‘ถึงลูกชายเล็ก’ เปิดประวัติศาสตร์พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5

‘ถึงลูกชายเล็ก’ เปิดประวัติศาสตร์พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5

นี่คือหนังสือที่ราชกุล ‘จักรพงษ์’ จะเปิดเผยจดหมายที่รวบรวมพระราชหัตถเลขา และลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเขียนถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ระหว่าง พ.ศ.2439-2453 แก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก

เอกสารสำคัญนี้ได้ตกทอดมาอยู่ในการครอบครองของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ แต่ต่อมาเอกสารหลายร้อยฉบับนี้ได้ถูกขโมยไป จนปรากฏอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีข่าวการประมูลของสำนักการประมูลคริสตี้ในกรุงลอนดอนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2538 อันเป็นข่าวครึกโครมที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้น ต่อมาหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ ได้ทำการอายัดการประมูล และนำเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญชุดนี้กลับมาได้และนำมาเผยแพร่เป็นครั้งแรก ในชื่อ ถึงลูกชายเล็ก

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2426 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ หลังการเสด็จเยือนรัสเซีย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งพระราชโอรส สมเด็จฯเจ้าฟ้าจักรพงษ์ไปทรงศึกษาที่รัสเซียในพ.ศ. 2441 โดยจักรพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงเสนอที่จะอุปถัมภ์ ค่าใช้จ่ายทั้งหมด จนกระทั่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงอภิเษกสมรสกับสตรีชนชั้นสูงชาวรัสเซีย นามว่า อีคาเทอรีนา เดนิสกายา ในปีพ.ศ. 2449 และเสด็จนิวัติสยาม

พระราชวงศ์รัสเซียและราชสำนักสยาม ซึ่งความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการนั้นได้สถาปนาขึ้นเมื่อพ.ศ. 2440 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนรัสเซียและได้ทรงพบกับจักรพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2 หากแต่ว่าทั้งสองพระองค์นั้นทรงพบกันมาก่อนเมื่อคราวที่จักรพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2 ยังทรงดำรงพระยศ มกุฏราชกุมารและได้เสด็จประพาสกรุงสยามเมื่อปีพ.ศ. 2434 อันเป็นส่วนหนึ่งของการประพาส ตะวันออกไกลของพระองค์ ตามบันทึกได้ปรากฏว่าจักรพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงปฏิบัติต่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์เสมือนกับว่า เป็นพระราชโอรสของพระองค์เอง โดยทรงดูแลอย่างดีและจัดการศึกษาให้เป็นพิเศษ ระหว่างที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ประทับอยู่ในรัสเซีย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ทรงมีพระราชหัตเลขาและลายพระหัตถ์ถึงกันและกันอยู่เสมอ เพื่อไต่ถามความเป็นอยู่ การศึกษาและข่าวคราว สำคัญในราชสำนัก รวมถึงการเมืองการปกครองของทั้งสองประเทศ

พระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์กว่า 300 ฉบับที่มีไปมาระหว่าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระราชโอรส สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถระหว่าง พ.ศ. 2439 จนถึงสิ้นรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2453 ครอบคลุมช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์สยามและรัสเซีย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารที่รัสเซียภายใต้พระอุปถัมภ์ของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 เป็นเวลานาน 8 ปี ในระหว่างประทับที่นั่น เอกสารเหล่านี้มีความน่าสนใจและให้รายละเอียดของสถานศึกษาของพระองค์ที่โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กหลวง พระบรมวงศานุวงศ์แห่งโรมานอฟ กิจวัตรประจำวัน เศรษฐกิจและการเมือง บทบาทสยามที่รัสเซียต้องการให้เป็นฐานทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกเมื่อมกุฎราชกุมารนิโคลัสได้เสด็จมาเยือนสยามใน พ.ศ. 2434 อันเป็นส่วนหนึ่งของการประพาสตะวันออกไกลเพื่อเปิดทางรถไฟทรานส์ไซบีเรียทางฝั่งตะวันออกที่เมืองวลาดิวอสต๊อกใน พ.ศ. 2436 ด้วยการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่จากรัชกาลที่ 5 ก่อให้เกิดมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างสองประเทศ ซึ่งรัสเซียมีส่วนช่วยป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศส

ในขณะที่พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ก็เผยให้เห็นถึงความรักระหว่างพ่อกับลูก เรื่องราวภายในพระราชวงศ์สยาม การเมืองการปกครองและเรื่องราวเชิงลึกในราชสำนัก ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน ยังมีการพบโทรเลขรายงานเหตุการณ์ที่สำคัญ เช่น การปฏิวัติใน พ.ศ. 2448 ที่ให้ข้อมูลอันน่าสนใจและจดหมายไม่กี่ฉบับระหว่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์กับพระคู่รักสาวรัสเซีย เอกาเทรินา เดสนิตสกายา หรือ แคทยา ก่อนที่ทั้งคู่จะไปเสกสมรสกันที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลและได้มาอยู่ร่วมกันในสยาม

การเดินทางไกลสู่อังกฤษ จดหมายจากชวา -- การเสด็จประพาสยุโรป พระราชโอรสมาเฝ้าฯ -- เรียนภาษารัสเซีย ชีวิตในวังที่เซ็นต์ปีเตอร์เบอร์ก -- โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เยี่ยมสยามครั้งแรก -- สมเด็จพระบรมฯ เสด็จรัสเซียงานพระบรมศพกษัตริย์อุมแบร์โตเรียนหนักที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง -- สอบปีสุดท้ายที่โรงเรียนมหาดเล็กตกหลุมรักนางบัลเล่ต์ชื่อดังรัชกาลที่ 5 ประพาสชวาครั้งที่ 3 เป็นมหาดเล็กประจำจักรพรรดินี -- เข้ารับราชการเป็นทหารม้าฮุสซาร์ ตามเสด็จฯไปสหรัฐอเมริกา งานร้อยปีโรงเรียนมหาดเล็กหลวง -- ชีวิตในกรมทหารม้าฮุสซาร์งานฉลองสามร้อยปีโรมานอฟกลับมาเยี่ยมสยามครั้งที่สอง -- เสด็จกลับสู่แผ่นดินรัสเซีย สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น เข้าโรงเรียนเสนาธิการทหาร -- ชีวิตในกองทหารม้าฮุสซาร์ โรงเรียนเสนาธิการทหารการเปลี่ยนแปลงการปกครอง -- กลับสยาม -- เกิดเรื่องอื้อฉาว -- พระโอรสประสูติ -- ปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 5

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 40 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง และทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงรับราชการทหารเป็นเสนาธิการทหารบก โดยทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบินในเมืองไทย จนได้รับพระสมัญญานามว่า ‘พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย’

จากจดหมายที่เขียนถึงกันระหว่างพ่อลูก กลายเป็นบันทึกหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย