Charlie Brown Cafe (Thailand)

Charlie Brown Cafe (Thailand)

บริการเบเกอรี่ ขนมเค้ก และ ควิก ลันช์ ด้วยอาหารคอนเซปต์ Health Friendly โดยเชฟระดับกอร์ดอง เบลอ

การเดินเข้าไปในร้านอาหารที่เหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในโลกการ์ตูน ไม่ใช่ความฝันที่รอคอยสำหรับแฟนการ์ตูนลายเส้นชุด Peanuts (พีนัทส์) ในเมืองไทยอีกต่อไป เมื่อ รภีร์ จักรภีร์ศิริสุข และ วีรชิต จารุธนเดช ร่วมกันเปิดบริษัทชาร์ลี แอนด์ เฟรนด์ส จำกัด เพื่อซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหาร ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ (Charlie Brown Cafe) มาเปิดบริการที่ศูนย์การค้าเมกา บางนา ได้สองเดือนแล้ว

ผู้ให้กำเนิดการ์ตูนลายเส้นชุดพีนัทส์คือครูสอนศิลปะและนักวาดการ์ตูนชาวอเมริกันชื่อ ชาร์ล เอ็ม ชูลซ์ (Charles M.Schulz) เมื่อปีพ.ศ.2493 หลังจากการ์ตูนสามช่องชุดนี้ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา ครอบครัวพีนัทส์ก็โด่งดังไปทั่วโลก

การ์ตูนชุดพีนัทส์เดินเรื่องด้วยตัวการ์ตูนคาแรคเตอร์หลักคือ เจ้าหมาน้อยนาม สนูปี้ (Snoopy) และหนุ่มน้อย ชาร์ลี บราวน์ (Charlie Brown) เป็นตัวชูโรง และมีตัวการ์ตูนผองเพื่อนที่ประกอบกันเป็นครอบครัวพีนัทส์อีกหลายคาแรคเตอร์ เช่น ลูซี่ (Lucy), วู้ดสต็อก (Woodstock), แซลลี่ (Sally) ชโรเดอร์ (Schroeder)

ส่วนผู้ให้กำเนิด ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ ไม่ใช่คนอเมริกันและไม่มีส่วนใดๆ กับการสร้างการ์ตูนชุดพีนัทส์ แต่กลับเป็นนักธุรกิจชาวฮ่องกงชื่อ มร.เรย์มอนด์ ม็อก (Raymond Mok) เขานำคอนเซปต์ตัวการ์ตูนกับร้านอาหารรวมเข้าด้วยกัน และยื่นเรื่องเพื่อขอเปิดร้านอาหารจากผู้ถือลิขสิทธิ์การ์ตูนชุดพีนัทส์ในนิวยอร์กเมื่อปีพ.ศ.2543 ก่อนได้รับลิขสิทธิ์และเริ่มต้นเปิดร้านสาขาแรกที่ฮ่องกงเป็นผลสำเร็จเมื่อปีพ.ศ.2549 และกลายเป็นผู้ถือแฟรนไชส์ร้านอาหารชื่อ ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่

คุณรภีร์เล่าว่า มีคนไทยหลายคนสนใจอยากเปิดร้านชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ และติดต่อไปที่ฮ่องกง แต่ทางเจ้าของลิขสิทธิ์ที่อเมริกาเข้มงวดมากเรื่องแบรนด์ เพราะแบรนด์มีมา 64 ปี ทุกอย่างเป็นยิ่งกว่าการซื้อแฟรนไชส์ แต่คือการซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนด้วย ซึ่งต้องการคนที่เข้าใจกฎหมายลิขสิทธิ์และใส่ใจในรายละเอียดของคำว่าลิขสิทธิ์

“โชคดีทางพาร์ทเนอร์ผม (คุณวีรชิต) ทำธุรกิจเปิดบริษัทดูแลเกี่ยวกับเรื่องแบรนด์ในไทยมานาน ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งบริษัทแฟชั่น บริษัทออกแบบ เว็บไซต์ เอกสาร สิ่งพิมพ์ โรงพิมพ์ ครบวงจรด้านกราฟฟิก ทางอเมริกาแฮปปี้กับคนที่มีแบ็คกราวน์เรื่องแบรนดิ้ง ส่วนผมมีแบ็คกราวน์เรียลเอสเตท ซึ่งเป็นเรื่องของการออกแบบ งานก่อสร้าง ช่วยกันได้พอดี”

คุณรภีร์กล่าวด้วยว่า ธีมคาเฟ่เด่นๆ ทั่วโลกขณะนี้เท่าที่เห็นคือ เฮลโล คิตตี้ คาเฟ่, บาร์บี้คาเฟ่ และชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ ที่เป็นลิขสิทธิ์

“ผมคิดว่าตัวการ์ตูนชาร์ลี บราวน์ และกลุ่มเพื่อนเขา ค่อนข้างเป็นมิตรและยูนิเซ็กซ์ แต่ละคาแรคเตอร์มีเรื่องราวชัดเจน ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ปรับใช้ได้เยอะกว่ายี่ห้ออื่น” รภีร์กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกติดต่อซื้อแฟรนไชส์ยี่ห้อนี้

แม้เป็นธีมคาเฟ่ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว และขายได้ด้วยตัวการ์ตูน แต่สิ่งที่คุณรภีร์เอาใจใส่และลงทุนมากกลับกลายเป็นเรื่อง รสชาติ และ คุณภาพ อาหาร

“เพราะเราไม่ต้องการรองรับกลุ่มคนที่เป็นแฟนคลับของตัวการ์ตูนเท่านั้น หรือมากินครั้งเดียวถ่ายรูปแล้วไป เราอยากได้ลูกค้าที่มาประจำต่อเนื่อง ดังนั้นสูตรเครื่องดื่ม ขนมเค้ก เราออกแบบใหม่ การซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ของฮ่องกง เขาให้เราสามารถคิดใหม่ ออกแบบใหม่ ทำใหม่ได้หมดทุกอย่าง”

สิทธิ์ใน 'ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่' มีด้วยกัน 2 สิทธิ์ คือ ลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนจากอเมริกา คือลายเส้นและคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนต้องไม่ผิดเพี้ยน

กับสิทธิ์แฟรนไชส์ของฮ่องกง คือ ‘ชื่อร้านอาหาร’ ที่ไม่จำเป็นต้องตกแต่งและมีอาหารสูตรเดียวกับฮ่องกง

“ความสามารถที่แตกต่างได้ เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผมตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ ถ้าซื้อมาแล้วทุกอย่างต้องเหมือนฮ่องกง ผมก็ไม่ซื้อ” คุณรภีร์ กล่าว

“คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าลิ้นคนไทยกับลิ้นฮ่องกงจะเหมือนกัน คนฮ่องกงอาจชอบรสชาติจืดหน่อยๆ เขามีเมนูไก่ทอด แต่ผมเฉยๆ มากกับเมนูไก่ทอดของเขา บ้านเรามีเมนูไก่ทอดที่อร่อยเยอะมาก ถ้าสูตรเหมือนกันกับฮ่องกง ก็ไม่มีอะไรแตกต่าง”

คุณรภีร์กล่าวว่า คอนเซปต์อาหารของชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ สำหรับประเทศไทย ตั้งใจเป็น Health Friendly หรือ 'เป็นมิตรกับสุขภาพ' หมายถึงการไม่ใส่สารกันบูด ไม่แต่งกลิ่น ไม่ใส่สี

“แต่เราใช้วัตถุดิบคุณภาพดีที่สุด เช่นเมนู 'แมงโก แพสชั่น สมูตธี่' เราใช้เนื้อผลไม้เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่ใช้สารแต่งกลิ่น ไม่ใส่สี จึงต้องใช้เนื้อผลไม้จำนวนมากเพื่อให้ได้รสชาติ เราอยากให้สิ่งที่ดีกับผู้บริโภค ครอบครัวผม เพื่อนผม ก็กินเหมือนกัน...

จริงอยู่ตัวอาหารเป็นกลุ่มเค้กและเบเกอรี่ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นนม เนย ไขมัน แป้ง น้ำตาล แต่เราไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์” คุณรภีร์ กล่าว

วัตถุดิบสำคัญหลายอย่างนำเข้าจากแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพของโลก โดยเฉพาะช็อกโกแลตและวานิลลา แม้กระทั่ง 'เนย'

ส่วนผสมทั้งหมดของ ซิกเนเจอร์ เค้ก นำเข้าจากฝรั่งเศส คุณรภีร์เล่าว่า ลองให้เชฟเปลี่ยนเนยที่มีส่วนผสมเพียงสองเปอร์เซ็นต์ เป็นเนยคุณภาพของไทย แต่ก็ทำให้รสชาติเปลี่ยน จึงก็ต้องเปลี่ยนกลับเป็นเนยฝรั่งเศสเหมือนเดิม

