(โปรแกรมหน้า)'หนังการเมืองไทย'

ประชาธิปไตยแบบไทยจะไปทางไหนการเมืองไทยยังคงอบอวลไปด้วยคำถาม "จุดประกาย" สำรวจพื้นที่ของการแสดงออกทางการเมืองในโรงภาพยนตร์
ในวงการภาพยนตร์สู่ภาวะฝุ่นตลบไม่น้อย กับการที่หนังว่าด้วยการเมือง ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากคณะกรรมการพิจารณาจัดเรทภาพยนตร์ ที่กังวลเรื่องความเหมาะสมกับความมั่นคง
ของชาติ แต่ในที่สุด หนังไทย ที่เป็น หนังสารคดี ที่เป็น ผลพวงจาก ภาวะการเมืองไทยยุคเหลือง แดง สองเรื่องได้แก่ ประชาธิป'ไทย (paradoxocracy) และ "ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง" (Boundary) ก็จะได้เปิดฉายในช่วงสองสัปดาห์สุดท้าย ของเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลงปกครอง ของไทย ในโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์
สถานการณ์ นี้จะเปิดโอกาสให้หนังการเมืองมากขึ้นไหม หรือเป็นแค่หนังอินดี้ได้เข้าโรงฉาย
อัญชลี ชัยวรพร นักวิชาการภาพยนตร์ไทยและผู้ก่อตั้งเวบไซต์ thaicinema.org ให้ความเห็นในเรื่องพื้นที่และโอกาสของ หนังไทยที่ว่าด้วยการเมือง
อัญชลีบอกว่า สถานการณ์นี้ สามารถมองได้ถึง ปัจจัย 2 ประการ ที่เกี่ยวกับ โรงภาพยนตร์ นั่นคือ ข้อแรกเรื่อง ศักยภาพในแง่การตลาด จากการมี "กระแสข่าว" เรื่องหนังเกือบจะถูก
แบนมาก่อน ในกรณีของ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง สารคดีสำรวจคนที่ชายแดนขัดแย้งไทย-กัมพูชา และการที่หนังสารคดี ประชาธิป'ไทย ของ เป็นเอก รัตนเรือง มีการ เลื่อนฉายเพราะเงื่อนไขการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดฉาย
"factor เรื่อง noise marketing มันจะเรียกคนได้ ทำให้โรงเห็น potential ว่าจะเรียกคน คือมีข่าวมาก่อน องค์ประกอบการเรียกร้องคนมาได้ เพราะมันมีข่าวพูดถึงหนังมาแล้ว และทางโรงก็คงเห็นว่า ถ้าผ่านเรตติ้งก็โอเค เขาก็ยินดีฉาย รวมถึงการเติมช่องว่างโรงด้วย เพราะที่เอสพลานาดก็เป็นโรงสำหรับคนที่ตั้งใจไปดูหนังจริงๆ อย่าง หนังของ เป็นเอก ก็ได้ฉายที่พารากอน ก็ โอเคนะ หนังเรื่องตัดรอบ ตัดโรง ไม่ใช่แค่ หนังการเมืองนะ หนังอย่างคู่กรรมก็คือ เรื่องรายได้ ไม่ได้ตามเป้า ทางโรงจะตัดรอบ ลดรอบเลย สามวันแรก คนน้อย จะลดรอบ เปลี่ยน ทางโรงคงคำนึงถึง บิซิเนส มาก่อน" อัญชลี ให้ความเห็น
และกล่าวถึงปัจจัยข้อสองว่า "ช่วงสองสามปีนี้ เรื่องการเมืองเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในบ้านเรา สมัยนี้สังคมยอมรับด้วย มันต่างจากยุคของยุทธนา มุกดาสนิท (สมัยที่เขาจะทำ หนังเรื่อง 2482 นักโทษประหาร -มีข่าวจะสร้างเมื่อปี 2531) และสมัย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล (14 ตุลา มหาสงครามประชาชน) ที่หนังการเมืองจะฉายได้ เหมือนจะเปิดมากขึ้น"
