มหัศจรรย์ช้างสุรินทร์

มหัศจรรย์ช้างสุรินทร์

มีสัตว์ไม่กี่ชนิดที่คนเราให้การยกย่องนับถือว่ามีบุญคุณต่อแผ่นดิน สำหรับแผ่นดินสยาม 'ช้าง' คือสัญลักษณ์แห่งเอกราชของชนชาติไทย

สัตว์ขนาดมหึมาชนิดนี้ จัดเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติที่มีความสำคัญผูกพันกับประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน ล่วงมาจนถึงปัจจุบันบทบาทของช้างไทยเปลี่ยนไป ดูเหมือนว่าช้างถูกหลงลืมและขาดการดูแลเอาใจใส่จากสังคม เราไม่เพียงแต่เพิกเฉย ซ้ำร้ายยังปล่อยให้ช้างเป็นเพียงสัตว์ที่เดินเร่ร่อนหากินข้างถนน

แต่วันนี้คนไทยหลายกลุ่มได้ลุกขึ้นมาดูแลช้างรวมถึงอนุรักษ์วิถีของคนกับช้างอย่างจริงจังมากขึ้น จนปัจจุบันช้างกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการท่องเที่ยวที่นำเม็ดเงินต่างประเทศเข้ามาจำนวนมหาศาล มีชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อดูวิถีชีวิตคนกับช้างในประเทศไทยจำนวนมากในแต่ละปี ที่สุดก็เกิดการจัดงานแสดงของช้างประจำปีขึ้นมาในหลายพื้นที่ของประเทศไทย แต่ที่โดดเด่นและโด่งดังที่สุดเห็นจะเป็นงานช้างที่จังหวัดสุรินทร์

งานช้างสุรินทร์ มีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มชาวพื้นเมืองที่เรียกว่า "ส่วย" ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้างป่ามาฝึกฝนให้ทำงานต่างๆ ว่ากันว่าชาวส่วยอพยพมาจากเมืองอัตขันแสนแป แขวงจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นชนเผ่าที่เลี้ยงช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชาวส่วยกลุ่มนี้ได้อพยพมาตั้งรกรากที่หมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ โดยได้นำเอาขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมตามบรรพบุรุษติดตัวมาด้วย นั่นคือ มีการออกป่าไปจับช้างป่าในฝั่งประเทศกัมพูชามาฝึกฝนเพื่อนำไปลากไม้ในป่า จนเมื่อปี 2502 ไทยได้เกิดข้อพิพาทกับกัมพูชา ชาวส่วยจึงไม่สามารถเข้าไปจับช้างได้อีก นับแต่นั้นมา ชาวส่วยจึงหันมาเลี้ยงช้างเพื่อการใช้งานในบ้าน ฝึกสอนให้แสดงท่าทางต่างๆ เพื่อจะนำช้างออกไปแสดงแทนการทำงานในป่าและการฝึกช้างเพื่อขายเพียงอย่างเดียว

ในปี 2498 ได้มีการรวมช้างทั้งหมดในจังหวัดในจังหวัดสุรินทร์ขึ้นเป็นครั้งแรก จำนวนประมาณ 200 เชือก ที่อำเภอท่าตูม โดยนายอำเภอท่าตูมคือ วินัย สุวรรณกาศ เป็นผู้จัดขึ้น ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจมาก นายอำเภอจึงดำริจัดงานช้างขึ้นครั้งแรก ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 เป็นการฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ โดยจัดบริเวณสนามบินเก่าอำเภอท่าตูม (ปัจจุบันคือที่ตั้งโรงเรียนประชาเสริมวิทย์) การจัดงานครั้งนั้นมีรายการแสดง การเดินขบวนแห่ช้าง การคล้องช้าง การแข่งขันช้างวิ่งเร็ว และยังมีการแสดงรื่นเริงอื่นๆ ประกอบอีกด้วย เช่น มีการแข่งเรือ แข่งขันกีฬาอำเภอ งานครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะได้มีการแพร่ภาพทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศให้การตอบรับกันอย่างล้นหลาม

หลังจากน้ันองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(หรือ อ.ส.ท. แต่ปัจจุบันคือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ททท.) จึงเสนอกระทรวงมหาดไทยให้การสนับสนุนจัดการแสดงเกี่ยวกับช้างของจังหวัดสุรินทร์เป็นงานประเพณีและเป็นงานประจำปี โดยวางแผนประชาสัมพันธ์ทั้งใน และนอกประเทศ งานนี้ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น อ.ส.ท. จึงได้ร่วมมือกับจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่มาฝึกช้าง กำหนดรูปแบบเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยจัดงานเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 เป็นปีที่ 2 จัดที่ อำเภอท่าตูม เช่นเดิม งานช้างปีที่ 2 ประสบความสำเร็จด้วยดี ยืนยันได้จากมีชาวต่างชาติให้ความสนใจมากขึ้นถึงขนาดได้ลงข่าวใน หนังสือพิมพ์เซ่นซีลอนอ๊อฟเซิฟเวอร์ ของศรีลังกา ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2505

