‘ไหว’มั้ย...ประเทศไทย 'อมร พิมานมาศ'
ไม่ต้องถกเถียงกันอีกแล้วสำหรับความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวในเมืองไทย แต่ที่ไม่รู้คือจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่...
...และที่ต้องถามคือเราพร้อมรับมือกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหรือยัง
“จำได้ไหม ป้าลุงยังจำได้ไหม น้าอาจำได้ใช่ไหม...”
ย้อนหลังกลับไป 1 ปีเต็ม เมื่อเวลา 18.08 น. ของวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษของประเทศไทย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย วัดขนาดความรุนแรงได้มากถึง 6.3 สร้างความเสียหายไม่น้อยไปกว่าความตระหนกตกใจ เพราะคนทั่วไปไม่คาดคิดว่าภัยแผ่นดินไหวจะจู่โจมเมืองไทยด้วยความแรงระดับนี้
แต่สำหรับนักวิชาการที่เกี่ยวข้องแล้ว พวกเขารู้ดีว่าในประเทศไทยมีรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่มีพลังอยู่ถึง 14 รอยเลื่อน และสามารถสร้างความสั่นไหวได้ถึง 7 แมกนิจูดเพียงแต่สิ่งที่นักวิชาการเหล่านี้ไม่รู้คือ มันจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีมนักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คือบุคคลหนึ่งที่ติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้นได้อีก ฟันธงว่าประเทศไทยไม่ปลอดภัยจากเหตุแผ่นดินไหวแน่นอน และความไม่ประมาทเท่านั้นที่จะลดความสูญเสียในอนาคต
ทว่า เช่นเดียวกับภัยพิบัติอื่นๆ ‘ความตื่นตัวชั่วคราว’ คือปัจจัยพิเศษที่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้เสมอ ไม่ว่าที่เนปาล หรือไทย
-คนไทยควรจะเรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ที่เนปาล?
บทเรียนที่ได้แน่ๆ คือ แผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา เลือกไม่ได้ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ และถ้าเราไม่เตรียมความพร้อมเอาไว้ก็จะเป็นเหมือนที่เนปาล เพราะว่าปัญหาของเนปาลคือ ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อม อย่างเรื่องของโครงสร้างอาคารไม่ได้มีการออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว แล้ว 90% ไม่มีวิศวกรด้วยซ้ำเป็นการก่อสร้างของชาวบ้านกันเอง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าแผ่นดินไหวเราไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และสิ่งที่ทำร้ายชีวิตคนไม่ใช่แผ่นดินไหวแต่เป็นตึกถล่ม เพราะการก่อสร้างที่ไม่ดีทำให้เป็นอันตรายได้
-ทั้งๆ ที่เนปาลอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวอยู่แล้ว?
ต้องพูดว่าแนวนั้นเป็นแนวที่เสี่ยงมากๆ อยู่แล้ว อย่างเมื่อ 80 ก่อนก็หนักแต่นานมากเกินกว่าที่คนปัจจุบันจะไประลึกถึง ที่มันเบากว่าคือ 6.7 ริกเตอร์ เมื่อปีค.ศ.1988 นั่นคือ 20 กว่าปีที่ผ่านมา อันนั้นแหละที่ทำให้เขารู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง แต่เขาทำไม่ทัน เพราะตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 ก็มีการศึกษา แต่ว่ากว่าที่จะมีกฎหมายบังคับให้อาคารต้องออกแบบรองรับแผ่นดินไหวนั่นคือปี ค.ศ. 2003 ก็เพิ่ง10 กว่าปีที่ผ่านมา ในทางความเป็นจริงมีกฎหมายแต่ชาวบ้านไม่สนใจ เพราะฉะนั้นในการก่อสร้าง 90% อย่าว่าแต่ให้รองรับแผ่นดินไหวเลย แม้กระทั่งไม่มีแผ่นดินไหวมาก็แทบจะอยู่ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็น Under Standard
