คุม)ขอทาน คนปกติพลอยซวย

บัตร(คุม)ขอทาน คนปกติพลอยซวย

บัตรแสดงความสามารถที่แยกระหว่าง 'ขอทาน' กับ 'วณิพก'

จู่ๆ ก็เกิดกระแสข่าว รัฐบาลให้ทำบัตรขอทานขึ้นมา แล้วก็แพร่ออกไป ข่าวแบบนี้สื่อชอบ บ้านเมืองพัฒนามาถึงขั้นต้องไปสอบมีบัตรขอทานกันแล้ว และก็ยังเป็นเหยื่ออันโอชะให้กับการเมืองฝ่ายไม่ชอบรัฐบาล เอาไปขยี้ต่อ..สนุก!

อันที่จริงบัตรวณิพก หรือเรียกให้ตรงตามภาษาราชการ ‘บัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถ’ มีมานานพอสมควรแล้ว หลังจากพรบ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2558 บังคับใช้ กฎหมายใหม่นี้ท่านแยกขอทาน กับการแสดงความสามารถแลกเงิน ที่เราท่านรู้จักกันว่า ‘วณิพก’

ขอทาน ผิด / วณิพกแสดงความสามารถเปิดหมวกแลกเงินไม่ผิด

อันที่จริงเรื่องพรรค์นี้มันก็แยกยากอยู่ เพราะสังคมไทยแบบเดิมนั้นวณิพกกับขอทานมันก็ใกล้กันมาก เส้นแบ่งนิดเดียว จำได้ไหมครับ เพลงแอ๊ด คาราบาว ยายสำอาง ตาแกบอด...มองไม่เห็นนนนนนน!

แม้จะใกล้กันสังคมก็ยังนิยามให้แตกต่างกันได้ ‘ขอทาน’ ต่างกับ ‘วณิพก’ อยู่นิดหน่อยนะ ซึ่งแน่นอนมันต่างจากการแสดงหรือกิจกรรมตามประเพณี เช่นทางภาคใต้มีขบวนเพลงบอก เที่ยวรวมกลุ่มขับร้องไปตามบ้านต่างๆ ขอเหล้า ขอเงินเอาสนุกตามวาระเทศกาล

คนไทยก็แยกแยะความแตกต่างระหว่าง การแบมือขอเงิน สองสามแบบที่ว่าได้

หากไปถามคนทั่วไปว่า การแสดงเปิดหมวกอะไรสักอย่างริมถนน แตกต่างจากการขอทานหรือไม่ เชื่อแน่ว่าคนส่วนใหญ่เกิน 95% สามารถแยกแยะได้ นี่คือการแสดงความสามารถนะ ไม่ใช่นั่งแบมือทำท่าน่าสงสารขอเงินเฉยๆ

เรื่องที่สังคมสามารถใช้สามัญสำนึกแยกแยะได้ เมื่ออยู่ในมือของราชการกลับยุ่งยากแฮะ

เพราะท่านร่างระเบียบออกมาเพื่อให้ผู้แสดงความสามารถขึ้นทะเบียนตัวเองให้ต่างจากขอทาน เพื่อหากแสดงๆ ไปจะไม่ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย ถูกส่งตัวเข้าสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต (หรือถูกจำคุก1เดือนกรณีที่ไม่ยอมรับการจัดการ)

ระเบียบที่ว่ายุ่งยากพอประมาณ กล่าวคือให้ผู้ประสงค์จะได้บัตรต้องไปยื่นขอ เอารูปถ่ายหนึ่งนิ้ว พร้อมกับอุปกรณ์ที่จะแสดงความสามารถไปยังสำนักงานพ.ม. จังหวัด เขามีหัวข้อของการแสดง 4 ด้าน คือ หนึ่ง/ การแสดงละคร ดนตรี นาฏศิลป์หรือศิลปะอื่นใด กายกรรม มายากล และการนำสัตว์มาแสดงความสามารถ สอง/การร้องเพลงว่าไม่จะมีหรือไม่มีดนตรีประกอบ สาม/การแต่งกายหรือตกแต่งร่างกายอันเป็นศิลปะที่แสดงต่อผู้ชม สี่/การแสดงอื่นใดที่ทำให้ผู้ชมและผู้ฟังพึงใจ เช่นการเต้นรำ หรือ เต้นประกอบจังหวะ