การแสดงของช้างในปีต่อๆ มา ได้ปรับปรุงรูปแบบให้สวยงาม น่าตื่นเต้นมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในรายการแสดงของช้าง ประกอบด้วยรายการต่างๆ ได้แก่ ขบวนช้างพาเหรด ช้างปฏิบัติตามคำสั่ง ช้างแสนรู้ ช้างวิ่งเร็ว ช้างวิ่งข้ามคน ช้างเตะฟุตบอล และขบวนช้างศึก เรียกว่าเมื่อได้เริ่มจัดงานขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2503 แล้ว ก็มีการจัดต่อเนื่องมาทุกปี ทำให้คนทั้งในและต่างประเทศรู้จักจังหวัดสุรินทร์เป็นอย่างดีว่ามีช้างที่แสนรู้มากที่สุด ต่อมาเมื่อการแสดงช้างเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ทางคณะกรรมการเห็นว่าควรย้ายสถานที่แสดงจากอำเภอท่าตูมมายังสถานที่ที่สะดวกและเหมาะสม จึงได้มาจัดการแสดงที่สนามกีฬาจังหวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2505 สมัยนายคำรณ สังขกร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้น ซึ่งปีปัจจุบันในปี 2556 นี้นับเป็นการจัดงานมหัศจรรย์งานช้าง เป็นครั้งที่ 53

โดยจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไทย (ททท.) กำหนดจัดงาน “มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์” ประจำปี 2556 ขึ้นในระหว่างวันที่ 8-19 พฤศจิกายน 2556 ณ บริเวณสนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ และร่วมอนุรักษ์วิถีชีวิต คนกับช้างจังหวัดสุรินทร์ให้คงอยู่สืบไป

ชาวสุรินทร์พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่จะเดินทางมาเที่ยวในช่วงงาน "มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ปี 2556" ด้วยกิจกรรมการท่องเที่ยวอันหลากหลาย อาทิ ขบวนแห่รถตกแต่งด้วยอาหารช้าง ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้นานานาชนิด ที่ถูกจัดและตกแต่งให้เป็นอาหารช้างที่สวยงาม ขบวนจะเริ่มแห่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง นักท่องเที่ยวจะได้ชมขบวนแห่ช้างเข้าเมืองที่ช้างนับร้อยเชือกจะเดินไปตามท้องถนน (ถนนธนสาร) ผ่านใจกลางเมืองสุรินทร์ไปยังสถานที่เลี้ยงต้อนรับช้าง

ต่อด้วยงานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยกินเนสบุ๊ค เวิลด์ เรคคอร์ด ได้บันทึกไว้ว่าเป็น “บุฟเฟ่ต์อาหารช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก” นักท่องเที่ยวจะได้เพลินเพลินและสุขใจกับการป้อนอาหารช้างอย่างจุใจทั้งคนทั้งช้าง ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง และยังได้ชมการแสดงช้างสุรินทร์อันยิ่งใหญ่อลังการที่สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จุดนี้จะได้เห็นความสามารถและความน่ารักของช้างไทย พร้อมร่วมกิจกรรมไฮไลท์ที่ผู้เข้าชมตั้งตารอ นั่นคือ กิจกรรมชักกะเย่อระหว่างคนกับช้าง ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมทุกท่านสามารถร่วมทดสอบพลังกับช้างไทยได้อย่างเต็มอิ่มและประทับใจกับประสบการณ์ในครั้งนี้

นอกจากนี้ จังหวัดสุรินทร์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอันน่าสนใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าชมได้ตลอดทั้งช่วงงานกิจกรรมอันได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ ชมและศึกษาถึงรากเหง้าของจังหวัดสุรินทร์ ทั้งด้านภูมิศาสตร์ ธรรมชาติ ชาติพันธุ์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์เมืองแบบ 360 องศา ผ่านสื่อจำลองที่ทันสมัยที่สุดในอีสานใต้ ต่อด้วยหมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง ชมศิลปะการถักทอเส้นไหม สลับซ้อนดิ้นทองผสมผสานลายราชสำนักโบราณอันอ่อนช้อย วิจิตรงดงาม ร่วมสัมผัสกระบวนการทอผ้าไหมอันน่าตื่นตาตื่นใจ พร้อมเรียนรู้ภูมิปัญญาการย้อมสีจากธรรมชาติให้ติดแน่นทนนาน

ทั้งยังมี วนอุทยานพนมสวาย ไปสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 9 แห่งได้แก่ พระพุทธสุรินทรมงคล, รอยพระพุทธบาทจำลอง, อัฐิหลวงปู่ดุลย์ อตุโล, พระพุทธรูปองค์ดำ, อัฐิหลวงปู่สวน (พระครูพนม ศิลาคุณ), ปราสาทหินพนมสวาย, เจ้าแม่กวนอิม, เต่าหินศักดิ์สิทธิ์ และสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พร้อมร่วมเคาะระฆังศักดิ์สิทธิ์ 1,080 ใบ เพื่อให้ชื่อเสียงขจรไกลเหมือนระฆัง ถัดมาคือกลุ่มปราสาทตาเมือน เป็นกลุ่มโบราณสถานปราสาทหินสามหลังสามแบบในศาสนาฮินดูไศวนิกาย ที่เป็นจุดพักของนักเดินทางในครั้งอดีตตามแนวบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา

และปิดท้ายด้วยหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ชมวิถีชีวิตของคนเลี้ยงช้าง พบกับความน่ารักและแสนรู้ของโขลงช้างกว่า 300 เชือก หากสนใจเดินทางมาร่วมงานสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ โทร 0 4451 0239, 0 4452 1358 หรือ www.surin.go.th , อบจ.สุรินทร์ โทร 0 4451 1975 หรือ www.surinpao.org , เทศบาลตำบลระแงง โทร 0 4456 1243, ททท. สำนักงานสุรินทร์ โทร 0 44 51 4447 - 8 หรือ tatsurin@tat.or.th และ http://www.tourismthailand.org/surin www.facebook.com/TATSurinOffice

ทั้งหมดนี้คืองานระดับช้างที่นักเดินทางทั่วโลกไม่ยอมพลาด แล้วคุณล่ะ.. พร้อมที่จะหลงรักช้างเมืองสุรินทร์หรือยัง