บทสรุปสัปดาห์หนังสือ (ออนไลน์) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย
แรงกระเพื่อมจากวิกฤตการณ์ เปลี่ยนพฤติกรรมนักอ่านไทยปรับตัว ช้อปผ่านสัปดาห์หนังสือออนไลน์ปีแรก 6.6 แสนราย
ถึงจะเป็นครั้งแรกแต่นับว่าเป็นที่น่าพอใจ หลังจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และสำนักพิมพ์ จัดงานสัปดาห์หนังสือ ครั้งที่ 48 โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นครั้งแรก ปรับแผนรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
สถิติผู้เข้าร่วมช้อปผ่านเว็บไซต์หลัก www.thaibookfair.com ตลอด 12 วัน มีจำนวนกว่า 6.6 แสนราย วรรณกรรมครองแชมป์หนังสือขายดี ตามมาด้วยการ์ตูน ไลท์โนเวล จิตวิทยาพัฒนาตนเอง การศึกษา และประวัติศาสตร์ ด้านสำนักพิมพ์ซึ่งประเดิมอีคอมเมิร์ซผ่านงานครั้งนี้พึงพอใจพร้อมจับมือเดินหน้าใช้ digital transformation ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม สมาคมฯ ประกาศเปิดแผง ‘Online Book Market’ ต่อเนื่อง เพิ่มช่องทางหลักของการชอปปิงหนังสือช่วงร้านปิดให้บริการเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวสรุปผลการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 48 ภายใต้แนวคิด ‘หนังสือดิ้นได้ไปออนไลน์’ ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 5 เมษายนที่ผ่านมา ทาง www.ThaiBookFair.com ว่า มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานถึง 660,000 ราย โดยเป็นผู้ใช้งานรายใหม่ (New Visitor) จำนวน 68 เปอร์เซ็นต์ และผู้เข้าใช้งานซ้ำ (Returning Visitor) จำนวน 32 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นผู้ใช้งานจากพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนต่างจังหวัด 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมือถือเป็นช่องทางการเข้าร่วมงานและชอปปิงมากที่สุดถึง 66 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ คอมพิวเตอร์ 29 เปอร์เซ็นต์ และแท็บเล็ต 5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยช่วงเวลา 13.00 – 19.00 น. เป็นช่วงที่มีผู้เข้าร่วมงานมากที่สุด
“ยอดจำหน่ายที่เกิดขึ้นจากในเว็บไซต์หลัก www.ThaiBookFair.com ที่มีอยู่ประมาณ 200 สำนักพิมพ์นั้น คือประมาณ 36 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมกับยอดจำหน่ายของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ได้ร่วมจัดกิจกรรมจำหน่ายหนังสือไปพร้อมกันในช่องทางหลักของตัวเอง ซึ่งต่างก็มีโปรโมชั่นดึงดูดนักอ่านมากมาย โดยหากจะคำนวนยอดจำหน่ายทั้งหมดก็อาจจะต้องนับรวมของทุกสำนักพิมพ์ ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจและโรคระบาดที่ส่งผลให้ยอดจำหน่ายอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดเอาไว้ และไม่สามารถเทียบกับยอดจำหน่ายที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้ทั้งหมด (494 ล้านบาท) แต่โดยรวมถือว่าน่าพอใจสำหรับการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานให้เป็นออนไลน์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
