ท่าเตียน กรุงเทพฯ บทที่ 1

มิวเซียมสยามจัดนิทรรศการแนวใหม่ ดึงระบบปฎิบัติการ AR และ QR Code เล่าข้อมูล 'ท่าเตียน' ในพื้นที่จริงของชุมชน
การเดินสวนทางกันระหว่าง 'ความเจริญ' กับ 'รากเหง้าทางประวัติศาสตร์' เป็นบทเรียนอาบน้ำตามาหลายครั้งสำหรับประเทศนี้
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า กระแสความเจริญจะหลากสู่พื้นที่ประวัติศาสตร์ ท่าเตียน ผืนดินเก่าแก่อันเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด 'ท่าเตียน' จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนเมื่อรถไฟฟ้าใต้ดินวิ่งผ่าน แต่นิทรรศการ ท่าเตียน กรุงเทพฯ บทที่ 1 อาจกระตุ้นและเตือนให้เกิดการช่วยกันคิดก่อนเวลานั้นจะมาถึง
นิทรรศการ 'ท่าเตียน กรุงเทพฯ บทที่ 1' น่าจะเป็นการสร้างสรรค์แรงบันดาลใจในการต่อยอดความเจริญที่เคลื่อนย้ายเข้ามาสู่จุดตั้งต้น ซึ่งย่อมมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ประวัติศาสตร์ในอนาคต ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวถึงจุดประสงค์การจัดนิทรรศการชุดนี้
"พิพิธภัณฑ์ฯ ชวนชุมชนท่าเตียนจัดนิทรรศการนี้เพื่อดูว่า รากเหง้าจะเปลี่ยนแปลงแบบไม่ลืมตัวตนได้อย่างไร พื้นที่นี้ประกอบด้วยวัด วัง ตลาด มีความเจริญรุ่งเรืองมาหลายด้าน ทั้งการคมนาคม การค้า ศิลปวัฒนธรรม คนวันนี้จะนำพื้นฐานการรับรู้รากเหง้าในอดีตของตนเองรับใช้อนาคตอย่างไร" ราเมศ กล่าว
พื้นที่การจัดนิทรรศการ ท่าเตียน กรุงเทพฯ บทที่ 1 แบ่งเป็น 2 ส่วน
พื้นที่ส่วนแรกจัดขึ้นภายในอาคารของ มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ หรือ Museum Siam : Discovery Museum ถนนสนามไชย กรุงเทพฯ
นิทรรศการส่วนนี้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ 500 ปีของ 'ท่าเตียน' ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรุ่งเรืองตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะเมืองท่าขนาดใหญ่ เพราะเป็นเมืองหน้าด่านที่มีเรือสินค้ามากมายนำสินค้าทางการเกษตร ตลอดจนสินค้าจากต่างประเทศ เข้ามาขายในเมือง โดยมี ป้อมวิไชเยนทร์ เป็นด่านเก็บภาษี
จนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก และสร้างราชธานีใหม่ที่กรุงธนบุรี จนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ยังคงเป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับ วัด วัง ตลาด จึงทำให้ 'ท่าเตียน' เป็นพื้นที่ที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมตั้งแต่อดีต ทั้งทางด้านการคมนาคม การค้า ศิลปวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง การศึกษา ผ่านการเปลี่ยนแปลงจาก 'บางกอก' มาสู่ 'กรุงเทพฯ' ในปัจจุบัน ที่เวลานี้ 'ท่าเตียน' กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งพักผ่อนสังสรรค์ยามค่ำคืน บูติคโฮเต็ล ที่นักเดินทางทั้งไทยและต่างชาติไม่พลาดมาเยือน
ผู้เข้าชมยังจะได้รับชมนิทรรศการ ภาพถ่ายเก่าของท่าเตียน ที่บันทึกไว้ก่อนปีพ.ศ.2500