ซิกเนเจอร์ เค้ก คือขนมประเภท ‘มูสเค้ก’ และเพราะซิกเนเจอร์ เค้ก จะเปลี่ยนสูตรไม่ได้ คุณรภีร์จึงให้เพสตรี้เชฟออกแบบสูตรซิกเนเจอร์เค้กออกมา 4 รสชาติ ครอบคลุมความชอบของลูกค้าครบ 4 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือลูกค้าซึ่งชอบช็อกโกแลต ซิกเนเจอร์เค้กตัวนี้ทำออกมาเป็นรูปหน้าตัวการ์ตูน ชาร์ลี บราวน์ เป็นทริปเปิลช็อกโกแลต คือมีทั้งดาร์กช็อกโกแลต มิลค์ช็อกโกแลต สอดไส้ไวท์ช็อกโกแลต

สำหรับลูกค้าซึ่งชื่นชอบรสชาติของ ครีม ชีสและนม ทางร้านใช้ชีสที่มีรสชาติของนมทำเป็นรูปหน้า สนูปี้ สอดไส้คาราเมลไว้ด้านใน

ซิกเนเจอร์เค้กสูตรที่สาม ออกแบบสำหรับลูกค้าซึ่งชอบ มูสเค้กรสหวาน เนื้อเบาๆ แทนด้วยรูปหน้าตัวการ์ตูนสาวน้อย ลูซี่ ทำด้วยสตรอว์เบอร์รี บับเบิล กัม

ซิกเนเจอร์เค้กสูตรที่สี่ ทำเป็นรูปหน้าตัวการ์ตูน วู้ดสต็อค วัตถุดิบคือแพสชั่นฟรุต สอดไส้วานิลลาจากมาดากัสการ์ สำหรับกลุ่มลูกค้าซึ่งชื่นชอบมูสเค้กรสเปรี้ยวนำ

ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ ที่ฮ่องกง มีขนมเค้กรูปใบหน้าคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนเหล่านี้เช่นกัน แต่เป็นคนละรสชาติ เช่น วู้ดสต็อคที่ฮ่องกงเป็นรสมะม่วง

“ซิกเนเจอร์เค้กเหล่านี้ทำยากมาก ซัพพลายเออร์เราล้มลุกคลุกคลานกันไปเยอะมาก เพราะต้องใช้แม่พิมพ์เป็นตัวการ์ตูน หากคิ้ว-ตา-จมูกแหว่ง หรือหูหัก ผมเอามาขายไม่ได้ ลูกค้าไม่แฮปปี้เวลาถ่ายรูป มีฟองอากาศนิดหนึ่งก็กลายเป็นสิว กรรมวิธีการผลิตจึงยาก” รภีร์ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีซิกเนเจอร์ไอศกรีม สนูปี้ เจลาโต ไอศกรีม เป็นครั้งแรกที่มีไอศกรีมประเภทเจลาโตออกมาเป็นรูปสนูปี้ รสชาติเกาลัด เสิร์ฟพร้อมแพนเค้กร้อนๆ หรือช็อกโกแลตฟองดอง ถือเป็นสาขาแรกในโลกที่มีไอศกรีมรูปสนูปี้ด้วยเช่นกัน

กลุ่มของกินประเภทอาหารคาวมีเป็นลักษณะของขนมปังอบ เช่น ครอสตินี่ (Crostini) ขนมปังฝรั่งเศส กรอบนอกนุ่มใน โรยหน้าด้วยแฮมชีสหรือเห็ด, พานีนี่ (Panini) แซนด์วิชอิตาเลียนอุ่นร้อน หรือ hot-pressed sandwich เป็นของกินที่กำลังได้รับความนิยมในยุโรป ร่วมด้วย ครัวซองต์แฮมชีส (Croissant Ham Cheese) ผ่านการอบร้อนแบบชิ้นต่อชิ้น เป็นอาทิ

“เราวางตัว(position)เมนูให้เป็นสแน็ค เป็นควิกลันช์ แต่ไม่ถึงขั้นกะเพราไก่ไข่ดาว เป็นแค่แซนด์วิชและพานินี่” คุณรภีร์ กล่าว

ความโดดเด่นของเมนูที่ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ ประเทศไทย อีกกลุ่มคือ เครื่องดื่ม ที่นี่มีเมนูเครื่องดื่มมากกว่าเบเกอรี่ เครื่องดื่มหลายเมนูพัฒนาสูตรเองเพื่อร้านนี้โดยเฉพาะ

