สูตรนมผงผสมมายา
เมื่อน้ำนมแม่ไม่อยู่ในแผนโปรโมชั่น กลยุทธ์การตลาดอันแยบยลก็สร้างนมผงให้มีคุณค่าจนผู้บริโภคถูกปิดกั้นความจริง
อัลฟาแลคตัลบูมิน ดีเอชเอ เออาร์เอ กลายเป็นคำที่คุ้นมากๆ ในยุคที่มองไปทางไหนก็มีแต่สื่อ หลายคนรู้ทันทีว่า เหล่านี้คือสารอาหารที่มีอยู่ในนมผง จากการกระตุ้นซ้ำหรือการย้ำสารทุกช่องทาง ลองนึกดูว่า ในหนึ่งวันเรามองเห็นหรือได้ยินคำพวกนี้บ่อยแค่ไหน ยิ่งถ้าเป็นคุณแม่ที่กำลังมองหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกอยู่ล่ะ? แน่นอนว่า จะต้องมองเห็นมากกว่าใครๆ
แต่...รู้ไหมว่า นี่คือมายาคติชนิดร้ายแรงอย่างหนึ่ง!
การส่งเสริมการตลาด หรือโปรโมชั่น (Promotion) ทำให้เกิดมายาคติมาแล้วนับไม่ถ้วน อย่างการมีหน้ารูปตัววี ทำให้ผู้หญิงดูสวย หรือความหล่อเท่สมัยใหม่ ต้องเป็นแบบเทรนด์เกาหลี และนี่เป็นอีกครั้งที่ทำให้แม่ หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้มีบทบาทเป็นแม่ ได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงว่า นมผงมีคุณประโยชน์มากมาย และมากพอที่จะให้ลูกกินเทียบเท่ากับนมแม่
“มันมีอยู่จริงในเชิงปริมาณ เพราะถ้าเขาเติมลงไป มันจะทำให้นมผงเขาแตกต่างจากแบรนด์อื่น ถ้ามีเหมือนกันเขาก็จะแย่งตำแหน่งทางการตลาดไม่ได้ ก็เลยบอกว่า ของเขามีอัลฟาแลคตัลบูมิน ของเขามีดีเอชเอ ทีนี้เขาพูดแต่ว่ามีอัลฟาแลคตัลบูมิน แต่ไม่เคยพูดความจริงอีกด้านที่ว่า อัลฟาแลคตัลบูมินที่มีในนมผง มันเทียบไม่ได้เลยกับอัลฟาแลคตัลบูมินที่มีในนมแม่ มันคือการพูดความจริงครึ่งเดียว แต่สารอาหารที่นมผงไม่สามารถผลิตได้ แล้วมีอยู่ในนมแม่ไม่พูด ในเรื่องของความเสี่ยง เขาก็ไม่พูด” ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง นักวิชาการนิเทศศาสตร์อิสระ เปิดเผยหลังจากที่ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการตลาดของบริษัทนมผงในประเทศไทย
นอกจากจะการเติมสารอาหารเพื่อให้เกิดความแตกต่างกันระหว่างแบรนด์แล้ว ภายในแบรนด์เดียวกัน ก็ยังมีการเติมสารอาหารเพื่อให้เกิด “ระดับ” ของสินค้าที่ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้ตามกำลังทรัพย์ ปัจจุบัน มีนมผงระดับ Economy, Standard และ Premium โดยมีราคาแตกต่างกัน ในปริมาณ 550 กรัม หากเป็นนมผงระดับล่างสุด จะมีราคาอยู่ที่ 100-200 บาท ระดับกลางจะอยู่ที่ 300 แต่ไม่เกิน 500 บาท และถ้าเป็นนมผงที่บอกว่าเป็นนมที่มีสารอาหารสูงก็จะมีราคา 500 บาทขึ้นขึ้นไป และหากเป็นสูตรพิเศษ เช่น การเปลี่ยนเป็นโปรตีนที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก จะมีราคาตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ซึ่งข้อมูลที่เปิดเผยขึ้นในงานแถลงข่าว “การตลาดนมผง=เสี่ยง” ระบุว่า มูลค่าของตลาดนมผงในปัจจุบันสูงถึง 25,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนเป็นนมระดับ Premium ถึง 68 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากแม่เลือกใช้นมผงเลี้ยงลูก จะเสียค่าใช้จ่ายปีละ 74,520 บาท เป็นอย่างน้อย
