ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินแห่งชาติวัย 80+ พร้อมตายเมื่อไหร่มีความสุขเมื่อนั้น

เตรียมตัวตายทุกวันตั้งแต่อายุ 40 จัดแจงทรัพย์สินส่วนตัวและผลงานศิลปะให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เมื่อตอน 70 ชีวิตในวัย 80+ ถือว่าเกินคุ้ม สำหรับ ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินที่มีความสุขกับการทำงานศิลปะในทุกๆวัน
หลังจากนิทรรศการ In Amsterdam with Chavalit Soemprungsuk ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เมื่อปี 2556 ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม พ.ศ.2557) กลับมาเมืองไทยอีกครั้งพร้อมจัดแสดงผลงาน 80+ Art Festival Thailand ใน 6 สถานที่ได้แก่ บ้านอาจารย์ศิลป์พีระศรี หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ล้ง1919 หอธรรมพระบารมี ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ นำทองแกลลอรี อาร์ต สเปซ ตั้งแต่เดือนนี้ไปจนถึงกุมภาพันธ์ปีหน้า
ศิลปินในวัย 80+ ที่ย้ำว่าชีวิตคือศิลปะ ศิลปะกับชีวิตล้วนเป็นสิ่งเดียวกันจนแยกไม่ออก กล่าวถึงผลงานที่นำมาจัดแสดงในคราวนี้ว่าเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากได้มอบผลงานศิลปะกว่า 2,000 ชิ้นให้กับกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปี 2556
“ตอนที่ผมอายุ 70 ผมก็เตรียมตัวจะตาย ทีนี้งานผมเยอะมากผมตัวคนเดียว ผมก็หาทางให้งานศิลปะของผมอยู่ยาวขึ้น งานผมที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เอาไปเยอะแล้วผมก็อยากเอางานของผมมาเมืองไทยบ้าง
เราคิดว่าควรจะมอบงานให้เป็นสมบัติของประชาชนไทย ผมก็มอบให้กระทรวงวัฒนธรรม ให้เขาไปจัดแสดงให้คนได้มาดูงานที่ผมทำไปเมื่อ 30-40 ปี เขานำมาจัดแสดงที่หอศิลป์ราชดำเนินเมื่อ 6 ปีที่แล้ว
พองานจบปั๊บ ผมเริ่มสะสมงานศิลปะโดยการทำขึ้นใหม่อีกแล้วคราวนี้มันเต็มบ้าน เพราะว่าเราเป็นศิลปินอยู่เราต้องทำงาน งานของผมทำเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ นำมาลงในเฟสบุ๊คบ้าง ทำงานทุกวัน พอมาถึงวัย 80 รู้สึกว่ามันไม่พอ เหมือนกับการเขียนหนังสือแล้วไม่ได้พิมพ์ แต่งเพลงแล้วไม่ได้เล่น มันไม่จบมันค้างอยู่ แล้วเราก็ยังไม่ตาย ถ้าอย่างนั้นตัดสินใจนำผลงานออกมาคอมพิวเตอร์แล้วพิมพ์ออกมาจัดแสดงจริงจังเลยดีกว่า” ศิลปินกล่าว
หลังจากขายอพาร์ตเม้นท์ ย้ายมาเช่าบ้านของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์อยู่ ชวลิตนำเงินที่ได้มาซื้ออุปกรณ์สำหรับทำงานศิลปะ หนึ่งในนั้นประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ขนาด A2 พร้อมกับเรียนรู้วิธีการทำโฟโต้ช้อปด้วยตนเอง
“ผมชอบทำงานในคอมพิวเตอร์ เพราะว่าเราไม่ต้องเคลื่อนไหวมาก ไม่ต้องปีนบันไดทำงานอีกแล้ว
งานส่วนใหญ่ทำเสร็จอยู่ในคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เป็นงานที่ปริ้นออกมาจากเครื่อง A2 ใหญ่กว่า A4 ถึง 4 เราพิมพ์ทำแบบงานศิลปะ ไม่ได้จ้างโรงพิมพ์เพราะเขาตัดสินใจเรื่องสีไม่ได้ เราต้องมาปรับสีเองรูปบางรูปมันต้องพิมพ์หลายครั้งซ้อนกันไม่ใช่เพียงครั้งเดียวเสร็จ
ดังนั้นงานบางชิ้นพิมพ์ถึง 3- 4 ครั้งถึงจะถูกใจมันก็เหมือน painting เราเพิ่มได้ เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเหมือนเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้นเอง
เราทำงานในฐานะเป็น painting ไม่ได้ทำแบบกราฟฟิกคือไม่ได้มีเป็น Edition แบบภาพพิมพ์ แต่ใช้เทคนิคของภาพพิมพ์ ดังนั้นผลงานทุกชิ้นจึงเป็นออริจินัลมีชิ้นเดียวเท่านั้น”
ภาพพิมพ์ที่ลดทอนรายละเอียดเหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิตเรียบง่ายถ่ายทอดอารมณ์ด้วยสีที่ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ อาจดูเหมือนเป็นงานง่ายๆ หากแท้จริงแล้วกว่าจะมาถึงตรงนี้ต้องผ่านประสบการณ์ความคิดและชั้นเชิงทางศิลปะขั้นสูง เปรียบดังชีวิตที่ผ่านความทุกข์ สุข เศร้า ความเจ็บปวดมากมายกว่าจะพบความสงบในท้ายที่สุด
