'มุม-โดน-ดัง' ที่อินชอนเกมส์ 2014

'มุม-โดน-ดัง' ที่อินชอนเกมส์ 2014

เก็บตก "ข้างสนาม" บนหน้าประวัติศาสตร์มหกรรมกีฬาแห่งเอเชีย "เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17" ผ่านหลากแง่มุมที่เต็มไปด้วยข้อกังขา ดราม่า และมุ้งมิ้ง

  • การเมืองข้างสนาม

ทันทีที่โผคู่แข่งขันฟุตบอลชายปรากฏแก่สายตาแฟนกีฬา นอกจากทีมชาติไทยจะได้มีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่แล้ว หลายคนยังฝันถึง "ดราม่าจานร้อน" ระหว่างเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ในมหกรรมกีฬาแห่งเอเชีย เอเชียนเกมส์ 2014

ก่อนการฟาดแข้งในนัดชิงชนะเลิศระหว่างโสมแดง และโสมขาวจะเริ่มขึ้น หลายฝ่ายต่างแสดงทรรศนะไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะประเด็น "การเมือง"

ถึงจะไม่ใช่การเจอกันครั้งแรกที่อินชอน อย่างน้อย นักเตะสาวโสมขาวก็เพิ่งเขี่ยนักเตะโสมแดงตกรอบไปก่อนหน้านี้ ยิ่งเมื่อเทียบกับศักดิ์ศรีของกีฬายอดนิยมของมวลมนุษยชาติ แมตช์นี้จึงถูกยึดโยงกับการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่หากเราย้อนมองดูการแข่งขันกีฬารายการระดับนานาชาติที่ผ่านมาก็จะพบว่าล้วนมี "นัยยะ" ซ่อนอยู่ระหว่างเกมการการแข่งขันทั้งนั้น

เรื่องนี้ ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ จากสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเจ้าของบทความเรื่อง ฟุตบอล : การเมืองของเกมใต้ตีนใคร ? หนึ่งในคณะผู้เขียนหนังสือเรื่อง "ฟุตบอล ประวัติศาสตร์ อำนาจ การเมือง และความเป็นชาย" ถือว่า เป็น "ปกติ"

ที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะ เรื่องเกี่ยวกับกีฬากับการเมือง สำหรับนักวิชาการสายการปกครองอย่างเขา หลักๆ จะหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่า...

"กีฬา" คล้ายเป็น Metaphor หรือการอุปมาอุปไมย กับภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้ง หรือความร่วมมือของแต่ละประเทศจริงๆ ซึ่งมันจะถูกยึดโยงกับกีฬา

"การแข่งขันกีฬา" มักมีการเรียกร้อง เคลื่อนไหว หรือใช้สนามกีฬาเป็นพื้นที่แสดงออกบางประการ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเชิงสังคมหรือการเมือง

"กีฬา" เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังความเป็นชาตินิยม สร้างความยอมรับในตัวผู้นำถ้าหากทำทีมกีฬาประสบความสำเร็จ

แน่นอน อินชอนเกมคราวนี้ก็มี "โสมแดง" และ "โสมขาว" เป็นดาราชูโรง

"เราจะเห็นได้ชัดว่ากีฬามันสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศนี้อย่างชัดเจน"

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเกาหลีมีการแยกขั้วอำนาจเป็นเหนือ (รัสเซีย) ใต้ (อเมริกา) อย่างชัดเจนในช่วงสงครามเย็น อันนำไปสู่สงครามเกาหลีขึ้น หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายก็ "ระหองระแหง" กันมาโดยตลอด

"บางช่วงถ้าความสัมพันธ์ดีขึ้น หลายๆ นโยบายของทั้ง 2 ฝ่ายช่วงปี 1994 - 2000 ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ดีมาก เพราะโซเวียตล่มสลาย นโยบายเกาหลีใต้เปิดกว้าง และทางคิมจองอิลก็เปิดกว้าง ก็ได้มีการพัฒนาไปถึงขั้นส่งทีมฟุตบอลในนาม "เกาหลี" ทีมเดียวไปแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เยาวชนโลกที่โปรตุเกส ครั้งนั้นเป็นครั้งเดียวที่มีความร่วมมือถึงขนาดนั้น แต่หลายๆ ครั้งก็มีความร่วมมือเชิงสัญลักษณ์ อาทิ การเดินเข้าสนามพร้อมกันในโอลิมปิก ปี 2000 ที่ซิดนีย์ รวมทั้งมีการใช้ธงชาติผืนเดียวกันที่เป็นสัญลักษณ์ 2 ประเทศรวมกัน เกาหลีใต้ก็จะเชียร์เกาหลีเหนือ และเกาหลีเหนือก็จะเชียร์เกาหลีใต้" ตรงนี้เห็นได้ชัดว่า หากความสัมพันธ์ดี ก็จะแสดงออกในเกมกีฬาด้วย

แต่ระยะหลัง ความสัมพันธ์เริ่มเปลี่ยนไป การแสดงออกเชิงกีฬาก็เปลี่ยนตามเหมือนกัน

"โอลิมปิกที่ปักกิ่งจากที่เคยเดินเข้าสนามพร้อมกัน ก็กลายเป็นต่างคนต่างเดิน แล้วก็แยกจากกันมาจนวันนี้"

ถึงอย่างนั้น ภายในสนามแข่งขันก็ยังมีการแสดงสัญลักษณ์การรวมชาติให้เห็นอยู่ อย่างฟุตบอลหญิงรอบรองชนะเลิศระหว่าง "เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้" นั้น มีคนดูในสนามมุนฮัคหนาตา และมีกองเชียร์ร่วมระหว่าง 2 เกาหลี ประมาณ 1,000 คน จากองค์กรเอกชนกว่า 100 แห่งในเกาหลีใต้เข้าร่วมเชียร์ พร้อมกับการติดป้ายผ้าขนาดใหญ่บริเวณริมอัฒจันทร์ เขียนข้อความเป็นภาษาเกาหลีที่แปลได้ว่า One-Korea, Shoot Goal-In For Unification หรือ "เกาหลีหนึ่งเดียว, ยิงให้ตรงเป้า เพื่อการรวมชาติ"

รวมทั้งในแมตช์ชิงชนะเลิศเมื่อวานนี้่ (2 ตุลาคม 2557) ในมุมหนึ่งของกองเชียร์ก็ถือว่านี่คือการเชียร์เพื่อบอกให้โลกรู้ว่า ยังมีคนเกาหลีอีกมากที่อยากให้รวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งยังมีการประดับ "ธงรวมเกาหลี" ไว้ตามสถานที่ต่างๆ อีกด้วย

ไม่เฉพาะ "ดราม่ากิมจิ" นักวิชาการจากแม่ฟ้าหลวงคนเดิม ยังตั้งข้อสังเกตถึงบรรดามหาอำนาจทางกีฬาของเอเชียล้วนต่างมีความขัดแย้ง และบาดแผลบนหน้าประวัติศาสตร์ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น หรือจีน แม้กระทั่งภูมิภาคอาเซียนเองก็มีประเด็นระหว่างประเทศซ่อนอยู่ไม่ต่างกัน ซึ่งในวันนี้ หลายชาติก็มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายลงอย่างชัดเจน

"คล้ายๆ กับว่าความเป็นชาตินิยมที่แข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายมันเริ่มผ่อนคลาย ที่เห็นหลายๆ ชาติมีการใช้แบรนด์กีฬาข้ามประเทศ เช่น ญี่ปุ่นมีกีฬาบางชนิดใช้แบรนด์ของจีน จีนก็เหมือนกัน มีกีฬาบางชนิดใช้แบรนด์ของญี่ปุ่น หรือสปอนเซอร์ใหญ่ของการแข่งขันครั้งนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นแบรนด์จีน ผิดกับเมื่อก่อนที่จะไม่ใช้ของชาติคู่แข่ง" นั่นก็ทำให้เห็นว่า เส้นแบ่งเรื่องนี้เริ่มคลี่คลาย และค่อยๆ หายไปในที่สุด

ที่สุดแล้ว คงต้องไม่ลืมว่า จุดมุ่งหมายของเกมกีฬาภายหลังจบการแข่งขันนั้นก็คือ การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เพื่อนำไปสู่สันติภาพ และความร่วมมือของโลกใบนี้นั่นเอง

  • Oh! My Hero

ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครน่าชื่นใจแฟนกีฬาชาวไทยเท่าโค้ช "ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ที่สามารถพาทีมชาติไทยทะลุถึงรอบรองชนะเลิศเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 17 ได้ ถึงจะพ่ายเจ้าภาพแบบ "น่ากังขา" ก็ตาม

แน่นอนว่า การเข้ารอบครั้งนี้นอกจากศรัทธาจากแฟนบอลชาวไทยแล้ว ตัวเขายังสร้างสถิติสำคัญให้กับตัวเอง และทีมชาติไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็น การกลายเป็นโค้ชไทยคนแรกที่พาทีมชาติไทยเข้าถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายฟุตบอลเอเชียนเกมส์ เป็นคนแรกที่สามารถไปถึงรอบรองชนะเลิศเอเชียนเกมส์ได้ทั้งในฐานะโค้ชและนักเตะ และทีมชาติไทยในยุค ซิโก้ ยังสร้างสถิติยิงประตูมากที่สุดตั้งแต่ปี 1966 ที่ไทยเข้าร่วมเอเชียนเกมส์

อีกคนหนึ่งที่น่าชื่นชม และทุ่มเทให้กับทีมชาติมาตลอดก็คือ แทมมี่ - แทมมารีน ธนสุกาญจน์ วันนี้แม้เธอจะอายุ 37 ปีแล้ว แต่ก็ยังเป็นขุมกำลังสำคัญของทีมเทนนิสไทย นอกจากผลงานที่สม่ำเสมอบนคอร์ทเทนนิสอาชีพ กับทีมชาติแทมมี่ก็เล่นด้วยความทุ่มเททุกครั้ง และที่อินชอนเกมส์ครั้งนี้ แม้จะเล่นคู่กับนักเทนนิสรุ่นน้องในฐานะ "คู่มือวางอันดับ 7" ของรายการ แต่เธอก็ไม่ทำให้แฟนเทนนิสชาวไทยผิดหวัง สามารถพลิกล็อกชนะคู่มือ 1 จากไต้หวันหยิบเหรียญทองทิ้งทวนการเล่นเอเชียนเกมส์ ครั้งสุดท้ายในชีวิตมาให้ทีมชาติไทยได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ความทุ่มเทของนักกีฬาในการแข่งขัน ไม่ว่าผลจะออกมาแพ้หรือชนะ กองเชียร์คนไทยก็ภูมิใจกับเหล่านักกีฬาของพวกเขาเสมอ

  • เกรียนไทยในโซเชียล

เอเชียนส์เกมครั้งนี้เกิดปรากฏการณ์ "เกรียนไทย" พากันเป็นนักเลงโซเชียลป่วนเพจสมาคมฟุตบอลเกาหลีตั้งแต่ยังไม่ได้แข่ง มีโพสต์และคอมเมนต์ถึงเกาหลีใต้ว่า "ขี้โกง" ยาวเป็นพรืดจนมีข่าวว่า เพจนั้นต้องยอมแพ้ความเกรียน ปิดเพจอำลาไปก่อน พอจบเกม ไทยแพ้เกาหลีใต้แบบคับข้องใจ (คนไทย) ด้วยความมั่นใจว่า งานโกงต้องมา พลังแหล่งความเกรียนก็ประสานกันลุยต่อ แห่กันโพสต์ภาพแคปเจอร์จากแมตช์ เช่น

ทำไมกรรมการถึงไม่ให้ไทยยิงจุดโทษตอนที่กองหลังเกาหลีใต้ทำแฮนด์บอล? กรรมการมองไม่เห็น "เส้น" เหรอ? ทำไมไม่เอาภาพช้ามาให้ดูล่ะ?

มุกฝากความหวังไว้กับ "ท่านผู้นำ" กลายเป็นมุกยอดฮิตถูกโพสต์ก่อนถึงวันแข่งฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ บางคนไปขุดคลิปวิดีโอสมัยฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้ (และญี่ปุ่น) เป็นเจ้าภาพแล้วชนะไปแบบมีเสียงทัดทานมารีเพลย์กันอีกรอบ เกรียนบางคนดราม่าหนักถึงขนาดตัดพ้อในสเตตัสส่วนตัวว่า จะไม่ดูซีรีส์เกาหลี ไม่กินอาหารเกาหลีอีกต่อไป!

