หน้าร้อนไปนอนป่า...เต้นก้อน

คนจีนเขาซดน้ำร้อนแม้อากาศภายนอกจะระอุ เพราะซดแล้วมันสบายตัว อาจจะเพราะเหงื่อมันออกก็ได้ วิธีการแบบนี้บางทีก็เรียกเกลือจิ้มเกลือ
คือบลั๊ฟในสิ่งนั้นๆ ให้มันมากขึ้นไปอีก ผมก็เหมือนกัน กรุงเทพอากาศร้อนจนตัวจะไหม้ ยิ่งวันไหนออกไปเดินตากแดดกลับเข้าบ้านไข้แดดพาลจะมาเยือน พอเห็นแบบนี้ก็เลยนึกถึงวิธีคนจีน ร้อนดีนัก ดังนั้นเข้าป่าซะเลยดีกว่า แล้วเลือกเอาป่าที่มันแห้งๆ ไม่มีร่มเงานี่แหละ ชื่อของ...เต้นก้อน จึงถูกเลือกมาโดยไม่ลังเล
เต้นก้อน อยู่ในลำห้วยในเขต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ฝั่งด้านปราจีนบุรี ห้วยนี้อยู่ในป่าเรียกไสน้อย พอออกมานอกเขตอุทยานเข้าสู่หมู่บ้านตะคร้อ ก็เรียกห้วยตะคร้อ ซึ่งชื่อเรียกนี้ไม่ต้องมาเถียงกันว่าอันไหนผิดหรืออันไหนถูก ให้เข้าใจว่ามันคือลำห้วยสายเดียวกันก็พอ
ถ้าท่านผู้อ่านดูรูปพรรณสัณฐานของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็จะเห็นว่าทางด้านนครนายก -ปากช่อง-ปักธงชัย จะมีภูเขาสูงชันเป็นกำแพงกั้น ถ้ามีน้ำตก น้ำตกทางด้านนี้จะสูงลิ่วอย่างน้ำตกสาริกา หรือน้ำตกโกรกอีดก แล้วพื้นที่ของป่าก็จะค่อยๆ เอียงลาดลงมาทางด้านปราจีนบุรี โดยเฉพาะทางประจันตคามหรือทางนาดี ด้านนี้จึงมีร่องรอยการบุกรุกเข้าไปทำกินสมัยก่อนเป็นอุทยานฯนับพันๆ ไร่ที่เราเห็นเป็นทุ่งหญ้าคานะใช่หมดแหละ แล้วจะมีหย่อมต้นไม้ขึ้นกลางทุ่งเป็นหย่อมๆ นั้นคือที่ตั้งบ้านอยู่อาศัย ตอนผมเพิ่งเดินป่าใหม่ๆ ขึ้นมาแถวนี้จะเห็นเศษหม้อดิน ถ้วยชาม แตกอยู่ตามหย่อมต้นไม้เหล่านี้เยอะแยะ แล้วลำห้วยที่ไหลลงทางด้านนี้ ก็จะค่อยๆ ไหลลาดลงมาเรื่อยๆ อย่างห้วยไสใหญ่ที่มีล่องแก่งหินเพิงนั้นก็ใช่ หรือจะเป็นห้วยไสน้อยที่ผมจะไปคราวนี้ก็แบบเดียวกัน
ทุ่งหญ้าที่ถูกถางทางด้านนี้ เดี๋ยวนี้เขามีการปลูกป่าเพิ่ม ผมเห็นต้นไม้ก็โตดี ยิ่งทางด้านน้ำตกเหวอีอ่ำ เขาปลูกและเอาใจใส่ดีมาก แค่สิบปีต้นไม้สูงเลยหัวเราไปหมดแล้ว แสดงว่าทางนี้เขาปลูกจริงจัง ไม่ได้ปลูกเอางบประมาณเหมือนหลายๆ ที่ที่ทำกัน
ป่านั้นถ้าตั้งใจฟื้นฟูเขาจริงๆ ป้องกันไฟป่าที่จะเข้าบ่อยๆ เดี๋ยวลูกไม้ ต้นไม้เล็กๆ มันก็กลับมาขึ้นเอง ค่อยๆ ฟื้นสภาพเอง ผมเห็นทุ่งหญ้าบนเขาใหญ่ เจ้าหน้าที่เผาทุกปี เห็นว่าเผาเพื่อให้มีหญ้าระบัดให้สัตว์ป่าได้กิน ผมก็สงสัยว่าแล้วแต่ก่อนที่ที่นี่จะเป็นอุทยานฯ ไม่มีทุ่งหญ้านั้น สัตว์ป่ามันอยู่กันยังไง นี่เป็นอุทยานฯมา 50 ปีแล้ว ทุ่งก็ยังคงเหมือนเดิม ไม่มีทีท่าว่าป่าจะฟื้นมาได้เลย นั่นเป็นเพราะเราทำมาหากินกับการท่องเที่ยวมากไปกว่าการอยากให้ป่ามันฟื้นหรือเปล่า กลัวนักท่องเที่ยวขึ้นมาแล้วไม่เห็นสัตว์ ก็แหม..รถที่พาส่องสัตว์นั้นมันรถเจ้าหน้าที่ทั้งนั้น มิน่าเล่า การดูแลป้องกันป่าจึงดูมีน้ำหนักน้อยกว่าการปรับถนน ปรับที่พักบนอุทยานฯ จนจะลืมหน้าที่ที่ควรทำไปหมดแล้ว
ธรณีสัณฐานของเขาใหญ่ด้านนี้เป็นหินทราย ป่าเต็งรังที่มีจึงมาอยู่ทางด้านนี้ จริงๆ ถ้าเราเที่ยวป่าแบบศึกษาธรรมชาติจริงๆ เราจะเห็นความสัมพันธ์แบบเกี่ยวข้องกันเลย เห็นดิน รู้ต้นไม้ เห็นต้นไม้รู้ความสมบูรณ์ของป่า ลำห้วยสายนี้จึงเป็นลำห้วยที่มีพื้นห้วยเป็นหินทราย น้ำที่ไหลมานับพันปี ก็กัดกร่อนและพัดพาหินมากองกันระเกะระกะในลำห้วยเต็มไปหมด ถ้ามันก้อนเล็กๆ ก็ไม่ว่า แต่ที่มันปรากฏคือก้อนมหึมา เวลาหน้าน้ำ น้ำก็จะท่วมจนแทบไม่เห็น แต่เวลาหน้าแล้ง หินเหล่านี้ก็จะโชว์ตัวขึ้น ใครจะไปเดินป่าที่นี่ ก็ต้องไต่ ปีน โดด ไปบนก้อนหินเหล่านี้ ดูเหมือนเราเต้นไปบนยอดหิน เขาเลยเรียกที่นี่ว่าเต้นก้อนไงละครับ
ผมว่ามันก็แปลกไปอีกแบบเพราะไม่มีลักษณะการเดินป่าแบบนี้ที่ไหน ระยะที่เป็นเต้นก้อนนี้มีหลายกิโลเมตร แต่เราเดินไปสักสองสามร้อยเมตรก็ต้องพัก เพราะมันปวดหน้าขาพิลึก ดีที่หินทรายหน้าแล้งมันไม่ลื่น ขึ้นก้อนนี้ ลงก้อนนั้น เวลาหนึ่งชั่วโมงถ้าเดินในป่าจริงเราทำระยะทางได้โขอยู่ แต่ที่นี่เดินไปสักหน่อยพาลจะเป็นลมแดดและปวดหน้าขาเอาง่ายๆ เพราะกลางลำห้วยมันร้อน ก้อนหินใหญ่ๆ พอโดนแดดจัดๆ ก็เหมือนจะอบโรตีได้เลย ตลอดระยะทางเราไม่ค่อยเห็นน้ำหรอกครับ แต่จะได้ยินมันไหลอยู่ใต้ก้อนหิน ตรงไหนที่เป็นลานโล่ง เป็นแอ่งลึก นั่นแหละเราจึงได้ลงไปเล่นน้ำที่เป็นแอ่งได้สักที วักน้ำที่ใสแจ๋วดื่มกินอย่างสบายใจ คนเดินป่านั้นก็ต้องการแค่ได้คืนสู่ธรรมชาติจริงๆ แค่นี้เอง