พร้อมทั้งยังได้ชม ภาพยนตร์สั้น เรื่อง The Origin of Bangkok, The Origin of Love ควบคุมงานสร้างโดย มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล หนังรักที่ผู้ชมจะต้องยิ้มและอิ่มเอมใจไปกับเรื่องราวความรักของคนรุ่นใหม่ ที่พวกเขาอาศัยอยู่ในชุมชนท่าเตียนตั้งแต่เล็กจนโต และต้องร่วมแรงร่วมใจตามหาว่าอะไรคือ The Origin of Bangkok เพื่อทำรายงานส่งอาจารย์ หนังจบด้วยความประทับใจ
พื้นที่จัดนิทรรศการส่วนที่สองคือ ชุมชนท่าเตียน ซึ่งกินอาณาบริเวณกว่า 10 ไร่ นับเป็นการใช้พื้นที่จัดนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ 'มิวเซียมสยาม' เคยจัดมา
นิทรรศการที่ออกไปจัดในพื้นที่จริงของ 'ชุมชนท่าเตียน' ไม่ใช่การจัดบอร์ดแบบปกติทั่วไป แต่ได้รับการจัดไว้ในรูปแบบของการใช้ AR (Augmented Reality) และ QR Code ผ่านสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ซึ่งจะนำเรื่องราวเมื่อครั้งอดีตของท่าเตียนให้กลับมาอีกครั้งเป็นภาพเคลื่อนไหวผ่านการสัมภาษณ์ 'คนท่าเตียน' ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า
วิธีชมนิทรรศการในพื้นที่จริง ต้องเตรียมความพร้อมด้วยการดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นจาก App Store หรือ Google Play โดยพิมพ์คำว่า ท่าเตียน หรือ Tha Tian ให้เรียบร้อย (รองรับระบบปฏิบัติการ iOS Version 6.0 ขึ้นไป และ Android Version 4.0 ขึ้นไป) จากนั้นขอรับแผนที่ซึ่งจะระบุตำแหน่ง AR และ QR Code เมื่อไปเยือนพื้นที่จริงของท่าเตียน ให้นำสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตขึ้นมาส่อง ณ จุดที่ได้กำหนดไว้ตามในแผนที่ คุณก็จะได้รับฟังเรื่องราว 'ท่าเตียน' มากกว่าที่ตาเห็น
ตำแหน่ง AR ช่วยเพิ่มมิติการเรียนรู้ประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของ 'ท่าเตียน' มีด้วยกันทั้งหมด 5 จุด ได้แก่ ป้อมวิไชเยนทร์ เล่าเรื่องบางกอกในสมัยที่ยังไม่ได้เป็นเมืองหลวง แต่เป็นเมืองท่าและเป็นเมืองหน้าด่านของสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ว่าจ้างชาวฝรั่งเศสให้ก่อสร้างป้อมขนาดใหญ่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำ เพื่อป้องกันเมืองหน้าด่าน และราชธานีกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ลึกเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ บริเวณนี้จึงมีครบทั้งชุมชนขนาดใหญ่ และป้อมปราการที่แข็งแกร่ง เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงเลือกที่นี่เป็นราชธานีแห่งใหม่ ก่อนที่จะกลายเป็นกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
จุดที่สอง ยักษ์วัดโพธิ์ จุดนี้เล่าตำนานที่กล่าวขานถึงชื่อชุมชน 'ท่าเตียน' ที่เล่าต่อๆ กันว่ายักษ์วัดโพธิ์ขอยืมเงินยักษ์วัดแจ้ง แล้วชักดาบไม่จ่ายคืน ทำให้ยักษ์วัดแจ้งต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืน แต่ไม่สำเร็จ จึงลงไม้ลงมือสู้รบกันอุตลุด ทำให้บ้านเรือนละแวกนั้นราบเตียน ในขณะที่บางตำนานเพิ่มความสนุก โดยให้ 'ยักษ์วัดพระแก้ว' 12 ตน มาเป็นผู้ห้ามศึก โดยตำนานยักษ์ตีกันที่ท่าเตียนนี้ ยังเคยสร้างเป็นภาพยนตร์และบทเพลงอีกด้วย
