แสงอาทิตย์ลับฟ้าที่ "แซมเบีย"

สายตาคนภายนอกอาจมองว่า "แซมเบีย" เป็นประเทศยากจน ทว่า ความจริงแล้ว ประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกาตอนใต้แห่งนี้รุ่มรวยทรัพยากรธรรมชาติมาก
และทุกคนในประเทศก็ตระหนักถึงคุณค่าของมันและทำการท่องเที่ยวอย่างระมัดระวังที่สุด
.............
...ผู้ติดเชื้ออีโบลาทั่วโลก เพิ่มขึ้นเป็น 10,141 รายแล้ว ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้วถึง 4,922 คน / ...การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศเซียร์ราลีโอน เพิ่มขึ้นเร็วจนน่ากลัวในพื้นที่ชนบทของประเทศ โดยมีอัตราการแพร่กระจายเร็วขึ้นจากเมื่อ 2 เดือนก่อนถึง 9 เท่า/ ...มีการฆ่าตัดศีรษะผู้สื่อข่าวอเมริกัน 2 คน และเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ชาวอังกฤษอีก 1 คน
ข่าวคราว บางส่วนที่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา ช่วงก่อนที่จะออกเดินทางไปสู่กาฬทวีป สำหรับคนไทยอย่างฉันคงไม่ง่ายนัก
เส้นทางบินไกลที่ใช้เวลานาน รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับทวีปนี้ก็ไม่ค่อยตรงกับที่เราทราบจากที่เห็นจากข่าวเท่าไหร่นัก เมื่อทุกๆ ที่มีความงดงามรอเราอยู่เสมอ
"อะไรนะ !!! จะไปแอฟริกา ไม่กลัวติดเชื้ออีโบล่า เหรอ"
เพื่อนๆ พี่ๆ ร่วมสิบคนที่พูดแบบนี้ หลังจากรู้ว่าจะเดินทางในสัปดาห์หน้า ความกลัวส่วนหนึ่งคงเพราะเราเคยเห็นในหนังแบบว่า... ใครติดเชื้อคนนั้นตาย! แถมสำนักข่าวระดับโลกก็ออกข่าวกันโครมๆ ว่าติดกันเป็นหมื่น ตายนับพันราย ความไม่สบายใจนี้ ฉันจึงร้องขอให้เพื่อนๆ ที่อยู่กรุงพริทอเรีย ให้ช่วยประสานงานกับทีมสาธารณสุขของแอฟริกาใต้เพื่อให้เราได้รับข้อมูลจริงเกี่ยวกับเชื้อโรคนี้
Lucille Blumberg จาก National Institute for Communicate disease of Johannesburg , South Africa ได้เดินทางแวะมาพบที่สนามบินโออาร์ แทมโบ เธอดีใจมากที่คนเอเชียจากประเทศเล็กๆ ที่แสนไกลเดินทางมาถึงที่นี่ และอยากให้อธิบายสิ่งนี้
เธอวาดแผนที่ทวีปแอฟริกาก่อนเป็นสิ่งแรก ชี้ให้เห็นระยะห่างจากประเทศที่กำลังมีข่าวแพร่ระบาดเริ่มต้นที่ประเทศกินี เข้าสู่ ไลบีเรีย และ เซียร์ร่าลีโอน ซึ่งอยู่แถบแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ของเมืองโจฮันเนสเบิร์กที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้ มีระยะห่างกันกว่า 7,000 กิโลเมตร แถมยังมีพรมแดนธรรมชาติเป็นทะเลทรายกั้นขวางอีก อีกทั้งในทั้ง 3ประเทศที่ยากจนเหล่านั้นไม่มีระบบการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้การเยียวยารักษารวมถึงการจัดการกับศพของผู้ป่วยก็ไม่ถูกสุขอนามัยเลย ...จึงทำให้การระบาดครั้งนี้เป็นครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
