สงบงามในอ้อมกอดหิมาลัย

ครั้งหนึ่ง มนาลี(Manali) ได้รับการกล่าวขานจากนักสำรวจชาวตะวันตก ในศตวรรษที่ 19 ว่า นี่คือสวรรค์อันแสนสงบ
หรือดินแดนแชงกรีล่าที่มนุษย์กำลังค้นหากันแน่?” มาถึงค.ศ.นี้ มนาลีขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนของฮิปปี้พี้กัญชา กับอีกสมญา “เมืองแห่งการฮันนีมูน”
เมืองมนาลี ตั้งอยู่ในหุบเขาคุลลูน (Kullu Valley) รัฐหิมาจัลประเทศ ทางด้านเหนือของประเทศอินเดีย หิมาจัลประเทศ ชื่อตรงตัวว่า ประเทศที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ ตัวเมืองมนาลีถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ย่าน New Manali และ Old Manali
ส่วนที่เป็นเมืองใหม่ เป็นที่ตั้งของท่ารถ ร้านอาหาร และตลาดการค้าใจกลางเมือง ทั้งสองส่วนถูกแบ่งด้วยแนวป่าสนขนานกับเส้นทางแคบๆ ที่ร่มรื่น เดินสบายๆ ในระยะทาง 3 กิโลเมตรจะถึงย่านเมืองเก่า บริเวณนี้เต็มไปด้วยเกสต์เฮ้าส์เคียงคู่อยู่กับสวนแอปเปิ้ล ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบแสนสบาย
ท่ารถในเมืองมนาลียามเช้าตรู่สดชื่นและดูมีชีวิตชีวา ควันขาวๆ และไออุ่นๆ ที่พวยพุ่งมาจากกาต้มชาที่ร้านชาเล็กๆ บริเวณท่ารถผสานกับอากาศเย็นๆ ยามนี้ เชิญชวนให้ฉันแวะดื่มชาสักถ้วยก่อนที่จะมองหาออโต้ริกชอร์สักคันเพื่อไปส่งยังสวนแอปเปิ้ลในย่านเมืองเก่า
ออโต้ริกชอร์พาฉันลัดเลาะไปตามเส้นทางสายเล็กๆ ลมพัดโกรกใบหน้าและแล้วเม็ดฝนก็กระเซ็นเข้ามา เมื่อรถขับข้ามสะพานเหล็ก ด้านล่างคือแม่น้ำเบียส(Beas) ลำธารน้ำใสที่ไหลมาจากเขาสูงด้านบน กำลังขับขานท่วงทำนองดั่งดนตรีในพงไพร ผสานกับเสียงต้นสนซีดาร์ที่กำลังสั่นไหวตามแรงลม
เช้านี้ฉันรู้สึกสดชื่นกะปรี้กะเปร่ากว่าปกติ หรือว่าสายลมและสายน้ำกำลังร่ายมนตร์ คนมาก่อนอาจบอกว่ามนาลีพลุกพล่าน แต่ฉันว่ามุมเล็กๆ แสนสงบยังคงหาได้อยู่ ถ้าเราปรารถนาสิ่งนั้น
วันนี้ไม่อยากทำอะไรมากไปกว่าการนั่งชมวิวของสวนแอปเปิ้ลรอบตัว เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งสวนแอปเปิ้ล รวมทั้งพีช พลัม และลูกแพร์ จนได้รับสมญาว่า “แอปเปิ้ล สเตท” ทุกวันนี้ถือว่าเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับผู้คนส่วนใหญ่ที่อยู่อาศัยที่นี่
แต่เดิมผลไม้ชนิดนี้ไม่ใช่ผลไม้ดั้งเดิมของแถบนี้ แต่หลังจากอินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เจ้าอาณานิคมจึงได้นำแอปเปิ้ลเข้ามาขยายพันธุ์ โดยให้คนพื้นเมืองในแถบหิมาจัลเป็นผู้ปลูกไว้รับรองเวลาที่มาพักผ่อนตากอากาศ มนาลีจึงเป็นเต็มไปด้วยสวนแอปเปิ้ลมากมาย
หากได้ออกไปท่องในแถบหมู่บ้านชนบทนอกเมือง จะเห็นกระสอบบรรจุแอปเปิ้ลที่เก็บแล้ว วางกองอยู่บริเวณใต้ถุนบ้าน หรือตามริมถนนเพื่อรอส่งขาย ชาวบ้านใจดีหยิบแอปเปิ้ลให้ชิม เมื่อได้ลิ้มรสแล้วปรากฏว่ารสชาติหวานกรอบอร่อยทีเดียว
ที่นี่ยังเป็นที่รู้จักกันในนามของ "Valley of the Gods" เพราะเป็นที่ตั้งของวิหารฮาดิมบา หรือ Hadimba Devi อยู่ห่างจากตัวเมืองไปเพียง 3 กิโลเมตร ฉันเลือกการออกแรงปีนป่ายบันไดปูนลัดเลาะไปตามป่าสนซีดาร์ แทนที่จะอาศัยความไวของออโต้ริกชอร์ ทำให้ได้สัมผัสกับความเย็นท่ามกลางแมกไม้เขียวครึ้ม ไม่เกิน 30 นาที ภาพของวิหารเก่าแก่โครงหลังคา 4 ชั้นตั้งโดดเด่นอยู่ด้านบน แต่มากกว่าความงามของสถาปัตยกรรมคือความสงบเย็นของจิตใจที่ได้ค้นพบระหว่างทาง
