พี่มากแม่นาคพระโขนงฉบับโพสต์โมเดิร์น

พี่มากแม่นาคพระโขนงฉบับโพสต์โมเดิร์น

'สนามวิจารณ์' เป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับการแสดงความคิดเห็น ส่งบทความของคุณมาได้ที่ [email protected]

ภาพยนตร์เรื่องพี่มาก…พระโขนง กำลังทำปรากฏการณ์ใหม่ในวงการภาพยนตร์ เรื่องรายได้นั้นผู้เขียนไม่ขอพูดเพราะเป็นเรื่องของสถิติ การตลาด จังหวะเวลา การแข่งขัน แต่จะขอพูดเรื่องเนื้อหาและการตีความเนื้อเรื่องที่เป็นองค์ประกอบสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จที่น่าสนใจ

แนวคิดหนึ่งที่พบเห็นชัดเจนในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การตีความเรื่องเล่าเดิมเสียใหม่ และการผลิตซ้ำแต่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากตำนานแม่นากในเวอร์ชั่นอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขออนุญาตจับเอาลักษณะความเป็น “หลังสมัยใหม่นิยม” (post-modernism) ในหนัง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องสนุกที่ผู้เขียนอยากคุยกับผู้อ่านมากกว่า

โพสต์โมเดิร์น คือสกุลความคิดที่ครอบงำคนรุ่นหลังยุคสมัยใหม่ (modernism) และมีอิทธิพลต่อการอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมในยุคปัจจุบัน ยุคที่อะไรก็เป็นไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังนี้

1. การตีความใหม่ - (new interpret) หนังพี่มากโดดเด่นมากเรื่องการตีความเนื้อหาเสียใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งว่าที่จริง ก็เฉพาะบางส่วนสวนที่สำคัญ เช่น ตอนจบของเรื่อง ที่หักมุมเดิม จากโศกนาฏกรรม เป็น สุขนาฏกรรม กระทั่ง การเล่าเรื่องที่เปลี่ยนจาก นาก มาเป็น มาก และผองเพื่อน

แก่นหลักของเรื่องยังคงเดิม แต่เปลี่ยนแปลงบทสรุปเสียใหม่ หรือการล้อเล่นกับกฎธรรมชาติ ความจริงบางเรื่อง ซึ่งเป็นหลักสำคัญของความเป็นโพสต์โมเดิร์น ที่ไม่เชื่อนักเรื่องความเป็นจริงตามธรรมชาติ

2. การผสมผสาน มิติทางเวลา (time-cross dimension) เรื่องนี้ ปรากฏร่องรอยของ อดีต และ ปัจจุบันอยู่ด้วยกัน (จากบทสนทนาแรกของหนัง) จากโครงเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคไทยอดีต บ้านโบราณ เมืองโบราณ คนโบราณ เสื้อผ้า หน้าผม มีสิ่งเดียวที่แตกต่าง คือ ภาษา สนทนาของตัวละครหลัก ที่ใช้ภาษาคนปัจจุบัน นั่นทำให้ มุขตลกต่างๆ เข้าถึงคนดูได้ไม่ยากนัก และทำให้หนังเรื่องนี้ “อยู่กับ(คนดู)ปัจจุบัน” มากกว่า

3. การโหยหาอดีต - (nostalgia) คือ บรรยากาศของคนรุ่นปัจจุบัน ที่มองหาอัตลักษณ์ตนในมุมมองใหม่ หนังเรื่องพี่มาก ให้บรรยากาศคนดูเมือง เหมือนเดินตลาดน้ำ ตลาดโบราณ และพร้อมที่จะเดินออกมาจากโรงเพื่อชื่นชมกับบรรยากาศห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ได้อย่างไม่เคอะเขิน การโหยหาอดีตที่สำคัญ ในเรื่อง คือ การไปดู ความเป็นไทย ที่หาดูได้ยาก ในแบบวัฒนธรรมลื่นไหล (ในแบบที่ไม่ได้ดูจากพิพิธภัณฑ์บ้านเรา ซึ่งเก่งมากเรื่องทำให้วัฒนธรรมไทย ดู “นิ่ง ตาย” เหมือนแช่แข็ง, แต่หนังพี่มากฯ ทำให้คนดูย้อนระลึกความหลังแบบลื่นไหลทางวัฒนธรรม)

พี่มากพระโขนง - คือหนังไทยย้อนยุคในยุคการตลาดโบราณ (old-tradition marketing) ที่คนกรุงเสพติดงานวัดหน้าห้าง ตลาดน้ำในเมืองธุรกิจ ของกินโบราณกลางห้างหรูกลางเมือง ม้าหมุน ชิงช้า หน้าหมู่บ้านจัดสรร ขนมสายไหม น้ำตาลปั้น ท่ามกลางร้านฟาสต์ฟู้ด

หนังฉลาด ตรงที่สร้างบรรยากาศโหยหาอดีตให้คนเมืองได้เสพ!

4. การเปลี่ยนจุดศูนย์กลางเรื่องเล่า - (story telling) ขอชมผู้เขียนบท (คุณเต๋อ?) เก่งมาก มีความคิดสร้างสรรค์ และ ความคิดเชิงวิพากษ์ เปลี่ยนจากเรื่องแม่นาก มาเป็นพี่มาก และเพิ่มตัวละครเพื่อพี่มาก ได้อย่างน่าสนใจ, การย้ายมุมมองของเรื่องเล่า เป็นเทคนิคง่ายๆ ในทางสื่อสารมวลชน (นิเทศศาสตร์) คล้ายๆ กับหนังเรื่อง Rashomon ที่ใช้สอนกันเรื่อง "มุมมองของเรื่องเล่า" (point of view) ในเรื่องเดียวกัน เมื่อเปลี่ยนมุม ก็ได้เรื่องเล่าใหม่ๆ

คาดว่า จะกลายเป็นสูตร ของการตีความเรื่องเล่าใหม่ๆ ดูแล้วนึกถึง Romeo + Juliet (1996) ของ Baz Luhrmann หรือ Shrek ตำนานยักษ์ตัวเขียวดุร้ายที่เด่นตรงเรื่องการตีความใหม่ที่เปลี่ยนจากผู้ร้ายมาเป็นผู้ดี

5. พหุวัฒนธรรม - (pluralistic cultural) มุขตลกหลายๆ มุข หรือกระทั่ง ซับไตเติ้ล (อังกฤษ) มีลักษณะ "สัมพันธบท" (intertextuality) มาก คนไทยดูตลก ฝรั่งอ่านซับแล้วขำ มีการเชื่อมโยง ตีความประวัติศาสตร์ชาติไทย หยิบเล็กหยิบน้อยมาพอขำๆ (หยิบมามากกว่านี้ไม่ได้ เสี่ยงต่อการโดนด่า) หยิกแต่พองาม

แต่จุดเด่นของหนังยังคงอยู่ คือ แก่นวัฒนธรรมในหนัง คือ ความตลก บันเทิง

กระทั่ง ลูกครึ่งไทย-ต่างชาติ มาริโอ้ กับ ใหม่ ดาวิกา ก็เป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมอีกแบบในการคัดเลือกตัวละคร ที่ดูไม่ขัดเขินมากนัก เป็นส่วนเกินส่วนแปลกที่ทำให้หนังมีเสน่ห์แบบผิดที่ผิดทาง

6. ประนีประนอม - (compromise) หนังแม่นากนั้น ตีความเรื่อง ความรักระหว่าง คนกับผี ที่อยู่ด้วยกันไม่ได้ วิปริต ผิดธรรมชาติ และการตีความเรื่องการยึดติด-ปล่อยวาง

ถ้าเป็นโพสต์ฯ นั้น คิดว่า ไม่มีอะไรนิยามได้ชัดเจน ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่มีซ้าย ไม่มีขวา ไม่มีถูกร้อย ผิดร้อย มีแต่กลางๆ เทาๆ ความถูกผิดเป็นเรื่องของค่านิยมในสังคมหนึ่งๆ แต่สามารถต่อรอง ต่อล้อ หรือ ต่อเถียงได้?

7. ทีเล่น ทีจริง - (half-seriously ; half kidding) หนังมีบรรยากาศไม่ซีเรียส แต่ไม่ไร้สาระ เรื่องเล่า มุข การดำเนินเรื่อง ไต่เส้นระหว่างสองฝั่งนี้ ระหว่างจริงจัง กับ ไร้สาระ (หนังตลกบางเรื่อง จริงจังมากๆ กับเรื่องไร้สาระ - เช่น บรรดา หอฯ หรือหนังตลก โดยตลกมาทำหนัง หรือ หนังกระเทยในบ้านเรา , ขณะที่บางเรื่อง ไร้สาระกับเรื่องจริงจัง เช่น หนังชีวิตคนเมือง ตลกชนชั้นกลาง หรือ หนัง แนววัยรุ่น ดารานักร้องบางเรื่อง ที่เน้นความรักวัยรุ่นเด็กแนว - ดูไม่สมจริง แต่ไร้สาระจนไม่อาจจะเรียกว่าหนังดี

พี่มากพระโขนง นั้น อยู่ในระดับที่ “ไต่เส้นทีเล่นทีจริง” พอดี

8. อัตลักษณ์ลื่นไหล - (dynamic identities) แนวคิดเรื่องตำนานแม่นากนั้น แต่ก่อนตัวละครแต่ละตัว มีอัตลักษณ์เดียวที่แน่ชัด พี่มาก ชายหนุ่มผู้หาญกล้า แม่นาก หญิงสาวผู้รักเดียวใจเดียว และจิตอาฆาตพยาบาท

เวอร์ชั่นนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่มีการตีความตัวละครเพิ่มใหม่ ให้พี่มาก มีนิสัย กลัวๆ กล้า บ้าๆ บอๆ หรือ แมน แอ๊บแบ๊วน่ารัก กระทั่ง ตลกฮา จนกระทั่งน่ารักแบบหวานแหวว ขณะที่แม่นากเปลี่ยนมาเป็นดุนิ่ง เงียบร้าย หวานลึก ขี้น้อยใจ และขี้เล่น พอน่ารัก

ลักษณะนิสัย ของตัวละคร เริ่มมีความหลากหลายทางอารมณ์ เป็นบุคลิกคนที่ไม่ตายตัวแบบที่ทำกันมาหลายเวอร์ชั่นที่นิ่ง แบน ราบ ตายตัว

9. ผู้ประพันธ์ “ตายไปเสียแล้ว” - (the author is dead!) ร่องรอยของโพสต์โมเดิร์น คือ การไม่เชื่อในแนวคิดการดำรง มีอยู่ของผู้ประพันธ์ (the existence of the author) แต่เชื่อในพลังการตีความอันไร้ข้อจำกัดของการตีความบท (text) แบบตามแต่ใจท่านเถิด

แม้จะรู้ว่า มีผู้เขียนบท (คุณเต๋อ) แต่คุณเต๋อก็ไม่ปรากฏอยู่ในลักษณะ ผู้ประพันธ์" (writer) แต่ปรากฏในลักษณ์ของผู้อ่าน (readers) หรือ เป็นผู้ตีความ (interpreter) เท่านั้น กระทั่งผู้กำกับ ก็ไม่ปรากฏลักษณะการครอบงำทางความคิดของผู้กำกับ (director) เป็นแต่เพียง ผู้ถ่ายทอด ผู้ส่งสาร (messenger) เท่านั้น

ข้อเด่นคือ ตำนานพี่มากเป็นเรื่องเล่าพื้นบ้าน ไม่รู้ว่าใครเล่า แต่รู้พอทำเนาว่ามีอยู่นานในทุกยุคทุกสมัย เป็นเรื่องเล่าสาธารณะที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

เราไม่รู้สึกว่า พี่มาก เป็นเรื่องของผู้ประพันธ์ใด (ไม่เหมือนกับ คู่กรรม ที่ไม่ว่าจะกระทำซ้ำกี่ครั้ง ก็ยังรู้สึกว่าเป็นของการตีความจาก ทมยันตี เท่านั้น หรือ ตำนานพระสุริโยทัย พระนเรศวรมหาราช ที่ไม่มีใครกล้าตีความใหม่) ตำนานเรื่องแม่นากนั้นอยู่ใกล้ชิดมากกว่ากับชาวบ้านชาวเรือน เป็นเรื่องเล่าของคนทั่วไป ไม่ใช่เรื่องเล่าของชนชั้น

10. ไม่มีคุณค่าให้ตัดสิน (no value judgment) แนวคิดสมัยใหม่ นั้นเน้นการให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ หลังสมัยใหม่นิยม หรือ โพสต์โมเดิร์นนั้น ไม่ได้ให้คุณค่าเช่นนั้น โพสต์โมเดิร์นจะสรุปตรงที่ว่า “เออ หนังแปลกดีนะ หรืออย่างมาก ก็แค่ สนุกดีนะ” หรือ ไม่จำเป็นต้องเอาไปเปรียบเทียบกับอะไร ไม่มีอะไรให้อ้างอิง (ยกเว้นว่า คนดูจะเอาไปเปรียบเทียบกับเวอร์ชั่นก่อนๆ ซึ่งทำกันมาตามตำนาน) เป็นกรอบอ้างอิงในการตีความเปรียบเทียบ

ลักษณะความเป็นโพสต์โมเดิร์นนี้ ผู้เขียนวิเคราะห์เอาเองตามความสนใจ ว่าที่จริง หนังยังมีไวยากรณ์อื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ผสมผสาน ระหว่างงานผลิตสร้างสรรค์ที่รวมเอาภาษาของงานโฆษณา และงานมิวสิกวิดีโอ และภาษาภาพที่เด่นในภาพยนตร์ และยังมีปัจจัยความสำเร็จที่มาจากงานสื่อสารการตลาดที่ใช้สื่อใหม่อย่างเหมาะสมลงตัว และสร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากกับคนชั้นกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คาดว่า “คนทำหนังไทย” คงต้องอาศัยคนทำหนังรุ่นใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์และการตีความแบบใหม่ๆ มาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น.

.......................................

เกี่ยวกับผู้เขียน ธาม เชื้อสถาปนศิริ ปัจจุบันทำงานประจำสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ/ไทยพีบีเอส ติดต่อเขาได้ที่
[email protected]