แตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์สไตล์ W

งานออกแบบสไตล์ W Hotel Bangkok "เราไม่ได้ใช้วัสดุราคาแพงที่สุดเท่าที่หาได้ แต่เราใช้ความสร้างสรรค์ในการออกแบบ"
โรงแรม คือสถานที่พักผ่อนยามที่เราเดินทางไปไกลบ้าน ขณะเดียวกันการเข้าพักโรงแรมยังหมายถึงประสบการณ์ใหม่ที่น่าสนใจไม่แพ้การเดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ และสามารถสร้างความประทับใจให้เราได้เช่นกัน หลายครั้งที่โรงแรมกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายในการเดินทาง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการออกแบบที่สร้างสรรค์
มีโรงแรมจำนวนไม่น้อยที่เป็นจุดหมายของนักเดินทาง หนึ่งในโรงแรมที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับสากลคือ โรงแรมดับเบิลยู (W Hotel) ด้วยการออกแบบที่โดดเด่นทั้งในทางสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายใน
"ดับเบิลยูถือเป็นความฝันของดีไซเนอร์เลย แบรนด์ดับเบิลยูสามารถให้คำจำกัดความเป็นศิลปะ เป็นดนตรี เป็นแฟชั่น หรือเป็นดีไซน์ มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่นะ ที่โรงแรมดับเบิลยูมันจะไม่เหมือนการไปโรงแรมดาว อื่นๆ แน่นอน" มร.สตีเฟ่น โอเดล (Stephen O'Dell) ผู้อำนวยการ บริษัท โซดา (ประเทศไทย) จำกัด (SODA (Thailand) Architecture + Interriors) ซึ่งรับผิดชอบการออกแบบตกแต่งภายในให้กับโรงแรม ดับเบิลยู กรุงเทพฯ (W Bangkok) บอก
ดับเบิลยู มีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากโรงแรมอื่นๆ ขณะเดียวกันหนึ่งในเอกลักษณ์ของดับเบิลยูคือการออกแบบที่แตกต่างกันในดับเบิลยูแต่ละแห่ง ดับเบิลยู กรุงเทพฯ ก็มีเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นกรุงเทพฯ ได้อย่างชัดเจน
"โรงแรมดับเบิลยูแต่ละแห่งก็จะมีธีมที่แตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแห่ง ที่เซนโตซ่า โซล ฮ่องกง แต่ละแห่งก็มีธีมต่างกันไป ก่อนที่จะมาเป็นดับเบิลยู กรุงเทพฯ พื้นที่นี้เคยเป็นสถานทูตรัสเซีย เป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน เพราะฉะนั้นเราต้องเข้ามาปรับปรุงบำรุงรักษาอาคารเก่า ปรับรูปลักษณ์ให้กลายเป็นความร่วมสมัย มีทั้งอาคารเก่าและใหม่ มันเป็นความแตกต่าง ขัดแย้ง (contrast) กรุงเทพฯ ก็เต็มไปด้วยความแตกต่าง ขัดแย้ง เป็นเมืองกลางวันก็ดีหรือจะเป็นเมืองกลางคืนก็ได้ มีแฟชั่นแบบไทย มีอาหารข้างถนน กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความแตกต่างกันสูง"
คุณ สุวิทย์ชา ปิยะธนาวิวัฒน์ จาก บริษัท โซดา (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า "จะเห็นคาแรคเตอร์ชัด เห็นหน้าตาโรงแรมแบบไม่ต้องเห็นป้าย W เห็นสีอย่างนี้ จะมีลูกเล่น จะมีเรื่องของแต่ละพื้นที่ อย่างที่ตรงนี้เราก็ใช้เรื่องของกรุงเทพฯ เข้ามา ไปที่สมุยก็จะเป็นดับเบิลยูแบบสมุยจะมีความเป็นสมุย ถ้าไปดูดับเบิลยูเกาหลีก็จะเป็นอารมณ์อีกแบบหนึ่งที่เห็นแล้วโรงแรมอื่นไม่ทำแน่ (หัวเราะ) "
ความเป็นเอกลักษณ์ไม่ได้หมายถึงภาพรวมของโรงแรมเท่านั้นแต่ยังหมายถึงการสร้างเอกลักษณ์ให้กับการออกแบบในแต่ละส่วนด้วย
"ห้องที่เราออกแบบเป็นห้องที่มีเอกลักษณ์ที่สุดเท่าที่เราเคยออกแบบมา และแต่ละชั้นก็มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป ชั้นล่างสุดเป็นแนวร่วมสมัยให้ความรู้สึกเหมือนบาร์หรือไนต์คลับ ส่วนชั้นสองเป็นร้านอาหารซึ่งเราต้องการที่จะสร้างบรรยากาศแบบกลางคืน เป็นส่วนตัว อบอุ่น แต่ยังคงความรู้สึกเป็นร้านอาหารหรือครัวอยู่.. ชั้นสามซึ่งเป็นห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง เป็นดีไซน์แบบทันสมัยแต่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นโรงหนัง ซึ่งมีเพดานแบบเปิดเห็นโครงสร้าง.. เป็นแนวการออกแบบให้มีความรู้สึกเหมือนเป็นโรงภาพยนตร์" มร.สตีเฟ่น บอก
"ห้องนอนก็เป็นเอกลักษณ์มาก.. ธีมของเราคือ Mystery of a glass wall ความลึกลับ น่าฉงนของผนังกระจก ห้องไม่ได้ใหญ่มากนักแค่ 42 ตารางเมตร แต่เราอยากทำให้รู้สึกกว้างกว่าปกติ เราอยากจะหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน ความน่าเบื่อ (cliche) แบบห้องน้ำแบบเปิด เราเลยใช้ไอเดียความลึกลับซ่อนเร้น 'Mystique' หรือ 'Mystery' โดยใช้ผนังกระจกโปร่งแสงมาเป็นตัวกั้นระหว่างห้องน้ำกับห้องนอน ทำให้เวลาคุณอยู่ในห้องนอนมองเข้าไปในห้องน้ำก็จะเห็นเป็นเงาคน เห็นการเคลื่อนไหว เห็นแสงเงา และในห้องนอนคุณก็จะสามารถเห็นแสงสี เห็นท้องฟ้าได้ด้วย นับเป็นห้อง standard ที่มีเอกลักษณ์ที่สุดเท่าที่เราเคยทำมา ซึ่งตรงกับธีมของเรา และห้องเรามีสามสี คือสีน้ำเงิน สีม่วง และสีทอง แต่ละชั้นก็มีสีต่างกันไปอีก ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นงานหนักมากแต่ก็สนุกมากเช่นกัน"
"ที่มาของธีมสีแต่ละชั้นคือตอนแรกไอเดียเราเริ่มจากตัว Glass plank ก่อน.. มันมีให้เลือกอยู่ 4-5 สี คือสี Amber คือสีทอง สี Magenta (ม่วงแดงเข้ม) และสี Sapphire (ไพลิน) แล้วก็เป็นสีใสและสีดำ ตอนแรกเราจะทำเป็นสีเดียวทั้งตึก สุดท้ายเปลี่ยนเอาทุกสีมาผสมกันให้เกิดความสนุกสนาน (Playful) เข้าไปแต่ละชั้น" คุณสุวิทย์ชา อธิบายเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีห้องพักในแบบ 'WOW Suite' และ 'Executive WOW'
"เรามีห้องสวีทที่ชั้นบนสุดซึ่งมีธีมที่แตกต่างกันไปอีก ห้องหนึ่งเป็นห้องที่เกือบจะเป็นห้องเซิร์ฟเวอร์ (Server Room) ซึ่งมีความต่างสูง (hi-contrast) เป็นขาว-ดำ มีห้อง executive suite ที่ใหญ่ที่สุดซึ่งใหญ่มากเหมือนกับเป็นสถานบันเทิงเลย ใหญ่ทั้งห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น แล้วก็บาร์" คุณสตีเฟ่น กล่าว
