เป้าหมาย ณ ปลายขอบฟ้า "โมโกจู"

เป้าหมาย ณ ปลายขอบฟ้า "โมโกจู"

จะมีสักกี่เหตุผลที่ทำให้คนคนหนึ่งเลือกกลับไปยืนนับหนึ่งใหม่ทั้งๆ ที่เคยเดินผ่านบันไดขั้นที่ร้อยมาแล้วเป็นเวลาเนิ่นนาน

"เป้าหมาย" อาจเป็นหนึ่งในคำตอบนั้น เพราะคำๆ นี้มักจะอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการทำทุกๆ อย่าง และมันก็เป็นคำสำคัญที่จะทำให้ทุกคนได้พัฒนาตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ


คล้ายๆ กับการเดินทาง ยิ่งเรามีเป้าหมายมากขึ้นเท่าไร เราก็จะอ่านโลกกว้างๆ ใบนี้ได้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น


เกริ่นมายืดยาวฉันเพียงต้องการจะบอกว่า การกลับมายืนอยู่บน โมโกจู ยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อีกครั้ง ก็เพราะต้องการสร้าง "เป้าหมายใหม่" ให้ชีวิตได้มีแรงกระตุ้นที่จะเรียนรู้อะไรบางอย่างมากขึ้นนั่นเอง

1.


ยอมรับว่าสามปีก่อนเรามุ่งมั่นที่จะเป็น "ผู้พิชิต" คล้ายกับต้องการประกาศศักดาว่า "ข้ามาถึงแล้ว" / "เจ๋งใช่มั้ย"
แต่การพิชิตธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบทเรียนจากต้นไม้ สายน้ำ สัตว์ป่า กระทั่งภูผาที่สูงชัน ต่างๆ เหล่านั้นมันยิ่งใหญ่เกินกว่าที่คนตัวเล็กๆ อย่างเราจะพูดคำว่า "พิชิต" ออกมาจากปากได้เลย


หลังกลับจากเดินทางสู่ยอดโมโกจูในครั้งแรกฉันจึงแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ "ป่า" เพราะในใจคิดแต่ว่า จะต้องไปให้ถึง "หินเรือใบ" ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งยอดเขาให้ไวที่สุดก็เท่านั้น


ต้องขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานสุโขทัย ที่ส่งจดหมายเชิญไปร่วมสำรวจผืนป่าแม่วงก์บนเส้นทางสุดหฤโหดอย่างโมโกจูอีกครั้ง แน่นอนว่า ฉันยืนยันเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่ลังเล เพราะนี่เป็นโอกาสที่จะทำให้ฉันได้กลับไปทบทวนถึงความสำคัญของป่า และคุณค่าอีกมหาศาลของธรรมชาติ


โมโกจู เป็นยอดเขาที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร ถือเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานฯ เพราะมีความสูงถึง 1,964 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เสน่ห์ของโมโกจูอาจไม่ใช่ความสูง เพราะถ้ามีการจัดลำดับเรื่องนี้ในประเทศไทย โมโกจู จะเป็นยอดเขาที่สูงอยู่ในลำดับ 6 แต่สิ่งที่ทำให้ใครๆ หลงใหลและพร้อมใจกันมาเยือน น่าจะเป็นเพราะ "ความลำบาก" ที่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศมากกว่า


เหตุใดผู้คนส่วนหหนึ่งจึงปรารถนาความลำบาก จริงๆ คงไม่มีใครอยากพาตัวเองไปอยู่ในสภาวการณ์แบบนั้น ขาดแคลนทั้งอาหาร น้ำดื่ม ต้องสู้รบกับอุณหภูมิที่หนาวเหน็บ ทั้งยังบาดเจ็บทางร่างกายอีกหลายขนาน แต่อุปสรรคเหล่านั้นสอน "วิชาชีวิต" ให้กับนักเดินทาง และมันก็ทำให้ "หัวใจ" ของพวกเขากล้าแกร่งมากขึ้น


บนเทือกเขาถนนธงชัยที่สลับซับซ้อน มีภูเขาน้อยใหญ่วางตัวทอดทับกันมากกว่า 50 ลูก โมโกจูตั้งยอดเด่นตระหง่านอยู่ทางทิศตะวันตกสุดเขตอุทยานฯ หากใช้การเดินเท้าจะเข้าถึงยอดที่ว่านั้นได้ต้องใช้เวลา 5 วัน 4 คืน ซึ่งความงดงามของธรรมชาติแบบนี้ ทำให้อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ "โมโกจู" ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าทุกๆ ปี ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ โดยต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า บางคณะทำทริปแบบข้ามปีกันเลยทีเดียว


สำหรับการเดินทางระยะไกลที่ต้องรอนแรมอยู่ในป่ายาวนานถึง 5 วันแบบนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่นักเดินทางจะต้องเตรียมความพร้อม การออกกำลังกายมาก่อนล่วงหน้าสำคัญที่สุด นอกจากนี้ก็คงเป็นเรื่อง "ทฤษฎีการใช้ชีวิต" ท่ามกลางป่าเขาและความว่างเปล่าของสิ่งอำนวยความสะดวก


ฉันแบ่งสัมภาระที่จำเป็นส่วนหนึ่งให้กับคณะลูกหาบที่เป็นชาวไทยภูเขา ก่อนจะสะพายเป้ใบเล็กขึ้นหลัง เตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางครั้งใหม่กับเป้าหมายที่ต้องการรู้จักผืนป่าที่ยิ่งใหญ่ให้ลึกซึ้งมากขึ้น

2.


ก่อนหน้านี้ "แม่วงก์" เป็นชื่อที่แทบไม่มีคนรู้จัก แต่หลังจากรัฐบาลประกาศว่าจะ "สร้างเขื่อน" ขอบเขตความสนใจก็ขยายใหญ่ขึ้น กระทั่ง ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตัดสินใจเดินรณรงค์การสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็มีผู้คนลุกฮือ เริ่มสงสัยและเกิดอาการเสียดายผืนป่า 13,000 ไร่ ที่จะใช้แลกกับโครงการ 13,000 ล้าน


ฉันเคยเดินทางไปเยือนสถานที่ที่เป็น "จุดเกิดเหตุ" มาแล้ว ยืนยันตรงนี้ว่าไม่มีสักตารางเมตรเดียวที่เป็นป่าเสื่อมโทรม เพราะฉะนั้นจะใช้ข้ออ้างนี้ในการตัดสินใจสร้างเขื่อนคงไม่ได้ และนอกจากป่าจะสมบูรณ์แล้ว สัตว์ป่าหายากก็มีมากพอที่จะเป็นหลักฐานให้โครงการนั้นตกไปได้ด้วย


"มีรอยเท้าเสือโคร่งตรงนั้น" อาทิตย์ แสงจันทร์ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งรับหน้าที่นำทางบอก หลังจากเราเดินผ่านสถานีวัดใจอย่าง "มอขี้แตก" มาได้ระยะหนึ่ง


นอกจากเป็นเจ้าหน้าที่นำคณะนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมความสวยงามของธรรมชาติบนยอดโมโกจูแล้ว อาทิตย์ ยังสวมบทเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และเป็นหนึ่งในทีมสำรวจประชากรเสือโคร่ง โดยความร่วมมือของกรมอุทยานกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เพราะฉะนั้นเรื่องความเชี่ยวชาญมีเต็มร้อย


เราพบรอยเท้าเสือโคร่งตลอดทาง มีรอยเท้าเสือดาวบ้างประปราย ซึ่งถ้าเทียบกับ 3 ปีก่อนที่ฉันเคยมา ครั้งนี้พบรอยเท้าสัตว์ป่ามากกว่าเดิมหลายเท่า ซึ่งการพบรอยเท้าแบบนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแม่วงก์ได้เป็นอย่างดี


อาทิตย์ บอกว่า เสือโคร่งเป็นสัตว์ใหญ่ที่ชอบประกาศอาณาเขตของตัวเอง โดยมันจะลับเล็บไว้ตามต้นไม้ใหญ่ๆ ที่เป็นจุดสังเกตได้ พร้อมกับปล่อย "สเปรย์" หรือกลิ่นพิเศษเฉพาะของมันไว้ตามต้นไม้ เราพบจุดที่เสือโคร่งสเปรย์กลิ่นทิ้งไว้เป็นระยะ


วันแรกบนเส้นทางโมโกจู เราเดินทางกันเต็มที่ 16 กิโลเมตร โดยมีจุดพักแรมอยู่ที่แคมป์แม่กระสา บริเวณนี้เป็นลานขนาดกว้าง มีศาลา 3 หลังสำหรับประกอบอาหาร มีโต๊ะรับประทานอาหารตัวใหญ่ รวมถึงห้องน้ำอย่างดีอีก 3 ห้อง แคมป์นี้ค่อนข้างสะดวกสบายเพราะอยู่ติดลำน้ำแม่กระสา ที่ไหลมาจากน้ำตกแม่กระสา น้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์


ก่อนออกเดินทาง สุธน เวียงดาว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ บอกกับเราว่า ปีหน้าหรือปีต่อไปอาจจะมีการลดระยะการเดินทางจาก 5 วัน 4 คืน เป็น 3 วัน 2 คืน เพราะจะมีการปรับปรุงถนนจนถึงแคมป์แม่กระสา และทำศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่นั่น ส่วนการเดินทางจะใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าไป อย่างไรก็ตาม หัวหน้าอุทยานฯ ยืนยันว่า ทั้งหมดยังอยู่ในขอบข่ายของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์


"ถ้าได้อย่างนั้นเราก็จะมีศูนย์บริการที่เป็นหน่วยพิทักษ์อีกที่หนึ่ง ซึ่งเราจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไป เพื่อป้องกันการลักลอบการล่าสัตว์และหาไม้หอม เราได้ประโยน์ 2 ทาง หนึ่งด้านท่องเที่ยว สองด้านการอนุรักษ์ เราจะสะดวกในการส่งเสบียงและกำลังพล ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ดีขึ้น"


การเดินทางวันที่ 2 ถือว่าสบาย เพราะระยะทางแค่ 4 กิโลเมตรเท่านั้น คืนนี้เราพักกันที่แคมป์แม่เรวา แต่เพราะถึงเร็ว เราจึงมีเวลาเดินทางต่อไปชม "น้ำตกแม่รีวา" ที่อยู่ห่างออกไปอีก 3 กิโลเมตร


หลายคนเดินลงไปวักน้ำขึ้นมาล้างหน้า ในขณะที่บางคนก็นำขวดเปล่าของตัวเองมารองน้ำไว้ดื่ม ไหนจ้อย แซ่เติ๋น หรือ พี่ตอน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีกคน ยืนยันว่าน้ำในป่านี้ดื่มได้ เพราะไหลมาจากต้นน้ำบนเทือกเขาถนนธงชัย

3.


น้ำค้างที่พร่างพรมลงมาบนเต็นท์ตั้งแต่เมื่อคืนยังไม่แห้งสนิทดี เราต้องเก็บสัมภาระเพื่อเตรียมตัวเดินทางต่อ ซึ่งการเดินทางวันที่ 3 เป็นที่รู้กันดีว่าโหดที่สุด


"8 กิโลนรก" นักทำลายขวัญและกำลังใจที่นั่งอยู่ในที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อย่าง วีระ เอี่ยมสอาด เจ้าหน้าที่งานศึกษาวิจัย ฝ่ายนันทนาการและสื่อความหมาย ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เตือนมา ฉันรู้ว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นความจริง เพราะความชัน 45-75 องศา ไม่ใช่จะเดินกันง่ายๆ การเดินทางวันนี้จึงไม่เร่งรีบ แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป


"ภูเขาไม่สูงเกินเข่า" เพื่อนที่เป็นชาวไทยภูเขาคนหนึ่งเคยบอกไว้ ซึ่งพอฉันลองคิดตามก็พบว่ามันคือเรื่องจริง ไม่ว่าจะสูงแค่ไหน หากกำลังขาแข็งแรง เราก็สามารถขึ้นไปยืนอยู่บนยอดเขาได้ แต่กว่าจะขึ้นไปถึง เราก็มักจะได้รับบทเรียนที่ภูเขาสูงๆ นั้นสอนไว้เสมอ อย่างที่ฉันประจักษ์แก่ใจที่สุดก็คือ "ความรีบร้อนเป็นสาเหตุของการลื่นล้ม"


ไม่เฉพาะแค่การเดินเท่านั้น แต่มันเป็นบทเรียนสำหรับการใช้ชีวิตทุกๆ ด้านจริงๆ


เราต้องพักรับประทานอาหารกลางวันกันที่คลองหนึ่ง แต่ยังไม่ทันเดินไปถึง มือปราบขาโหดอย่างอาทิตย์ก็เดินหายเข้าไปในพงป่า พักใหญ่ๆ เขาจึงกลับมาพร้อมกับแจ้งว่า อาจจะมีคนลักลอบเข้ามาหาไม้หอมด้านล่าง เพราะดูจากสภาพต้นหญ้าราบเป็นทาง คงจะเพิ่งมีคนเดินลงไปไม่นาน


อาทิตย์วิทยุกลับไปแจ้งที่อุทยานฯ ก่อนจะเอ่ยให้ฟังว่า ความอุดมสมบูรณ์ของป่าทำให้มีทั้งคนที่ต้องการเข้ามาล่าสัตว์ และลักลอบตัดไม้หอม ซึ่งอย่างหลังนี้จะพบบ่อย ส่วนมากเป็นคนงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารับจ้างหาไม้หอม แต่ก็โดนจับกุมอยู่บ่อยครั้ง ฟังแล้วก็อดสังเวชใจไม่ได้ เพราะธรรมชาติไม่เคยทำร้ายใคร มนุษย์เราทั้งนั้นที่คอยแต่จะเอาเปรียบธรรมชาติ


ผ่านคลองหนึ่งและคลองสองมาได้อย่างสะบักสะบอม บนเนินผาที่ความสูงราว 1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ป่าดิบชื้นเหล่านั้นถูกปกคลุมด้วยหมอกหนาสีขาว ความหนาวเย็นครอบครองทุกพื้นที่


เราเดินผ่านแคมป์ตีนดอยทะลุขึ้นมาที่ความสูง 1,964 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง "หินเรือใบ" ยังคงตั้งท้าสายลมแสงแดดอยู่ตรงนั้นจวบจนชั่วนาตาปี บางคนพยายามปีนป่ายขึ้นไปยืนอยู่บนยอดของหินก้อนนั้น แต่ไม่นานเขาก็ต้องกลับลงมา


ภาพที่เห็นทำให้ฉันนึกถึงวรรคหนึ่งของผลงานเรื่อง "ภูเขา" ที่รังสรรค์โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ที่บอกว่า


"ผู้คนจำนวนหนึ่งมักต้องการขึ้นสู่ยอดเขา บางคนขึ้นไปเพื่อแสดงความเคารพสักการะ บ้างเพื่อลดทอนความต่ำเตี้ยของตน แต่ไม่ว่าใครจะไต่ขึ้นเขาสูงด้วยเหตุผลไหน สุดท้ายก็ต้องกลับลงมา ยอดเขาไม่ใช่ถิ่นที่ถาวรของผู้ใด"


"โมโกจู เป็นภาษากะหรี่ยง แปลว่า คล้ายว่าฝนจะตก คือมองขึ้นไปเหมือนมีเมฆปิด จนใครมองก็ดูคล้ายว่าฝนจะตกทุกที หรืออีกความหมายหนึ่งคือเขาเหนือเมฆ


ตอนนี้ฉันยืนอยู่ "เหนือเมฆ" จริงๆ เพราะจากยอดโมโกจู มองลงไปมีแต่สายหมอกสีขาวๆ เกลื่อนกระจายไปหมด พระอาทิตย์ที่เส้นขอบฟ้าดูท่าว่าจะเหนื่อยล้าเต็มทน ไม่ต่างกับทุกคนที่ขึ้นมายืนอยู่ตรงนี้ ไม่มีใครไม่ล้า แต่เพราะภาพที่งดงามในมุม 360 องศา ทำให้ดวงตายังเปล่งประกายอยู่เท่านั้น


จะมีสักกี่เหตุผลกันที่ทำให้คนคนหนึ่งตัดสินใจกลับมายืนอยู่ ณ จุดเดิมที่เคยยืนได้ ถ้าไม่ใช่เพราะว่าเขาคนนั้นมี "เป้าหมาย" บางอย่างที่ต้องการ

.....................


การเดินทาง


จากกรุงเทพฯ ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านนครสวรรค์ ถึงแยกโค้งวิไล (กม.411+500) เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1242 ผ่าน อ.ปางศิลาทอง ประมาณ 40 กม. เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 1072 ไปอีก 10 กม. จะพบสี่แยกคลองลาน เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1117 ประมาณ 19 กม. ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือถ้าใครมาจากทางกำแพงเพชรก็ให้ล่องลงมาทางนครสวรรค์ พอถึงแยกคลองแม่ลายให้กลับรถแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1117 ตรงไปที่ทำการอุทยานฯได้เหมือนกัน


สำหรับกิจกรรมเดินป่าระยะไกล "พิชิตยอดเขาโมโกจู" นั้น อุทยานฯ จัดช่วงเวลาให้เดินได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ของทุกปี ค่าใช้จ่าย 8,000 บาทต่อทริป โดยจะมีเจ้าหน้าที่นำทางให้ 2 คน (ราคานี้สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวไม่เกิน 12 คน ส่วนที่เกินคิดเพิ่มคนละ 800 บาท) ส่วนค่าจ้างลูกหาบตกวันละ 400 บาทต่อคน ซึ่งคณะนักท่องเที่ยวต้องเตรียมอาหารสำหรับตัวเองและลูกหาบด้วย


สอบถามเพิ่มเติมที่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โทร. 0 5576 6024 หรือ www.dnp.go.th และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย โทร. 0 5561 6228-9, 0 5561 6366