ซาดาโอะ วาตานาเบ พลังแซ็กจากผู้อาวุโส

 ซาดาโอะ วาตานาเบ พลังแซ็กจากผู้อาวุโส

ความน่าทึ่งที่มีต่อพลังเสียงแซ็กโซโฟนในช่วงปัจฉิมวัยของเขา ดูยังไม่มีทีท่าอ่อนล้าลงแม้แต่น้อย

คอนเสิร์ต Sadao Watanabe Group 2015 in Bangkok เมื่อค่ำวันพุธที่ 4 มีนาคม แม้จะผ่านพ้นไปอย่างเงียบๆ สำหรับบางคนที่มิได้ติดตามข่าวสารในแวดวงดนตรี แต่สำหรับคอเพลงตัวจริงที่ประจักษ์รับรู้ในคุณค่าของศิลปินท่านนี้ และมีโอกาสชมการแสดงดังกล่าว ย่อมฟันธงได้ว่า นี่คือ หนึ่งใน "คอนเสิร์ตแห่งปี" ที่ได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมในค่ำคืนนั้นอย่างท้วมท้น ทั้งในจินตนาการและความรู้สึก นับเป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมประสานให้พลังของเสียงดนตรีกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ

อย่างน้อยๆ ก็ในช่วงเวลา 85 นาทีของการแสดงดนตรีครั้งนี้
คงไม่เกินเลยไปนัก หากใครจะหลุดปากออกมาด้วยความชื่นชมว่า "ช่างเป็นบุญหูดีแท้ ที่มีโอกาสได้กลับมาฟังเสียงเพลงจาก ซาดาโอะ วาตานาเบ อีกครั้ง"


เพราะด้วยสภาวะของเสียงดนตรีที่นำพาผู้ฟังเข้าสู่ความเป็นทิพย์ในโลกศิลป์ นั่นย่อมทำให้ป้ายโลโกสปอนเซอร์ที่ดูเกะกะรกตา ซึ่งขนาบทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของฮอลล์ พร้อมด้วยแสงไฟส่องสว่างเป็นระยะๆ กับสภาพเวทีคอนเสิร์ตที่ตกแต่งอย่างเผินๆ เหมือนกับเวทีตามงาน Wedding ทั้งหลาย กลายเป็นองค์ประกอบที่ไม่อาจรบกวนการรับรู้ไปโดยปริยาย

ด้วยวัย 82 ปี ผู้อาวุโส ซาดาโอะ วาตานาเบ พร้อมด้วยอัลโต แซ็กโซโฟนคู่ใจ ก้าวออกสู่เบื้องหน้าเวทีอย่างสง่างาม ด้วยท่วงท่าคล่องแคล่วกระฉับกระเฉง ทุกอิริยาบถบนเวทีของเขา ไม่มีเค้าของความชราที่มาเยือนแต่อย่างใด

ในคราวนี้ ซาดาโอะ ขนาบข้างด้วยสมาชิกภายในวง ซึ่งทั้งหมดเป็นนักดนตรีรุ่นหลัง ระดับแถวหน้าของญี่ปุ่น ประกอบด้วย อะคิระ โอโนะซูกะ มือคีย์บอร์ด , ทาเคชิ โยฟุ มือกีตาร์, คิอิชิโร โคโมบูชิ มือเบส, มาซาฮารุ อิชิคาวา มือกลอง และ N'diasse Niang มือเพอร์คัสชั่นเชื้อสายเซเนกัล ซึ่งปัจจุบันย้านผาดโผนอยู่ในยุทธจักรดนตรีของญี่ปุ่น