นอกจากรูปถ่าย บัตรประจำตัว อุปกรณ์การแสดงแล้ว ยังต้องมีหลักฐานที่แสดงว่ามีความสามารถ เช่นหนังสือรับรองการอบรม ประกาศนียบัตรด้วย และต่อให้มีประกาศนียบัตรก็ยังไม่พอต้องไปแสดงให้คณะกรรมการดู ว่ามีความสามารถตามนั้นหรือไม่ ถ้าผ่านก็ได้บัตรไป

อะไรที่ง่ายๆ ทำให้ยาก มันก็เลยเป็นเรื่องสิครับ... นักข่าวทีวีเขาไปถ่ายตอนมีผู้ประสงค์จะได้บัตรกำลังแสดงหมอลำต่อหน้าคณะกรรมการ ผู้ประกาศก็อ่านดังๆ ไปทั้งประเทศว่าเปิดรับสมัครเพื่อทำบัตรขอทาน

เจ้าบัตรขอทานเลยถูกละเลงต่อ ยาวขึ้นไปอีก

จะขอแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ใน 2 ประเด็น :-

ประเด็กแรก การเบี่ยงประเด็น จากบัตรผู้แสดงความสามารถ เพื่อให้แยกออกมาจากขอทาน กลายเป็นบัตรขอทาน จากนั้นก็ตามแซะเอาสนุก ประมาณประเทศนี้ถอยหลังลงถึงระดับต้องสอบให้ได้บัตรขอทานกันแล้ว ซึ่งมันคือการทำให้สังคมเข้าใจผิดในสาระสำคัญ เพื่อลากไปเพื่อรับใช้การเมือง

ไม่เห็นด้วยกับวิธีการสื่อสารเพื่อลากลงการเมืองแบบนี้

ประเด็นที่สอง ว่าด้วยระเบียบของกระทรวงพ.ม. ให้ประชาชนไปขึ้นทะเบียนขอบัตรผู้แสดงความสามารถ อันนี้ขอไม่เห็นด้วย ก็เพราะว่าระเบียบนี้ออกมาเพื่อความสะดวกของข้าราชการเป็นสำคัญ แถมสร้างความยุ่งยากให้ประชาชนเกินความจำเป็น

ประชาชนคนทั่วไปที่มีความสามารถมีสิทธิทำมาหากินตามรัฐธรรมนูญรับรอง หากเขาอยากแสดงออกต่อประชาชน เปิดหมวก เล่นดนตรี แสดงมายากล เดาะฟุตบอล ฯลฯ มันควรจะเป็นสิทธิที่ติดตัวมาแต่ต้น เหมือนกับนานาอารยประเทศที่เขามีนักแสดงแบบนี้ทั่วไปตามลานสาธารณะ ย่านท่องเที่ยว หรือที่ซึ่งรัฐจัดให้

ก็ในเมื่อมันเป็นสิทธิ แล้วทำไมต้องไปขออนุญาต ไปสอบให้คณะกรรมการ (ที่ส่วนใหญ่ก็ข้าราชการพ.ม.) ให้การรับรองอีกที ว่าหมอนี่มีความสามารถจริง ...แล้วหากคณะกรรมการไม่เห็นชอบล่ะ

ดุลพินิจของคณะกรรมการ (ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในสำนักงานประจำจังหวัด) ก็จะใหญ่เหนือกว่าสิทธิที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญขึ้นมา

ระเบียบอะไร ใหญ่กว่า พรบ.และใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ก็ระเบียบบัตรวณิพกนี่แหละครับ !

