นาบางกอก 'ผืนสุดท้าย'

สำรวจท้องนากลางกรุงที่นับวันยิ่งถูกการพัฒนาไล่ที่ หาคำตอบถึงการอยู่ร่วมกันของลมหายใจเกษตรบนแปลนการขยายตัวจากเมืองหลวง
การเปลี่ยนแปลง ในสังคมบริโภคนิยม ที่มี "โลกาภิวัตน์" เป็นตัวขับเคลื่อนส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมือง และการเติบโตของอุตสาหกรรม ภาพผืนนา และชานเรือนในอดีตถูกเปลี่ยนเป็นตึกสูง โรงงาน หมู่บ้านจัดสรร
รายงานจากศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานครพบว่า ภายในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.29 ต่อปี ขณะที่การใช้ที่ดินเชิงพาณิชย์ (อาคารประเภทสำนักงาน การค้าและบริการศูนย์การค้า ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่) มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 ต่อปี ส่วนการขยายตัวของฟากอุตสาหกรรมก็มีอยู่ในอัตราที่สูงขึ้น โดยเพิ่มจาก 2,231 ไร่ เป็น 3,229 ไร่ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่มีการขยายออกไปตามชายเมือง
ในทางกลับกัน พื้นที่ทางการเกษตรก็ลดลงอย่างต่อเนื่องราว 3-4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ภาพเมืองทันสมัย และการตั้่งกำแพงเปิดพื้นที่ก่อสร้างใหม่ๆ เพื่อผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียนในอนาคต บางครั้ง อาจทำให้เราลืมไปแล้วว่า ครั้งหนึ่ง "บางกอก" เคยชะอุ่มไปด้วยต้นข้าว และร่องสวน
ถึงอย่างนั้น ยังมีตัวแทนของเกษตรกรชาวกรุงที่ยืนยันจะรักษา "ลมหายใจสุดท้าย" ของพวกเขาเอาไว้ ชั่วลูกชั่วหลาน
"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" คือคำยืนยันถึงผืนดินหนองจอกจากปากของ สมชาย สมานตระกูล ประธานชุมชนลำไทร ชุมชนต้นแบบกรณีศึกษาชุมชนพอเพียง ระหว่างแลกเปลี่ยนบนเวทีเสวนา "ชะตากรรมแปลงนาผืนสุดท้ายของบางกอก" ซึ่งจัดโดยชมรมสื่อบ้านนอก ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ สืบสานแนวพระราชดำริ เมื่อไม่นานมานี้
วันที่การพัฒนากำลังรุกคืบ โจทย์ที่น่าสนใจสำหรับชาวลำไทรน่าจะอยู่ตรงวิธีการรักษา "ท้องนาผืนสุดท้าย" เอาไว้อย่างไร
และจุดร่วมระหว่างวิถีเกษตรกรรมกับสังคมเมืองจะอยู่ตรงไหน
ท้องนาในซอกตึก
บ้านลำไทร หรือ "คอยรุตตั๊กวา" เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตหนองจอก ชานเมืองของกรุงเทพมหานคร คำว่า "ลำไทร" เป็นชื่อเรียกของชาวบ้าน ตามสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นลำคลองคดเคี้ยว มีต้นไทรขึ้นปกคลุมหนาทึบบนพื้นที่
ส่วนคำว่า คอยรุตตั๊กวา นั้นเป็นภาษาอาหรับมีความหมายโดยรวมว่า ผู้ที่มีความภัคดีต่อพระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮ) โดยที่นี่เป็นชุมชนมุสลิมที่ยึดอาชีพหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินมาตั้งแต่ 140 ปีก่อน โดยมี "คลองขุด" ทั้ง 104 คลอง โยงใยเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงวิถีเกษตรกรรม
เมื่อสังคมเกษตรทุนนิยมส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ได้เปลี่ยนบริบทชีวิตในอดีตจาก "ทำมาหากิน" เปลี่ยนเป็น "ทำมาหาเงินมากิน" ทำให้พื้นที่เขตหนองจอกซึ่งแต่เดิมเป็นไร่นาส่วนใหญ่ถูกรุกล้ำด้วยนิคมอุตสาหกรรม และโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งตามผังเมือง หนองจอกคือพื้นที่สีเขียวที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และที่พักอาศัย แต่มีการอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้พื้นที่สีเขียวกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
ทำให้ภาพของผืนนาที่อยู่ติดกับตึกสูงจึงพบเห็นได้ที่นี่
"หนองจอกมีทั้งเมืองทั้งชนบทในพื้นที่เดียวกัน ภาพตึกสูงๆ อยู่คู่กับนาข้าวเป็นภาพที่หายากถ้าไม่ใช่ที่หนองจอก การเดินทางเพียงนิดเดียวก็ถึงเมือง การโฆษณาประชาสัมพันธ์มาได้ห่างจากตัวเมืองชั้นใน ไม่ได้ห่างจากวิถีชีวิตของคนหนองจอก" ประธานชุมชนลำไทรเล่าถึงทำเลที่ตั้งของชุมชนซึ่งอยู่ห่างจากถนนสุวินทวงศ์ เพียง 14 กิโลเมตร และหนีไม่พ้นชะตากรรมแบบเดียวกันกับชุมชนชาวนาเมืองกรุงอื่นๆ
เรื่องนี้ ในฐานะคนเก่าแก่อีกคนของพื้นที่ ประธานชุมชนลำไทรได้ตั้งคำถามกับพี่น้องชาวเกษตรกรด้วยกันถึงพื้นที่คลองสามวา มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง ทำนาได้ราคาต่อปีรวมกัน 150 กว่าล้าน ทำไมชาวนายังขายที่ให้แก่บ้านจัดสรร นิคมอุตสาหกรรมอยู่
"การบุกรุกล้ำทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เพราะมีกฎระเบียบข้อบังคับเอื้ออำนวยให้ ทำไมเป็นเช่นนั้น ก็เพราะบอกว่าหนองจอกคือพื้นที่สีเขียว ใช้เฉพาะเกษตรกรรมและบ้านพักอาศัย พอมีสนามบินสุวรรณภูมิ พอมีนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เข้ามาเดี่ยวข้อง นี้แหละคือปัจจัยเบื้องต้นที่ทำให้คนแห่แหนเข้าไปอยู่ในพื้นที่" เขาชี้ต้นสายปลายเหตุพื้นที่สีเขียวที่หายไป
'จน' สะเทือนทุ่ง
"ไม่ทำนาแล้วจะทำอะไร" เสียงย้อนถามจาก บุญนาค และแฟง ชาวนาวัย 71 ปี ในพื้นที่เขตลาดกระบัง ที่ทำนามาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังคงเอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินบนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ของตนเองอย่างเหนียวแน่น
เขาเล่าว่าในอดีตที่ดินบริเวณนี้เป็นที่นาแทบทั้งสิ้น ทุกคนทำนามีที่นาเป็นของตัวเอง หักลบกลบหนี้แล้วได้กำไรเกินกว่าครึ่งของเงินลงทุน
"เห็นมีก็อยากมีบ้าง แล้วพอไม่มีก็ขายนา จำนำนา" บุญนาคเผยถึงต้นเหตุของที่นา "เปลี่ยนมือ" และเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมชาวนายังขายที่ให้กับบ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม
"ทั่วโลกเขายอมรับว่าเราเป็นประเทศทุนนิยมระดับกลาง เราจึงไม่ใช่สังคมเกษตรกรรมอีกแล้ว" รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "ฟันธง" ถึงจุดยืนของประเทศไทยในเวทีโลกวันนี้
"เราบอกว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม ส่งข้าวออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่งมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก แต่มูลค่าการส่งออกภาคเกษตรไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ชาวนาทั้งประเทศมี 3.78 ล้านครอบครัว ครอบครัวละประมาณ 4 คน ใน 4 คนของครอบครัวไปอยู่โรงงานกันหมดแล้ว ชาวนาคนสุดท้ายก็คนเฒ่าคนแก่"
