โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ

โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ

ความงามของศิลปกรรมไทยทุกศาสตร์สมัยราชสำนักอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์

หากถามคนเรียนศิลปะไทย.. ศิลปะยุคไหนของไทยได้ชื่อว่าสวยงามสุดยอดเป็นหัวใจแห่งศิลปะ เขาจะต้องบอกว่า ศิลปะยุครุ่งเรืองของไทยคือยุคอยุธยาเป็นมหาอาณาจักร ในย่านนี้ไม่มีใครงามเกิน สุดสาคร ชายแสม ผู้ออกแบบฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากให้กับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวกับ 'กรุงเทพวันอาทิตย์'

ฉากที่ปรากฏในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ ตามบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ครั้งนี้ก็เช่นกัน อ.สุดสาครฟื้นความรุ่งเรืองของศิลปกรรมไทยทุกศาสตร์สมัยราชสำนักอยุธยา จำลองมาให้ติดตราตรึงใจอีกครั้ง

"เราไปสืบค้นจากศิลปกรรม ศิลปวัตถุที่เหลืออยู่ตามพิพิธภัณฑ์ งานจิตรกรรมเราศึกษาจากวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ราวสมัยพระเจ้าปราสาททอง อีกสมัยคือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยุคฟื้นฟูฝีมือช่าง" อ.สุดสาคร กล่าว

จิตรกรรมฝาผนังที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ได้ชื่อว่าเป็นงานฝีมือสุดวิจิตรของช่างเขียนชั้นครู มีทั้งภาพเขียนลายซุ้มเรือนแก้ว ลายเฟื่อง ลายลงรักปิดทอง และลายประดับ 'เสา' เป็นแบบแผนศิลปะการผูกลายสมัยอยุธยาอันละเอียดลออ ประติมากรรมลอยตัวและฝีมือการเขียนลวดลายลงบนประติมากรรม ล้วนปรากฎอยู่ในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ ครั้งนี้ทั้งสิ้น

ความยิ่งใหญ่อลังการเริ่มตั้งแต่ ฉากรำเบิกโรงการแสดงเบิกโรง ชุด ระบำนารายณ์เจ็ดปาง ด้วยการสร้างงานประติมากรรมลอยตัว 'พระนารายณ์ทรงสุบรรณ' เป็นรูปพระนารายณ์อวตาร 4 กร ประทับเหนือพญาครุฑ ความสูงรวมกว่า 7 เมตร มาเป็นประธานในฉากนี้ โดยลายเส้นที่ปรากฏเป็นภาพใบหน้าพระนารายณ์ ได้แรงบันดาลใจจากลายเส้นของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งวงการช่างเขียนไทยนับถือว่าเป็นลายเส้นภาพใบหน้าพระนารายณ์ที่เขียนได้งดงามที่สุด

"สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นโอรสของรัชกาลที่สี่ เป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ห้า พวกเราชาวช่างเรียก 'สมเด็จครู' คือเป็นครูของช่างไทย ท่านเป็นนายช่างใหญ่ของกรุงสยาม รัชกาลที่ห้าโปรดงานของท่านมาก รับสั่งว่า 'ดีไซน์ของเธอมานั่งในหัวใจฉัน' ท่านเก่งทุกเรื่อง สถาปัตย์ จิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี วรรณกรรม แม้ท่านไม่ได้รับว่าเป็นครูเรา แต่เรานับถือท่านเป็นแบบอย่าง เป็นครู งานของท่านกลั่นกรองชั้นเยี่ยมแล้ว นารายณ์เจ็ดปางท่านก็ทรงนิพนธ์ไว้ เราก็ต้องนำศิลปกรรมที่ท่านทรงออกแบบไว้มาให้ประชาชนได้เห็นประวัติศาสตร์ศิลป์อย่างเยี่ยม" อ.สุดสาคร กล่าว

อ.สุดสาครเล่าว่า ลายเส้นบนใบหน้าพระนารายณ์ครั้งนี้ เชิญผู้รู้หลายท่านมาช่วยกันสร้างสรรค์งาน โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ช่างเขียนลาย กรมศิลปากรและดัดแปลงสีพระพักตร์นิดหน่อย จากเดิมพระนารายณ์ต้องมีพระพักตร์สีม่วงเข้มดูน่าเกรงขาม มาเป็น สีกลีบบัวโรยเพื่อให้ดูอ่อนโยนรับกับความน่ารื่นเริงยินดีของการแสดงเบิกโรง

"ประติมากรรมพระนารายณ์อวตารปางนี้ดูองอาจ เข้มแข็ง มีชีวิตชีวา มีพลัง ผ้าผ่อนภูษาทรง สังวาลย์ เราเอาความรู้จากงานศิลปกรรมอยุธยามาช่วยเสริมให้ดูดี เราไม่ได้ลอกงานท่านทุกอณู แต่ยกท่านเป็นแรงบันดาลใจ ยกย่องครูบาอาจารย์ แล้วนำมาทำให้วิจิตรงามอย่างไทยโบราณจริงๆ" อ.สุดสาคร กล่าว

ในสัดส่วนรูปทรงของ พญาครุฑ ก็ย้อนอดีตกลับไปศึกษาจากงานต้นแบบที่งามที่สุดเช่นกัน

"รูปแบบครุฑ ศึกษาจากโขนเรือสมัยรัชกาลที่สาม เรือนารายณ์ทรงสุบรรณองค์เก่า เวลานี้เก็บรักษาไว้ที่อู่เรือพระราชพิธี เดิมโขนเรือแกะไม้รูปพญาครุฑองค์เดียว แล้วรัชกาลที่สี่ทรงเติมพระนารายณ์สี่กรขึ้นไปบนครุฑ" อ.สุดสาคร เล่า

รัชกาลที่สามทรงให้แกะไม้รูปพญาครุฑตามแบบอย่างสมัยอยุธยา (ราวสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) โดยมีพระราชประสงค์ตามที่ปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า "ไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน"

ปัจจุบัน ครุฑโขนเรือต้นแบบในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่ 'พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา' จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

"เป็นโขนเรือซึ่งใช้บูชาในโรงเรือพระราชพิธีสมัยอยุธยาที่คูไม้ร้อง แต่พอพม่าล้อมเมือง พระเจ้าเอกทัศก็ให้ย้ายเรือพระราชพิธีไปที่คลองคูจาม (คลองตะเคียน) แล้วพม่าก็ตามไปยิงถล่มจมพินาศ ไฟไหม้หมด น่าเสียดายมาก...ความงามของเรือรูปสัตว์ นี่คือประวัติของโขนเรือ" อ.สุดสาคร เล่า

ประติมากรรมลอยตัว 'พระนารายณ์ทรงสุบรรณ' ลอยเด่นอยู่กลางเวทีในการแสดงเบิกโรง ชุด 'ระบำนารายณ์เจ็ดปาง' ระบำซึ่งนำมาจากบทละครดึกดำบรรพ์เรื่อง 'กรุงพาณชมทวีป' บทพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เนื้อหากล่าวสรรเสริญพระนารายณ์ที่อวตารลงมาปราบยุคเข็ญตามลำดับต่างๆ รวมทั้งการอวตารลงมาเป็นปางที่ 7 เป็น พระราม กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยาเพื่อปราบท้าวทศกัณฐ์ในเรื่องรามเกียรติ์

ที่นั่งชมการแสดงโขน มีระยะห่างจากเวทีต่างกันไป แต่ถ้าอยู่ใกล้พอ ความงามวิจิตรใน ฉากที่ 1 ท้องพระโรงกรุงลงกา จะสะกดสายตาตั้งแต่ซุ้มเรือนแก้วเหนือราชบัลลังก์ของทศกัณฐ์ ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง เครื่องราชูปโภค ลายจิตรกรรมบนผ้าม่านและฉัตร ล้วนแล้วแต่มีวิธีสร้างลวดลายระดับราชสำนัก โดดเด่นกว่าทุกปีที่ผ่านมา

"ลายจิตรกรรมบนผ้าม่าน เดิมเป็นม่านปักหักทองขวาง ระดับเจ้าฟ้าหรือมหากษัตริย์ ใช้ทองคำมารีดให้บาง พันกับด้าย เป็นเส้นเล็กๆ ใช้สำหรับปักลาย เรียก 'หักทองขวาง' ถ้าระดับชั้นต่ำลงมา คือ 'ทองแผ่ลวด' คือใช้กระดาษ แต่นี่เราทำเทียมเป็นปิดทองลายฉลุ เพราะเราใช้เสมอจริงไม่ได้ ปักเป็นลายโคมราชวัตร มีสังเวียนล้อม และมีช่อแทงท้อง ลายกระจังสีเขียวเล็กๆ เรียงรอบ"

"ลาย 'หักทองขวาง' บนฉัตรเช่นกัน เราทำเทียมโดยใช้สีเขียนลงไป แล้วเอาความร้อนเป่าให้สีฟูตัว แล้วเราก็เอาทองคำเปลวปิดลงไป สอดกระจกเข้าไป เพราะหักทองขวางเขาต้องตัดกระดาษข่อย เย็บกลึงให้เรียบร้อย แล้วใช้ดิ้นทองปักทบไปทบมา เป็นดอกนูนขึ้นมา ยามต้องแสงก็จะดูมลังเมลืองมีมิติสวย" อ.สุดสาคร เล่ารายละเอียด

ฉากที่ 1 คือการเล่าเรื่องทศกัณฐ์ประทับอยู่บนราชบัลลังก์ แวดล้อมด้วยท้าวพญาเสนามารน้อยใหญ่ ทศกัณฐ์ปรารถถึง 'อินทรชิต' ซึ่งทูลลาไปชุบ 'ศรนาคบาศ' ให้เรืองฤทธิ์ และต้องการหาผู้ออกทำศึกขัดตาทัพไว้ก่อน ครั้นเห็น 'วิรุญมุข' โอรสของวิรุญจำบัง มีศักดิ์เป็นหลานปู่ของตน จึงใช้ให้ออกรบขัดตาทัพ วิรุญมุกจึงกราบถวายบังคมลาออกมาจัดทับไปรบกับฝ่ายพระราม

สำหรับฉากไฮไลต์ในปีนี้ คือ ฉากที่ 3 โพรงไม้โรทัน คำว่า ‘โรทัน’ เป็นชื่อของต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในป่าบนเขาอากาศ เป็นสถานที่ซึ่งพวกนาคและสัตว์มีพิษ เช่น แตน ต่อ มาคายพิษลงในบ่อหน้าต้นไม้โรทัน ในฉากนี้เองที่ 'อินทรชิต' เข้าไปประกอบพิธีชุบศรนาคบาศในโพรงไม้ ฝูงนาคได้ออกมาคายพิษลงในบ่อ แต่ 'พญาชามพูวราช' ซึ่งแปลงกายเป็นพญาหมีได้เข้าไปทำลายพิธีจนอินทรชิตไม่สามารถประกอบพิธีชุบศรนาคบาศได้สำเร็จ ฉากนี้ผู้ชมจะได้เห็นความลึกลับและความน่ากลัวของป่า

"เราต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าป่านี้ต้องครึ้มไปด้วยบรรยากาศแห่งความน่าสะพรึงกลัว ตามท้องเรื่องป่าโพรงไม้โรทันเป็นปีศาจ อินทรชิตถึงต้องการเข้าไปชุบศรที่นั่น มีธารพิษที่พญานาคต้องมาคายพิษสำหรับชุบศร เราใช้ภาพถ่ายป่าธรรมชาติจากหลายๆ แห่งผสมกับบทบรรยายลักษณะป่าที่น่ากลัวของรัชกาลที่หนึ่ง มาเป็นข้อมูลอ้างอิงในการทำฉาก" อ.สุดสาคร กล่าว

นอกจากความงามของงานสร้างชิ้นมหึมา ศิลปกรรมบนของประกอบฉากชิ้นเล็กๆ ในทุกฉาก ล้วนมีรายละเอียดไม่น้อยไปกว่ากัน เช่น พานพระศรี ความงามของหางเสือลูกศรที่วาดเป็นลายขนไก่ฟ้า นาคสะดุ้ง-ใบระกาบนซุ้มเรือนแก้ว แม้กระทั่งซุ้มประตูเหนือกำแพงเมือง(ตอนวิรุญมุขตรวจพล) ก็ร่างขึ้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ 'พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา' เนื่องจากตัวทรงไม่มีแล้ว แต่อ.สุดสาครใช้วิธีศึกษาจากซากรากฐาน ถ้ารากฐานเป็นย่อมุม แล้วทรงทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ร่วมกับการค้นคว้าจากภาพจิตรกรรมเก่าๆ และหลักฐานทางโบราณคดี

"เรานำความงามความวิเศษชั้นเยี่ยมของศิลปกรรมมาใส่ไว้ในงานนี้ ศิลปกรรมที่เราสร้างเป็นประติมากรรมแล้ว น่าเก็บรักษา แต่เสียดายที่เป็นวัสดุไม่ถาวร ถ้าเราสามารถเก็บให้เป็นถาวรได้มากกกว่านี้ มันคือศิลปกรรมชิ้นหนึ่งที่ปรากฏในรัชกาลนี้ ที่เป็นแบบไทยประเพณีแท้ๆ ซึ่งไม่มีใครสร้างแล้ว มีแต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระอัจริยภาพ มีรสนิยมที่จะรักษางานของชาติไว้ ท่านทรงคิดไกลมาก" อ.สุดสาคร กล่าว

ความวิจิตรที่โดดเด่นอีกแขนงของการแสดงโขนครั้งนี้ คือ เครื่องแต่งกาย อันงามระยับ

"นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวณีย์ให้มีการฟื้นฟูการทอผ้ายกของนครศรีธรรมราช ที่มีการทอสืบทอดกันมาแต่โบราณ แต่ได้สูญหายไปกว่า 100 ปี โดยได้พัฒนาฝีมือให้กับสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง อำเภอเชียรใหญ่ และศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้มีการจัดทำผ้าทอขึ้นมาใหม่ โดยทอจากสมาชิกรวมกว่า 40 ชีวิต จนได้ผ้ายกทองจำนวนมากถึง 43 ชิ้น มาใช้สำหรับการแสดงในครั้งนี้ โดยเป็นผ้าที่งดงามมาก มีการจัดองค์ประกอบของผ้าตามแบบราชสำนัก ซึ่งสมาชิกของศูนย์ฯ มีการพัฒนาฝีมือและสามารถทำออกมาได้วิจิตรบรรจง จนในปีนี้เราได้นำมาใช้เป็นผ้านุ่งของตัวพญานาค จำนวน 12 ชุด โดยผ้าที่ใช้เป็นลายผ้าที่มีกรวยเชิง 3-4 ชั้น และมีสังเวียนรอบ นับเป็นการช่วยพัฒนาฝีมือให้กับสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพฯ ทดแทนการสั่งผ้าเข้ามาจากอินเดีย เพราะแต่ละคนสามารถทอออกมาได้งดงามพัฒนาขึ้นมากจากในช่วงปีแรกๆ" วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ กล่าว

อ.สุดสาคร เล่าด้วยว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงติดตามงาน ทรงหยิบกล้องทอดพระเนตรงานบนเวที เป็นสิ่งที่ทำให้คนทำงานต้องเป๊ะมาก ผลคือความวิจิตรแม้มองระยะไกล"

ทุกครั้งที่ชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คือการได้มีโอกาสชื่นชมอัจริยภาพของบรรพบุรุษไทย

หมายเหตุ : การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี พ.ศ.2557 ชุด ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ เริ่มทำการแสดงแล้ว โดยรอบประชาชน มีจำนวน 34 รอบ รอบนักเรียน จำนวน 16 รอบ รวม 50 รอบ ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2557 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บัตรราคา 420/ 620/ 820/ 1,020 และ 1,520 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 120 บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com