'สมาคมบรรณาธิการ' อีกฐานที่มั่นของคนทำหนังสือ
เมื่อกล่าวถึงสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการหนังสือ ย่อมนึกถึงสมาคมนักเขียนฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือฯ สมาคมนักแปลฯ...
เมื่อกล่าวถึงสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการหนังสือ ย่อมนึกถึงสมาคมนักเขียนฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือฯ สมาคมนักแปลฯ สมาคมภาษาและหนังสือฯ เรียกว่าแทบจะครบทุกกระบวนการผลิตหนังสือจนกระทั่งจำหน่าย ทว่า มีสมาคมใดหายไปหรือไม่?
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตำแหน่งบรรณาธิการคือบุคคลสำคัญของกระบวนการผลิตหนังสือ แต่ไฉนจึงถูกละเลยไม่มีองค์กรใดรองรับและดูแลเหมือนตำแหน่งอื่น ทั้งที่ต้องกรำงานหนักกว่าจะได้หนังสือออกมาสักหนึ่งเล่ม ยิ่งเป็นบรรณาธิการผู้ประณีตยิ่งต้องใช้พละกำลังมหาศาลเพื่อสร้างสรรค์หนังสือดีสู่สายพานสติปัญญาของคนในประเทศ
จนกระทั่งวันที่ 21 ธันวาคม 2555 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้เข้าร่วมเรียนวิชาเสวนาบรรณาธิการ และมีผู้สนใจเข้าร่วมมากเกินคาด นอกจากเรียนรู้เกี่ยวกับงานบรรณาธิการขนานแท้แล้ว ยังถือเป็นการจุดประกายครั้งสำคัญเพื่อก่อตั้ง 'สมาคมบรรณาธิการ'
และเมื่อกล่าวถึงงานบรรณาธิการ ย่อมนึกถึง มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2556 เพราะเขาคือคนหนึ่งที่คิดและทำเพื่อวงการบรรณาธิการและหนังสืออย่างพลีกายถวายชีวิต สมาคมบรรณาธิการที่กำลังก่อร่างสร้างตัวก็เป็นผลผลิตหนึ่งของความคิดของมกุฏ แต่ใครจะลงมือทำ ทำอย่างไร บรรณาธิการและศิลปินแห่งชาติคนนี้มีคำตอบ...
สมาคมบรรณาธิการคืออะไร?
"ความคิดนี้อันที่จริงมันเกิดมานานแล้วล่ะ ตั้งแต่เราเริ่มคิดเรื่องสถาบันหนังสือ เราก็คิดว่าถ้าตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติได้ ก็ต้องมีองค์กรอื่นๆ ที่แวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรวิชาชีพ พอหลังจากที่มันไม่ได้ เราก็เปิดสอนวิชาหนังสือ วิชาบรรณาธิการศึกษาจะเติบโตไม่ได้ถ้ามันไม่เป็นวิชาชีพ อะไรก็ตามที่เป็นวิชาชีพได้ต้องประกอบด้วยสองอย่าง หนึ่ง ตัววิชาและอาชีพ ตัววิชาคือการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา นี่คือหลักเลยนะ ประเทศไหนก็ตามที่ทำให้อาชีพไหนเป็นวิชาชีพได้จะต้องมีการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา และจะต้องมีอาชีพซึ่งเป็นหลักเป็นฐานเป็นปึกแผ่น ไม่ใช่ว่ามีห้าคนแล้วประกาศเป็นวิชาชีพ คุณต้องมีสมาคม แล้วสมาคมนั้นก็จะมีกลุ่มคน
