รอยอินทร์ : เสน่ห์ไม้เก่า ฝีมือช่าง และศิลปะ

ความโดดเด่นคือการใช้ 'ไม้เก่า' ซึ่งมีเสน่ห์และความงามของร่องรอยการใช้งานที่ผ่านกาลเวลา ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวใหม่ในรูปของเฟอร์นิเจอร์
มีวัสดุมากมายบนโลกใบนี้ที่นักออกแบบหยิบจับมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน วัสดุบางชนิดมาจากธรรมชาติ วัสดุบางอย่างเกิดจากการสังเคราะห์ และหลายครั้งที่เราได้เห็นผลงานออกแบบที่มาจากวัสดุเก่าหรือเหลือใช้ที่อาจดูไร้ค่าในสายตาของใครหลายคนแต่กลับเป็นผลงานที่ดูมีคุณค่าด้วยพลังสร้างสรรค์ของนักออกแบบเช่นเดียวกับผลงานของคุณ นิศานาถ เจริญไทยทวี และ รอยอินทร์ (ROI-IN)
" ..งานหลักคือเป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ มันก็เป็นธุรกิจที่ดีแต่ว่ามันไม่อิ่ม พองานมันเริ่มอยู่ตัวเราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ.. ทำไมเราไม่ได้ทำอะไรที่เป็นตัวของเราเองและเราอยากทำ ประกอบกับเรามักจะไม่ซื้อเฟอร์นิเจอร์ เรามักจะออกแบบให้ลูกค้า บางทีเราดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ เราชอบนะ แต่พอทำเสร็จเราก็ไม่ได้เห็นมันแล้ว บางอันเราก็รู้สึกว่ามันดีเกินกว่าที่จะมีหนึ่งตัว เราอยากจะทำขาย พอมีโอกาสเข้าไปในบรรยากาศของงาน BIG+BIH อะไรอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่ามันไม่ยากที่เราจะทำแบรนด์ขึ้นมา.. " คุณนิศานาถ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของรอยอินทร์
ความโดดเด่นที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของรอยอินทร์คือการใช้วัสดุอย่าง 'ไม้เก่า'
" ..คือรักไม้ เสียดายไม้ ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้มะค่า ตัดไม่ลง (หัวเราะ) คือทนเห็นมันเอามากลึงแล้วไม้ที่เหลือเป็นขี้เลื่อยไป ทนไม่ได้ คือถ้าหากว่าไปซื้อมาแล้วอย่างนี้โอเคแต่ถ้าไปตัดมาเฉือนนี่ทนไม่ได้ เสียดาย ข้อสองคือใช้ไม้เก่าเพราะชอบรอยมัน ชอบพื้นผิว (Texture) แล้วเรามีปัญหาช่างอาจจะไม่เนี้ยบ คนส่งอาจจะไม่เนี้ยบ คือเราไม่ได้เป็นธุรกิจซึ่งแข็งแรงครบวงจร เราก็อาศัยคนขับรถเรา ช่างเรา ช่วยๆ กัน คือคนหนึ่งมีหลายหน้าที่ เพราะฉะนั้น หนึ่งมันต้องมีปัญหาการจัดเก็บ มันต้องถลอกปอกเปิก เราไม่ได้มีที่จัดเก็บที่ดี การบรรจุของที่ดี ถ้าทำให้มันเก่ามันถลอกแต่แรกแล้ว มันไม่เป็นไร"
การทำงานกับ 'ไม้เก่า' ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณนิศานาถ เล่าว่า
"เขาจะมีที่ขายไม้เก่าอย่างนี้ตามอยุธยา ปทุมธานี เป็นไม้ที่คนเขารื้อบ้านมา เราก็ไปเลือกซื้อ แต่มันยากนะ บางคนบอกว่าทำไมของเราแพง คุณต้องมาดูตั้งแต่ตอนไปเลือกซื้อไม้ให้ได้ขนาดกับแบบ ถ้าเป็นไม้ใหม่นี่ดีอย่างหนึ่ง คุณซื้อไม้มาสองเมตรสิบตัว สิบเมตรยี่สิบตัว มันก็มาเลย ไม้เก่านี่เราต้องทำแบบ ช่างต้องมาคำนวณ ต้องไปหาเสาหน้าสี่ เสาหน้าสอง เสาหน้าหก คือต้องซื้อให้ได้ขนาด ยิ่งหน้าเล็กมันก็ยิ่งถูก เราก็จะซื้อให้ได้ขนาดตามที่เราต้องการยาก บางทีก็ต้องมีการถอนตะปู บางทีไม้มีตะปูฝังอยู่เลื่อยไปปุ๊บ เสีย เจ๊ง บางทีซื้อมาเต็มแผ่นไม่ได้ใช้ทั้งแผ่นเพราะว่ามันจะบิ่นมันจะแตก แต่ว่าพอเวลาประกอบกันแล้วมันจะสวย ไม้เก่าบางทีคนก็ถามว่าไม้อะไร เราบอกว่าตอบไม่ได้ แต่ไม้ไทยไม้โบราณมันจะแข็งหนักและทน จะมีเต็ง แดง ประดู่ กระบาก อะไรแบบนี้ พอมันมาเป็นมอมๆ ดูไม่ค่อยออกหรอกว่าเป็นสีอะไร รู้ว่าเป็นสีอะไรก็ต่อเมื่อมันไสแล้ว.. ความเป็นไม้มันจะมีสีต่างกันโดยธรรมชาติ ซึ่งเราชอบอย่างนี้ ก็บอกว่าไม่ต้องไปทำอะไรกับมันนะ นี่คือเสน่ห์ของไม้เก่า สีมันต่างกันเอง ..พอมาประกอบเป็นตัวเฟอร์นิเจอร์ปุ๊บมันก็จะสวยตรงที่ว่าในตัวหนึ่งบางทีมันจะมีหลายสีในตัวมัน"
รอยอินทร์เปิดตัวเมื่อหลายปีก่อนด้วยงานเฟอร์นิเจอร์ ผลงานชิ้นเด่นของรอยอินทร์คือ Twin Sofa
" ..เราไม่ให้ดีไซน์หวือหวามาก ให้มันดูเป็นเรียบง่าย (Simple) แต่ธรรมดามากจนไม่น่าสนใจก็อันตราย บางทีพอตัดทอนๆ ไป ไม่ได้ๆ ต้องเปลี่ยน เรียกว่าธรรมดาแต่ว่าต้องดูยากอยู่.. โซฟานี่เรียบง่ายแต่ซับซ้อน คือมันต้องเข้าไม้ ไม้จะโค้งต้องเป็นเดือยที่ต่ออย่างไรให้พิงไปแล้วน้ำหนักตรงโค้งรับน้ำหนักได้.. ไม้เก่าไม้ไทยมันหนักมาเลื่อยมาอะไรอย่างนี้เครื่องมือพังหมด มาลบมุม เอาไม้เหลี่ยมๆ มาทำให้เป็นโค้งๆ มนๆ .. "
ความเรียบง่ายที่ซับซ้อนไม่ได้มากจากการออกแบบที่ดีเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัย ฝีมือของช่างไม้ อีกด้วย
" ..อายุขัยของรอยอินทร์ก็เท่าอายุขัยของช่าง (หัวเราะ) เพราะว่ามันไม่มีคนทำแล้ว มันทำยาก เราต้องให้เครดิตช่าง ..ช่างเราก็เหมือนเรา ทำงานเสร็จเขาจะ โอ้โห.. สวยจังเลย รัก เนื้อยเหนื่อยแต่ทำแล้วก็รักชอบเหมือนกัน ..เราเคยลองไปให้ช่างข้างนอกทำ ไม่รอด คือเขาจะเอาปืนมายิงๆๆ ไม่ได้ของเราต้องใส่เดือยต้องขันน๊อตต้องอะไร ทีละส่วน สุดท้ายเขาก็บอกว่าไม่รับเพราะมันยาก ยากตั้งแต่เอาแบบเราไปแล้วเขาต้องไปซื้อไม้" คุณนิศานาถ บอก
จากเฟอร์นิเจอร์มีที่เป็นการผสมผสานระหว่างความสร้างสรรค์ในการออกแบบ เสน่ห์ของไม้เก่า และฝีมือช่าง รอยอินทร์เริ่มขยับขยายสู่งานของตกแต่งบ้านในช่วงปีหลัง และเพิ่มคุณค่าของงานด้วย ศิลปะงานวาดมือ (hand paint)
" ..โดยส่วนตัวเป็นคนชอบงานวาดมือ ..คือหนึ่งเราเป็นคน Low Tech ไม่ทำคอมพิวเตอร์ทุกชนิด และเห็นความสำคัญของการทำอะไรก็ตามที่ทำด้วยมือ มีสมาธิ มีความใส่ใจ ชอบชีวิตที่มันช้าๆ แล้วก็มีรายละเอียด เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีงานพิมพ์ เราไม่ได้ว่ามันหยาบนะ แต่ว่ามันง่ายไป เรายังเป็นคนเขียนจดหมาย เรายังเป็นคนเขียนโพสการ์ดอยู่ เราให้ความสำคัญกับชีวิตซึ่งมันมีพื้นฐานของความ 'จริง' (Real)
..แล้วก็ชอบการที่มีเด็กมา น้องช่างศิลป์ ช่างศิลปากรบ้าง อย่างภาพวาดเราก็จะคิดๆ แล้วก็จะสรุป (Brief) นี่ล่ะสนุก เราก็จะบอก 'แกจะจูนฉันได้ไหม' เราจะร่าง (Sketch) บอกๆ เขาก็จะจูนเราได้และทำได้ พอเริ่มวาดแล้วก็เริ่มมีอะไรหลากหลาย เริ่มสนุกทั้งคนคิดคนสั่ง สนุกทั้งคนทำ.. บ้านเพ้นท์ของเราไม่เหมือนกันสักหลัง ..เราจะบอกเขาคร่าวๆ แล้วเขาก็ไปคิด ชอบให้คนได้คิด พอคุณคิดได้แล้วคุณก็ไม่ต้องถึงขนาดคิดทุกอัน คุณคิดอย่างนี้แล้วทำไปสักห้าอัน ใส่สีต่างกัน ตัวหนังสือไม่เท่ากัน มันก็ไม่เหมือนกันอยู่ดี หลักคือเราจะสอนให้คิดและให้สนุกกับการคิด ..เขาทำงานแล้วมีความสุข เขามาส่งเราๆ ก็มีความสุข ชอบตรงนี้ จะมีเด็กๆ เข้ามาวาดเรื่อย เวลาเด็กๆ มาวาดอะไรนี่เราจะบอกว่ามีเท่าไรซื้อหมด เรากระจายรายได้และเฉลี่ยความสุข"
เมื่อเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ลูกค้าของรอยอินทร์จึงเป็นกลุ่มคนที่มีความเหมือนกัน
"ลูกค้ารอยอินทร์เหมือนกันหมด ง่ายๆ อารมณ์ดี ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา เหมือนกันหมดเลย แล้วก็มีความสุข (Enjoy) ในการที่จะแต่งบ้านเอง เราจะเป็นเพื่อนกันหมด บางทีถามอะไรเราแค่ให้คำปรึกษานิดหน่อยเขาก็จะเข้าใจ แล้วก็ชอบโมเดิร์นแอนทีค (Modern Antique) คือมันมีความเป็นไทยหน่อยๆ อยู่ในบ้านทั่วไปได้ เราพยายามทำเฟอร์นิเจอร์ซึ่งคุณเอาไปตัวสองตัวไปอยู่กับอย่างอื่นได้ในบ้านได้ คือถ้าเป็นของบางประเภทมันต้องอยู่ที่เฉพาะ ถ้าโมเดิร์นมากๆ คุณต้องมีพื้นที่ (Space) ที่เป็นโมเดิร์นสะอาดๆ (Clean) ของเราๆ พยายามดีไซน์ให้มันเป็นมิตรกับสินค้าตัวอื่น เพราะฉะนั้นลูกค้าที่เขามาซื้อก็แฮปปี้กับตรงนี้มากกว่า บางคนก็ปรับปรุง (Renovate) บ้านเก่าก็ไปอยู่กับบ้านเขาได้ ในขณะเดียวกันถ้าไปอยู่บ้านที่โมเดิร์นเราว่ามันก็อยู่ได้ ถ้าอยู่คอนโดมิเนียมมันก็อยู่ได้อีก คือเราตั้งใจดีไซน์ให้เป็นกลางๆ และเป็นมิตรกับเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ กับพื้นที่ทั่วไปได้"
จากจุดเริ่มต้นของรอยอินทร์ มาถึงวันนี้ คุณนิศานาถ บอกว่า
"พอเราเหนื่อยๆ มาแล้วมานั่งในร้าน โห.. มีความสุขจังเลย สวยจังเลย ไม่เคยถามเลยว่าวันนี้ขายได้หรือเปล่า สวยจังเลย มีความสุขจังเลย.. แล้วเราก็หลงรักของเล็กๆ ของเรา ยามว่างก็เขียนของเล็กของน้อยไป มีความสุข ..บางทีเราก็มีความสุขกับการขายไม่ค่อยดีเพราะว่าเราชอบมันก็อยากเห็นมันนานหน่อย คือถ้าหากว่าจีดีพี (GDP-Gross Domestic Product) เขาดูมวลรวมของรายได้ต่อหัว ของเราก็คงเป็นแบบภูฏานน่ะ (หัวเราะ) จีเอ็นเอช (GNH-Gross National Happiness) คือวัดจากความสุขตรงนี้มากกว่า"
หมายเหตุ : ชมภาพมากกว่านี้ได้ที่ fan page เซ็คชั่น 'กรุงเทพวันอาทิตย์ กรุงเทพธุรกิจ' คลิก http://www.facebook.com/sundaybkk