อันที่จริงเส้นทางเดินลำห้วยสายนี้ ถ้ามาช่วงที่น้ำยังไม่มาก (น้ำมากจะท่วม) จะเห็นแก่งน้ำ น้ำตกหลายแห่งแทบตลอดเส้นทาง ไล่มาตั้งแต่ แก่งสลัดได ลานสาวกี่ หาดตะกอง ลานหินลาด น้ำตกเหวจั๊กจั่น ลานหินตั้ง จนไปสุดที่แก่งกฤษณา น้ำไหลมาจากในป่าลึกบนเขาใหญ่ จากสายเล็กสายน้อย มารวมกันปรากฏตัวตน นับตั้งแต่ตาดหินยาวเรื่อยมา ผ่านที่ผมว่ามาทั้งหมด แล้วไปไหลออกที่บ้านตะคร้อ ที่เดี๋ยวนี้เขากักฝายไว้ในหมู่บ้านไม่ให้น้ำไหลไปเปล่า เขาไม่มาสร้างฝายสร้างเขื่อนในป่าแต่อย่างใด ถ้าแบบนี้ใครๆ เขาก็ไม่ว่า แต่ที่จะไปสร้างฝาย สร้างเขื่อนในป่า ทับป่า ทับต้นไม้ ใครๆ ก็ไม่เอาด้วย
น้ำตกเหวจั๊กจั่นนั้น ถือเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ของห้วยสายนี้ ในหน้าน้ำ น้ำไหลท่วมบ่า เห็นแต่น้ำตกสูงสัก 4 เมตรเอง แต่พอมาหน้าแล้ง หน้าผาน้ำตกสูงเป็นสิบๆ เมตร แต่แห้งผาก มีสายน้ำทะลักไหลออกมาจากรอยหินแตกกลางผาน้ำตกแค่นั้นเองที่ยังบ่งบอกว่าที่นี่คือน้ำตกจริงๆ แบกเป้ เดินป่า ป่ายปีน เหนื่อยก็นั่งพัก ร้อนก็ลงแช่น้ำ ตั้งแคมป์ริมน้ำ ช่วยกันทำอาหาร แล้วมานั่งบนลานหิน ดูดาว รับลมป่าที่พัดผ่านร่องห้วย ดูดาวบนฟ้า ฟังเสียงนกกลางคืนร้องโหยหวน นานๆ ได้ออกมาล้างหู ไม่ฟังเสียงอึกทึก ได้ออกมาสูดหายใจให้เต็มปอดกับอากาศกลางป่า มาแช่น้ำเล่น มันเป็นการหวนคืนสู่สามัญของชีวิตจริงๆ
เวลาเราไปเดินป่ากัน ก็จะแวะจ่ายกับข้าว เสบียงอาหารจากตลาดที่ผ่านซะก่อน ก็แบ่งๆ กันออกไปซื้อ ไปเดินหา แล้วซื้อมารวมๆ กัน มาถึงก็ช่วยๆ กันแบก เอาเข้าไปทำกินกันในป่า เพราะช่วงเวลาที่ทำอาหารด้วยกันถือเป็นช่วงสนุกสนานอีกเวลาหนึ่งของการเที่ยวป่า หม้อสนามไว้หุงข้าว กระทะใบเดียว ทำกับข้าวได้ทุกอย่าง
เราเลี่ยงอาหารกระป๋อง เพราะไม่อยากแบกกระป๋องกลับและไม่อยากทิ้งกระป๋องไว้ในป่า เราจึงเลือกผักสด อาหารสด เข้าไปทำกินกัน ยิ่งแค่คืนเดียวอย่างการมาเดินเต้นก้อนแบบนี้ยิ่งสบายใหญ่ ผมเป็นคนชอบทำอาหารในป่า แกง ผัด ต้ม ผมทำได้หมด มาคราวนี้ผมจนปัญญา ไม่รู้สมาชิกเราคนไหนซื้อของมาทำกับข้าว
ดันซื้อ “ผงกระหรี่” มาซะอย่างนั้น ทำอะไรไม่ถูกเลย แหม....มาหาเรื่องให้ผมถูกกระทรวง ICT ฟ้องซะแล้วไหมละ...