จุดที่สามอยู่ที่ มหาวิทยาลัยแห่งแรก (วัดโพธิ์) ในอดีตเรื่องของสรรพวิชาต่างๆ สงวนไว้เป็นตำรับ ตำรา วิชาของตระกูล จนมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้นำสรรพวิชาจารลงหินอ่อนและสมุดไทย ติดประกาศไว้ที่วัดโพธิ์ เพื่อให้คนไทยทุกชนชั้นได้เข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะในเวลานั้น 'วัดโพธิ์' คือวัดกลางเมือง ใกล้ตลาด ผู้คนพลุกพล่าน วัดโพธิ์จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ปัจจุบันได้กลายเป็นมรดกโลก
จุดที่สี่ ประตูช่องกุด เล่าวิถีชีวิตของชุมชนโบราณผ่านประตูที่สาวชาววังซึ่งมีกิริยางดงาม การแต่งกายสวยงามเรียบร้อยทุกกระเบียดนิ้ว มักจะเดินเข้าเดินออกที่ประตูแห่งนี้เพื่อซื้อของ หนุ่มๆ ในสมัยนั้นจึงไม่พลาดที่จะมาดักรอขอเกี้ยว จนเป็นที่มาของคำว่า 'เจ้าชู้ประตูดิน' เพราะด้านหลังประตูช่องกุดมีตลาดเล็กๆ เป็นแหล่งรวมสินค้าชั้นดี ทั้งสไบ ปิ่นปักผม หวี พัดราคาแพง
AR จุดที่ห้า วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ 'วัดมะกอก(นอก)' ในอดีต ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น 'วัดแจ้ง' และขยายเขตพระราชฐานรับ 'วัดแจ้ง' เข้าไว้ในเขตพระราชฐาน
เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ข้ามมาอยู่ทางฝั่งตะวันออก ซึ่งก็คือบริเวณ 'ท่าเตียน' นั่นเอง มีการก่อสร้างพระนครใหม่ ย้ายสถานที่ราชการ ขยายและขุดคลองรอบกรุงขึ้นใหม่ สร้างกำแพงเมืองป้อมใหม่ บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่ สร้างวังอีกหลายวังในเขตท้ายวัดโพธิ์ ด้วยเหตุนี้ท่าเตียนจึงเกี่ยวข้องกับวัด วัง และตลาดชุมชน ก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมสวยงามมากมาย
รัชกาลที่ 2 ทรงปฏิสังขรณ์ 'วัดแจ้ง' ต่อจากรัชกาลที่ 1 และได้พระราชทานนามใหม่ว่า 'วัดอรุณราชธาราม' ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก และทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น 'วัดอรุณราชวราราม'
'ท่าเตียน' และวัดอรุณฯ อยู่ตรงข้ามซึ่งกันและกัน ภาพวัดอรุณฯ ที่สวยงามที่สุดคือการมองไปจากบริเวณ 'ท่าเตียน' ดังนั้นหากมองมาจากฝั่งวัดอรุณฯ ก็ย่อมจะเห็น 'ท่าเตียน' ได้กระจ่างตาที่สุด ทีมงานจัดสร้างนิทรรศการฯ จึงมอบจุด AR ไว้ที่วัดอรุณฯ เพื่อเผยให้เห็นความสวยงามของ 'ท่าเตียน' เมื่อครั้งในอดีต
ขณะที่ตำแหน่ง QR Code จะทำให้ผู้ชมนิทรรศการฯ รู้จัก 'ท่าเตียน' ผ่านเรื่องเล่าจากปากชาวชุมชนท่าเตียนตัวจริง ถึงย่านการค้าในอดีตแห่งนี้ และการปรับตัวสู่อนาคต มีด้วยกัน 10 จุดด้วยกัน
QR Code จุดที่ 1 ให้ชื่อว่า BTS รุ่นที่ 1 (Bangkok Tram Service) เล่าเรื่อง รถราง แห่งเมืองบางกอก ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า จากการก่อสร้างของชาวเดนมาร์ก ในปีพ.ศ.2430
รถรางคันแรกเคลื่อนที่ไปด้วยการใช้ม้าลาก จากนั้นได้มีการเปิดดำเนินกิจการ รถรางไฟฟ้าขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2437