ถ้าเผื่ออาชีพไหนมีสองอย่างนี้เป็นหลักก็จะประกาศเป็นวิชาชีพได้ ถ้าเราสอนกันไป สอน สอน สอน สอน คนจบออกมาก็ไปทำงานกันสะเปะสะปะ ไม่เป็นปึกแผ่น มันก็ไม่เป็นวิชาชีพ เหมือนวิชาแพทย์เขาสอนเป็นหลักแหล่ง พอจบออกมาเขาก็ต้องรวมกลุ่มกัน รวมกลุ่มกันเพื่ออะไร เพื่อเพิ่มพูนความรู้ เพื่อแก้ปัญหาในอาชีพนั้น เพื่อให้มันเติบโตต่อไปเรื่อยๆ นี่คือหลักการของวิชาชีพ
หลังจากวันที่เราเปิดให้คนเข้ามาเรียนที่จุฬาฯ มีคนมาเยอะ เป็นร้อยคน นั่นแสดงว่ามีคนสนใจอาชีพนี้เยอะ ก็เลยคิดว่าทำไมเราไม่ลองเริ่มต้นดู พอเริ่มต้นปั๊บ เราก็วิตกว่า ถ้าเราเริ่มในนามของผีเสื้อหรือเริ่มในนามของผม ท้ายที่สุดมันก็จะเหมือนเดิม คือ พูดไปก็เป็นผีเสื้อ พูดไปก็เป็นมกุฏ เพราะฉะนั้นเราก็พยายามเอามันออกไปจากความเป็นผีเสื้อและมกุฏ พยายามตั้งคณะทำงานคณะหนึ่ง ประกาศรับสมัครคนให้มาทำงานแล้วก็ทำข้อมูล ทำแบบสอบถาม หาคนที่มีอาชีพนี้ในทั่วประเทศ เพื่อที่จะมาเริ่มคิดกันว่าเราจะทำอย่างไร ไปทางไหน ผีเสื้อและมกุฏก็พยายามที่จะไม่ยุ่งด้วย
แต่ในทางสถาบัน มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้จะต้องยุ่งด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกันโดยตรง ในอนาคต สองหน่วยงานนี้จะต้องทำงานด้วยกัน เช่น สมมติว่าสมาคมนี้ต้องการเด็ก ต้องการบรรณาธิการ สมมติว่าปีนี้ต้องการบรรณาธิการอาชีพสักร้อยคน เขาก็ต้องเร่งผลิตคนให้ได้ร้อยคน ด้วยวิธีไหน หาทุนการศึกษา หาตำแหน่งแห่งที่ หาอะไรต่อมิอะไรให้ เช่น มีเด็กยากจนอยู่สักประมาณสิบคนที่เก่งมากในเรื่องนี้ แต่มันไม่มีทุน สมาคมก็จะต้องจัดหาให้ หรือมีบรรณาธิการไปมีปัญหากับใครต่อมิใคร ถูกจับติดคุก สมาคมก็ต้องช่วย"
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 มีคนเข้าร่วมเรียนที่จุฬาฯ ประมาณสองร้อยคน ถือว่าเยอะไหม?
"เยอะสิ เพราะเราไม่ได้ประกาศเลย เราไม่ได้ประกาศทางหนังสือพิมพ์ เราอาศัยเฟซบุ๊คอย่างเดียวนะ บอกผ่านทางเฟซบุ๊คอย่างเดียวว่ามีวิชาเสวนาบรรณาธิการที่เราจะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามา ใครอยากร่วมก็ส่งชื่อมาลงทะเบียนหน่อย เขาก็ส่งชื่อมาประมาณร้อยกว่าคน ถึงเวลาจริงๆ ก็มาเกินกว่านั้น ห้องสองห้องเต็มเลยล่ะ"
เป็นนิมิตรหมายอันดี?
"อันที่จริงคงจะเป็นอย่างนี้มานานแล้ว แต่ว่าเรายังไม่เคยเห็นทีท่าของคนว่าเขาสนใจจริงจัง และเขาเอาจริงจังที่จะรวมกัน มาฟังดูสิว่ามีอะไรคืบหน้าบ้าง หรือเขาไม่เคยสนใจว่าวิชานี้มีการเรียนการสอนกันอย่างไร คนที่ไม่เคยรู้ว่ามีการสอนวิชาอย่างนี้ เขารู้สึกว่าเขาทำงานมาตั้งนานเขาก็ทำได้ดีนี่ เขาอยากมาดูว่าไอ้ที่สอนนี่สอนเป็นอย่างไร ซึ่งมันอาจเหมือนหรือไม่เหมือนกันเลยกับที่เขาปฏิบัติอยู่ก็ได้ อาจมีบางเรื่องที่เขาไม่รู้ หรือบางเรื่องที่เขารู้แต่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นการมีสมาคมมันดีตรงนี้ล่ะ สมมติว่าสมาคมประสานงานกับมหาวิทยาลัย พอถึงเวลาหนึ่งสมาคมประชุม สมมติมีสมาชิกประมาณสองร้อยคน พอมีหลักสูตรให้สมาคมเห็น สมาคมก็จะดูได้ว่าหลักสูตรมันขาดอะไรบ้าง ต้องเพิ่มเติมตรงนี้ตรงนั้น มันก็สมบูรณ์ขึ้นเพราะคนประกอบอาชีพจริงๆ เขาเป็นคนคอยพิจารณาอยู่ ขณะนี้เราก็ทำหลักสูตรของเราตามที่เราคิดมันจะดี แต่อันที่จริงมันอาจจะไม่ดีก็ได้
ไม่ใช่หน้าที่ของบรรณาธิการที่รับต้นฉบับมาแล้วก็นั่งตรวจแก้ รับเงินแล้วก็จบ เราพูดถึงแม้กระทั่งว่าอนาคตของเขา ในขณะที่เขาอายุ 30 - 40 เขายังทำงานได้ แข็งแรงดี แต่เขาอายุ 60 - 70 เขาแก่ เขาทำงานไม่ได้ หาเงินที่ไหนมาเลี้ยง เขาไม่ใช่ข้าราชการบำนาญนะ เพราะฉะนั้นมันต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งมารองรับเขา มันมีวิธีไหนล่ะที่จะมาช่วยเขาได้"
นั่นคือสมาคมบรรณาธิการ?
"มันต้องเป็นสมาคม ไม่มีทางอื่น เช่น สมมติว่าอย่างผม บังเอิญผมเป็นเจ้าของหนังสือเอง ผมก็ไม่เดือดร้อนอะไร แต่ถ้าผมรับจ้าง ตอนนี้ผมอายุ 60 แล้ว ต่อไปอีกสิบปีข้างหน้าผมอาจทำงานไม่ไหว คำถามคือผมจะมีรายได้จากไหนมาดูแลตัวเองก่อนที่จะตายไปในช่วงเวลา 20 - 30 ปี ใครจะดูแล
แต่ถ้ามีสมาคม สมคมก็อาจจะจัดการ เช่นสมาคมฌาปนกิจเขายังทำได้เลย เก็บเงินเดือนละบาท พอถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย - จ่ายค่ารักษาพยาบาล พอถึงเวลาตาย - เผาศพ เขาก็ยังทำได้ แต่ทีนี้ถามว่าบรรณาะการคนใดคนหนึ่งทำงานมาสามสิบปี พอถึงอายุเจ็ดสิบ ทำงานไม่ไหวแล้วป่วย ใครดูแล...ไม่มี พอถึงเวลาตายไม่มีเงินสักบาท ใครเผา...ไม่มี"
แต่ต้องอาศัยจำนวนคนในสมาคมมาก?