“คนที่เริ่มต้นดูงานศิลปะอาจมองว่า เหมือนงานง่ายๆแต่จริงๆมันไม่ใช่ เป็นงานของคนที่ตัดความยุ่งยากออกไปแล้ว เหมือนชีวิตเรานั่นแหละมีอะไรยุ่งยาก ยุ่งเหยิง ท้ายที่สุดเราตัดออกไปไม่เหลืออะไร less is more ตอนเริ่มต้นชีวิตก็อยากมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ พอเราจะตายก็ไม่มีอะไรเหลือ
ศิลปะสะท้อนประสบการณ์ที่ปลูกฝังอยู่ในตัวผมมาก 50-60 ปีทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกันชีวิตผมไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่บางคนดูไม่รู้บอกว่าเหมือนงานง่ายๆ แต่ไอ้ง่ายนี่ล่ะคือความยาก การทำให้ง่ายและลงตัวมีความยาก เพราะเป็นงานที่ออกมาจากความคิดความรู้สึก ดูดีๆแล้วจะรู้ว่ามันไม่ได้ฟลุ๊คมันออกมาจากการควบคุมของศิลปินซึ่งผ่านประสบการณ์มาแล้ว”
ความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์เราหนีไม่พ้น หากการเตรียมตัวพร้อมตายได้ทุกวันสำหรับชวลิตเริ่มต้นมานานกว่า 40 ปีแล้ว
“ก่อนหน้านั้นผมไม่เคยคิดเรื่องตายเลย นึกว่าอยู่ค้ำฟ้าเพราะพ่อผมอยู่ถึงอายุ 80 ผมคิดว่าผมอยู่ 80 ได้ วันหนึ่งไฟไหม้บ้านลูกผมอายุ 2 ขวบตายในกองไฟ เพื่อนที่เป็น babysit ตายไปด้วย ผมงงมากเลยพ่อผมงงมากบอกว่าเขาอยู่มา 80 หลานพึ่งออกมา 2 ปีทำไมตายได้ ผมเริ่มคิดแล้วว่าคนเรามันตายได้ทุกวัน คุณอยู่วันนี้พรุ่งนี้ ก็เป็นวันสุดท้ายได้
ผมเตรียมตัวตาย จัดการไปเรื่อยๆจนมาถึง 70 ผมรู้สึกว่าอาจจะตายเร็วขึ้นก็ได้นะ มะเร็งก็เข้ามาหา ผ่าตัดหัวใจ 2 ครั้งแล้วโอกาสตายยิ่งมีเยอะที่เรารอดมาเหมือนกับเรายังไม่ถึงที่
หลายคนมองว่าผมประสบความสำเร็จ แต่ไม่เคยรู้ว่าผมก็เศร้าด้วย ผมเคยผ่านความเศร้าด้วย ทุกข์ๆใหญ่ด้วย การสูญเสียลูกตั้งแต่เล็กๆมันทุกข์ใหญ่ มันไม่ลืมหรอกครับแต่เราจะต้องอยู่กับมันให้ได้มันยากนะ
แต่เรามีศิลปะ...ช่วงที่ลูกผมตายผมทำงานศิลปะเป็นอีกแนวเป็นเรื่องของความเศร้าเราทำด้วยความรู้สึกของเราตอนนั้น เราต้องทำศิลปะเพราะเราเกิดมาต้องทำศิลปะ ศิลปะขึ้นอยู่กับชีวิตของเราในขณะนั้นมันถึงจะออกมาด้วยความจริงใจ คุณจะเป็นเสแสร้งได้ยังไงลูกคุณตายคุณจะเขียนดอกไม้สวยๆมันเป็นไปไม่ได้มันก็หรอก
ศิลปะสำหรับผม คือ ชีวิต เราทุกข์เราสุขเราป่วยก็เข้ามาอยู่ในศิลปะ เราสูญเสียมีความเจ็บช้ำน้ำใจมีความเศร้ามันก็เป็นส่วนหนึ่งของคนทำงานศิลปะ ไม่ใช่ทุกคนมีแต่ความสุขไม่ใช่ทุกคนจะเห็นแต่ดอกไม้กับท้องฟ้า ชีวิตทุกคนเป็นแบบนั้น”
ในวัย 80+ ศิลปินกล่าวว่า “เมื่อเราพร้อมตาย ชีวิตเราก็มีความสุข วันนี้ผมมีความสุขสบายใจ ชีวิตผมมีอิสระ 100% งานศิลปะของผมคนมาดูก็จะรู้สึกมีความสุข เพราะคนทำมีความสุข เราไม่ได้อมทุกข์ แม้จะใช้สีดำก็เป็นสีดำของคนมีความสุข”
นิทรรศการ 80+ Art Festival Thailand จัดแสดงใน 6 สถานที่ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีนี้ไปจนถึงมกราคมปีหน้า
บ้านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี 3-30 พฤศจิกายน ,หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน 3-30 พฤศจิกายน, ล้ง 1919 16 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม , หอธรรมพระบารมี 14 ธันวาคม – 20 กุมภาพันธ์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 14 – 26 มกราคม และ นำทองแกลลอรี อาร์ต สเปซ 25 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์
ขอเชิญชมภาพยนตร์ Whether Art is Life or Not ไม่ว่าศิลปะคือทั้งชีวิตหรือไม่ : สารคดีว่าด้วย ชีวิต ความนึกคิด และผลงานของ ชวลิต เสริมปรุงสุข (ความยาว 80 นาที) โดยเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ RCAC : 80+ Art Festival #02
ทุกวัน เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 15.30 น.และ 17.30น. ห้องออดิทอเรียมชั้น 1 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน