สะพาน...
อาจไม่บ่อยครั้งหรือไม่เคยเลยสักครั้งในชีวิตก็ว่าได้สำหรับใครหลายต่อหลายคนที่จุดหมายปลายทางที่กำลังมุ่งหน้าเดินไปจะคือที่ใดที่หนึ่ง
ซึ่งเราเองไม่แน่ใจนักว่าที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ เป็นจุดหมายหรือเป็นสถาปัตยกรรมกันแน่
เคยไหมครับที่จะเอ่ยปากบอกใครต่อใครว่า เรากำลังมุ่งหน้าเพื่อไปหยุดลงที่ปลายทางซึ่งเป็นเพียง “สะพาน” แห่งใดแห่งหนึ่ง...
หากคุณไม่ใช่ผู้ชายสะพายกล้องที่มีนามว่า “โรเบิร์ค คินเคด” จากวรรณกรรมของ Robert James Waller ที่หลายๆ คนรักในเนื้อหา “The Bridges of Madison County” ซึ่งออกตามล่าถ่ายรูปสะพานโรสแมนในตำบลเมดิสันเคาน์ตี รัฐไอโอวาจนพบเรื่องราวแห่งความรักอันเป็นไปไม่ได้กับแม่บ้านคนหนึ่งเสียแล้วคงยากที่สักครั้งหนึ่งเราจะเคยยึดเอาเรื่องราวของสะพานสักแห่งมาเป็นจุดหมาย
วันหนึ่งผมก็ตกลงปลงใจที่จะไป “สังขละบุรี” เมืองชายแดนด้านตะวันตกของจังหวัดกาญจนบุรี ที่ซึ่งเวลาเอ่ยให้ใครต่อใครฟังว่าจะไปที่นั่น เป็นต้องถูกถามว่า จะไปเที่ยวไหน ไปดูอะไร ขณะที่บางครั้งคำตอบที่แท้จริงในใจของเราอาจเป็นเพียงการได้ไปใช้เวลาว่างๆ สักสองสามวันที่ไหนก็ได้โดยที่ไม่ต้องมีเรื่องราวอะไรหรือความตั้งใจว่าจะไปเที่ยวที่ไหนหรือไปดูอะไรจริงๆ จังๆ รองรับ
แต่แล้ว “สะพาน” ก็ถูกดึงขึ้นมาเป็นคำตอบบังหน้าสำหรับผม เพราะถ้าหากใครก็ตามที่เป็นนักท่องเที่ยวท่องไทยย่อมจะเคยไปหรือรู้ข้อมูลดีว่า ที่สังขละบุรีหรือ “สังขละฯ” นั้น นอกจากจะมีเมืองบาดาล วัดจมน้ำที่สร้างแรงดึงดูดให้สังขละฯ ตามแคมเปญ Unseen Thailand แล้ว ยังมีสะพานที่ขึ้นชื่ออยู่แห่งหนึ่ง (แน่ล่ะ ผมเองยังไม่เคยไป) ซึ่งสักครั้งหนึ่งในชีวิตผมเองก็นึกอยากจะเดินทางไปให้ถึงอำเภอที่อยู่แสนไกลและมีสะพานไม้แห่งนั้นบ้างเหมือนกัน
เมื่อเวลาและความตั้งใจลงตัวการเดินทางออกจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่สังขละฯ อย่างไม่รีรอก็เริ่มต้นขึ้น หนทางที่ดูเหมือนไม่ห่างไกลเพราะกาญจนบุรีได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดทางภาคตะวันตกที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ แค่เพียงเดินทางชั่วโมงเศษ แต่จากเมืองกาญจน์เข้าสังขละฯ นั้นกลับเป็นเส้นทางที่ยาวไกลและบุกป่าฝ่าเขาข้ามไป เพราะอำเภอปลายสุดของเมืองกาญจน์แห่งนี้อยู่ประชิดชายแดนพม่าด้วยระยะห่างถึงประมาณ 215 กิโลเมตรจากตัวจังหวัดเลยทีเดียว
เส้นทางที่เลี้ยวขวาออกจากทางเข้าอำเภอทองผาภูมิ (ไกลสุดของเมืองกาญจน์ที่ผมเคยไป) อีก 70 กว่ากิโลฯ ก่อนจะถึงตัวอำเภอสังขละฯ นั้นถือว่าเป็นไฮไลต์ของการเดินทางอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะมีธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรสวยงาม ลำน้ำสายเล็กใหญ่ที่มีสะพานแห่งแล้วแห่งเล่าและอ่างเก็บน้ำของเขื่อนเขาแหลมแล้ว การป่ายปีนเส้นทางคดเคี้ยวสูงชันของทางหลวงที่เงียบสงบไม่ค่อยจะมีรถราวิ่งสัญจรก็ทำให้อดที่จะคิดถึงบางห้วงจังหวะของการเดินทางขึ้นเมืองปายของภาคเหนือไม่ได้
บางช่วงขณะที่กำลังเดินทางอยู่นั้นทำให้อดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมอำเภอแห่งหนึ่งของจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ถึงได้มาตั้งอยู่ห่างไกลได้เพียงนี้ แต่แล้วคำถามในใจก็มลายหายไปเมื่อเดินทางไปถึงและปรับตัวกลมกลืนเข้ากับบรรยากาศที่เล็กๆ เงียบสงบทั้งกลางวันและกลางคืนในเวลาไม่นาน ทุกสิ่งที่นั่นยังคงเรียบง่าย แต่ก็มีทุกอย่างพร้อมพรั่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าสะดวกซื้อที่เปิดไฟสว่างโร่ให้บริการ 24 ชั่วโมงบนเส้นหน้าตลาดสด ร้านกาแฟที่เปิดเป็นที่พักตรงมุมถนนกลางอำเภอซึ่งให้บริการแบบไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน คิดจะแวะไปกินขนม ของว่างหรือดื่มกาแฟตอนไหนก็ได้ทั้งนั้น
เจ้าของเกสต์เฮาส์เล็กๆ ที่ชื่อ “ไฮกุ” ซึ่งผมไปพักและเปิดร้านกาแฟชื่อ Graph Cafe (ช่างคิดที่ชื่อกราฟที่เขาตั้งนั้นมาจากความคดเคี้ยวขึ้นลงเหมือนเส้นกราฟของถนนมาสู่สังขละฯ) เขียนข้อความไว้บนโปสการ์ดที่เขาทำขายในร้านว่าสิ่งที่สังขละฯ มีก็คือ ความไม่มีอะไร (Nothing)
แต่สะพานไม้แห่งสังขละบุรีหรือที่มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า “สะพานอุตตมะนุสรณ์” และการเดินข้ามฟากเพื่อไปชมหมู่บ้านมอญ (บ้านวังกะ) ก็เพียงพอแล้วสำหรับผมจากความไม่มีอะไรของสังขละฯ ในครั้งแรกที่เราได้ทำความรู้จักกัน
สังขละบุรีเป็นอำเภอที่ติดต่อกับชายแดนพม่า ตัวอำเภอตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า “สามประสบ” คือ สถานที่ซึ่งลำน้ำ 3 สายคือ ซองกะเลีย บิคลี่ และรันตี ไหลมาบรรจบกัน เป็นที่มาของแม่น้ำแคว สะพานมอญซึ่งมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าสะพานอุตตมะนุสรณ์นั้นได้ชื่อว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยและยาวเป็นอันดับสองของโลก ด้วยความยาว 850 เมตร สถิติในระดับโลกนี้จะจริงเท็จอย่างไรผมไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่ในความคิดผมซึ่งเคยไปชมสะพานไม้อูเบ็งที่เมืองอมรปุระ มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์มาแล้ว คิดว่าสะพานมอญของเราอาจจะเป็นรองสะพานอูเบ็งแห่งนั้นก็เป็นได้
สะพานมอญที่ใช้เพียงการเดินสัญจรได้เท่านั้นสร้างขึ้นเพื่อใช้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียและเชื่อมการสัญจรจากชุมชนคนมอญที่ฝั่งหนึ่งมาถึงตัวอำเภอสังขละฯ ได้อย่างสะดวกง่ายดายและใกล้กว่าการเดินทางลัดเลาะหลายกิโลเมตรด้วยเส้นทางถนน
จากการเป็นจุดชมวิวเวิ้งน้ำทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณ์อันกว้างไกล บรรยากาศของสายน้ำอันเงียบสงบและงดงามทั้งในยามเช้าตรู่และก่อนตะวันจะลาลับ ทิวเขาทอดยาวอยู่ลิบๆ เรือนแพและวิถีชีวิตชาวบ้านริมแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ทำให้สะพานมอญแห่งนี้กลายเป็นมากกว่าสถาปัตยกรรมหรือเส้นทางสัญจรที่ผู้คนท้องถิ่นใช้เดินทางไปมาหาสู่ ทำธุระ แต่กลายเป็นจุดสนใจและจุดหมายปลายทางของใครต่อใครที่มุ่งหน้าเข้าไปถึงอำเภอชายแดนแห่งนี้ ซึ่งผมเองก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนที่ว่านั้น
ในความที่ว่าสังขละฯ เล็กๆ ไม่มีอะไรนั้นเองที่ผมได้ยินเสียงรำพันตั้งคำถามเหนือสายน้ำของตัวเองว่าเพราะอะไรหรือเหตุใดกัน สะพานเพื่อการสัญจรจึงได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทำให้คนรู้จักและดั้นด้นอยากจะมา เหตุใดกันความหมายและความสำคัญของหน้าที่เพื่อสัญจรของสะพาน (ไม้) จึงลดน้อย ถูกมองข้าม หรือหายไป...