"ต้องอาศัยหลายอย่าง ต้องมีรายละเอียดอะไรอีกเยอะเลย เช่น ในวิธีเท่าที่เรานึกได้เล็กๆ น้อยๆ ไปเรื่อยๆ เช่น หนึ่งสือหนึ่งเล่มผลิตออกมา เราคำนวณดูสิว่าค่าต้นฉบับเท่าไร ค่าตรวจแก้ต้นฉบับที่คำนวณแล้วเท่าไร บรรณาธิการจะต้องเก็บเงินสะสมสักกี่เปอร์เซ็นต์ให้แก่สมาคม และสำนักพิมพ์จะต้องสมทบด้วยอีกเท่าๆ กัน แล้วก็เก็บไว้ นี่เป็นเงินที่เราจะช่วยดูแลในอนาคต
สมาคมอาจมีหน้าที่ดูแลเฉพาะคน หมายความว่าเธอเป็นบรรณาธิการใช่ไหม ในทุกเดือนเธอก็นำเงินไปสะสมกับสมาคม พอถึงเวลาเขาก็คำนวณออกมาว่าเงินนี้อยู่มากี่ปีแล้ว ถึงเวลาที่เขาจะเบิกกลับไปได้หรือยัง ถ้าเขาเบิกกลับไปได้ มีดอกเบี้ยเท่าไร นี่เป็นเรื่องที่สมาคมต้องทำ
สิ่งที่เราพูดถึงโดยกว้างๆ คือ หนึ่ง สวัสดิการ ตั้งแต่เบื้องต้นไปจนถึงบั้นปลาย เบื้องต้นคือการเจ็บป่วย บั้นปลายก็คือในขณะที่โคม่า หรือทำงานไม่ได้ ไม่มีรายได้เลย จนกระทั่งถึงเสียชีวิต สำหรับสวัสดิการอย่างอื่น เช่น กรณีมีปัญหา หรือบรรณาธิการคนนี้ถูกบอยคอร์ดจากสำนักพิมพ์ ไม่ให้งานเลย จะทำอย่างไร มีใครนึกถึงไหม ในขณะที่เราได้งานๆ ก็รู้สึกสบายดี แต่วันใดวันหนึ่งที่ถูกบอยคอร์ด ก็ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมสำนักพิมพ์ทั้งหลายร่วมหัวกันประท้วงบรรณาธิการคนนี้ล่ะ เพราะเขาทำงานไม่มีฝีมือใช่ไหม ถ้าเขาไม่มีฝีมือ สมาคมจะช่วยอะไรให้บรรณาธิการบางคนที่ไม่มีฝีมือ ทดสอบฝีมือกันอย่างไร เหมือนพวกนักบิน พวกวิชาชีพอื่นๆ ในแต่ละช่วงเวลา เขาจะมีทดสอบสมรรถนะ ทดสอบว่าตอนนี้มันบินได้ดีอยู่หรือเปล่า หรือว่ามันเสื่อมโทรมไปแล้ว ต้องเทรนด์กันใหม่หรือต้องทำอะไร หรือบรรณาธิการที่ทำงานไปสักพักหนึ่งแล้วมันเฉื่อยชา มันแก้ต้นฉบับไปถูกๆ ผิดๆ แล้ว มันแย่แล้ว จะต้องจัดห้องเรียนกันใหม่ เหล่านี้สมาคมต้องทำ"
สมาคมบรรณาธิการจะเป็นไปได้แค่ไหน?
"ถ้าเผื่อบรรณาธิการทุกคนคิดว่าไม่อยากทำงานลำพัง เห็นว่ามันน่าจะมีหน่วยงานที่ช่วยกัน ช่วยกันทางวิชาการ ทางสวัสดิการสังคม ช่วยกันอะไรต่อมิอะไร มันก็เป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อมันถึงเวลาหนึ่งจะต้องเชิญทุกคนเข้ามาร่วมกัน ด้วยวิธีไหน ด้วยวิธีง่ายๆ ก่อน เช่น แสดงความคิดเห็นเบื้องต้นเรื่องการตั้งสมาคมบรรณาธิการ หลังจากนั้นก็เอาความคิดเห็นทั้งหมดมาประมวล ประมวลเสร็จก็เชิญทุกคนมาประชุม ระดมความคิด แล้วหาข้อสรุปให้ได้ว่าตกลงเราจะตั้งไหม ถ้าจะตั้งก็ต้องมีแบบแผน กฎกติกา ระเบียบสมาคม ร่างออกมาว่าจะต้องทำอะไรบ้าง วัตถุประสงค์มีอะไรบ้าง ให้มันชัดเจน แต่อาจต้องใช้เวลาเป็นปี คือ หนึ่ง ในระยะสองสามเดือนแรกขอความคิดเห็นก่อน ส่งมาทางอีเมล ทางจดหมาย ทางอะไรต่อมิอะไร แล้วก็ประมวล พอประมวลเสร็จก็พิมพ์เป็นเอกสารว่าเราประมวลได้อย่างนี้นะ แล้วก็แจกไปยังทุกคน ทุกคนมีความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไร พอถึงเวลาประชุมใหญ่จริงๆ ก็สรุปแล้วว่าจะเอาไหม ถ้าในจำนวน 500 คน มีคนมมาแค่ 100 คน ก็แสดงว่ายี่สิบเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ควรจะตั้ง แต่ถ้ามาห้าร้อยคน สามร้อยคน ก็น่าจะตั้ง ตอบไม่ได้หรอกว่าตั้งได้หรือไม่ได้ คำถามตอนแรกคือว่า ทุกคนต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่ามันควรจะมีหรือไม่ควรจะมี และถ้าจะมี จะมีในลักษณะไหน อย่างไร และเราจะร่วมด้วยหรือไม่ บางคนบอกว่าดี สมควร แต่พอถึงเวลาเขาตั้งจริงๆ ไม่เอา"
สมาคมบรรณาธิการทำให้วิชาชีพนี้เป็นที่ยอมรับ?
"นอกจากวิชาชีพมันได้มาตรฐานดีขึ้นแล้ว มันจะช่วยพัฒนางานของวิชาชีพนี้ด้วย หน้าที่ของบรรณาธิการต้นฉบับคืออะไร คือ ตรวจแก้ต้นฉบับจนกระทั่งทำหนังสือ หมายความว่ารับผิดชอบหนังสือตั้งแต่ต้นจนกระทั่งออกมาเป็นเล่ม ในอนาคตก็หมายถึงหนังสือซึ่งปรากฏในอินเทอร์เน็ตในอีบุ๊คด้วย ไม่ใช่หนังสือเล่มอย่างเดียว เราไม่ได้ผูกขาดไว้เฉพาะในหนังสือเล่มอย่างเดียว นั่นหมายความว่า ถ้าเผื่อวิชาชีพนี้ยกระดับ มีสมาคม สมาคมจะคอยดูแลมาตรฐานของหนังสือด้วย สมาคมต้องคอยดูว่าหนังสือที่ออกมาในแต่ละวัน ลองสุ่มตัวอย่างดูสิว่าเล่มไหนมันบกพร่องไป บกพร่องด้วยอะไร สมาคมจะต้องพิจารณา และหาข้อสรุปว่าที่บกพร่องมันมีปัญหาอะไร ในฐานะเป็นสมาคมบรรณาธิการเหมือนฝาชี คลุมถ้วยอาหารหลายๆ ถ้วย แต่ทีนี้ถ้วยอาหารหลายๆ ถ้วยมันบูด ต้องเปิดฝาชีออกแล้วดูสิว่าอะไรเน่า เน่าเพราะอะไร เสร็จแล้วจึงเอาฝาชีไปคลุมใหม่ สมาคมจะคอยเป็นคนดูแลเพื่อยกระดับบรรณาธิการให้ดีขึ้น พอระดับบรรณาธิการดีขึ้น ผลงานก็ต้องดีขึ้นด้วย เช่น กรรมกรที่เขามีสุขภาพดี เขาย่อมทำงานดี เพราะเขามีเรี่ยวแรงเยอะ แต่ถามว่ากรรมกรที่นอนเจ็บป่วยอยู่แล้วไม่มีใครไปดูแลเขา เขาจะทำงานดีได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่มีแรง เช่นเดียวกัน เหมือนกันทุกอย่าง"
การบริหารสมาคม?
"นั่นเป็นเรื่องของสมาคม พอเป็นสมาคมแล้ว เขาจะเป็นหน่วยงานอิสระ รายได้มาจากไหนเขาต้องไปจัดหารายได้ จัดหายรายได้ด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ จะเรียกเก็บค่าสมาชิก มันไม่ยากหรอกที่สมาคมจะหาเงิน เหมือนสมาคมอื่นๆ มีรายได้เข้ามา แล้วบริหารสมาคมด้วยการบริหารสมาชิก ดูแลสมาชิก ให้ประโยชน์แก่สมาชิก เช่น อบรม ปีนี้มีเรื่องอบรมใหม่นะ ยกตัวอย่าง การตรวจแก้ต้นฉบับในอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บรรณาธิการบางคนอาจจะไม่รู้ว่าคืออะไรไอ้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพราะเพิ่งอยู่ป่ามาแล้วเพิ่งเข้าเมือง ก็อบรม มันมีอะไรเยอะเลยที่เราต้องเผชิญในอนาคต แล้วถ้าเราเดินลำพังมันไปไหนไม่ค่อยได้หรอก มันโดนคลื่นกระแสสมัยใหม่พัดเรา พาเราหายไปกับกระแสนั้น ถ้าเรามีเรือสักลำหนึ่งที่ใหญ่พอจะพาเราไปได้ทั้งหมด แล้วฝ่าคลื่นลมนี้ไปได้ก็ดีกว่าจะปล่อยให้ทุกคนว่ายน้ำเพียงลำพัง ท้ายที่สุดทุกคนก็แย่หมด"
บรรณาธิการก็ทำงานเพียงลำพังมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วมิใช่หรือ?
"เพราะฉะนั้นมันก็ไม่เติบโต เพียงแต่เอาตัวรอดไปเท่านั้นเอง มันเหมือนกับว่าบรรณาธิการทั้งหลายทำงานให้สำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์ก็เติบโต แต่บรรณาธิการก็อยู่เท่านั้นเหมือนเดิม แต่ทีนี้จะทำอย่างไรให้สำนักพิมพ์เติบโตด้วยแล้วบรรณาธิการเติบโตด้วย จะต้องมีใครสักคนหนึ่งที่จะช่วยระหว่างกลางสองอันนี้ บรรณาธิการคนเดียวไม่มีเรี่ยวแรงที่จะไปบอกสำนักพิมพ์ว่าผมขอล้านหนึ่งนะสำหรับตรวจแก้ต้นฉบับเรื่องนี้ เป็นไปไม่ได้ แต่สำนักพิมพ์มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าบรรณาธิการเร็วหน่อย เดี๋ยวต้องไปขายงานสัปดาห์ฯแล้ว บรรณาธิการก็ต้องทำ"
สมาคมบรรณาธิการจำเป็นมาก?
"จำเป็น ถ้าเผื่อเราจะพัฒนาชาติให้เจิรญรุ่งเรือง ให้ดี สมาคมบรรณาธิการเป็นเรื่องจำเป็นมาก จำเป็นและเชื่อมโยงกับสมาคมนักเขียน ในอนาคตสมาคมสองสมาคมนี้จะต้องทำงานด้วยกัน สมาคมนักเขียนกับสมาคมบรรณาธิการจะต้องทำงานด้วยกัน เพื่ออะไร เพื่อถ้าบรรณาธิการเติบโตจนลอยขึ้นไปสูงแล้ว แล้วสมาคมนักเขียนยังอยู่ในระดับเดิม มันเหมือนจะพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นบางครั้งบางหน สองสมาคมนี้จะต้องมาประชุมกันด้วยซ้ำ เพราะเขาทำงานด้วยกันอย่างแยกไม่ออก เหมือนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ถ้าคนหนึ่งฉลาดมาก คนหนึ่งร่ำรวยมาก คนหนึ่งจนมาก มันก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ ต้องแบ่งเฉลี่ยกัน และเกื้อกูลกัน
อันที่จริงมีสมาคมหนึ่ง คือ สมาคมภาษาและหนังสือ ตั้งขึ้นก่อนสมาคมใดๆ ในวงการหนังสือในประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือมีนโยบายว่าด้วยบรรณาธิการอยู่ด้วยนะ เป็นสมาคมที่รวมบรรณาธิการ รวมั้งนักเขียนอยู่ในสมาคมเดียวกัน แต่สมาคมไม่ได้แสดงบทบาทมากนักในเรื่องบรรณาธิการอย่างเป็นกิจลักษณะ เพราะมีนักเขียน มีบรรณาธิการ ก็เลยไม่มีภาพที่ชัดเจนว่าตกลงจะพัฒนาบรรณาธิการขึ้นมากันได้อย่างไร ยังไม่มีอะไรจริงจัง ไม่มีอะไรที่เป็นหลักแหล่งแน่ชัด นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะ ไม่ได้ไปยุ่งกับเขานะ"
สมาคมอื่นก็มีมานานแล้ว ทำไมสมาคมบรรณาธิการถึงตกสำรวจ?