ในสายตานักวิชาการ เขามองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับสังคมเกษตรวันนี้ว่า "รวยกระจุกจนกระจาย" ดูจะเป็นคำนิยามประเทศไทยกับผลจากระบบทุนนิยมได้ถูกต้องแม่นยำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในวันนี้
"ปัญหาความยากจนของชาวนาไทยวันนี้เกิดจากการเพาะปลูกผิดวิธี เน้นการใช้สารเคมีอันเป็นการเพิ่มต้นทุน" สุมิท แช่มประสิทธิ์ เลขาธิการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงเสริม
เขาเล่าว่า ปีหนึ่งๆ ชาวนาใช้สารเคมีในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตถึง 87 ล้านตัน แต่สิ่งที่ตามมาก็คืออันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งหากมีการให้ความรู้และส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตให้แก่ชาวนา เช่น ส่งเสริมการปลูกข้าวสินเหล็กเพื่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน และขายได้ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 100 บาท หรือ การแปรรูปข้าวเป็นสินค้าอื่นๆ ที่ทำรายได้มาก โครงการจำนำข้าวหรือประกันราคาพืชผลเพื่อเพิ่มรายได้อาจไม่มีความจำเป็น
อย่างกรณีที่นาข้าวของรศ. ณรงค์ ที่ลงแรงพิสูจน์ด้วยตัวเองบทสรุปไม่แตกต่างกับชาวนาทั่วประเทศไทย คำว่า "ขาดทุน" คือค่าตอบแทนสำหรับผลผลิต
เมื่อทำนาแล้วขาดทุนกำลังใจในการประกอบอาชีพหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินก็ถึงจุดเปลี่ยน เปลี่ยนจาก "ชาวนา" เป็น "นายทุน" เป็น "ต่างชาติ" เป็น "อุตสาหกรรม" ไม่ต่างจากโครงการทดลองรักษาความสัมพันธ์ระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมที่เขาทำอยู่ใน จ.ปราจีนบุรี ซึ่งจากที่คาดหมายสัดส่วน การค้า และอุตสาหกรรม กับภาคเกษตรไว้ที่ 70 : 30 แต่วันนี้ก็ไม่เป็นผล
"เนื่องจาก ชาวนาส่วนใหญ่คือชาวนาภาคอีสานซึ่งมีอยู่ 2.5 ล้านครัวเรือน (จาก 3.78 ครัวเรือน) แต่ผลผลิตข้าวร้อยละ 90 มาจากชาวนาภาคกลางและภาคเหนือ ขณะที่ร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นผลผลิตของชาวนาอีสานซึ่งยากจน และเมื่อได้เงินจากโครงการจำนำข้าวก็ถูกหักหนี้ไปเกือบหมด ดังนั้นผลประโยชน์จากโครงการจำนำจึงไปกระจุกตัวอยู่ที่ชาวนาภาคกลางซึ่งไม่ใช่ชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศ" นั่นคือความจริงที่เขาค้นพบ
ทางร่วมที่ 'พอเพียง'
"วันนี้ระบบการเมืองอยู่ซีกหนึ่ง ราชการอยู่ซีกหนึ่ง ประชาชนอยู่ซีกหนึ่ง" หากถามถึงจุดร่วมของปัญหาเพื่อนำไปสู่ทางแก้สำหรับตัวเกษตรกรอย่างสมชายเอง
"ยังไม่มีเวทีไหนที่การเมืองมานั่งฟัง ราชการมานั่งฟัง มีแต่มานั่งพูดแล้วให้ชาวบ้านฟัง เพราะฉะนั้นต้องสร้างเวทีใหม่ คุณต้องฟังฉัน ว่าฉันต้องการอะไร ไม่ใช่ถนนที่หนองจอกต้องเหมือนที่พระราม 4 ไม่ใช่ ไม่ใช่ถนนสีลม เกษตรก็มีส่วนต้องใช้ถนนนี้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้รถวิ่งอย่างเดียวเกษตรก็ต้องใช้ แล้วคุณก็ปล่อยน้ำเสียให้ชาวไร่ชาวนา มันไม่ใช่ถนนเพื่อวิถีหนองจอก เพื่อประโยชน์สิ่งใด ทำไมคุณไม่มานั่งฟัง" เขายกตัวอย่าง
การเดินไปร่วมกันระหว่างสังคมเกษตรกับชุมชนเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าทุกฝ่ายจริงใจ และไร้ผลประโยชน์แอบแฝง