วัดฮาดิมบา หรือ Hadimba Temple แวดล้อมไปด้วยป่าสนซีดาร์อันร่มรื่น คนท้องถิ่นเรียกว่า Dhungri Var Vihar สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1553 Hadimba คือเทพในมหากาพย์อินเดียเรื่องยิ่งใหญ่ มหาภารตะ “ฮาดิมบาเทวี” คือชายาของ “ท้าวภีมะ” ต้นตระกูลปาณฑพนั่นเอง
วิหารหลังนี้ สร้างขึ้นจากไม้ หิน และดิน โดดเด่นด้วยหลังคาทรงเจดีย์ซ้อนกัน 4 ชั้น ตัวอาคารตั้งสูงจากพื้น 24 เมตร ตามผนังด้านนอกทั้ง 4 ทิศของวัดจะมีภาพแกะสลักเป็นเรื่องราว ตำนาน และสัญลักษณ์ต่างๆ เกี่ยวกับศาสนาฮินดู ที่สะดุดตาโดดเด่นอีกแห่งคือบริเวณด้านหน้าประตูทางเข้า มีการประดับแขวนด้วยเขาสัตว์อย่าง แพะภูเขา เสมือนว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวในตำนาน
บ่ายคล้อยแบบนี้ชาวฮินดูซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างแวะเวียนมาสักการะวิหารเก่าแก่หนาตา ฉันเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แต่กลับนั่งที่นั่นได้นานเกือบ 2 ชั่วโมง ก่อนที่แสงสุดท้ายของวันจะมาสั่งลา ฉันเดินกลับไปตามเส้นทางเดิม ไม่ลืมแวะทักแม่ค้าข้าวโพดปิ้งตีนบันได เพราะเธอนั่งอยู่ตรงนั้นจึงทำให้ฉันวางใจกล้าเดินไปตามเส้นทางที่ซับซ้อนวกวน...หลังจากวันนั้นเหมือนมีบางอย่างมาเตือนว่า ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าจินตนาการของเราเอง
วันถัดไปฉันเลือกไปเยือนวิหารของมนูมหาฤษี (Manu Maharishi) ซึ่งอยู่ในเขตเมืองเก่าบรรยากาศบริเวณนี้ไม่ต่างจากการเดินย้อนรอยไปสู่ยุคโบราณในแคว้นหิมาจัล ผู้คนชาย-หญิงในหมู่บ้านยังคงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าในแบบพื้นถิ่น ฉันไม่กล้าแม้กระทั่งยกกล้องถ่ายภาพ เพราะดูพวกเขาไม่คุ้นนักกับสิ่งแปลกปลอม
นอกจากเส้นทางเดินที่คลาสิกแล้ว บ้านเรือนในย่านนี้ยังให้บรรยากาศของความดิบในแบบบ้านๆ บ้านส่วนใหญ่ปลูกสร้างด้วยโครงไม้ ก่ออิฐดินขนาดสูงสองชั้น บางหลังวาดลวดลายขอบประตู หน้าต่างด้วยสีทองมองดูงามตา เมื่อมองเข้าไปในบริเวณบ้านแต่ละหลังรู้ได้เลยว่าพวกเขามีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์
ความสำคัญของวัดนี้ เกิดมาจากตำนานของชาวฮินดูที่กล่าวว่า พระมนู เป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้สร้างมนุษยชาติ เมื่อมนุษย์โลกมีความเสื่อมจะเกิดไฟไหม้ น้ำท่วมล้างโลก จากนั้นได้มีพระมนูเป็นต้นกำเนิดของมนุษย์อีกครั้ง วัดแห่งนี้คือสถานที่ที่พระมนูมานั่งสมาธิบำเพ็ญคุณธรรมความดี
ท่านได้สร้างเรือขึ้นมาแล้วนำเรือนั้นมาจอดที่ยอดเขาสูงในเขตป่าหิมพานต์นี้ แล้วสร้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ขึ้นมาใหม่ สถานที่แห่งนี้คือ มนาลี ซึ่งแปลตรงตัวว่าที่อยู่ของพระมนู ดังนั้นมนุษย์ทุกคนตามตำนานของชาวฮินดูจึงสืบเชื้อสายมาจากพระมนูนั่นเอง
ถัดจากวัดมนูจะเป็นเส้นทางเดินป่าในแถบหิมาจัลที่เต็มไปด้วยธรรมชาติที่สวยงามน่าหลงใหลของหุบเขาแห่งนี้ หลังจากเพลิดเพลินกับการดื่มด่ำความงามของทิวทัศน์ที่โอบล้อมไปด้วยหุบเขาสูง ผ่านการรังสรรค์ของธรรมชาติแล้ว ค่ำวันนั้นฉันมีนัดดื่มชาและสั่งลากับผองเพื่อนในเมืองมนาลี กับคำสัญญาว่า
จะกลับมาพร้อมกับหิมะสีขาวในฤดูหนาวถัดไป...