"อาจเป็นเพราะประการหนึ่ง บรรณาธิการมีงานมากเกินไป หมายความว่าไม่มีเวลาว่างจะมาคิดเรื่องเหล่านี้ และไม่มีใครช่วยคิด ไม่มีใครว่างพอจะมานั่งคิด เพราะต้องใช้เวลามากพอสมควร อย่างน้อยก็หลายเดือนกว่าจะเป็นเรื่องเป็นราว ระหว่างหลายเดือนนี่ก็ต้องเสียเวลาทำมาหากิน ก็อาจเป็นด้วยเหตุผลเหล่านี้กระมัง ไม่รู้เหมือนกัน
แต่ว่าเรื่องนี้จำเป็น ยิ่งถ้าเราพูดถึงเรื่องอาเซียน เรื่องนี้จำเป็นมาก ท้ายที่สุด เราก็จะแพ้คนอื่นเขาในเรื่องหนังสือ เราไม่มีใครที่จะมาแสดงบทบาทเรื่องนี้ แต่ถ้ามีสมาคมบรรณาธิการได้แสดงบทบาท เช่น สมมติว่าเกิดกรณีที่มีใครสักคนหนึ่งบอกว่าควรกำหนดเรตติ้งของหนังสือ ควรกำหนดหนังสือประเภทไหนไม่ให้ขาย อย่างนี้บรรณาธิการอาจจะมีบทบาทได้ด้วยว่าเห็นด้วยไหมที่จะกำหนดเรตติ้ง เพราะบรรณาธิการอยู่กับเรื่องเหล่านี้โดยตรง บรรณาธิการย่อมรู้ว่าอย่างไหนดี อย่างไหนไม่ดี ด้วยการอ่านต้นฉบับอ่านหนังสือที่จะต้องไปสู่เยาวชนหรือคนอ่านระดับทั่วไป ควรจะแยกประเภทไหม ควรจะบอกไหมว่าแอลกอฮอล์ขวดนี้ที่เราเรียกว่าเบียร์ มีแอลกอฮอล์กี่เปอร์เซ็นต์ ควรจะเขียนบอกไหม แอลกอฮอล์ที่เป็นไวน์มีกี่เปอร์เซ็นต์ แอลกอฮอล์ที่เป็นเหล้าขาวมีกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราไม่บอกว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวเด็กไปกินเหล้าขาว แล้วเป็นอันตรายใช่หรือเปล่า"
ทั้งหมดทั้งมวลที่ มกุฏ อรฤดี บอกกล่าว เขาย้ำว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น เพราะท้ายที่สุดคนที่เขามองว่าอาจเป็นผู้รับหน้าที่สำคัญเป็นหัวเรือใหญ่อาจเป็นบรรณาธิการฝีมือดีอีกคนหนึ่ง
"เรืองเดชอาจเป็นคนรับเรื่องนี้ไป..." มกุฏบอก