ลูเซีย ขอทราบแผนการเดินทางของเรา เพราะหลังจากคุยกันจบ ฉันต้องต่อเครื่องไปแซมเบีย เข้าบอตสวานา และต่อเข้าไปนามิเบีย เธอบอกว่า ไม่เป็นห่วงเรื่องอีโบล่าหรอก แต่เป็นห่วงว่าจะติดไข้มาลาเรียจากยุงมากกว่า เพราะไปเที่ยวป่า ท่องซาฟารีที่มีแต่ยุง ฉันจึงเย้าเธอกลับไปว่า กรณีอีโบล่าก็เหมือนชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพฯ มันเกิดขึ้นบนถนนบางสายแต่ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวคิดว่าเกิดขึ้นทั่วเมืองจนไม่กล้ามาเที่ยวเมืองหลวงแสนสวยของฉันเช่นกัน
"อีโบล่า" (Ebola virus) เป็นเชื้อประจำถิ่นแถบประเทศ Africa ที่มีการระบาดเป็นระยะๆ เชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola) จะอยู่ในสัตว์ เมื่อคนได้รับเชื้อนี้จากสัตว์ที่มีเชื้อโรค จะสามารถแพร่กระจายการติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง สารคัดหลั่ง อุจจาระ
ตอนนี้อีโบล่ามีสถานะเป็นเชื้อโรคร้ายแรงที่ยังไม่มียารักษาได้ก็จริง แต่ก็ไม่ได้ติดเชื้อกันได้ง่ายๆ เชื้อโรคนี้ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศหลังจากผู้ป่วยไอ จาม (ซาร์ กับ H5N1 น่ากลัวกว่าเพราะแพร่ทางอากาศได้) จะติดเชื้อได้ก็ต้องสัมผัสของเหลวจากตัวผู้ป่วยโดยตรง ทำให้คนที่ติดไวรัสนี้จะเลือดออกง่ายและรุนแรง ถึงขั้นอวัยวะล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด โดยอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 90 ขึ้นไป
โล่งอกเรื่องอีโบล่าแล้ว ร่ำลาคุณลูเซีย เดินทางต่อกันเถอะ
เดินทางต่ออีก 2 ชั่วโมงบนเครื่องบิน SAA ก็มาถึงสนามบินลีฟวิงสตัน ประเทศแซมเบีย
ตามประวัติศาสตร์การเมืองถือว่าประเทศนี้ผ่านการต่อสู้มาอย่างโชกโชน จากชนเผ่าพื้นเมืองที่ถูกประเทศเพื่อนบ้านรุกราน ผนึกกำลังกันสู้เพื่อรวมชาติกลายมาเป็นประเทศโรดีเซียภายใต้การปกครองของอังกฤษ ต่อมาความคิดไม่ตรงกันแยกประเทศออกเป็นเหนือ-ใต้ จากนั้นเกิดความวุ่นวายเพราะชาวพื้นเมืองลุกขึ้นมาทวงสิทธิต้องการมีส่วนร่วมทางการปกครอง
จนในที่สุดดินแดนโรดีเซียเหนือก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1964 และกลายเป็นสาธารณรัฐแซมเบีย ในช่วง 6 ปีแรกหลังจากที่ได้รับเอกราช แซมเบียเป็นประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ที่ร่ำรวย และมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วมากที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะสามารถผลิตทองแดงได้มาก
ในปี 1970 เศรษฐกิจของแซมเบียก็ไม่คงที่ เนื่องจากราคาทองแดงในตลาดโลกลดต่ำลงอย่างมาก ถึงขั้นต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศ ราคาทองแดงยังตกต่ำลงเรื่อยๆ แซมเบียจึงประสบปัญหาไม่สามารถจ่ายชำระดอกเบี้ยและเงินกู้ได้ ทำให้ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 แซมเบียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศต่อหัวมากที่สุดในโลก
แต่แซมเบียยังมีขุมทรัพย์ทางการท่องเที่ยวที่ธรรมชาติมอบให้ น้ำตกบันลือโลก มหานทีแห่งแอฟริกา น้ำตกวิคตอเรีย หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก ที่ใหญ่และงดงามมีความยาว 1.7 กิโลเมตร กินพื้นที่ครอบคลุมถึงสองประเทศคือ ซิมบับเวและแซมเบีย ชาวพื้นเมืองเรียกขานกันในนาม Mosi-oa-Tunya มีความหมายว่า The Smoke That Thunders เป็นชื่อที่บ่งบอกความยิ่งใหญ่ของมันได้ชัดเจนยิ่ง
ที่พักของพวกเราห่างจากน้ำตกวิคตอเรียเพียง 2 กิโลเมตร The royal Livingston วิลล่าสวยหรูติดริมแม่น้ำแซมบาซีมีผู้มาเยือนเต็มแน่นตลอดทั้งปี ที่นี่เป็นที่พักระดับตำนาน หลังจากชาวอังกฤษคนแรก เดวิท ลีฟวิงสตัน บุกป่าฝ่าดงดั้นด้นมาถึง และค้นพบน้ำตกนี้เมื่อ คศ.1855 นักสำรวจที่เป็นทั้งแพทย์ มิชชันนารีสอนศาสนา ใช้เวลาอยู่ในทวีปนี้นานถึง 16 ปี จากนั้นลูกหลานลีฟวิงสตันรุ่นต่อๆ มาได้สร้างสรรค์บ้านสไตล์โคโลเนียล ตกแต่งในสไตล์อังกฤษ อบอุ่น ร่มรื่น ให้เป็นที่พักในบรรยากาศสงบเงียบจนให้ความรู้สึกเหมือนว่าท่านลอร์ดลีฟวิงสตันยังคงนั่งทอดสายตามองสายน้ำอยู่แถวๆ นี้
การมาเที่ยวชมน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในโลกต้องแต่งตัวในชุดที่แห้งง่าย เพราะว่าคุณจะโดนละอองน้ำกระเซ็นใส่ จนเปียกโชกตลอดเส้นทางชมน้ำตก
อุทยาน Victoria Falls and Zambezi National Parks มีข้อปฎิบัติที่เคร่งครัดเพื่อให้ให้นักท่องเที่ยวได้รับข้อมูล และความปลอดภัยที่สุด ทุกคนจะต้องฟังบรีฟลักษณะภูมิประเทศ เห็นภาพจำลองลักษณะทางธรณีวิทยา และภาพรวมของเส้นทางที่ไปจุดชมน้ำตก จะได้รับชุดกันฝนด้วย ตอนนี้ใจฉันเต้นโครมครามมากๆ เพราะเสียงน้ำตกดังกึกก้อง เหมือนกำลังเรียกร้องให้ไปชมความงามเร็วๆ นั่นเอง
ในที่สุด ภาพที่เคยเห็นในโปสการด์ เห็นจากเวบไซต์ท่องเที่ยวก็ปรากฎอยู่ตรงหน้า ช่างสวยงาม และเหลือเชื่อ
การยืนนิ่งๆ ให้ละอองน้ำที่เป็นหมอกฟุ้งตลอดเวลา (หมอกนี้น่าจะเหมือนฝนตกมากกว่า) ปะทะเนื้อตัวหน้าตาของเราเป็นเหมือนกับถูกสะกดจิต เม็ดหมอกที่ปลิวฟุ้งทั่วบริเวณมาจากแม่น้ำแซมบาซีอันยิ่งใหญ่ เมื่อถึงจุดที่แผ่นดินแยกแตกออกจากกัน สายน้ำพากันไหลหล่นลงจากหน้าผาดิ่งชันสูงกว่า 100 เมตร มันพากันทิ้งตัวลงสู่แอ่งหินข้างล่างเป็นเส้นสายสีขาวของกระแสน้ำอันทรงพลัง เสียงของหมอกน้ำตกที่ดังดั่งสายฟ้าฟาดเป็นแบบนี้นี่เอง
วันนี้แดดเจิดจ้า มองจากจุดชมวิวจุดที่สวยที่สุด หรือ คาทาแรคท์ตะวันออก ไปทิศทางไหนก็เห็นโค้งรุ้งทั่วไปหมด นี่มัน-สวรรค์-ชัด-ชัด ไม่มีคำบรรยายความรู้สึก และประสบการณ์ที่ได้ยืนอยู่ตรงนี้ได้ดีเท่าการมาสัมผัสด้วยตัวเอง
การจัดการการท่องเที่ยวของประเทศแถบนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แม้ในสายตาคนภายนอกจะเห็นแซมเบียเป็นประเทศยากจน แต่ความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกลับสวนทางกัน โดยจะเน้นเรื่องของการทำความเข้าใจกับผู้มาเยือน ทุกคณะที่จะเข้ามาเยี่ยมชมป่า น้ำตก ล่องแม่น้ำ ไปไหนๆ ก็ต้องมีผู้ดูแลที่เป็นได้ทั้งคนขับรถ มัคคุเทศน์ ผู้ประสานงานการท่องเที่ยวไปด้วยเสมอ
ผู้ดูแล 1 คนจะรับผิดชอบนักท่องเที่ยวได้กลุ่มละไม่เกิน 10 คน แต่งเครื่องแบบของบริษัท (ที่ออกแบบแนวเดียวกันหมด) มีชื่อตัวโตๆ ติดตรงอกเสื้อ ต้องขับรถอย่างสุภาพ ควบคุมความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผู้ดูแลจะขับรถไปพร้อมๆ กับการเล่าเรื่องราวธรรมชาติ สัตว์ป่า ให้ข้อมูลมากมายไม่รู้ไปสรรหาอะไรมาเล่านักหนา เสียงบรรยายภาษาอังกฤษกลิ่นแอฟริกัน กลางป่านี่ได้อรรถรสจริงๆ
Angle เป็นผู้ดูแลคณะของเรา สูง 185 เซนติเมตร ใส่เชิ้ตซาฟารีแขนสั้น กางเกงยาวแค่เข่า รองเท้า หมวก แบบนักท่องป่ามืออาชีพ ยิ้มฟันขาว อัธยาศัยไมตรี และมีความรู้ดีมาก ภารกิจของเขาเริ่มต้นตั้งแต่รับพวกเรามาจากสนามบิน และจบภารกิจเมื่อพามาส่งกลับที่สนามบิน
แทบเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะมาแอฟริกา แบบลุยดุ่ยๆ ที่นี่ไม่ได้มีรถราสะดวกสบายพร้อมใช้งาน หรือหาได้ง่ายๆ เหมือนเมืองท่องเที่ยวทันสมัยอย่างฮ่องกง หรือประเทศอื่นๆ นะ ขอแนะนำให้ติดต่อกับเอเจนซี่ทัวร์ที่มีความเชี่ยวชาญ ไม่เพียงแต่จัดรถ แต่จะดูแลให้ทุกสิ่งอย่างตามที่ตกลงกันในอีเมล์ให้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
นอกจากนี้ การใช้ผู้ดูแลผ่านบริษัทท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงยังไว้ใจได้ว่าจะไม่พาเราไปเสี่ยงภัยอันตรายใดใด อย่าลืมนะว่าคนไม่ดีมีทุกที่ในโลก จะไปเดินสุ่มสี่สุ่มห้า เพลิดเพลินเหมือนเมืองอื่นๆ อาจเกิดปัญหาได้ จากความที่เราก็ไม่เข้าใจเขา เขาก็ไม่เข้าใจเรานั่นเอง
ถึงจุดนี้ความกลัวอีโบล่าและมุมมองที่เคยรู้สึกต่อทวีปแอฟริกาของฉันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เหมือนอย่างที่ มารค์ ทเวน ได้กล่าวไว้ในบทประพันธ์ว่า
Travel is fatal to prejudice, bigotry, and narrow-mindedness . - Innocents Abroad : Mark Twain
"การเดินทางเป็นยาขนานเอก ที่ทำลายล้างอคติ ความหลงผิดและความใจแคบ"
...มันเป็นความจริงเสมอ
...................
การเดินทาง
สายการบิน South Africa Airway มีเส้นทางบินไปลีฟวิงสตัน ประเทศแซมเบีย แต่จะต้องต่อเครื่อง โดยเลือกต่อเครื่องที่สนามบินฮ่องกง หรือสิงค์โปร์ก็ได้ จากนั้นไปต่ออีกทีที่โจฮันเนสเบิร์ก แล้วไปยังปลายทางลีฟวิงสตัน ประเทศแซมเบีย ส่วนการบินไทยเพิ่งประกาศยกเลิกเส้นทางบิน กรุงเทพ-โจฮันเนสเบริก์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558
สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าทวีปแอฟริกาต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองก่อนเข้าทวีปแอฟริกาอย่างน้อย 10 วันก่อนเดินทาง
การยื่นของวีซ่าอาจใช้เวลานาน เพราะมีหลายขั้นตอน เพราะยังไม่มีสถานฑูตในประเทศไทยและคนไทยก็เดินทางไปเที่ยวแซมเบียน้อยมาก ดูรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมที่ http://www.suninternational.com/royal-livingstone/Pages/default.aspx และ http://www.thompsonsafrica.com/