"คอนเซปต์เป็นเซิร์ฟเวอร์รูม เรื่องของลวดลาย (Pattern) วัสดุที่เราใช้ก็จะให้ดู Hi-Technology นิดหนึ่ง ตัวกระจกที่เราใช้ก็เป็นกระจกที่ข้างในมีเส้นไฟฟ้าวิ่ง.. ห้องนี้จะเป็นธีมสีดำ.. พอไปอีกห้องหนึ่งที่เป็น Executive WOW จะเป็นธีมห้องสีขาวๆ ทองๆ วัสดุพื้นผนังเป็นหินชนิดเดียว มีพรมบางส่วน มีผนัง Glass Plank เข้ามา" คุณสุวิทย์ชา เสริม
'ห้องอาหาร' เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีการออกแบบที่โดดเด่น
"จริงๆ พื้นที่ค่อนข้างเล็กเพราะเสาเยอะ แต่เราพยายามหาทางแก้ไขปัญหา เราดูว่าจะทำอย่างไรที่จะซ่อนเสาให้หมด.. วัสดุที่เราเลือกผนังเป็น Glass Wall ทั้งหมด ส่วนเคาน์เตอร์เป็น Glass plank พื้นเราเลือกใช้เป็นไม้ ที่เหลือเราก็มาดูในเรื่องของเฟอร์นิเจอร์" คุณสุวิทย์ชา กล่าว
"เราต้องออกแบบเพื่อหลบเลี่ยงเสาหรือโครงสร้างตึกซึ่งมักจะอยู่ในที่ที่เราไม่ต้องการ เราก็ต้องการที่จะทำให้มันเป็นพื้นที่กว้าง เทคนิคที่ใช้กันบ่อยๆ คือ เอากระจกหรืออะไรสะท้อนแสงหุ้มรอบๆ เสา จะทำให้รู้สึกเหมือนกับเสานั้นมันหายไปเลย แล้วก็ทำให้ห้องมันใหญ่ขึ้นด้วย" มร.สตีเฟ่น บอก "ผมว่ากุญแจสำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นร้านอาหารที่เปิดตลอดวันคือ ผมไม่ชอบห้องอาหารในโรงแรมที่รู้สึกว่างเปล่า โล่งๆ แบบที่ทุกคนมากันแน่นในตอนเช้า ส่วนตอนกลางวันและเย็นจะรู้สึกโล่งๆ เราต้องการสร้างร้านอาหารที่ให้อารมณ์เป็นบาร์ทั้งกลางวันและกลางคืน.. มันค่อนข้างยากนะในการออกแบบร้านอาหารในโรงแรม คุณจำเป็นต้องมีร้านอาหาร แต่มันยากที่จะดึงคนที่ไม่ได้พักในโรงแรมมาใช้บริการได้"
การออกแบบดับเบิลยู กรุงเทพฯ มีการนำวัสดุที่น่าสนใจหลายชนิดมาใช้
"Glass Plank เป็นวัสดุที่น่าตื่นเต้นมาก เป็นแท่งกระจกความกว้างต่อหนึ่งแผ่นประมาณ 30 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เมตร 70 เซนติเมตร พอเห็นวัสดุตัวนี้เราเกิดความสนใจว่ามันมีการสะท้อน (Reflex) มันดูหรูหรา (Luxury) และมันก็มีพื้นผิว (Texture) ที่ดูคลุมเครือนิดหนึ่ง.. จะมีด้านที่เป็นพื้นผิวอยู่ด้านเดียว ถ้าดูด้านอื่นๆ มันจะใสเป็นแก้ว (Crystal) เลย ซึ่งวัสดุตัวนี้ปกติเขาจะเอามาตัดเจียรใช้ทำโคมระย้า เราเอามาทำผนัง (หัวเราะ) " คุณสุวิทย์ชา บอก
"เรามี Venetian plaster หรือ Italian plaster เป็นเหมือนปูนฉาบ บาง มีความแข็งเท่ากับหิน ขัดเงาให้สะท้อนได้ และไม่เห็นรอยต่อ วัสดุส่วนใหญ่ที่เราใช้จะเป็น กระจกหล่อ แผ่นกระจกจากจีน ไม้สัก สแตนเลสสตีล ผ้าหลายแบบสีต่างๆ หนัง และพรมออกแบบพิเศษ หินนำเข้า.. เรื่องหนึ่งที่อยากจะกล่าวไว้คือ ที่ดับเบิลยูเราไม่ได้ใช้วัสดุราคาแพงที่สุดเท่าที่หาได้ แต่เราใช้ความสร้างสรรค์ในการออกแบบมาก เราไม่ได้ได้งบที่มากมายแต่ก็ไม่ได้น้อย เราทำออกมาด้วยความสร้างสรรค์ในงบประมาณที่จำกัดและยังได้ความรู้สึกของความเป็นโรงแรม 5 ดาวอยู่" มร.สตีเฟ่น กล่าว
