กว่าจะได้ภาพ'รอยสัก' ผู้เฒ่าอีสาน
พ่อเฒ่าวัย 85-109 ปี คือตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นสุดท้าย ที่ครอบครองลายสักอันงดงามเหล่านี้
กว่าจะได้ภาพถ่ายชุดนี้ เพื่อนำมาจัดนิทรรศการ สักอีสาน หนึ่งในผลงานภาพถ่ายขาวดำชุด“สับขาลาย” โบ้-ชาญพิชิต พงศ์ทองสำราญ ช่างภาพแนวศิลปะ-สารคดี, นักเขียน และอาจารย์สอนศิลปะ“สำนักป๋า” ฯลฯ ตระเวนไปทั่วประเทศ เพื่อถ่ายภาพผู้เฒ่าที่มีรอยสักยันต์และสับขาลาย
“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนผมตามรอยไปถ่ายภาพต้นไม้ใหญ่ และไปเขียนภาพ street art ที่น่านในเทศกาลศิลปะNan art festival ครั้งที่ 2 ผมได้เห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ ภาพปู่ม่านมีรอยสักที่ขา ผมก็เลยสนใจอยากถ่ายภาพ และผมได้คุยกับพ่อเฒ่าแม่เฒ่าที่อุตรดิตถ์ เพื่อถามหาคนที่มีรอยสัก เขาบอกว่า มีคนหนึ่งสักเต็มตัว เพิ่งเสียชีวิตเมื่อไม่นาน ก็เลยคิดว่า อีก 5-10 ปีข้างหน้าก็ยังมีเวลาถ่ายภาพต้นไม้ใหญ่ได้ แต่ภาพผู้เฒ่าที่มีรอยสักบนเรือนกายเหล่านี้ จะไม่เหลือให้ถ่ายแล้ว เพราะตายไปหมด ”
เหล่านี้คือ แรงบันดาลใจและแนวคิดในการออกเดินทางค้นหาบุคคลที่มี“สับขาลาย” รุ่นสุดท้าย ตำนานที่ยังมีชีวิต ก่อนที่จะเหลือเพียงเรื่องเล่าที่ไร้การบันทึก และสิ่งที่เขาพบคือความงดงาม และคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์อย่างไร้ที่ติ ความชัดเจนของลวดลายและสีที่เขียนน้ำหมึก แปรเปลี่ยนตามสภาพผิวหนัง
ว่ากันว่า พ่อเฒ่าวัย 85-109 ปี คือตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นสุดท้าย ที่ครอบครองลายสักอันงดงามที่ซ่อนอยู่ใต้ร่มผ้า ปัจจุบันหลายคนเสียชีวิตไปแล้ว นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาอยากจัดนิทรรศการ เพื่อแสดงมุทิตาจิตแด่พ่อเฒ่าทุกท่าน
“ผมอยากให้ทั้งคนไทย และชาวต่างชาติได้เห็น และตระหนักถึงการมีอยู่ของศิลปะบนเรือนกาย ที่งดงามเปี่ยมพลังและมีคุณค่า คาดหวังว่าทุกคนจะมีความสุข และเห็นถึงจิตวิญญาณของสับขาลายที่ปรากฎในผืนแผ่นดินไทย”
(หลวงปู่มี อายุกว่าร้อยปี)
เขาเลือกนำเสนอภาพแบบตรงไปตรงมา เรียบง่าย ด้วยภาพถ่ายขาว-ดำ แสดงให้เห็นถึงความงดงามของลายสัก คงไว้ซึ่งบุคลิกและตัวตนของผู้เฒ่า
"ภาพถ่ายเหล่านี้ แรกๆ ก็เป็นงานส่วนตัว แต่ตอนนี้กลายเป็นภาพที่มีคุณค่า เป็นภาพประวัติศาสตร์ เพื่อให้คนได้เห็นว่า บนแผ่นดินไทยมีรอยสักแบบนี้ด้วย แค่นี้ผมก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จแล้ว
ผมบันทึกภาพพ่อเฒ่าที่มีรอยสักเกิน 400 คน ภาคเหนือเจอคนที่มีรอยสักอายุน้อยสุด 50 กว่าๆ มาจากพม่า ถ้าเป็นอีสานอายุน้อยสุด 80 กว่าๆ การแสดงภาพสัักอีสานมีทั้งหมด 51 ภาพ บันทึกรอยสักของผู้เฒ่าประมาณ 40 คน"
สำหรับนิทรรศการ สักอีสาน ภาพแรกที่เขานำเสนอคือ สับขาลาย เป็นรอยสักของหลวงปู่มี ซึ่งไม่เหมือนใคร ปัจจุบันอายุย่าง 110 ปี
“สำหรับผมแล้วภาพนี้เป็นมงคลที่สุด ซึ่งท่านสักเพราะรู้สึกว่าสวยงามและเป็นเรื่องวัฒนธรรม ในอดีตเหมือนเป็นแฟชั่นในหมู่บ้าน มีการแซวกันว่า เวลาผู้ชายอาบน้ำ ถ้าคนไหนไม่สัก ขาขาวจะถูกไล่ไปอาบน้ำกับผู้หญิง”
เขายอมรับว่า การถ่ายภาพรอยสัก เป็นความหลงใหลส่วนตัว และสักอีสาน ซึ่งเป็นนิทรรศการแรกของโครงการนี้ คือความภูมิใจของลูกอีสาน และอยากให้พ่อแม่ได้เห็นภาพเหล่านี้ด้วย
"จำได้ว่า ผมดีใจและ ประหลาดใจมาก เมื่อมีคนบอก พระที่อยู่วัดตรงข้ามบ้าน น่าจะมีรอยสัก แต่ชรามากแล้ว อายุร่วม 100 ปี ตอนนั้นไม่แน่ใจว่ารอยสักมากแค่ไหน และท่านจะให้บันทึกภาพไหม ถ้าอนุญาติให้บันทึกภาพ ผมจะมีความสุขมาก ผมจึงเดินทางมาที่ตัวเมืองสกลนครไปพบพระสงฆ์ที่คาดหวังว่าท่านจะมี “สับขาลาย” หลวงปู่มี มีรอยสักแผ่นหลังงามมาก และเป็นคนเดียวที่นอกจากมีสับขาลายยังมีสักยันต์ หลวงปู่มีเมตตา ถอดจีวรออกให้เห็นเรือนกายท่อนบนที่เต็มไปด้วยรอยสัก
และเป็นครั้งแรกที่เขาได้ยินคำว่า “สักแผน” รูปแบบการสักวงกลมเต็มหน้าและหลังลำตัว ผสานเส้นอักขระโบราณ และเป็นครั้งแรกอีกที่ได้เห็นการสัก“มังกร” ที่แขน เป็นความเชื่อเฉพาะถิ่น มีความเกี่ยวโยงกับ“เรือนกายด้านล่าง” คือลายสับที่แตกต่างจากลายสับขาที่เขาเคยบันทึกภาพไว้ทางภาคเหนือ
“นี่เป็นครั้งแรก ที่รู้ว่า “ดีควาย” สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหมึก ช่วยให้หมึกเข้มเป็นสีดำ หลวงปู่สักขาแบบคนอีสาน ท่านเป็นชาติพันธ์ุกะตาก อายุ106 ปี ( ปี 2016 )ตอนเป็นฆราวาส เมื่ออายุ 17 ปี ก่อนถูกเกณฑ์ทหาร เป็นคนเดียวในพื้นที่ที่สักมากที่สุดในวัยหนุ่ม และเป็นคนเดียวในพื้นที่ที่มีลายสับขาลาย ที่ยังมีชีวิตอยู่”
“ปีหน้าผมจะทำนิทรรศการอีกชุด สักยันต์ เป็นความเชื่อส่วนตัวในเรื่องโชค อยู่ยงคงกระพัน เป็นความเชื่อของคนแถบเอเชีย ส่วนสับขาลายเป็นเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น ถ้าไม่ถกกางเกงก็ไม่เห็น ตอนนี้ผมอายุ 39 ซึ่งผมคิดว่าคนไทยที่อายุ 50-70 ปีก็ไม่เคยเห็นรอยสักแบบนี้ สิ่งที่ผมทำไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเก่าที่มีอยู่แล้ว” เขาเล่าด้วยอารมณ์เปี่ยมสุข
........................
หมายเหตุ : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปิดบริการตั้งแต่วันนี้-13 เมษายน 2563