จากความสำเร็จและการตอบรับเป็นอย่างดีของนักอ่าน สมาคมฯ ได้หารือกันแล้วลงความเห็นว่าจะยังคงเปิดให้บริการเวบไซต์ www.ThaiBookFair.com ในรูปแบบ Online Book Market ศูนย์รวมหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 24 ชั่วโมง เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสของการจัดจำหน่าย และยังเป็นการช่วยสนับสนุนสำนักพิมพ์ให้ได้มีช่องทางกระจายสินค้าได้ต่อไป โดยจากการจัดงานครั้งนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากสำนักพิมพ์ที่เข้าร่วม หนังสือที่เตรียมไว้ได้รับการตอบรับและจำหน่ายหมด และจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้มีการประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ส่งผลให้ร้านหนังสือต้องปิดบริการ แต่ก็มียอดจำหน่ายเกิดขึ้นจากเว็บไซต์นี้ ส่วนบางสำนักพิมพ์เพิ่งเคยจำหน่ายออนไลน์ครั้งแรกก็ถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ และทำให้คุ้นเคยกับการใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น”
ด้านเสียงสะท้อนจากนักอ่านส่วนหนึ่งพบว่า ยังคงรู้สึกเสียดายที่ต้องเปลี่ยนมาจัดในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากผู้อ่านหลายคนยังคงชื่นชอบบรรยากาศภายในงาน On Ground มากกว่า แต่ก็ทำให้กลุ่มที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถซื้อหนังสือได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกล และมีความคุ้นชินกับการสั่งซื้อแบบออนไลน์อยู่แล้ว โดยรวมนั้นทุกคนเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบัน
สำหรับประเภทหนังสือที่ได้รับความสนใจจากนักอ่านมากเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ หนังสือวรรณกรรม ได้รับความสนใจจากผู้อ่านหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่วัยเรียนไปจนถึงวัยทำงาน สถานการณ์ช่วงนี้อาจส่งผลให้ผู้อ่านหันมาอ่านวรรณกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้จิตใจผ่อนคลายจากความกังวล อันดับที่สองคือหนังสือการ์ตูนและไลท์โนเวล (นิยายที่เจาะกลุ่มคนที่ชอบอ่านการ์ตูน ใช้ภาษาอ่านง่าย ไม่เน้นคำยากๆ อ่านแล้วสามารถจินตนาการได้ทันที) ผู้อ่านส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยเรียน ซึ่งรูปแบบการจัดงานที่เป็นออนไลน์สามารถเจาะกลุ่มนักอ่านรุ่นใหม่ได้มากกว่า เพราะมีความถนัดในการใช้เทคโนโลยี อันดับที่สามคือหนังสือจิตวิทยาพัฒนาตนเอง โดยผู้อ่านยังให้ความสำคัญในการพัฒนาตัวเอง หรือพัฒนาธุรกิจ เพื่อนำมาใช้ต่อยอดสู่ความสำเร็จในอนาคต อันดับที่สี่คือหนังสือการศึกษา มีผู้อ่านเป็นวัยเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับอุดมศึกษา แต่ผู้ซื้อส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ปกครองที่ต้องการนำไปพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาของบุตรหลาน และสุดท้ายอันดับที่ห้าคือหนังสือประวัติศาสตร์ โดยผู้อ่านกลุ่มนี้จะชื่นชอบความเป็นมาในอดีต วิวัฒนาการ ที่จะเป็นบทเรียนต่อไป
“หลังจบงานสัปดาห์หนังสือ ทางสมาคมมีแผนรวบรวมปัญหา และข้อเรียกร้องของสำนักพิมพ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสระบาดเรียกร้องไปยังภาครัฐเพื่อให้มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในวงการหนังสือต่อไปเพราะมีหลายสำนักพิมพ์ที่ได้รับผลกระทบมากเช่นเดียวกับธุรกิจต่างๆ ของประเทศไทย
นอกจากนี้ ตามแผนเดิมการจัดงานครั้งต่อไปคืองานเชียงใหม่ บุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 5 ในวันที่ 26 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2563 ที่เชียงใหม่ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 (Book Expo Thailand 2020) เดือนตุลาคม ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่ดีขึ้น ก็น่าจะจัดออกมาในรูปแบบออนไลน์เช่นเดียวกัน โดยนำประสบการณ์ของอีเว้นท์ในครั้งนี้มาพัฒนา และเสริมความน่าสนใจของกิจกรรมต่างๆ เข้าไปเพิ่มเติมต่อไป” นายก PUBAT กล่าว