เที่ยวย้อนอดีตที่ "เวียงกุมกาม"

เมืองหลวงแห่งแรกของล้านนาอย่าง "เวียงกุมกาม" ดูเหมือนจะถูกลบเลือนออกไปจากความทรงจำของนักท่องเที่ยวชั่วคราว
กระทั่งมีการบูรณะและจัดการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ เมืองสำคัญในอดีตแห่งนี้จึงกลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีกครั้ง
โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมสัมผัสเส้นทางการท่องเที่ยว เวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่วัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวที่มีชีวิต ซึ่งนอกจากจะได้รับรู้ข้อมูลประวัติศาสตร์ และชื่นชมโบราณสถานแล้ว ภายในงานจะมีกิจกรรมไฮไลท์ เช่น การฝึกอบรมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมจากยุวศิลปินเวียงกุมกาม การรับประทานขันโตกเวียงกุมกาม การแสดงแสงสีเสียงชุด “มกรแก้วเวียงกุมกาม” การฟ้อนเวียงกุมกามบูชาพญามังราย ถนนสายวัฒนธรรม และกาดหมั้วเวียงกุมกาม เป็นต้น
เวียงกุมกาม เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของล้านนาที่พญามังรายโปรดให้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.1827 แต่ถูกฝังจมลงอยู่ใต้ตะกอนดินในระดับความลึกจากพื้นดินประมาณ 1.5 - 2.0 เมตร มานานหลายร้อยปี เนื่องจากน้ำท่วมซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนกระแสการไหลของแม่น้ำปิง หลังจากสำนักงานศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กรมศิลปากร เข้ามาบูรณะ เมื่อ พ.ศ. 2527 เวียงกุมกามจึงกลายเป็นโบราณสถานที่สมบูรณ์ และเป็นแหล่งความรู้การศึกษาในแบบของเรื่องราวทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมตลอดจนวัฒนธรรมล้านนา
ต่อมารัฐบาลได้คัดเลือกให้เวียงกุมกามเป็นสถานที่จัดแสดง แสง สี เสียง เพื่อต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 และเล็งเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคเหนือ จึงมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาฟื้นฟู และอนุรักษ์โบราณสถานเวียงกุมกามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่คงความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น
สำหรับเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “เวียงกุมกาม” ประกอบด้วยโบราณสถานที่ทรงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และทางวัฒนธรรมหลายแห่ง ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม พิพิธภัณฑ์เวียงกุมกาม และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น รวมถึงวัดต่างๆ ที่อยู่ภายในกำแพงเวียงกุมกาม
วัดกู่ป้าดอม เป็นโบราณสถานซึ่งมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 - 22 ประกอบด้วย วิหารฐานใหญ่ มีราวบันไดทางขึ้นวิหารเป็นรูปตัวเหงา ส่วนเจดีย์เหลือเพียงฐานเท่านั้น ส่วน วัดช้างค้ำ (วัดกานโถม) สร้างขึ้นสมัยพญามังราย มีต้นศรีมหาโพธิ์ที่ได้อัญเชิญจากเมืองลังกามาประดิษฐานไว้ ที่ วัดน้อย (วัดธาตุน้อย) มีวิหารโบราณ ประดิษฐานพระประธานปูนปั้น และ วัดอีค่าง ก็มีวิหารโบราณและเจดีย์แบบองค์ระฆังทรงกลมตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน
วัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำปิงอย่าง วัดหนานช้าง มีซุ้มโขงและพระประธานลายปูนปั้นประดับ แต่ถ้านับเรื่องความงดงามของสถาปัตยกรรม วัดปู่เปี้ย ถือเป็นวัดที่มีความงดงามแห่งหนึ่งของเวียงกุมกาม รูปแบบเจดีย์และมณฑปค่อนข้างสมบูรณ์ โบราณสถานประกอบด้วยวิหารสร้างยกพื้นสูง เจดีย์ อุโบสถ และแท่นบูชา พร้อมทั้งมีลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์ที่สวยงามมาก
วัดพระธาตุขาว (วัดธาตุขาว) เป็นโบราณสถานที่ประกอบด้วย วิหาร อุโบสถ มณฑป และเจดีย์ที่มีผิวฉาบปูนสีขาว ส่วน วัดพญามังราย มีเอกลักษณ์อยู่ที่การสร้างพระวิหารที่ไม่มีทางขึ้นลงหลักไว้ด้านหน้า แต่สร้างไว้ทางขึ้นไว้ด้านซ้าย สำหรับ วัดพระเจ้าองค์ดำ สันนิษฐานว่าวัดนนี้เคยมีพระพุทธรูปสีดำประดิษฐานอยู่ โบราณสถานที่พบเป็นวิหารหลายหลังมีซุ้มประตูโขงและแนวกำแพง ถัดจากซุ้มโขงเข้ามาเป็นวิหารและเจดีย์ สุดท้าย วัดเจดีย์เหลี่ยม (วัดกู่คำ) พระเจ้ามังรายทรงสร้างวัดนี้ตามแบบของพระเจดีย์จากวัดจามเทวีลำพูน ต่อมาถูกทิ้งให้รกร้าง และได้รับการบูรณะจากคหบดีชาวพม่า ลักษณะทางสถาปัตยกรรมจึงมีรูปแบบศิลปะแบบพม่า
เวียงกุมกาม เป็นเมืองหลวงล้านนาโบราณ ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีระยะห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ จะจัดขึ้นทุกวันเฉพาะที่ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ส่วนสถานที่อื่นจะจัดเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดก่อนการเดินทางได้ที่ สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5311 2595
เมืองใต้พิภพแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน หากใครต้องการศึกษารากเหง้าที่เป็นของชาวไทย แวะไปไม่ผิดหวัง