“เช่น ชาร์ลี'ส เฟเวอริท (Charlie’s Favorite) ผมอยากให้มีเครื่องดื่มตัวหนึ่งที่ไม่มีใครทำรสนี้ แต่มีความเสี่ยง คนชอบก็ชอบเลย คนไม่ชอบก็จะไม่ชอบเลย ตั้งใจให้อารมณ์เวลากินนึกถึงชาร์ลี บราวน์ ตอนเขากวนๆ เป็นสับปะรดบวกกับแคนดี้(ลูกกวาด) สับปะรดให้ความเป็นเอเชีย แคนดี้ให้ความสนุก มีทั้งแบบโซดาและแฟรบเป้” คุณรภีร์ อธิบาย

เช่นเดียวกับเครื่องดื่มประเภท กาแฟ นอกจากใช้สัดส่วนอาราบิก้า 90 เปอร์เซ็นต์ โรบัสต้า 10 เปอร์เซ็นต์ ในการเบลนด์เพื่อให้ได้รสชาติและกลิ่นหอมของกาแฟคุณภาพ ทั้งแบบร้อน เย็น ปั่น โดยใช้ร่วมกับไซรัปจากฝรั่งเศส คุณรภีร์ยังให้ความสำคัญกับ เครื่องชงกาแฟ อย่างมีเหตุผล

“ผมลงทุนกับเครื่องชงกาแฟราคาสี่แสนห้าหมื่นบาท เพราะต้องการให้กาแฟได้มาตรฐานเดียวกันทุกแก้ว ไปชิมวันไหนรสชาติเหมือนเดิมวันนั้น ฟองนมเนียนนุ่มสม่ำเสมอ และยังเป็นการลดของเหลือทิ้งให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด เช่น การตีฟองนมที่พอดีกับแต่ละแก้ว จากการคำนวณของเครื่องที่จะสูบนมขึ้นมาตีฟองจากที่เก็บนมซึ่งควบคุมอุณหภูมิอยู่ใต้เครื่อง ไม่มีนมเหลือทิ้งจากการตีฟองนมด้วยมือ”

สำหรับคนชอบช็อกโกแลตมีเครื่องดื่มพิเศษ ซิกเนเจอร์ ช็อกโกแลต (Signature Chocolate) รสชาติเข้มข้นด้วยช็อกโกแลต 3 ชนิด คือช็อกโกแลตฝรั่งเศสสองแบบ และช็อกโกแลตเบลเยียม เบลนด์ในอัตราส่วนที่เป็นความลับ

ชาเย็น รูบี รอยบอส (Ruby Rooibos) ใช้ใบชา 'รอยบอส' ซึ่งปลอดคาเฟอีนตามธรรมชาติ

ทั้งกลุ่มขนมเค้ก เบเกอรี่ และเครื่องดื่ม คุณรภีร์ปรึกษาสูตรร่วมกับเชฟระดับ 'กอร์ดอง เบลอ' ซึ่งมีการจัดการในรูปแบบ 'บริษัทผลิตอาหาร' เป็นผู้รับผิดชอบ

“หลังครัวของเราเป็นบริษัทผลิตอาหาร เนื่องจากเราต้องการกำลังผลิตที่มากพอสำหรับการเปิดเป็นแฟรนไชส์ นั่งทำที่บ้านหรือออฟฟิศไม่พอ ต้องเป็นบริษัทที่มีความสามารถทำได้ในจำนวนมาก เพียงแต่ว่าเราเป็นคนสเป็คสูตรลงไปและเซ็นสัญญาว่าเป็นสูตรที่ทำขายให้เราเท่านั้น ไม่ทำขายให้คนอื่น” คุณรภีร์กล่าวและว่า รวมทั้งอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารก็ต้องเซ็นสัญญาผลิตในลักษณะเดียวกัน

เนื่องจากอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารมี ลวดลายคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูน ซึ่งเป็นเรื่องของ ‘ลิขสิทธิ์’ เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง และเป็นสิ่งที่เจ้าของลิขสิทธิ์ในนิวยอร์กให้ความเข้มงวด

“ร้านทั้งหมดที่เห็น แก้ว จาน รูปภาพบนผนังที่เป็นตัวการ์ตูน ผมต้องส่งให้อเมริกาตรวจสอบทั้งหมด เช่น ตัวการ์ตูนบนผนัง เราอยากรวมกลุ่มเขา เราก็เลือกตัวการ์ตูนที่เมื่อมาเข้ากลุ่มแล้วดูสวย ปรากฏว่ามีการ์ตูนตัวหนึ่งที่อาร์ตเวิร์คลายเส้นเป็นคนละปีพอศอกับการ์ตูนตัวอื่น ทางอเมริกาก็ไม่ให้นำมาอยู่รวมกัน หรือตัวการ์ตูนที่หันไปทางซ้าย เราไม่ได้รับอนุญาตให้พลิกกลับหันไปทางขวา หรือจะตัดภาพครึ่งตัวของสนูปี้ ก็ยังต้องให้เห็นปลอกคอเสมอ” คุณรภีร์ ยกตัวอย่าง

รายละเอียดยังรวมไปถึง แบบตัวอักษร ที่จะปรากฏในร้าน ก็ต้องเป็นแบบเดียวกับที่ใช้เล่าเรื่องในการ์ตูนชุดสามช่องที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทุกอย่าง

“การเล่าเรื่องของการ์ตูนชุดพีนัทส์ใช้อักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ที่เป็นแบบเฉพาะของเขา ยกเว้นอักษรตัวไอ (i) ที่เป็นตัวพิมพ์เล็ก แต่จะยกเว้นตัวไอที่แปลว่า’ฉัน’ จะใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ปกติ นี่คือกฎของเขา”

ส่วนการแต่งร้าน การใช้สีสัน ซึ่งเป็นเรื่องความสวยงาม ทางฮ่องกงเปิดให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ออกแบบตกแต่งได้ตามความสวยของแต่ละวัฒนธรรมที่มีรสนิยมความสวยงามต่างกัน

รูปปั้นสนูปี้ตัวใหญ่ที่เห็นในร้าน ไม่ได้นำเข้ามาจากฮ่องกงหรือนิวยอร์ก แต่สั่งผลิตขึ้นใหม่ในประเทศไทย เพื่อสร้างความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์จากสาขาอื่นทั่วโลก ซึ่งกว่าจะผ่านความถูกต้องของสัดส่วนจากนิวยอร์กก็ยากมาก

“การตกแต่งร้านของเราแทบจะตรงข้ามฮ่องกงด้วยซ้ำ เป็นความตั้งใจของเราที่ทำให้ไม่เหมือน” คุณรภีร์กล่าว

ร้านขนาด 100 ที่นั่ง แบ่งเป็นโซนเก้าอี้ผสมโซฟา โซนเก้าอี้กลางร้าน โซนที่นั่งหน้าเคาน์เตอร์บาร์เครื่องดื่ม โซนชานระเบียงหน้าร้านริมทางเดิน และโซนห้องปาร์ตี้ส่วนตัว (ขนาด 15 คน ราคา 4,500 บาท/สามชั่วโมง)

ปัจจุบันเรย์มอนด์ ม็อก ขายแฟรสไชส์ร้านชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ ไปมากกว่า 30 สาขาในเอเชีย โดยชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ ในประเทศไทย เป็นสาขาลำดับที่ 33 ขณะนี้ถือเป็นสาขาที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกด้วยพื้นที่ร้าน 216 ตารางเมตร

ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ ในฮ่องกง เมื่อเปิดตัวครั้งแรก ได้รับการตอบรับอย่างดีและกลายเป็นจุดนัดพบของวัยรุ่น ครอบครัว หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว ผนวกกับความเปิดกว้างของแบรนด์ที่ต้องการเข้าตรงถึงผู้บริโภค (Think global, Act local) แต่ละสาขาจึงมีการออกแบบและตกแต่งเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแต่ละภูมิภาคของโลก ซึ่งต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและไม่เหมือนใคร

“โดยที่จีนมีสาขามากที่สุด อัตราเติบโตเร็วมาก สองสามเดือนก่อนมีแค่ที่ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ แต่วันนี้มีเป็นสิบสาขา เสียงตอบรับดีมาก ซึ่งเขาตั้งใจทำเป็นร้อยสาขา”

ส่วนในประเทศไทย คุณรภีร์กล่าวว่า มีโอกาสเพิ่มสาขาเช่นเดียวกัน

หมายเหตุ : ชาร์ลี บราวน์ คาเฟ่ ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของศูนย์การค้าเมกา บางนา (ตรงข้าม ikea) เปิดบริการทุกวัน 10.00-22.00 น. โทร.0 2105 2076 เฟซบุ๊ค CharlieBrownCafeThai

ภาพ : เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร