ลิเกช้ำ จำนำข้าว

ไม่ใช่แค่ชาวนาเท่านั้นที่ระทมช้ำกับโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลโปรยฝัน แต่ศิลปินพื้นบ้านอาชีพ "ลิเก" ก็กำลังจะอดตาย เพราะไร้งาน ไร้เงิน

"มึงได้เงินข้าวรึยัง - ยังไม่ได้ - อ้าว...ก็มึงไปปิดธนาคารเขา เขาจะจ่ายได้ยังไง"


มุกสดสอดแทรกการแสดงลิเกที่ดูเหมือนจะขบขัน แต่กลายเป็นความขมขื่น เมื่อชาวนาที่มานั่งชมกว่าครึ่ง ยิ้มไม่ออก


นับตั้งแต่รัฐบาลขาดสภาพคล่องในการจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว ภาวะความเครียดก็เข้ามารุมเร้าชาวนาไทย จนไม่มีใครอยากหัวเราะให้กับชีวิต


แน่นอนว่า คนที่น่าสงสารที่สุด ณ เวลานี้คือ "ชาวนา" แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ปัญหาการ "ค้างจ่าย" นอกจากจะทำให้ชาวนาบางคน "ตาย" ไปจริงๆ แล้ว "ลิเก" ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างความสุขให้กับคนไทยมาเนิ่นนาน ก็กำลังหายใจรวยริน


"แย่กันหมดทุกคณะ งานแม่ค้าพอได้ แต่งานชาวนาไม่มีเลย" บัวหลวง เพิ้งจันทร์ หัวหน้าลิเกวัย 60 ปี คณะบัวหลวงดาวร้าย อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เล่าถึงสถานการณ์การจ้างงานคณะลิเกในปัจจุบันที่ดูซบเซาลงไปมาก อันเนื่องมาจากปัญหาการรับจำนำข้าวที่ถูก "โกง"


"พ่อเองก็โดนยกเลิกไป 5-6 เจ้า เพราะชาวนาเขารอเงิน บางคนถึงกับบนไว้เลยนะว่าถ้าได้เงินข้าวแล้วจะมาหาเราไปเล่น" ประโยคหลังดูเหมือนจะทำให้ "คนลิเก" อย่างพ่อบัวหลวงใจชื้นขึ้นมาบ้าง แต่มันก็เป็นความหวังที่ยังไม่เห็นหนทางเสียทีเดียว

1.


ลิเก เป็นศิลปะการแสดงที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน นับได้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยคำว่า "ลิเก" นั้น เพี้ยนมาจากคำว่า "ซิเกร์" ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย(Zakhur ภาษาอาหรับ) อันหมายถึงการอ่านบทสรรเสริญเป็นการรำลึกถึงอัลเลาะห์ พระเจ้าในศาสนาอิสลาม แล้วบทสวดนั้นก็ถูกขยายมาเป็นลำนำ กระทั่งเกิดเป็นละครร้องละครรำรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า ลิเก


อธิบายแบบนี้แล้ว หลายคนที่เคยสงสัยว่าทำไมลิเกจะต้องมี "ออกแขก" อาจเริ่มคลายความงุนงง


สำหรับประเทศไทย ลิเกถือเป็นมหรสพที่อยู่คู่กับสังคมทุกชนชั้น โดยเฉพาะในชนบทจะได้รับความนิยมสูงมาก เพราะหาดูได้ง่าย ส่วนรูปแบบการแสดงก็ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จากละครร้องธรรมดาก็มาเป็นละครร้องและละครรำ ปัจจุบันลิเกเรียกความสนใจจากผู้ชมได้ด้วยชุดการแสดงสุดตระการตา แต่ถ้าว่ากันด้วยลักษณะการร้องแบบกลอนสดดั้งเดิมแล้วละก็ "ลิเกตะพานหิน" ถือว่ามีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากที่สุด


ตะพานหิน เป็นอำเภอที่ได้ชื่อว่ามีคณะลิเกเยอะที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีมากกว่า 30 คณะ และแต่ละคณะก็จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟตะพานหิน เช่น ชุมชนร่มเกล้า, ซอยวัดสันติพลาราม(หลวงพ่อศรี) หรือหน้าโรงแรมโรสอิน


วิรัตน์ ยื่นแก้ว หัวหน้าลิเกคณะแสงวิรัตน์ และประธานชมรมลิเกตะพานหิน อธิบายว่า ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะสมัยก่อนสถานีรถไฟตะพานหินเป็นเหมือนชุมทางการค้าและการเดินทาง ผู้คนมักจะผ่านไปมาโดยอาศัยสถานีรถไฟแห่งนี้เป็นศูนย์กลาง แน่นอนว่า ลิเกก็มักจะมารวมตัวกันที่นี่ เพื่อรอคอยลูกค้า


"เจ้าภาพเขาจะมาหาลิเกตามหน้าสถานีรถไฟ พวกลิเกก็จะไปนั่งอยู่ตามร้านกาแฟ หรือว่านั่งคุยกันอยู่แถวๆ นั้น เจ้าภาพมาเจอก็เจรจาตกลงกัน ที่นี่เลยเป็นชุมชนลิเกขนาดใหญ่"


คณะลิเกที่มีชื่อเสียงในรุ่นแรกๆ โด่งดังด้วยการร้องและการรำ เช่น คณะแก้วมณี, คณะกำแพงสวรรค์, คณะ ส.พูนสวัสดิ์, คณะ ช.โพธิ์ทอง, คณะสีนวล เทียนทอง และคณะแสงธรรม ซึ่งทายาทและลูกหลานของลิเกดังเหล่านั้นก็ร่วมกันสืบสานศิลปวัฒนธรรมชิ้นนี้ต่อมา จนปัจจุบันขยายกลุ่มคณะลิเกได้มากมายนับกว่า 30 คณะ

"ลิเกตะพานหินจะค่าตัวแพงกว่าลิเกที่อื่นๆ เพราะเราดังเรื่องการร้อง ส่วนลิเกกรุงเทพฯ หรือลิเกภาคกลาง เขาจะเด่นเรื่องการรำ สำหรับค่าตัวเมื่อก่อนคิดกันคืนละแค่ 600 บาท แต่ปัจจุบันต่ำสุดก็ราวๆ 35,000 บาท ก็แล้วแต่คณะอีกนะ บางคณะที่ดังๆ เขาก็เรียก 40,000-50,000 บาทแบบต่ำสุด อีกอย่างก็ขึ้นอยู่กับระยะทางด้วย ใกล้ ไกล แล้วแต่ตกลงราคา"


ถามว่า ทำไมลิเกไทยถึงได้รับความนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มคนชนบท พ่อวิรัตน์ บอก อาจเป็นเพราะลิเกเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่หาชมง่าย และไม่ต้องจ่ายสตางค์ เพียงแค่เจ้าภาพจัดหามาให้ชม ทุกคนก็หัวเราะ และสนุกสนานไปกับการแสดงสุดอลังการนั้นได้แล้ว

2.


สังคมชนบทมีชีวิตผูกโยงอยู่กับศิลปะการแสดงชิ้นนี้มาอย่างยาวนาน เพราะฉะนั้นในทุกๆ ช่วงเวลาของการดำเนินชีวิต จึงมี "ลิเก" เป็นส่วนประกอบหลัก ไม่ว่าจะการเกิด การป่วย การตาย หรือการจัดงานสังสรรค์รื่นเริงต่างๆ กระทั่งการบนบานศาลกล่าวก็ไม่เว้น


"เมื่อก่อนเราจะเล่นงานวัด เป็นที่หากินหลักเลย แต่หลังๆ ก็จะมีงานส่วนตัว งานบวช หรืออย่างแม่เสีย มีลิเกหน่อยนะ ได้ข้าวเยอะแก้บนหน่อยนะ อะไรแบบนี้ ลิเกก็เลยเป็นงานที่เหมือนจะอยู่ใกล้ชิดกับคนในชนบทมานาน" พ่อวิรัตน์ บอก


เจ้าของคณะลิเกแสงวิรัตน์ เล่าต่อว่า ทั้งๆ ที่เป็นศิลปะการแสดงที่สร้างความบันเทิงให้กับทุกคน แต่ลิเกก็เป็นอาชีพเต้นกินรำกินที่สังคมไม่ค่อยเห็นคุณค่าหรือความสำคัญ ทำให้เกิดการยอมรับในวิชาชีพน้อย อย่างไรก็ดี พ่อวิรัตน์และลิเกทุกคนรักในวิชาชีพนี้ จึงยังคงยึดถือการแสดงลิเกเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเสมอมา


"ลิเกบ้านเรา(ตะพานหิน)ทำรายได้เข้าจังหวัดปีละ 10-20 ล้านเลยนะ สมมติคณะหนึ่งเล่นคืนหนึ่งได้ 40,000 บาท เล่น 10 คืน ก็ 400,000 บาท พอหลายๆ คณะรวมกันได้เยอะมาก เป็นเงินที่เอามาใช้จ่ายในจังหวัด ทางท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร(ชาติชาย เจียมศรีพงษ์)เขาเห็นคุณค่า เขาก็ส่งเสริม และสนับสนุนให้เราตั้งชมรมลิเกขึ้นมาเพื่อดูแลกัน


สมาชิกลิเกส่วนมากเขาเป็นอาชีพลิเกอย่างเดียว ไม่มีอาชีพเสริมอื่น พอช่วงไม่มีงานก็ไม่มีอะไรทำ หรืออย่างบางคนอาจจะมีอาชีพเสริมค้าขายบ้างเล็กๆ น้อยๆ มีทำการเกษตรบ้าง หรือที่แย่ๆ เลยก็มีไปขี่สามล้อ อันนั้นคือเขาแก่แล้ว เล่นลิเกไม่ได้แล้ว บางคนก็ไปขายลูกชิ้น บางครั้งไม่มีงานจริงๆ ก็ลงกรุงเทพฯ ไปเล่นตามตลาดธารน้ำใจ เรื่องแบบนี้แหละที่ชมรมเราต้องช่วยกันดูแล"


ไม่เพียงแค่ช่วยเหลือคณะลิเกด้วยกันเท่านั้น แต่ชมรมลิเกตะพานหิน โดยมีพ่อวิรัตน์ ยื่นแก้ว เป็นประธาน ยังรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การแสดงลิเกการกุศลเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือชาวไทยที่ประสบอุทกภัยในปี 2554, การทอดผ้าป่าการกุศล, การแสดงลิเกการกุศลเพื่อผู้ต้องขัง ฯลฯ


พ่อวิรัตน์ ว่า การแสดงลิเกต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย โดยเนื้อเรื่องอาจสอดแทรกปัญหาการเมือง สภาพสังคม การศึกษา หรือเรื่องราวที่กำลังอยู่ในวงสนทนาเพื่อความน่าสนใจ


"ลิเกก็ต้องปรับตัว เรื่องที่เราเล่นก็มีการเมืองบ้าง เราก็ต้องรู้ว่า บ้านนี้เหลืองหรือแดง บางบ้านแรงๆ หน่อย เขาก็จะบอกว่า ห้ามร้องการเมืองนะ หรือบางทีเราก็แซวๆ กัน ไปเล่นบ้านเสื้อแดงก็ร้องว่า เมื่อคืนไปเล่นบ้านเสื้อเหลืองมา นึกว่านกหวีดจะติดคอ อะไรแบบนี้ หรืออย่างแซวๆ เรื่องข้าว ก็จะโต้ตอบกันเรื่องจำนำข้าว ได้เงินหรือยัง คือเราเอามาล้อสนุกๆ แต่ถ้าใครไม่สนุกด้วยก็ไม่เล่น"

3.


ปฏิเสธไม่ได้ว่า คณะลิเกมีรายได้หลักส่วนหนึ่งมาจากชนชั้นชาวนา เมื่อโครงการของรัฐบาลสร้างปัญหาจนชาวนาขาดสภาพคล่องเกินกว่าที่ควรจะเป็น "ลิเก" คงเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ


"จริงๆ การว่าจ้างลิเกจะมีการติดต่อล่วงหน้า คณะที่ดังมากๆ ก็อาจจะไม่กระทบเท่าไร แต่คณะเล็กๆ อาจจะลำบากบ้าง ส่วนมากจะเป็นงานส่วนตัว งานบวช งานแก้บน อะไรพวกนี้จะกระทบเยอะหน่อย แต่ถ้าเจ้าภาพเป็นวัด หรือเป็นหน่วยงานอะไร ก็ไม่มีปัญหา อย่างคณะของพ่อไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะว่างานที่พ่อเล่นหลวงจ่าย โดยมากพ่อจะเล่นงานของหลวง"


แม้จะโด่งดังเพราะมีพระ-นางเป็นตัวชูโรง แต่ รุ่งนเรศว์ เที่ยงอยู่ หัวหน้าลิเกคณะเพชรวิฑูรย์ รุ่งนเรศว์ ยอดรัก ก็ยอมรับแบบเต็มปากว่า ลำบากมา 6 เดือนเต็มแล้ว


"ที่ซบเซาไปน่าจะราวๆ 6 เดือนแล้วนะ เพราะชาวบ้านเขาเกี่ยวข้าวมา 2 ครั้งแล้ว ยังไม่ได้เงิน เราก็พลอยลำบากไปด้วย ซึ่งทางวัดก็จะบอกตลอดว่า มีคนไปทำบุญน้อย เมื่อก่อนมีงานแก้บน เขาก็จะหาลิเกไปเล่น แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย"

พระเอกวัยรุ่น รุ่งนเรศว์ เล่าต่อว่า การติดต่อลิเกไปแสดงมักจะทำล่วงหน้าหลายเดือน ซึ่งเมื่อลงบันทึกตารางงานไว้แล้วก็จะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง อย่างปี 2555 เชื่อมต่อปี 2556 ถือว่าเป็นช่วงที่บูมมาก เพราะมีงานจ้างแทบไม่ว่างเว้น แต่ปีนี้งานน้อย แถมแม่ยกก็พลอยจะหาดหายไปด้วย


"เรามีแฟนคลับคือเจ๊(แม่ยก)เหมือนดารานี่แหละ มีเยอะมาก เรามีเจ๊คอยสนับสนุน แต่พอมีเรื่องที่ชาวนาไม่ได้รับเงินจำนำข้าว เจ๊ก็เงียบไปเหมือนกันนะ รายได้ลดลงไปเยอะมาก เห็นชัดๆ เลยว่ารายได้ส่วนนี้หายไป อย่างสมมติเราขอ 50,000 บาท ก็จะเหลือสักแค่ 20,000 บาท อะไรแบบนี้"


ด้านพ่อบัวหลวง เพิ้งจันทร์ เจ้าของลิเกคณะบัวหลวงดาวร้าย เสริมว่า งานประเภทฟุ่มเฟือย อย่างงานแก้บน งานบวช แทบจะไม่มีเล่นเลย


"งานวัดที่ชาวไร่ชาวนาเคยช่วยก็ไม่มี มีแต่วัดที่ออกเอง ปกติช่วงนี้ของปีจะเป็นช่วงรับทรัพย์ มีงานเยอะแทบไม่ว่าง ปีที่แล้วอย่างไม่มีงานเลยจริงๆ ก็จะต้องได้เล่นอย่างน้อยครึ่งเดือน ปีนี้มาเหลือแค่ 2-3 คืนเองนะของพ่อน่ะ"


สมาชิกกว่า 30 ชีวิตในคณะลิเกบัวหลวงดาวร้ายอาจโชคร้ายที่ได้รับงานน้อยในช่วงนี้ แต่พ่อบัวหลวงว่า ยึดถืออาชีพลิเกมาตลอดชีวิต อย่างไรก็ยังคงต้องดูแลกันต่อไป


"ถ้าไม่มีงานนี้พ่อก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ก็ต้องหาเงินมาเลี้ยงคนในคณะ ตอนนี้พ่อก็อายุ 60 ปีแล้ว มีลูก 2 คน ก็มาช่วยกันสืบทอดลิเก แต่คนเล็กโชคร้าย เขาเป็นมะเร็งตั้งแต่เด็ก แต่ดีขึ้นแล้วนะ เขาก็มาร้องลิเก น้องฝน จันจิรา เป็นนางเอกลิเก พ่อก็ต้องหาเงินมารักษาลูกด้วย เลี้ยงคนในคณะด้วย จริงๆ พ่อคงไม่ขออะไรมากไปกว่าขอให้รัฐบาลยุติ แล้วหาเงินหาทองมาให้ชาวนาเขา" หัวหน้าคณะลิเกบัวหลวงดาวร้ายบอกปิดท้ายแบบไม่เต็มเสียงนัก


แม้จะไม่ใช่กลุ่มอาชีพหลักที่ประสบกับปัญหา แต่โครงการขายฝัน "จำนำข้าว" ก็ทำให้ทั้งชาวนาและชาวคณะลิเก จดจำเหตุการณ์ช้ำๆ นี้ไปได้ตลอดชีวิต