ในกรณีของ ประชาธิป'ไทย ของผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง ที่เริ่มเปิดโรงฉายในสุดสัปดาห์นี้ ในแบบ "จำกัดโรง" ช่วงเวลา 10 วัน ๆ ละ 2 รอบ (24 มิ.ย.ถึง 3 ก.ค.เท่านั้น) ในโรงเอสพลานาด รัชดา และโรงพารากอนซีเนเพล็กซ์ ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า การเจรจานำภาพยนตร์เข้าฉายใน โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์นั้น เป็นไปตาม เงื่อนไขปกติในธุรกิจหนัง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนหนึ่งของ "เครดิต" ผู้ทำภาพยนตร์ มีส่วน ในการเปิดโรงฉาย แม้ว่าเนื้อหาของหนังจะพูดเรื่องการเมืองโดยตรง แต่การผ่านระบบ พิจารณาจัดเรท มาแล้ว และผ่านการ "ประนีประนอม" ระหว่างผู้ทำและคณะกรรมการ พิจารณาฯ ว่า จะ เสนอเนื้อหาใดได้บ้างในฉบับ ฉายต่อสาธารณชน
โดยใน ประชาธิป'ไทย ซึ่งเป็นรูปแบบหนังสารคดีเรียงร้อยจากการสัมภาษณ์ ความคิดเห็นของนักวิชาการ นักคิด และ การเชื่อมโยงกับเรื่องเล่า เรื่องราว ฟุตเทจ และเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานบันทึกไว้ จากสมมติฐานถึงประชาธิปไตยของประเทศไทย มันคืออะไร มีที่มาอย่างไร และเนื้อหาบางส่วนในหนังได้ถูก "ดูดเสียง" และ "คาดแถบดำ บนคำบรรยายภาษาอังกฤษ" เพื่อตอบโจทย์ ไม่กระทบกระเทือนความมั่นคงของชาติ ตามเงื่อนไขของคณะกรรมการพิจารณาจัดเรทภาพยนตร์
"อันที่จริงหนังฉบับที่ฉายก็กลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงนี้อย่างที่มันเป็นจริงทั้งหมด รวมทั้งกระบวนการที่หนังมันได้ถูกเซนเซอร์ด้วย" เป็นเอก กล่าว โดยหนังสารคดีเรื่องนี้เข้าโรงฉายด้วยเรท "ทั่วไป"
(ติดตามรอบฉายของ ประชาธิป'ไทย paradoxocracy ได้ที่ http://www.majorcineplex.com/search-results/?movieId_0=894&cinemaId_0=)
ขณะที่หนังสารคดี "ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง" ที่ผ่านพ้นการถูกแบนจากคณะกรรมการจัดเรท และได้เรทหนังที่เหมาะสำหรับคนอายุ 18 ปี ขึ้นไป ที่จะเริ่มฉายวันที่ 27 มิถุนายน เป็นต้นไปในแบบ จำกัดโรง เริ่มจากเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เชียงใหม่ อีจีวี เทสโก้ โลตัส ขอนแก่น เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ อุดรธานี และเปิดฉายที่กรุงเทพฯ 18 ก.ค. เป็นต้นไป ที่ เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา
นนทวัฒน์ นำเบญจพล คนทำหนัง เผยถึง การเข้าฉายโรงมัลติเพล็กซ์ว่า "ตื่นเต้นมากๆ เพราะคราวนี้จะได้ฉาย ให้คนทั่วไปที่เป็นคนทั่วไปจริงๆ ดู ซะที และฝันมาตลอด ที่ผ่านมาฉายในเทศกาลที่เบอร์ลิน และมีฉายที่หอศิลป์ กทม. บ้าง คนดูที่สนใจดูหนังแบบเรา ซึ่งฟีดแบ็คออกมาค่อนข้างดี คราวนี้จะได้ฉายสำหรับบุคคลทั่วไปก็อยากรู้ เหมือนกันว่า คนดูจะชอบไหม (กับคำถามว่าหนังของเราจะเหมาะกับพื้นที่แบบนี้ไหม?) ที่แน่ๆ มันเหมาะจะฉายในโรงเพราะระบบ ภาพและเสียงจะสมบูรณ์แบบที่สุดเหมือน ตอนฉายที่เบอร์ลิน ซึ่งแน่นอน มันจะดู สนุกกว่าฉายตามห้องเรียน หรือ ห้องประชุม เหมือนที่ผ่านๆ มา" นนทวัฒน์ เผย
และอธิบายถึงการกระจายโรงฉายในต่างจังหวัดก่อนเข้ากรุงเทพฯ ว่า "ก็อยากฉายให้คนต่างจังหวัดดูก่อนบ้าง หนังเราก็พูดถึงประเด็นเหล่านั้น"
ภาวะกระอักกระอ่วนของการเมือง และหนังไทย
ขณะที่ฝ่ายคนทำหนัง เผยถึงเบื้องลึก การทำหนังเกี่ยวกับการเมืองว่า ต้องการสื่อสาร ความคิดเห็น และบันทึกเหตุการณ์ ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์การเมือง ผ่าน "สื่อ" ที่พวกเขาทำได้ เป็นการยืนยันว่าการมองว่า "หนังเป็นสื่อ" ที่สร้างแรงกระตุ้น ให้พูดคุยเรื่องการเมือง หรือ จุดประกายเนื้อหา ให้คนในสังคมทำความเข้าใจกับสังคมการเมืองนี้ได้ แต่ในภาพยนตร์ที่เปิดฉายในโรงภาพยนตร์นั้น มีหนังไทยน้อยเรื่องที่จะเป็น เรื่องราวการเมืองโดยตรง
อัญชลี ได้ให้ ความเห็นต่อข้อจำกัดนี้ ว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ ผู้กำกับไทยยังไม่ได้มีแรงขับจากภายในรุนแรง ในการ ที่จะเสนอเรื่องการเมือง หรือบางคนที่อยากเสนอในรูปแบบหนังบันเทิงดราม่า ก็ยังไม่สามารถจะส่งสารที่ทรงพลังต่อผู้ชมได้
และอีกข้อจำกัดที่เป็นสภาวะสังคมในปัจจุบันกระทบโดยตรงต่อ หนังไทย คือ "การเมืองของไทย ยังเป็น จุดเริ่มต้นแบ่ง แดง เหลือง และมีคนอยากอยู่ตรงกลาง เทียบแล้วน่าจะเท่ากับยุค 50's ของอเมริกา ที่คนรุ่นใหม่ ตั้งคำถามกับสถาบันที่มีอำนาจของสังคม"
กรณีของไทย เคยมีหนังสารคดีการเมือง อย่าง หนังสารคดี "ทองปาน" (2519) และ หนังกึ่งสารคดี "ประชาชนนอก" (ปี 2524 โดย มานพ อุดมเดช) ซึ่งอัญชลี มองว่า
เป็นหนังที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองระอุ และคนทำหนังถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นหนัง เป็นแรงขับจากความอัดอั้นและโมโหต่อสิ่ง ที่เป็นอยู่ ขณะที่เทียบกับยุคปัจจุบัน แม้ระบบเซนเซอร์จะเปลี่ยนเป็น ระบบจัดเรตติ้ง แต่ก็ยังไม่ได้เป็นระบบที่สมบูรณ์ในทางปฏิบัติ เนื่องจากการเมืองมีสีแดงหรือเหลือง แต่ก็มีคนที่ไม่รู้จะเลือกข้างทำไม เพราะทั้งสองฝ่ายมีข้อบกพร่อง ต่างจากการเมืองยุค 14 ตุลาฯ ที่ประชาชนสู้กับเผด็จการชัดเจน
"เราว่าคนทำหนังกระอักกระอ่วนเหมือนคนไทยหลายๆ คน เพื่อ take sideใคร จะไม่สามารถเข้าข้างใครได้เต็มที่ หนังที่ออกมา มันจึงเป็นหนังมองแบบกลางๆ เหมือนเป็น ผู้สังเกตการณ์มากกว่าจะ ผลักดันในเชิง ความคิดเห็นแบบที่ ยกตัวอย่าง โอลิเวอร์ สโตน ที่ทำหนังการเมืองเด่นๆ อย่างทำหนัง nixon เพราะเขาโกรธ ปธน.นิกซัน โกรธรัฐบาลที่ส่งเขาไปเป็นทหารเวียดนาม ตั้งแต่ Born on the Fourth of July เป็นต้นมา"
และมันก็เป็นแนวของ อเมริกันคือ นี่เป็นเรื่อง freedom of speech โดยตรงเลย (สโตน) เขาบอกว่านี่เป็น theory ของเขา ใครเห็นอย่างอื่นก็ไปทำอย่างอื่น เล่าอย่างอื่น ไม่ชอบก็ไม่ต้องเชื่อ แต่สังคมไทยก็ยังไม่เปิดไปถึงตรงนั้น กับหนังบันเทิงนะ"
"ในความ radical (ความเห็นที่แสดงชัดเจนสุดขั้ว) ไม่ใช่สิ่งเสียหาย เพราะอย่าง การทำหนังมันเป็นกลางๆ ไม่ได้ มันต้องซ้ายขวาไปเลย คนดูชอบหรือไม่ชอบไปเลย มันต้องมาจากแรงดันข้างใน จึงจะเห็นผลกระทบ กระตุ้นให้คนลุกขึ้นมาดีเบต เพราะงั้นใน หนังไทย ก็เลยคิดว่าช่วงนี้คงเป็นลักษณะ ผกก.จะมองมันแบบผู้สังเกตการณ์ ซึ่งอันที่ ความเป็นภาพยนตร์ มันซ่อนเมสเสจได้ดี สามารถบอกเมสเสจได้ดีเหมือนกัน" อัญชลีว่า
และเสริมว่า อาจต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ กว่าจะได้เห็นหนังดราม่า หนังบันเทิง เล่าเรื่อง การเมืองได้อย่างสนุกสนานและมีผู้ชมไปดู จริงจังแบบหนังฝั่งตะวันตก "อาจจะเป็นเหตุผล เรื่องหนังไทย ตกอยู่ใต้ภาวะ เซลฟ์เซ็นเซอร์ (เซ็นเซอร์ตัวเอง) มานาน จากใต้เงาของระบบเซ็นเซอร์ อย่างตอนหนัง 14 ตุลาฯ ของ คุณบัณฑิต ก็มีคนจากหน่วยงาน กอรมน. มานั่งในกองเซ็นเซอร์เลย แต่ตอนนั้นคุณบัณฑิต เขาก็อาศัยสื่อ ประกาศจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ คือเขาสู้นะ ก็ได้ผล" อัญชลี เล่าตัวอย่างในอดีต
นอกจากภาวะ กระอักกระอ่วนนี้แล้ว หนังการเมืองไทย ที่จะเป็น ชีวประวัติคนการเมือง เล่าเหตุการณ์การเมืองกระทบชีวิตโดยตรง ในรูปแบบที่ เป็นภาพยนตร์บันเทิง เพื่อฉายสู่ตลาดผู้ชม
ทั่วไปนั้น ยังเป็นผลพวง จาก ภาวะ "เซ็นเซอร์ตัวเอง" จากความ เหนื่อยล้าที่ต้องเผชิญภาวะอุปสรรค
"ถ้าหลังจากนี้มีหนัง (เกี่ยวกับการเมือง) ออกมาเรื่อยๆ ก็ดีครับ อยากให้หนังแบบนี้เป็นที่นิยม ให้ประชาชนได้พูดได้ถกเถียง กันถึงประเด็น เปิดกว้างทางความคิด เพราะ ที่ผ่านมาพอจะทำหนังแบบนี้ก็ดูจะปวดหัวแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ เซนเซอร์จะผ่านไหม มันคุ้มเหรอถ้าลงตังค์ไปแล้วไม่ได้ฉาย คนทำหนังก็เหนื่อย" ผู้กำกับ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ให้ความเห็น
ซึ่ง ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับ Insect in the Backyard ที่ถูกแบนกับ คณะกรรมการจัดเรท แม้จะไม่ใช่ประเด็น การเมือง ให้ความเห็นถึง อนาคตหนังไทย ที่เจอคดี เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคณะกรรมการจัดเรทว่า อาจจะไม่เห็นกระแสหนังการเมืองออกมาเกลื่อนตลาด หรือ มีให้เห็นบ่อยขึ้นมากนัก
เนื่องจากภาระอันหนักอึ้งที่คนทำหนังจะต้องเผชิญกับประเด็น "ความเหมาะสม" ที่ฝ่ายคนทำหนังกับฝ่ายพิจารณาจัดเรท ยังมอง "เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็น" ในมาตรฐานที่ต่างกัน