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สัมปทานการเดินรถรางไฟฟ้าก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2492 รัฐบาลในขณะนั้นได้เข้าไปดำเนินกิจการต่อในนามของ บริษัทการไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด สังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2493
แต่หลังจากมีการพัฒนาบ้านเมืองขนานใหญ่เกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ พร้อมกับนโยบายให้เลิกการเดินรถรางและรถสามล้อถีบในเขตพระนคร-ธนบุรี รถรางจึงค่อยๆ ลดบทบาทลง และเลิกเด็ดขาดในเขตเมืองหลวงเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2511 รวมเวลาที่คนกรุงมีรถรางใช้นับได้ 80 ปี
ทว่า ในปีพ.ศ.2557 'รถรางไฟฟ้า' กำลังกลับคืนสู่ 'ท่าเตียน' อีกครั้งในรูปของ 'รถไฟฟ้าใต้ดิน' ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้
QR Code จุดที่ 2 ละครปิดวิก 'วังเจ้านาย' ถือเป็นแหล่งกำเนิดศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ 'ศิลปการแสดง' ด้วยความเป็นที่ตั้งของวังหลายแห่ง 'ท่าเตียน' จึงมีประวัติเกี่ยวพันกับการแสดงสมัยใหม่ นั่นก็คือ ปรินซ์เธียเตอร์ โรงละครแบบฝรั่งครั้งแรกของไทย
ปรินซ์เธียเตอร์ เป็นโรงละครของ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง(เพ็ง เพ็ญกุล) ในสมัยรัชกาลที่สี่ ท่านได้เป็นอุปทูตไปอังกฤษ และได้รับอิทธิพลจาก 'ลอนดอน เธียเตอร์' จึงนำแบบละครยุโรปมาปรับปรุง 'ละครนอก' ให้มีแนวทางแปลกออกไป แต่งกายประณีต กลายเป็นการแสดงละครแนวใหม่ เรียก 'ละครพันทาง' จับเนื้อเรื่องวรรณคดีไทยต่างๆ มาผสมรวมกัน
คณะละครนี้เดิมชื่อ Siamese Theatre เป็นละครที่เล่นอยู่กับบ้านตามความพอใจเจ้าของบ้าน เวลามีแขกเมืองมาก็เล่นให้แขกเมืองดู ชาวบ้านก็พลอยได้ดูด้วย จนเมื่องานฉลองกรุง 100 ปี (พ.ศ.2425) เจ้าพระยามหินทรฯ ได้นำละครไปร่วมแสดง ณ ท้องสนามหลวง และริเริ่มการแสดงละครเก็บเงิน (ตีตั๋ว) ที่โรงละครเป็นครั้งแรก
การจัดแสดงละครตีตั๋วของเจ้าพระยามหินทรฯ ก่อให้เกิดคำว่า 'วิก' เหตุเพราะละครแสดงเวลาเดือนหงาย เดือนละ 1 สัปดาห์ หรือ 1 วีค (week) ชาวบ้านมักพูดกันไปว่า "วิก" คือไปสุดสัปดาห์ด้วยการไปดูละครของท่านเจ้าพระยาฯ
QR Code จุดที่ 3 ให้ชื่อว่า คอมมูนิตี้มอลล์แห่งพระนคร ในรัชสมัยของรัชกาลที่ห้า กรุงเทพฯ เข้าสู่การเป็นเมืองสมัยใหม่ มีการตัดถนนหนทางและเกิดสาธารณูปโภคใหม่ๆ ในช่วงเวลานั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อศาลต่างประเทศและบ้านพักข้าราชการชาวต่างชาติที่ท้ายวัดโพธิ์ และสร้าง ตึกแบบนีโอคลาสสิกล้อมตลาด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบพระบรมมหาราชวัง ให้เป็นระเบียบสวยงาม กลุ่มตึกแถวท่าเตียน จึงนับเป็นกลุ่มอาคารพาณิชย์ในยุคแรกของสยามที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก และสะท้อนการวางระบบผังเมืองในยุคแรกๆ ที่เริ่มเปลี่ยนจากการค้าขายริมน้ำ มาเป็นการค้าขายบนบก และกระจายตัวไปตามเส้นทางถนน