การแสดงเริ่มต้น ด้วย A Felicidade บทเพลงบอสซาโนวาอมตะ จากปลายปากกาของ อันโตนิโอ คาร์ลอส โจบิม และ วินีเชียส ดี มอรายส์ ราวกับบอกเป็นนัยว่า วินาทีนับจากนี้ คือ "ความสุข" สำหรับทุกคน (ขออนุญาตขยายความสักหน่อยว่า Felicidade ในภาษาโปรตุเกส หมายถึงความสุข)
A Felicidade น่าจะเป็นหนึ่งในเพลงบอสซาโนวา ที่ไม่มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษเลย เดิมใช้ในภาพยนตร์เรื่อง Orfeu Negro เมื่อปี 1959 โดยการร่วมงานของ โจบิม กับ มอรายส์ ในเวลานั้นมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย เพราะ มอรายส์ ซึ่งเป็นทั้งกวีและนักการทูต กำลังติดงานราชการอยู่ในประเทศอุรุกวัยพอดี ทั้งคู่จึงต้องแต่งเพลงกันผ่านโทรศัพท์ แต่ด้วยความสำเร็จอย่างงดงามจากเพลงนี้ ทำให้ทั้งคู่มีโอกาสสร้างสรรค์บทเพลงดีๆ อีกหลายเพลงในเวลาต่อมา

ในการบรรเลงเพลง A Felicidade เป็นที่สังเกตว่า น้ำเสียงแซ็กโซโฟนของ ซาดาโอะ ไม่แปรเปลี่ยน ตั้งแต่การคุมโทนเสียงในช่วงบรรเลงทำนองเพลงที่หมดจดงดงาม เรื่อยไปจนถึงช่วงของการอิมโพรไวเซชั่น สะท้อนถึงการเลือกใช้ตัวโน้ตของเขา ที่มีความชัดเจนและแม่นยำในทิศทาง อีกทั้งผู้อาวุโสยังสามารถนำสมาชิกวงคนอื่นๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติและลื่นไหลดียิ่ง สมกับที่เป็นผู้ปลุกกระแสความคลั่งไคล้ที่มีต่อดนตรีบอสซาโนวาให้เกิดขึ้นภายในประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงกลางทศวรรษ 1960s

แต่เพลงนุ่มๆ อย่าง A Felicidade อาจทำให้บางคนกังขาในกำลังวังชาของ ซาดาโอะ อยู่ดี นั่นจึงเป็นที่มาของเพลง Tembea (ภาษาสวาฮิลี หมายถึง เดิน , ท่องไป) บนจังหวะรวดเร็ว สนุกสนาน ซึ่งสะท้อนถึงอิทธิพลดนตรีแอฟริกันที่ ซาดาโอะ ได้รับมาในช่วงต้นทศวรรษ 1970s ที่เจ้าตัวมีโอกาสเดินทางไปเยือนประเทศเคนยาและแทนซาเนีย ได้ค้นพบความหลากหลายของดนตรีชาติพันธุ์ที่นั่น ซึ่งกลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญอีกด้านหนึ่ง ในการสร้างสรรค์ดนตรีของเขา นอกเหนือจากดนตรีแจ๊สในสไตล์บีบ็อพ และบอสซาโนวา

ในเพลง Tembea นี้ ซาดาโอะ บรรเลงได้ถึงใจคนหนุ่มคนสาวโดยแท้ จากนั้น เขาถือโอกาสแนะนำสมาชิกวง ก่อนจะเปิดทางให้มือเพอร์คัสชั่น ถ่ายทอดเสียงร้องอันไพเราะและมีอัตลักษณ์ ในเพลง Alalake-Lopin' (มีเวอร์ชั่นแสดงสดในอัลบั้ม Basie's At Night) ที่โดดเด่นด้วยชีพจรดนตรีแอฟริกัน กับท่วงทำนองพื้นบ้าน ที่นำมาใส่เสียงประสานแบบแจ๊ส และมีพื้นที่เปิดโปร่งให้แก่การอิมโพรไวเซชั่นอย่างเต็มที่ โดยภาพรวม เป็นดนตรีที่เรียกพลังทั้งจากคนเล่นและคนฟัง ให้ออกมาเต้นรำกันได้ด้วยซ้ำ

คอนเสิร์ตลดความร้อนแรงลง ด้วยบัลลาดเพราะๆ อย่าง Call Me ตามด้วย I Thought of You ที่มีทำนองเรียบง่าย ในห้วงอารมณ์โรแมนซ์ โดยผู้อาวุโส ซาดาโอะ ใช้มนต์อัลโตแซ็กโซโฟนสะกดผู้ฟังทั้งฮอลล์ได้อยู่หมัด ก่อนจะพลิกบรรยากาศให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง กับเพลงฮิตของเขา Rendezvous ในอารมณ์ของความเป็นเอชท์ตีส์ แต่ละวรรคแต่ละพยางค์ของเสียงแซ็ก เรียกเสียงปรบมือได้เกรียวกราว โดยในเพลงนี้ อะคิระ โอโนะซูกะ เล่นคีย์บอร์ดเลือกแซมปลิงเสียง "สตีล ดรัม" เพื่อตอบโต้ในแบบ call & response ระหว่างกันและกันอย่างมีชีวิตชีวา

Afrozil เป็นเพลงของซาดาโอะ วาตานาเบ ในยุคหลัง จากอัลบั้ม Viajandor เมื่อปี 1999 ให้บรรยากาศแบบ "กรีน" และ "แอมเบียนท์ มิวสิค" ในช่วงแรก ด้วยเสียงนกร้องราวกับการพาผู้ฟังท่องป่งดงพงพี ช่วงหนึ่งของการบรรเลง เน้นหนักบทบาทของมือเพอร์คัสชั่น N'diasse Niang และมือกลอง มาซาฮารุ อิชิคาวา ที่สนทนาภาษาดนตรีกันอย่างออกรส อิ่มเอมทั้งคนเล่นและคนฟัง

ซาดาโอะ ปิดท้ายด้วยบทประพันธ์ของ อันโตนิโอ คาร์ลอส โจบิม และ วินีเชียส ดี มอรายส์ อีกครั้ง นั่นคือ Chega De Saudade ซึ่งถูกเรียกขานกันว่า เป็นบอสซาโนวาเพลงแรกที่ได้รับการบันทึกเสียง (เวอร์ชั่นแรกสุด โดย Elizete Cardoso ในปี 1958 แต่แฟนเพลงคุ้นกับเวอร์ชั่นที่ 2 โดย Joao Gilberto ในปีถัดมามากกว่า) ด้วยจังหวะพื้นฐานที่ค่อนข้างเร็ว กับแนวทำนองที่ลากยาว ไม่ขาดช่วง บนตัวโน้ตที่ดีดดิ้นไปมา ทำให้หลายคนอดเป็นห่วงในการบรรเลงแซ็กโซโฟนไม่ได้ แต่นักแซ็กอาวุโสสามารถถ่ายทอดได้อย่างหมดจดถึงอารมณ์เพลง อย่างไร้ที่ติ

จะด้วยผิดคิวหรือไม่ ก็สุดจะคาดเดา แต่ในขณะที่สัญญาณจากการเปิดไฟในฮอลล์ ทำให้ทุกคนเข้าใจว่า ไม่มีอังกอร์ และพากันทยอยกันเดินออก ทว่า ถึงที่สุดแล้ว นักดนตรีวัย 82 ปีท่านนี้ก็เดินนำหน้านักดนตรีคนอื่นๆ ออกมาจากด้านหลังเวทีอีกครั้ง เพื่อฝากเพลงช้า ๆ อย่าง Smile บทเพลงสแตนดาร์ดของ ชาร์ลี แชปลิน เป็นการทิ้งท้ายที่มีความหมายและเปี่ยมด้วยความสุข

ไม่ว่าจะเป็นแจ๊สแบบบีบ็อพ บทเพลงบอสซาโนวา จนถึงดนตรีอิงชีพจรท้องถิ่นแอฟริกัน ในความเป็นศิลปินจากแดนอาทิตย์อุทัย ซาดาโอะ วาตานาเบ ได้ถ่ายทอดความเป็นเอกภาพของเขาให้มิตรรักแฟนเพลงได้สัมผัสอย่างครบทุกด้าน พร้อมๆ กับความน่าทึ่งที่มีต่อพลังเสียงแซ็กโซโฟนในช่วงปัจฉิมวัยของเขา ซึ่งดูยังไม่มีทีท่าอ่อนล้าลงแม้แต่น้อย

หรือเป็นเพราะพลังดนตรีกับพลังชีวิต สัมพันธ์แนบแน่นจนยากจะแยกออกจากกันได้.