"คลองที่เราอยู่ได้ทุกวันนี้ คลองที่ รัชกาลที่ 5 ขุดไว้ ขุดเพื่อการเกษตร ขุดเพื่อป้อนเพื่อระบายน้ำ เพื่อทำอาหารสำหรับท้องถิ่น นี่คือวิสัยทัศน์ เราไปเปลี่ยนวิสัยทัศน์ เราไปเริ่มต้นที่เอาใจใคร วันนี้เราเอาใจนายทุน เพราะเขาให้ตังค์ ให้กำไร ถ้าไม่ห่วงโจทย์นี้เกษตรกรอยู่ได้สบาย แล้วต่อไปจะเป็นแหล่งที่สำคัญที่สุดคือแหล่งท่องเที่ยว เขาจะหาอากาศหายใจกันไม่ได้แล้ว วันนี้เราพกน้ำนะ ต่อไปต้องพกอากาศ แต่ถ้าตรงนี้ไม่ต้องพกถามว่า ใครจะไปกินไหม นี่คือสิ่งที่เราจะขายในอนาคต"
เหมือนกับ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" คือหลักฐานความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินลำไทรในวันนี้
"ที่ลำไทรเราเอาแนวพระราชดำรัสมาปฏิบัติ เราก็ได้กำแพงเป็นกำแพงใจ ถ้าเรามีใจต่อแผ่นดินของเรา ตรงนี้จะทำให้เกิดรั่วขึ้นมา รั่วในที่นี้คือรั่วคน ในลำไทรไม่มีรั่วเหล็ก ประตูเหล็กหรือประตูรีโมทคอนโทรล แต่เป็นรั้วใจที่มีบ้านที่ช่วยกันดูแลเปิด 24 ชั่วโมง เหมือนเซเว่นเลย นี้คือสิ่งที่เราเริ่มสร้างกันมา 10 ปีที่เราร่วมสร้างกันมา"
การปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้ "สอดคล้อง" ถือเป็นกุญแจสำคัญอีกดอกสำหรับเลขาธิการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงในการ "พลิกฟื้น" และ "อยู่ร่วม" อย่างยั่งยืน
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ วิถีเมืองกำลังขับไล่วิถีชนบทออกไป โดยคนเมืองยุคปัจจุบันปฏิเสธวิถีเกษตร ต้องเสียเงินเพื่อซื้อพืชผักรับประทาน โดยเข้าใจว่าวิถีเกษตรแบบพอเพียงเป็นเรื่องของคนต่างจังหวัดซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วแม้มีที่ดินเหลือเพียง 15 ตารางวา คนเมืองก็สามารถปลูกผักสวนครัวรับประทานเองได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างต่ำร้อยละ 30" สุมิท บอก
"เรียนรู้อยู่ได้ใช้เป็น" วลีสำหรับการปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติและความพอเพียงของสมชาย เพียงหันมาเรียนรู้ว่าสิ่งใดมีคุณค่ามีประโยชน์เพื่อให้อยู่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติพร้อมทั้งรู้จักใช้ธรรมชาติให้เป็น เท่านี้ "เมือง" กับ "เกษตร" ก็ร่วมทางกันได้ไม่ยาก
"วันนี้เราขาดชุมชนสัมผัส เวลาจะทำอะไรสักทีเราทำกันไกลมากเลย วันหยุดยาวเราก็หนีกันไปเขาใหญ่ เพราะเราต้องการสัมผัส แปลว่าชีวิตเราไม่ได้สัมผัส เราทำได้หรือไม่ ให้มีพื้นที่ที่สัมผัส เราไม่ต้องเป็นเจ้าของทั้งหมด ที่ไม่มีไม่เป็นไร แต่เราใช้ตรงนั้นได้ ใช้ถนนได้ ใช้คลองได้ เราต้องสร้างจากท้องถิ่น เวทีที่สำคัญที่สุดคือเวทีบ้าน วันนี้เราขาดเวทีบ้าน เรากำลังไปหาเวทีที่ไหนก็ไม่รู้ เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา" เขาอธิบาย
ไม่ต่างจากพื้นที่เกษตรทดลองขนาด 9 ตารางวาของเขา ทำให้วันนี้ ผัก และปลาที่ตลาดราคาเท่าไหร่ไม่จำเป็นต้องรู้ เพราะปลูกเอง เลี้ยงเอง กินเอง ได้
"เพราะนี่คือการสัมผัส พื้นที่ 3 คูณ 3 ก็พอสำหรับคนในครอบครัว คุณทำได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้เป็นเกษตรกร" คำถามนี้สมชายทิ้งเอาไว้ให้คิดต่อ.