...แม้จะแพ้ในเกม แต่ยังไงเกรียนไทยยังสู้ (นอกเกม) ได้เสมอ

  • แซงสถิติโลก

เมื่อ 45 ชาติในเอเชีย มาแข่งกันชิงเหรียญ 439 เหรียญ ในกีฬา 36 ประเภท หลายๆ กีฬาได้มีสถิติใหม่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ในระดับเอเชีย แต่เป็นระดับที่แซงตัวเลขที่เคยบันทึกไว้ในโลกไปแล้ว กีฬาที่ใช้ "ความแม่น" มีเจ้าภาพเกาหลีใต้สร้างแต้มสูงสุดให้โลกในกีฬายิงเป้าบิน ดับเบิลแทร็ป เมื่อ คิม มี จิน ทำแต้มได้ 110 แต้ม ซึ่งเป็นสถิติใหม่หลังจากที่สหพันธ์ยิงปืนนานาชาติใช้กฎใหม่เมื่อปีที่แล้ว ส่วนจีนก็แม่นไม่แพ้กัน ทำลายสถิติโลกทั้งยิงปืนยาวอัดลม 10 เมตร ประเภททีมหญิง, ยิงปืนยาวท่านอน 50 เมตร ประเภททีมชาย, ยิงปืนเป้าบิน ดับเบิลแทร็ป ประเภททีมหญิง ไปได้

กีฬาใช้ "พลัง" อย่างยกน้ำหนัก ก็มีนักยกลูกเหล็กเกาหลีเหนือ ออม ยูน ซอล ได้เหรียญทองประเภทชาย รุ่นน้ำหนัก 56 กิโลกรัม และคิม อุนจู ได้เหรียญทองประเภทหญิง รุ่นน้ำหนัก 75 กิโลกรัม ซึ่งไม่ใช่แค่พากันสร้างสถิติใหม่ของเอเชีย แต่ยังแถมด้วยการทำลายสถิติโลกท่าคลีน แอนด์ เจิร์ค ด้วยน้ำหนัก 170 และ 164 กิโลกรัม มาด้วย โดยทั้งคู่ยกท่านี้ได้มากกว่าสถิติโลกเดิมไป 1 กิโลกรัม

  • ไฮเทคอินชอน

ในยามที่เกาหลีใต้ คือ ภาพสะท้อนของความไฮเทคล้ำยุคซึ่งทั่วโลกรับรู้ได้จากแบรนด์ไฮเทคต่างๆ ที่ตีตลาดจนแบรนด์ตาน้ำข้าวต้องกระเจิงมาแล้ว แต่เมื่อพี่เกาฯ ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ทั้งที แน่นอนว่าสายตาทุกคู่ต่างจับจ้องกับไฮไลต์ในช่วงจุดคบเพลิงว่าจะมีอะไรพิสดารพันลึกให้ร้องว้าว! หรือไม่

แต่สุดท้ายก็ต้องเงิบกันทั้งบาง เมื่อแม่สาวแดจังกึม (ลี ยอง เอ) ปรากฏตัวในชุดกีฬาน่ารักเดินเคียงมากับเด็กน้อยและยื่นคบเพลิงจุดลงไปในกระถางอย่างแสนจะเบสิค ซึ่งแม้บางเสียงจะโต้ว่า นี่แหละคือความคิดที่ล้ำหน้ากว่าเทคโนโลยีไหนๆ เพราะ มันคือการมองทะลุจากสูงสุดสู่สามัญนั้น... ก็สุดแต่จะอ้างกันไป

ส่วนความล้ำของงานดูจะไปกองอยู่ที่เมนสปอนเซอร์อย่างซัมซุงที่ทุ่มสุดตัวในการสร้างประสบการณ์เดิ้นๆ ให้กับผู้ที่เข้ามาชมการแข่งขัน ไปจนถึงใครก็ตามนอกสนามและอยากจะมีส่วนร่วม โดยมีทั้งการให้เล่นดีไวซ์ยี่ห้อนี้กันอย่างหนำใจโดยเฉพาะ เพื่อรับชมการถ่ายทอดสดได้ที่พาวิลเลียนของแบรนด์นี้ แถมยังจ้างนักกีฬาระดับเซเลบจากทุกๆ ชาติสมาชิกที่เข้าร่วมการแข่งขันให้ทำหน้าที่คล้ายแอมบาสเดอร์ถ่ายทอดชีวิตเรื่องราวในสนามซ้อม และพื้นที่หวงห้ามที่ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปเก็บภาพ นำมาแชร์ให้แฟนๆ ชมผ่านโลกออนไลน์