ศิลปะน่ะมันขึ้นกับสายตา สมมติแวนก๊อกเกิดฟื้นคืนชีพมา ยากจนอยากเปิดวาดรูปสดแลกเงิน ต้องไปแสดงความสามารถให้คณะกรรมการรับรองเสียก่อน หากกรรมการเกิดไม่ให้ผ่านล่ะ? ก็รูปของแวนก๊อกนี่มันไม่เหมือนชาวบ้านนี่นา แถมระเบียบยังบอกว่าต้องให้แสดงใบรับรองหรือประกาศนียบัตรด้วย ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะการวาดรูปอาจไม่ต้องผ่านหลักสูตรก็ได้ เช่นเดียวกับการขับร้อง

ใบอนุญาตแสดงความสามารถพิเศษ (เพื่อให้คนสามารถทำมาหากิน) จึงเป็นอะไรที่ย้อนแย้ง และแปลกประหลาด

กฎหมายไม่ได้ห้ามผู้มีความสามารถทำมาหากิน แต่ระเบียบดันกำหนดให้การทำมาหากินนั้นต้องผ่านการรับรองของคณะกรรมการเสียก่อน แถมมาตรฐานที่ว่าก็แค่การใช้ดุลพินิจ ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน?

นึกถึงศิลปินกลุ่มเพอร์ฟอร์แมนซ์ คนพวกนี้เปลี่ยนการแสดงไปเรื่อย ตามประเด็น และแรงบันดาลใจ ถ้าพวกเขานึกอยากเปิดหมวกแสดงกลางลานสาธารณะ หรือฟุตบาทหน้าร้านเหล้าสักแห่ง แลกค่ารถ แต่หากไม่มีบัตรประจำตัว...ไม่ได้นะครับ นี่ตลกไหมล่ะ

นึกถึงความเป็นจริงให้มากๆ สมมติเด็กๆ แต่งตัวเป็นยอดมนุษย์อเวนเจอร์ ซูเปอร์แมน ไปยืนให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป แล้วเปิดหมวกขอสตางค์ไปทำกิจกรรมกันสักเสาร์-อาทิตย์หนึ่ง ต้องไปขออนุญาตก่อนเหรอ เด็กพวกนี้ต้องไปแสดงความสามารถให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ผ่านเพื่อให้ได้บัตรก่อนใช่ไหม?

ราชการเรา ชอบใช้อำนาจมาบังคับผู้คน ให้งานตัวเองง่ายขึ้น

ท่านจะไปไล่จับขอทาน ก็ไล่ไป แต่หากใครไม่เข้าข่ายขอทานก็ไม่ต้องไปจับเขา ปล่อยเขา เปิดหมวกแสดงของเขาไป โอเค...ในฐานะเจ้าหน้าที่ต้องเหนื่อยยากเพิ่มขึ้น แต่นี่มันหน้าที่ของท่านนะ

ระเบียบมันบังคับผู้คน รุงรัง และเป็นภาระประชาชนคนหากินเกินไป

อันที่จริงก็แค่ประกาศพื้นที่เปิดให้แสดงความสามารถ แล้วผู้ประสงค์จะไปแสดงเปิดหมวกก็ไปลงชื่อด้านนอกสักจุด หากการแสดงนั้นขัดเป้าหมาย คือไปแบมือขอทานเอาดื้อๆ ก็ยกเฉพาะคนๆ นั้นออกไป จบๆ กันไปเฉพาะคู่กรณี ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ขัดพรบ.ควบคุมการขอทาน

จะคุมขอทานแต่คนปกติพลอยซวย...มันต้องมีอะไรไม่ถูกแน่ๆ

+++++++++++++++

คอลัมน์ สมรู้|ร่วมคิด
กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกาย
ฉบับวันจันทร์ที่ 9 ก.ย.62