QR Code จุดที่ 4-10 พาผู้ชมนิทรรศการฯ ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยของชุมชนท่าเตียนใกล้ชิดขึ้นไปอีก เช่น กะทิชาวเกาะ กะเทาะแก่นธุรกิจท่าเตียน ความโด่งดังของบริษัทจำหน่ายกะทิรูปแบบทันสมัยในปัจจุบันก็มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ตลาดท่าเตียน เดิมรับมะพร้าวที่ขนส่งมาจากอัมพวาทางน้ำ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกะทิชาวเกาะ 'จรีพร เทพผดุงพร' เล่าเรื่องราวของชุนชนท่าเตียนผ่านคิวอาร์โค้ด
ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ท่าเตียนเป็นแหล่ง 'ค้าส่ง' หรือที่เรียกว่า ยี่ปั๊ว แหล่งเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ยี่ปั๊วหมายถึงพ่อค้าคนกลาง คือคนที่ไม่ได้ผลิตสินค้าเอง แต่รับสินค้ามาจากผู้ผลิตแล้วนำไปขายให้กับพ่อค้าปลีก (ซาปั๊ว) อีกต่อหนึ่ง
ด้วยรูปลักษณ์อาคารที่งามอย่างอดีต ประกอบกับยุคสมัยที่ผ่านไป ทายาทยี่ปั๊วบางแห่งปรับเปลี่ยนธุรกิจไปในทิศทางใหม่ แต่ยังคงรักษากลิ่นอายธุรกิจของบรรพบุรุษไว้ ดังตัวอย่างของโรงงานน้ำตาลปี๊บเก่าแก่แห่งท่าเตียน จินเชียงเส็งพานิช ทายาทรุ่นที่สามได้ดัดแปลงโรงงานน้ำตาลปี๊บเป็นที่พักและร้านอาหาร โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องจักรที่เคยอัดบีบปี๊บน้ำตาลมะพร้าวมาตกแต่งสถานที่ เป็นเอกลักษณ์ที่มีเสน่ห์ รวมทั้งพิมพ์ใบปิดปี๊บที่มีลายเส้นและลวดลายย้อนยุคที่เคยใช้งานจริงจำหน่ายเป็นของที่ระลึก ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งชื่นชอบงานเรโทรที่แวะไปเยือนเป็นอันมาก
นอกจากการขายส่ง ยังมีสินค้าแปรรูปหลายชนิดที่ชาวท่าเตียนผลิตเอง หนึ่งในสินค้าขึ้นชื่อคือ ไข่เค็มท่าเตียนของร้าน อี้ฮงไท่ ตั้งอยู่ในตลาดท่าเตียน ขายส่งทั่วกรุงเทพฯ มานานกว่า 80 ปีแล้วตั้งแต่รุ่นปู่ ปัจจุบันรับไข่เป็ดมาจากจังหวัดชลบุรีและยังคงทำไข่เค็มด้วยสูตรรุ่นปู่
แม้แต่ กะปิก็มีการทำกะปิกันที่ท่าเตียน ร้านทำกะปิเก่าแก่ของท่าเตียนคือ เจริญวัฒนา ในซอยเพ็ญพัฒน์ บริการทั้งขายส่งและขายปลีก
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตท่าเตียนในพ.ศ.นี้ ชุมชนที่เต็มไปด้วยความงามและเรื่องราวประวัติศาสตร์ ที่ผู้ชมนิทรรศการ ท่าเตียน กรุงเทพฯ บทที่ 1 จะได้สัมผัส
นิทรรศการ 'ท่าเตียน กรุงเทพฯ บทที่ 1' จัดแสดงและเปิดให้ชมแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 10.00-18.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) รวมถึงอาณาบริเวณโดยรอบกว่า 10 ไร่ของชุมชนท่าเตียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามโทร.0 2225 2777 รายละเอียดคลิก www.museumsiam.org
ชมแล้วลองช่วยกันคิด 'ความเจริญ' กับ 'รากเหง้าทางประวัติศาสตร์' จะพึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างไรได้บ้าง
ภาพ : เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร
ชมภาพมากกว่านี้ได้ที่แฟนเพจ 'กรุงเทพวันอาทิตย์ กรุงเทพธุรกิจ' คลิกhttps://www.facebook.com/media/set/?set=a.760474554019065.1073742504.160372727362587&type=1