ที่ชั้นวางสินค้าประเภทนมผง เราจะเห็นผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบในหลายๆ สี เพราะมีหลายสูตร สูตรหลัก คือ สูตร 1 สำหรับเด็กแรกเกิด - 6 เดือน สูตร 2 สำหรับเด็ก 6 เดือน - 1 ปี สูตร 3 สำหรับเด็ก 1 ปี ขึ้นไป ซึ่ง พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522 ได้ออกมาเพื่อควบคุมฉลากและสารอาหารในนมผง สูตร 1 และ 2 เพราะจัดอยู่ในอาหารที่ต้องควบคุมเฉพาะ เช่น ที่ฉลากต้องระบุว่า "นมดัดแปลงสําหรับทารก ควรใช้ตามคําแนะนําของแพทย์ พยาบาล หรือนักโภชนาการ" เช่นนี้พนักงานขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตจะรู้ดีว่า “ห้ามเชียร์” สูตร 1 และสูตร 2 แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเชียร์สูตรใดๆ ให้แม่ก็นับเป็นการละเมิดหลักเกณฑ์ที่เคยตกลงกันไว้
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2524 องค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศสมาชิก 22 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้ทำข้อตกลงกันว่า จะประกาศใช้ “หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง” หรือ “CODE นม” ที่กำหนดไว้เพื่อปกป้องให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่ โดยที่ได้ “ขอความร่วมมือ” จากบริษัทนมผงให้ปฏิบัติตาม และบริษัทต่างยินดีและร่วมทำข้อตกลงนี้ แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น ทุกบริษัทได้ใช้กลยุทธ์มากมายเพื่อสร้างกำไรเหมือนไม่เคยมีข้อตกลงที่ว่ามาก่อน
“นมผงเหล่านี้จำหน่ายทั่วไปหมดเลย ตั้งแต่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วย แม้กระทั่งในโรงพยาบาล ทีนี้ CODE ข้อที่ 1 บอกไว้เลยว่า ห้ามส่งเสริมผลิตภัณฑ์ต่อสาธารณชน คำว่า ห้ามส่งเสริม คือ ห้ามโฆษณา ห้ามทำการตลาดโดยตรง ห้ามทำการตลาดในอินเทอร์เน็ต ห้ามส่งเสริมการขาย หรือทำเซลล์โปรโมชั่น ห้ามประชาสัมพันธ์ ห้ามใช้พนักงานขาย แล้วก็อื่นๆ อีกมากมาย” ดร.บวรสรรค์เผย ซึ่งจากการที่ได้เก็บข้อมูล เขาพบว่า เกือบทุกบริษัทจะมีพนักงานยืนประจำอยู่ที่แผนกนมผง และที่ร้ายไปกว่านั้นพนักงานขายที่ “เนียน” ที่สุด กลายเป็นบุคลากรทางการแพทย์เสียเอง
“พนักงานขายที่เราเห็นตามห้าง อันนี้เราเห็นชัดเจนว่าเขาแต่งเครื่องแบบของบริษัท แต่ที่แนบเนียนคือแพทย์ แม่ไม่ได้คิดว่า แพทย์เป็นพนักงานขาย เพราะแพทย์มีความน่าเชื่อถือ แต่เวลาแพทย์ไปเป็นวิทยากรบรรยาย สมมติถ้าบริษัทเชิญไป แพทย์เหมือนเป็นพนักงานขายอ้อมๆ ให้กับเขาเลย”
วิธีการหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ คือ การจัดงานเพื่อให้ความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์หรือแม่ที่เกี่ยวกับ “สารอาหารที่ลูกควรได้รับ” ก็ดี เกี่ยวกับ “เคล็ดลับพิชิตอาการแพ้นมของลูก” ก็ดี มักจะมีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ไปบรรยาย และมีบริษัทนมผงเป็นผู้สนับสนุน หรือบางครั้งเป็นผู้จัดงานเอง ซึ่งในงานแบบนี้ เพียงมีสินค้าหรือตราสัญลักษณ์ของบริษัทปรากฏอยู่ จะทำให้แม่เกิดความเชื่อมโยงเองว่า สารประโยชน์ที่ผู้เชี่ยวชาญพูดกับสินค้าที่วางอยู่คือสิ่งเดียวกัน
โรงพยาบาลยังเป็นสถานที่ที่ “ตัวแทนนมผง” ต้องหมั่นเข้าไป เพื่อแจกแจงกับหมอและพยาบาลว่า มีสารอาหารใดอยู่ในนมผงตัวใดบ้าง และให้ของเล็กๆ น้อยๆ ไว้ เช่น ปากกา สมุด ที่มีตราสัญลักษณ์ของนมผงนั้นๆ ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่สมัยนี้ใครๆ ก็ทำการตลาดเช่นนี้ แต่การกระทำแบบนี้กำลังละเมิด CODE อีกข้อหนึ่งที่บอกว่า “ห้ามให้ของขวัญแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข”
พยาบาลของโรงพยาบาลรัฐประจำแผนกกุมารเวชกรรมให้ข้อมูลว่า ในการประชุมประจำเดือน จะมีตัวแทนนมผงเข้ามาทำกิจกรรมกับบุคลากรทางการแพทย์ และยังให้ของเป็นนมผงหรือของรางวัลเล็กๆ เป็นการตอบแทน ซึ่งแต่ละครั้ง ตัวแทนนมผงจะคอยบอกส่วนผสม ประโยชน์ รวมไปถึงราคาของนมผงด้วย
“อีกอย่างหนึ่ง เขาก็จะให้ของ จะมีเป็นเหมือนผ้าขนหนูชิ้นเล็กๆ เหมือนเป็นกิ๊ฟท์เชตให้คุณแม่หลังคลอด เอามาให้เลย ฝากไว้ คล้ายๆ กับบริจาคให้ ซึ่งถ้ามี พี่พยาบาลเขาก็จะเอาไปให้แม่” กุมารแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐอีกแห่งหนึ่งเผย
แม้ปากกาหรืออะไรก็ตาม จะถูกมองว่า ไม่ใช่ “ของขวัญ” เพราะไม่มีมูลค่ามาก แต่เบื้องหลังของเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ กลับสร้างการจดจำเป็นอย่างดีให้กับผู้ที่มาโรงพยาบาล
“จริงๆ แค่แจกปากกาก็ผิด เพราะมันเป็นของขวัญ แล้วของขวัญแบบนี้ยังอยู่กับหมอ สมมติว่าแม่เข้าไปในห้องตรวจแล้วเห็นหมอใช้ปากกาของ... ที่วัดส่วนสูงก็เป็นของ... ของพวกนี้ไม่ได้มีมูลค่า แต่มันอยู่ในห้องหมอ แม่จะรู้สึกยังไงกับแบรนด์พวกนี้” ดร.บวรสรรค์อธิบาย
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบของการเข้ามาในสถานพยาบาลที่มีวิธีการไม่ต่างกับ “บูธสินค้า” ในห้างสรรพสินค้า และแม้ว่าจะไม่ได้มีการวางจำหน่ายสินค้าโดยตรง แต่ก็มีตัวแทนที่สามารถติดต่อกันได้ประจำบูธอยู่
“ส่วนใหญ่ก็จะมาตาม OPD เด็ก ก็จะมีตั้งซุ้มอยู่ข้างหน้า เดินมาแนะนำว่าเป็นนมสำหรับอะไร แล้วก็จะมีโบชัวร์แจกบ้าง โบชัวร์จะเอาไว้แจกหมอว่า อันนี้มีสรรพคุณอะไรบ้าง สำหรับเด็กด้านไหน แต่ถ้าตั้งซุ้มก็จะมีให้พ่อแม่เด็กด้วย ถ้าจัดประชุมวิชาการก็จะมีบูธว่า แต่ละอย่างเป็นยังไง ถ้ามีนมที่ชิมได้ เขาก็จะเอานมมาให้ชิม มีใบตอบคำถาม 1 2 3 ข้อ บางทีก็จะเป็นจับคู่ บางทีก็เป็นเติมคำในช่องว่าง ส่วนใหญ่ก็จะให้คนที่เดินผ่านมาเล่นเกม เมื่อทำเสร็จก็จะได้ของรางวัลไป” กุมารแพทย์เผย
การใช้พนักงานขายจริงๆ และแบบเนียนๆ เช่นนี้จึงได้ละเมิด CODE อีกข้อที่บอกว่า “ห้ามแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์และของขวัญฟรีแก่แม่” ไปด้วย
ขณะที่ พ.ร.บ.อาหารฯ ได้กำกับดูแลนมผงสูตร 1 และ 2 นม แต่ CODE นมจะครอบคลุมนมผงสูตร 1 สูตร 2 สูตร 3 และสูตรพิเศษ ในหลายๆ เรื่องที่มากกว่าการติดฉลาก จุดนี้จึงทำให้เกิดช่องโหว่ที่บริษัทนมผงมักจะเลือกเอานมสูตรที่ 3 หรือสูตรสำหรับแม่มาใช้ในการโฆษณาหรือทำโปรโมชั่น ด้วยเหตุผลเดียวกันว่า ผิด CODE แต่ไม่ได้ผิดกฎหมาย
“อย่างการตลาดในอินเทอร์เน็ต ก็มีทางเว็บไซต์ ใช้ไลน์ ออกแบบแอปพลิเคชั่นสำหรับนม เพื่อสร้างเครือข่ายให้แม่ ให้แม่ไปสร้างเครือข่ายต่อ ทีนี้แพ็คเกจ มันแนบเนียนตรงที่ว่า ก็ออกแบบให้มันเหมือนๆ กัน ให้โครงสร้างสี หรือสารอาหารอะไรมันเหมือนๆ กันหมด ในทุกสูตร โดยเลือกสูตรที่โฆษณาได้มาใช้” ดร.บวรสรรค์ให้ข้อมูล
การเข้าถูกจังหวะของการส่งเสริมการตลาดของนมผงทั้งในชีวิตประจำวันและตามโรงพยาบาล ทำให้เกิดมายาคติขึ้นมาว่า นมผงเท่ากับนมแม่ แม่หลายคนคิดว่า นมผงมีคุณค่าตามที่ได้โฆษณาไว้ ซึ่ง พรธิดา พัดทอง เจ้าหน้าที่โครงการฝ่ายสารนิเทศ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย เล่าว่า เมื่อแม่หลายคนที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ก็จะคิดว่า ไม่เป็นไร เพราะมีสิ่งทดแทนและไม่พยายามใช้นมตัวเองเลี้ยงลูก
“จากที่สร้างว่า นมผงร่วมกับนมแม่ได้ นมแม่ไม่มาไม่เป็นไร ให้นมผงไปก่อน มันมีผลมากจริงๆ พอคุณแม่ทำคลอดก็กลับบ้าน แล้วน้ำนมไม่มีก็ให้นมผง งานวิจัยพบว่า คุณแม่รู้หมดเลยว่านมแม่ดีที่สุด แต่สาเหตุอันดับหนึ่งที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้คือ คุณแม่บอกว่าน้ำนมไม่พอ แต่ไม่มีใครบอกคุณแม่เลยว่า สาเหตุที่น้ำนมไม่พอคือคุณไม่ได้ผ่านการเจ็บปวด คุณคิดว่านมผงกินเลี้ยงร่วมกับนมแม่ได้ เมื่อแม่ไม่ได้ให้นม ธรรมชาติของร่างกายก็สั่งให้นมค่อยๆ ลดไป”
กีรตี แจ้งกุลบุตร แม่อายุ 25 ที่ตอนนี้มีลูกอายุ 1 ขวบกว่า เล่าประสบการณ์เลี้ยงลูกของตัวเองว่า เมื่อเธอคลอดลูกออกมาแล้วน้ำนมแม่ไม่ออก ก็ได้ตัดสินใจให้ลูกกินนมผงทันทีโดยที่ไม่ได้มีใครบอก
“หลังจากคลอดประมาณ 2 อาทิตย์ นมเราไม่ออก ตอนนั้นหมอก็บอกนะว่าให้ลูกดูดไปเรื่อยๆ เดี๋ยวนมก็ออก แต่เราเจ็บไง เราไม่ได้คลอดธรรมชาติด้วย แต่พอไม่มีนม แล้วน้องเขาหิว ก็เลยเอานมผงให้กิน ตอนนั้นเราคิดว่า สิ่งเดียวที่ลูกกินได้ก็คือนมผง เราถามจากคนอื่นๆ ว่าเขาให้กินนมอะไรกัน แต่น้องกินแล้วก็ปวดท้องและร้องไห้ เราก็เลิก จริงๆ พอเรากระตุ้น หลังจากนั้น 2 อาทิตย์ นมเราก็มา”
จากการสำรวจของสำนักสถิติแห่งชาติ ปี 2556 พบว่า แม่ในประเทศไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใน 6 เดือนแรกเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ และแม่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็คือผู้บริโภคสื่อที่ทันสมัยนั่นเอง
“เชื่อไหมว่า คุณแม่ยิ่งมีความรู้ คุณแม่ในเมืองกลับเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลงเรื่อยๆ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยต่ำจะที่สุดในโลกแล้ว คิดดูสิ ทำไมเด็กไทยถึงได้เป็นโรคกันมากมาย ...จากการที่เราไปสำรวจ เราก็จะดูว่าโปรไฟล์ของคุณแม่เป็นยังไง แล้วก็เห็นว่า คุณแม่ที่ต้องทำงานจะไม่ใช้นมแม่ แต่ว่าคุณแม่ที่ได้ไปคุ้นเคยกับสื่อพวกนี้จะตัดสินใจด้วยความรวดเร็วมากว่า นมผงเท่ากับนมแม่ นมผงเป็นตัวช่วยได้” ผู้แทนยูนิเซฟกล่าว
เพราะข้อตกลงยังไม่ได้เป็นกฎหมาย ทำให้เกิดกลยุทธ์การตลาดอันแยบยล เพราะมายาคติที่สร้างขึ้น ทำให้หลายครอบครัวเสียเงินเพิ่ม และที่ร้ายก็คือ เด็ก สมาชิกที่ตัวเล็กที่สุด ต้องเสี่ยงต่อโรคโดยที่เขาไม่ได้เป็นคนเลือกเลย