นอกจากนี้ อินชอน เกมส์ ยังใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันที่เรียกว่าระบบ "4K" ซึ่งให้ภาพคมชัดกว่าระบบ HD ถึง 4 เท่า และยังมีการเปิดให้ดาวน์โหลดเกมแอพลิเคชั่น Smart Torch Relay เฉพาะระบบปฏิบัติการ Android เพื่อให้แฟนกีฬาจากทั่วโลกสามารถมีส่วนร่วมกับการจุดคบเพลิงโดยส่งต่อๆ กันผ่านทางแอพดังกล่าว และยังมีเกมน่ารักมุ้งมิ้งที่เกาะไปกับการแข่งขันในสนามจริงเอาไว้ในนี้ด้วย

แม้ในภาพรวมจะพอถูไถกันไปได้ แต่ตัวพ่อของความไฮเทคก็ถึงกับ "ไปไม่เป็น" หลังผลฟุตบอลนัดตัดเชือกเป็นที่กังขา เกรียนไทยแห่ถล่มเฟซบุ๊ค Official Page ของอินชอนเกมส์อย่างหนัก จนทีมงานตัดสินใจบล็อคไอพีจากแดนสยาม ไม่ให้เข้ามาป่วนบนวอลล์ได้...

เรื่องนี้น่าคิดไม่น้อยว่า...หรือการจุดคบเพลิงแบบเรียบง่ายจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้ว เมื่อนวัตกรรมไหนก็ยากจะเอาชนะ 'คน' เกรียนไทยได้จริงๆ

  • หล่อสวย ช่วยกันแชร์

ในทุกๆ เกมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ สิ่งที่อยู่คู่กันมาตลอด ก็คือ การไล่ล่าหานักกีฬาหน้าตาดี..

โดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย กระแสคลั่งไคล้นักกีฬาหล่อสวยก็ยิ่งสะพัดไปไกล อย่างการติดแฮชแท็ก #นักกีฬาหล่อบอกด้วย ก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของกระแสไล่ล่าหาสปอร์ตไอดอลได้อย่างดี

แน่นอนว่า... ชาริล ชับปุยส์ นักเตะทีมชาติไทยลูกครึ่งไทย-สวิส คือ ผลิตผลชั้นเลิศจากแฮชแท็กนี้ และเชื่อเถอะว่า นับจากนี้เราต้องได้เห็นหน้าหนุ่มชาริลทางสื่อต่างๆ กันไปอีกนาน

นอกจากนี้ยังมีนักกีฬาทั้งไทย ทั้งเทศที่แจ้งเกิดนอกสนามอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น อวี๋ เหยาเฉิน นักตบลูกยางหนุ่มวัย 19 ปี ทีมชาติจีน , Lee Yong Dae นักแบดมินตันทีมชาติเกาหลีใต้ , Nicholas Edward Choi นักดาบหนุ่มหน้าใสชาวฮ่องกง ฯลฯ

แต่นั่นก็ยังไม่เท่าแรงมโนของสาววายทั้งหลาย เมื่อได้เห็นความสนิทสนมของคู่รักคู่แค้นในสระว่ายน้ำ ระหว่าง ปาร์ค แท ฮวาน จากเกาหลีใต้ และ ซุนหยาง จากแดนมังกร ที่แสดงความสนิทสนมมุ้งมิ้งกันเสียจนสาวๆ ยังอาย ไหนจะเป็นการหยอกล้อข้ามลู่ และยังมีเซอร์ไพรส์วันเกิดด้วยเค้กที่เตรียมมาให้กับพ่อหนุ่มกิมจิ

งานนี้เอาเป็นว่า... สำหรับบางคน เชียร์กีฬาในสนามยังไม่ฟินเท่านี้!