'สิเนหามนตาแห่งลานนา'ธรรมะ&เซ็กส์

'สิเนหามนตาแห่งลานนา'ธรรมะ&เซ็กส์

"สิเนหามนตาแห่งลานนา" นิยายแฝงธรรมะ&เซ็กส์ ฝีมือ "บัณฑูร ล่ำซำ" ที่ใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตนายแบงก์ มาเขียนนิยายรักโรแมนติก

เปิดใจ บัณฑูร ล่ำซำ ผันชีวิตนายแบงก์แต่งนิยาย ฎสิเนหามนตาแห่งลานนาฎ นิยายแฝงธรรมะที่พระอ่านไม่ได้
เป็นเวลา 1 ปีกับอีก 1 เดือนที่นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตนายแบงก์มาเขียน "สิเนหามนตาแห่งลานนา" นิยายรักโรแมนติกแถมอีโรติก ที่เขาระบุว่าเป็นเหมือนการรวบรวมอัตชีวประวัติของตัวเอง โดยใช้ฉากของเมืองน่านที่เพิ่งเข้าไปติดกับเสน่ห์เมืองเหนือแห่งนี้ได้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

"บัณฑูร" ระบุว่าส่วนหนึ่งของมนเสน่ห์ที่ตรึงเขาไว้กับเมืองนี้จนต้องพรรณาออกมาเป็นนิยายเล่มหนากว่า 600 หน้า มีที่มาที่ไปจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรดาอาจารย์ต่าง ๆ ที่ทำนายทายทักเขาไว้ว่ามีชาติภพหนึ่งที่เขาได้อยู่อาศัย ณ ดินแดนแห่งนี้ สอดคล้องกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการได้สัมผัสเมืองน่าน ทั้งสิ่งแวดล้อม บรรยากาศ แม้กระทั่งภาพวาด กลิ่นอายเหล่านี้ฉุดให้เขาหลุดเข้าไปอยู่ในเมืองลานนาโบราณ จนกระทั่งได้เข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ที่แม้จะไม่มีหลักฐานบันทึกชัดเจน แต่นั่นกลับเป็นช่องให้จินตนาการบรรเจิดเลิศล้ำให้ปลุกปล้ำหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเป็นราว ทั้งการหาข้อมูลประวัติศาสตร์ ภาษาลานนาโบราณ และเทคนิคต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการเขียนนิยายเรื่องนี้

อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าเป็นนิยายที่ผู้เขียนต้องการให้เป็นการบันทึกอัตชีวประวัติ จึงจะเห็นว่านอกจากบทรักที่เป็นตัวชูโรงและเป็นความภาคภูมิใจของผู้ประพันธ์ ชนิดที่เขาเองออกปากว่าจะต้องซี้ดกับบทอัศจรรย์จนต้องบัญญัติเองว่า"สิเนหามนตาแห่งลานนา" เป็นนิยายแฝงธรรมะที่พระอ่านไม่ได้

ตัวละครในนิยายเรื่องนี้มาจากผู้คนรอบกายบัณฑูรแทบทั้งหมด เช่นตัวละครที่ล้อไปกับชื่อของลูกๆ ทั้ง 3 คน หรือแม้กระทั่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่เขามีความเคารพนับถือและเป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อครั้งบวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ได้นำคำสอนของท่านมาใส่ไว้ในนิยายเรื่องนี้ด้วย ขอยกส่วนหนึ่งมาดังนี้ว่า

"การยกระดับจิตใจได้ทุกคนต้องพบอุปสรรค ยิ่งมีบุญวาสนาจะได้มีจิตใจสูงส่งเพียงใด ยิ่งได้รับการพิสูจน์เพียงนั้น"

เขายังแฝงตัวตนในแง่มุมนายธนาคารเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นที่มีต่อภาคการเงิน เช่น การแก้ปัญหาเมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 แล้วเขายังสอดแทรกปัญหาที่เกิดขึ้นในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ใส่ใจกับปัญหาสังคม เช่น การนำเสนอปัญหาภูเขาหัวโล้น ที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดน่าน และ หลาย ๆ จังหวัดในภาคเหนือ ที่โดนชาวบ้านและนายทุนรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อขยายแหล่งทำกิน โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด ที่กำลังมีราคาดีในตลาดโลก ทำให้ภูเขาหลายต่อหลายลูกในพื้นที่ถูกทำลาย เมื่อป่าไม้ในจังหวัดน่านถูกทำลายกระทบกับแม่น้ำน่านแหล่งน้ำสำคัญของเจ้าพระยา ปัญหานี้เกิดขึ้นจาก "ทุนนิยมสามานย์" คำที่มักจะได้ยินจากปากบัณฑูรอยู่เสมอ

ภาครัฐไม่แตะเรื่องนี้แม้แต่นิดเดียว มีแต่เรื่องโครงการแสนล้าน ก็อยากถ่ายทอดโจทย์นี้ให้ช่วยกันคิด เพราะที่นี้ยังมีเรื่องชาวบ้านติดยา ติดเอดส์อยู่ทิ้งลูกหลานไว้กับพระ ที่เราเห็นภาพการท่องเที่ยวน่านสวยหรู มองลงไปมีแต่ปัญหา ภาครัฐยังไม่สนใจ ที่นี่มีกลุ่มคนฮักน่าน แต่ก็ยังขาดความรู้เรื่องตลาดโลก ขาดอำนาจที่จะห้ามไม่ให้ทำลายป่า ทำได้แค่บวชต้นไม้ เราต้องคิดว่าจะฮักน่านยังไงให้สุขสวัสดี”

และที่ขาดไม่ได้คือ การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเขายืนยันว่า มีความเสี่ยงที่คนผ่านแล้วจะตีความไปได้ แต่ช่วงชีวิตกว่า 60 ปี รู้ว่าธรรมะผู้ปกครองต้องเป็นแบบนี้ ไม่ได้ตัดสินด้วยระบอบการปกครอง หรือโดยสีเสื้อ แต่โดยธรรม หรือความสังวรที่ผู้มีอำนาจจะมี หลักการคือ "อกาลิโก" ไม่ว่าจะเป็นใคร ทุกคนต้องมีความสังวรในอำนาจจึงจะปกครองแผ่นดินโดยธรรมได้

"ผมไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่มีวาสนาทางการเมือง แต่มีความเห็นทางการเมืองที่ชัดเจน เขียนไปเหมือนยิงปืนไปว่าเราเดินทางนี้ แต่ถ้าใครจะเดินมาเข้าทางปืนก็ช่วยไม่ได้"

เรียกได้ว่านิยายเล่มนี้ครบรสจัดจ้านแต่ไม่น้ำเน่าแน่นอน