การออกแบบการใช้งานวัสดุต่างๆ คุณสุวิทย์ชา อธิบายว่า "เราไม่อยากจะผสมมันเยอะ เพราะถ้าเราเลือกวัสดุเยอะเกินไปจะทำให้ตัวพื้นที่ค่อนข้างดูรก ยุ่งเหยิง บางห้องที่เป็นไปได้ว่าเราสามารถเลือกวัสดุอย่างเดียวได้ทั้งหมด เราก็จะพยายามเลือกแบบนั้น เพื่อให้มันไม่ดูมากจนเกินไป อย่างห้องน้ำเห็นได้ชัดสุดครับเพราะเราเลือกใช้วัสดุชนิดเดียว พื้น ผนัง อ่างล้างหน้า เราเลือกวัสดุเป็นหินแบบเดียวกันหมดเลย (หัวเราะ) ผมคิดว่าการเลือกวัสดุที่เรียบง่ายมันจะง่ายทั้งในเชิงดีไซน์ที่จะดูมีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น ดูเรียบมากขึ้น"
มีรายละเอียดอีกมากมายในการออกแบบเพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่าง แต่บทสรุปในการสร้างสรรค์งานออกแบบให้กับดับเบิลยู กรุงเทพฯ คุณสตีเฟ่น บอกว่า
"โรงแรมน่าสนใจในด้านการออกแบบ มันเป็นที่อยู่อาศัย มีร้านอาหาร เป็นสถานที่พบปะ เป็นที่ซึ่งคนไปๆ มาๆ และเป็นที่สำหรับนอนหลับ ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับโครงการนี้คือ การใช้วัสดุที่สร้างสรรค์และเป็นนวัตกรรม เรามีโอกาสสร้างงานออกแบบได้มาก เราสามารถที่จะทดลองไอเดียใหม่ๆ ทดลองวัสดุใหม่ๆ ในโครงการนี้เรามีโอกาสใช้วัสดุที่เราไม่เคยใช้มาก่อนเลย.. เราได้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์เฉพาะที่เข้ากับธีม Bejewelled Mystique ด้วย ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้เราสามารถออกแบบงานที่ทันสมัยและยังมีกลิ่นอายของความเก่าด้วย ซึ่งสำคัญมากสำหรับโครงการนี้ การใช้ hi-contrast การใช้เฟอร์นิเจอร์ การใช้แสงสี ซึ่งเราใช้สีม่วง สีน้ำเงิน หรือแดงได้มาก ในขณะที่เราไม่ค่อยจะได้ใช้สีพวกนี้ในการออกแบบโรงแรมอื่นๆ มันสนุกมาก บอกตรงๆ และมันก็เป็นงานหนักมากด้วย ซึ่งมันก็ทำให้ทีมงานเรากระตือรือร้นสนใจอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าแทบทุกสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งใหม่
ผมคิดว่าการออกแบบโรงแรมนี้ทำให้เรามีโอกาสใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้มากที่สุด ไม่ได้เอนเอียงมาทางโรงแรมนี้นะ แต่ผมคิดว่าดับเบิลยูที่นี่น่าจะเป็นโรงแรมที่มีเอกลักษณ์ที่สุดที่หนึ่ง ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ในโลกเลยทีเดียว"
หมายเหตุ : ชมภาพมากกว่านี้ได้ที่ fan page เซ็คชั่น 'กรุงเทพวันอาทิตย์ กรุงเทพธุรกิจ' คลิก http://www.facebook.com/sundaybkk