-ย้อนกลับมามองเมืองไทย ถ้าเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน สถานการณ์จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ของเราน่าจะอยู่ในสภาพที่ดีกว่า เพราะว่า หนึ่ง ความรุนแรงของแผ่นดินไหว เนปาลจัดเป็นอันดับ 4 ...คือในการจัดลำดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวจะมี 5 อันดับ 0-5 มีตัวเลขเป็นตัวบอก ของเนปาลนี่สูงสุดเลยคือ สเกล 4 ของเมืองไทยอย่างมากก็สเกล 2 ถ้าเป็นกรุงเทพ สเกล 1 แต่ว่าถ้าเป็นภาคเหนือตะวันตก จะสเกล 2 เพราะฉะนั้นเรื่องของความรุนแรงเราจัดอยู่ในอันดับปานกลาง ของเขาถือว่าสูงมาก
อันที่สอง คือเรื่องของโครงสร้างอาคาร ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือกฎหมายบ้านเราที่บังคับให้อาคารออกแบบรับแผ่นดินไหวในกรุงเทพ จริงๆ แล้วมีมาไม่นานนี้คือเมื่อปี ค.ศ.2007 ซึ่งกฎหมายนั้นเป็นผลมาจากเหตุการณ์สึนามิ เพราะแรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพฯ แต่ว่ามีอาคารอีกมากมายที่ไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว ซึ่งก็โชคดีว่าอาคารส่วนใหญ่เหล่านั้นมีวิศวกร โดยออกแบบให้รองรับพวกแรงลมแรงอื่นๆ หมดแล้ว ก็ถือว่ามีความปลอดภัยระดับหนึ่ง เพราะงั้นถ้ามีแผ่นดินไหวมา โอกาสที่ตึกจะถล่มแบบเนปาลก็อาจจะไม่ง่ายนัก แต่อาจเห็นอาคารเสียหายได้ หรืออาจจะเห็นอิฐบางก้อนที่ร่วงลงมา แต่โอกาสที่จะเห็นตึกถล่มน่าจะยากกว่า
ถ้าเป็นต่างจังหวัดลักษณะของบ้านที่อันตรายที่สุดก็คือ บ้านที่ชาวบ้านปลูกกันเอง ไม่มีวิศวกร อาศัยราคาถูก เนื่องจากพวกเขาไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรม เหล็กเขาก็ใส่ไม่ครบ เพราะในเรื่องของการออกแบบ เสาต้องมีเหล็กอย่างน้อย 4 เส้น ที่เชียงรายบางที่มีเหล็ก 2 เส้น บางที่ไม่มีเหล็กมีแต่ปูนหรือบางที่ไม่มีแม้กระทั่งปูน อิฐอย่างเดียว พวกนี้คือการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างเคสของเชียงรายก็มีคนตายไปหนึ่งคน ก็เป็นบ้านอิฐล้มทับลงมาทำให้คนเสียชีวิตได้
-ถึงอย่างไรคนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าในบ้านเราแผ่นดินไหวไม่รุนแรง
ความเสียหายจะเกิดขึ้นมากหรือน้อย มี 2 ปัจจัยคือ แผ่นดินไหวแรงมากหรือแรงน้อย และสิ่งก่อสร้างของเราแข็งแรงมากหรือแข็งแรงน้อย เมื่อเกิดแผ่นดินไหวถึงแม้จะแรงไม่มากแต่ถ้าโครงสร้างอาคารของเราอ่อนแอมันก็ถล่มได้ เพราะอย่างที่เชียงราย 6 ริกเตอร์ น้อยกว่าที่เนปาล แต่ว่าด้วยโครงสร้างบ้านอ่อนแอก็ถล่มได้เช่นเดียวกัน
-ทราบว่าหลังเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงราย อาจารย์ได้ไปสำรวจและเก็บข้อมูลด้วย?
ผมไปดูมาหลายครั้งมาก เสียหายถึงขั้นถล่มลงมาทั้งหมด 200 กว่าหลัง มีบ้านที่ได้รับผลระทบประมาณ 10,000 หลัง หลังจากเกิดความเสียหายคนก็มาอยู่เต็นท์กันเหมือนที่เนปาล ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากอาฟเตอร์ช็อค คือพอแผ่นดินไหวมาตอนแรกตัวเมนช็อคมันทำให้โครงสร้างเสียหายแต่ยังไม่ถล่ม แต่พออาฟเตอร์ช็อคตามมามันทำให้โครงสร้างที่เสียหายอยู่แล้วเกิดการถล่มได้ คนเลยไม่กล้าเข้าไปในบ้าน
-บทเรียนจากแผ่นดินไหวที่เชียงราย ส่งผลให้เกิดการดำเนินการอย่างไรบ้าง
ภาควิชาการแน่นอนที่สุดต้องให้ประชาชนได้รับรู้ว่าก่อสร้างอย่างไรถึงจะถูกต้อง คือการก่อสร้างให้รับแผ่นดินไหวไม่ได้ราคาแพงมาก แต่อยู่ที่ว่าคนรู้หรือไม่รู้ ถ้าเขาไม่รู้ก็จะทำแบบไม่รู้ ส่วนใหญ่ก็จะเลียนแบบบ้านข้างเคียงมา ส่วนราชการเองก็ไม่มีข้อมูลว่าถ้าจะปลูกบ้านต้องก่อสร้างยังไง เหล็กต้องใช้กี่เส้น เสาต้องใช้ขนาดเท่าไหร่ ยึดตรงไหนบ้าง ไม่มีใครไปสอนเขา ทีนี้เราทำอยู่กับสกว. ซึ่งงานวิจัยก็เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว อย่างตอนนั้นผมก็เขียนบทความ แนะนำสิบข้อในการก่อสร้างบ้าน แค่นี้ก็ช่วยชีวิตชาวบ้านได้แล้ว และไม่ได้มีหลักการอะไรที่ยุ่งยาก ถ้าเป็นบ้านหลังเล็กก็ไม่จำเป็นต้องมีวิศวกรถ้าชาวบ้านมีความรู้ ซึ่งเราไม่ได้หวังว่าถ้าแผ่นดินไหวมาบ้านจะไม่ขยับเลยอันนี้ไม่ใช่ เรายอมให้แตกได้ขยับได้ แต่ต้องไม่ถล่มกองลงมา เพราะถ้าถล่มเมื่อไหร่คนก็ตาย แต่ตราบใดที่บ้านหรืออาคารยังเป็นทรงอยู่ยังไงคนก็รอด นี่คือวิธีที่เราออกแบบ
เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ต้องการอะไรที่สมบูรณ์แบบ เพราะราคาจะยิ่งแพง ต้องการเพียงแต่ว่าประชาชนไม่เสียชีวิต เพราะในทางวิศวกรรมเราบอกว่าหลักการออกแบบต้อง Life Safety แต่ถ้าเป็นโครงสร้างสำคัญ เช่น โรงพยาบาล ซึ่งจะเสียหายไม่ได้เพราะต้องคอยบริการประชาชนตลอดเวลา อันนั้นต้องเป็นระดับที่สูงกว่านั้น ทำให้เหนือมาตรฐาน คือจะบอกว่าแค่รักษาชีวิตคนไม่ได้ ต้องก่อสร้างให้ใช้การได้ด้วยหลังจากที่เกิดหตุการณ์แล้ว แต่ถ้าบ้านทั่วๆ ไปไม่จำเป็น เพียงแต่เขาไม่มีความรู้ว่าต้องทำยังไง
-ความมุ่งหวังของอาจารย์และทีมวิจัยคืออะไร แล้วจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร
โครงการที่ผมทำอยู่ชื่อการเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหว วัตถุประสงค์ของเราคือมองว่ากฎหมายเพิ่งออกมาใหม่ แต่ว่าบ้านเรือนก่อสร้างมาก่อนที่จะมีกฎหมายบังคับใช้ ก็แปลว่าอาคารพวกนี้ไม่ได้มาตรฐานแต่เราสามารถที่จะทำได้มาตรฐานได้ ซึ่งถ้าเราจะทุบทิ้งและสร้างใหม่คงจะวุ่นวายกันมหาศาลเสียทั้งเรื่องเงินและเวลา เราเลยมองว่าอาคารหลายหลังมีความแข็งแรงระดับหนึ่งเพียงแต่ว่าอาจจะไม่แข็งแรงจนต้านแผ่นดินไหวได้ ทำอย่างไรถึงจะไปเสริมให้แข็งแรงขึ้นในเชิงวิศวกรรมก็เลยเป็นที่มาของการวิจัยนี้
การวิจัยนี้มีผลกระทบมาก เพราะว่าเราต้องมุ่งหาวิธีที่ประหยัด และต้องไม่ใช่วิธีที่ใช้การนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ เป็นวิธีการที่ง่ายๆ วัตถุประสงค์คือรักษาชีวิตของประชาชน ต้นทุนจึงต้องประหยัดและเราก็พยายามประชาสัมพันธ์ สื่อสารโดยการจัดสัมนา จัดทำเป็นหนังสือ ‘ประเทศไทยเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวแค่ไหนและรับมืออย่างไร’ อันนี้เป็นเอกสารที่เราพยายามจะให้สกว.แจกจ่ายออกไป
-หลังจากดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วคิดว่าปัญหาในการลดความสูญเสียจากภัยแผ่นดินไหวคือ?
ปัญหาของแผ่นดินไหวคือ ทุกครั้งคนจะรู้สึกอยู่แค่ไม่เกิน 1 เดือน เพราะว่ามีข่าว แต่หลังจากนั้นก็เข้าสู่ภาวะปกติ ทุกคนต้องทำมาหากินไม่มีใครมาสนใจเรื่องนี้แล้ว เพราะฉะนั้นในระยะเวลา 1 เดือนจะมีคนเสริมแบบนี้แบบนั้นแต่ว่าในทางปฏิบัติไม่มีจุดตั้งต้นคนก็ไม่ทำ ซึ่งถ้าจะให้เอกชนเริ่มก็จะไปกระทบกับธุรกิจเขา ความจริงรัฐบาลต้องเป็นคนเริ่ม ต้องทำให้เป็นตัวอย่างอาจจะคัดเลือกบ้านหรืออาคารมาจำนวนหนึ่งแล้วรัฐบาลทำเป็นตัวอย่างให้ดู ถ้ารัฐบาลไม่ขยับก็ไม่มีใครทำตามหรอก
สถานการณ์ไม่ใช่ว่าเราไม่มีความรู้แต่ว่าการที่จะเอาความรู้ตรงนี้สื่อสารออกไปนักวิจัยไม่มีแรงขนาดนั้น คือต้องมีหน่วยงานที่มีผลสะท้อนกับชาวบ้านจริงๆ เช่น อบต. หรืออื่นๆ
-บางคนก็อาจจะคิดว่ามันคงไม่ไหวกันบ่อยๆ หรอก ลงทุนไปก็ไม่คุ้ม?
ใช่ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่คิดแบบนี้แปลว่าเราประมาท เหมือนที่เนปาลอยู่มา 80 ปี ใครจะจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ ซึ่งบางคนก็คิดว่าเกิดไปแล้วไม่มีอีกแล้ว แต่ว่าของเนปาลที่ไหวทั้งหมดพลังงานเพิ่งออกไปแค่ 5% แปลว่ายังเหลือค้างอีกเยอะ และถ้าไหวครั้งใหญ่ขึ้นมาใครจะรู้ ของบ้านเราก็เหมือนกันคือเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงแต่ว่าไม่ค่อยไหว แปลว่ามันยังสะสมอยู่
-ไม่ใช่ว่าความเสี่ยงน้อยอย่างที่เข้าใจกัน?
เราตีความแบบนั้นไม่ได้ คนเรามักจะคิดว่ามันไม่มี เพราะมันไม่เคยเกิด ไม่น่ากลัวเพราะไม่เคยเกิดอันนี้คือความประมาท
-ถ้าจะเกิดอีกครั้งพื้นที่ไหนที่ควรระวัง?
ในแง่วิชาการบอกความเสี่ยงและระดับความรุนแรงได้ แต่บอกไม่ได้ว่าวันไหนเวลาไหน เราจะบอกได้ว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในรอบ 10-20 ปี ข้างหน้า อย่างในโตเกียวก็มีจุดเสี่ยง เขาใช้คำว่า overdue คือเลยเวลาแล้วนะ แผ่นดินไหวมีเป็นรอบเหมือนกับฤดูฝนที่มาทุกปีแต่รอบมันนาน อย่างเนปาล 8 ริกเตอร์ รอบเขาคือ 80 ปี ซึ่งโตเกียวเลยเวลาที่แผ่นดินไหวจะมาแล้วแต่ว่าเขาเตรียมความพร้อมไว้เสมอ ระดับความรุนแรงของเนปาลกับญี่ปุ่นไม่ต่างกันเลย แต่ว่าญี่ปุ่นเตรียมความพร้อมดีกว่าทำให้น่าจะลดความเสียหายได้ ไม่ถึงกับไม่มีคนตาย...เป็นไปไม่ได้ แต่จำนวนคนตายต้องน้อยที่สุดและการฟื้นฟูต้องเร็วที่สุด อันนั้นคือเป้าหมายของเขา
-แล้วในเมืองไทยล่ะคะ?
เหนือ ตะวันตก กรุงเทพและปริมณฑล ส่วนใหญ่ที่อันตรายจะมี 2 ปัจจัย คือบริเวณที่มีรอยเลื่อนเยอะซึ่งจะไปกระจุกอยู่ที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และบริเวณที่มีชั้นดินอ่อนหรือดินตะกอนทับถมนั่นก็คือกรุงเทพ 2 ปัจจัยนี้อันตราย ที่เนปาลก็เป็นปัจจัยคล้ายกับกรุงเทพ คือมีชั้นดินตะกอนและเป็นแอ่งใหญ่ และดินพวกนี้พอโดนกระตุ้นนิดเดียวก็ขยับแรง
พอเกิดแผ่นดินไหวเรามี 2 ทฤษฎี คือ หนึ่ง การปลดปล่อยพลังงานสามารถไปกระตุ้นจุดอื่นได้ มีทั้งบวกกับลบ บวกคือทำให้พลังานหายไปแต่มันก็เหมือนกับซิปแตก แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ก็คาดการณ์ไม่ได้ว่าตรงที่หายไปจะไปปูดที่ไหน เรารู้แต่ว่าสถานที่ที่มีความเสี่ยงก็ยังเสี่ยงอยู่ เพราะถึงแม้ภาคเหนือจะเกิดไปแล้วแต่ว่ารอยเลื่อนมันยาวหลายสิบกิโล ซึ่งเกิดตรงหางกับตรงหัวก็คนละจุดแล้ว ฉะนั้นเชียงรายก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ กาญจนบุรี รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ มันนิ่งอยู่นานแล้ว เพราะฉะนั้นจะเกิดเมื่อไหร่ไม่รู้ รู้แต่ว่าเกิดได้ถึง 7 ริกเตอร์ ถ้าพูดถึงเชียงรายก็ยังไกลจากกรุงเทพ แรงแค่ไหนก็เหมือนกับกระฉอกมา แต่ถ้ามาเกิดที่กาญจนบุรีคราวนี้ใกล้แล้ว จะไม่ได้รับแค่การกระฉอก จะรับแบบเต็มๆ แล้วก็อย่างที่บอกชั้นดินอ่อนมันทำให้อาคารบางประเภทถูกกระตุ้นได้แรงขึ้น เป็นความเสี่ยงของเรา
ปัจจุบันกฎหมายไทยครอบคลุมทั้ง 3 จุดแล้ว ดังนั้นถ้าออกแบบอาคารใหม่ก็มั่นใจว่าปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่ที่เป็นห่วงคือ อาคารเก่าๆ ที่ก่อสร้างมาก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้ คือยังไม่มีกิจกรรมที่จะไปเสริมอย่างชัดเจน ต้องเริ่มที่โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ เป็นตัวอย่าง
-สำหรับกรุงเทพฯในกรณีร้ายแรงที่สุดจะเกิดอะไรขึ้น
บางประเทศ เช่น เม็กซิโกซิตี้ก็ไม่มีรอยเลื่อน แต่ว่าถล่มไปแล้ว คนตายเกือบหมื่นเมื่อปีพ.ศ. 2528 ทั้งที่แผ่นดินไหวเกิดห่างออกไปตั้ง 300 กิโลเมตร อันนี้เรียกว่าเป็นภัยจากแผ่นดินไหวระยะไกล เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจากที่ไกลๆ อยู่ในรัศมี 200-300 กิโลเมตร แล้วคลื่นส่งมาถึงในบริเวณที่เป็นชั้นดินอ่อน เช่น กรุงเทพฯ พอส่งมาถึงชั้นดินก็จะขยับเละเลย
-การคอรัปชั่นในงานก่อสร้างเป็นปัญหาอย่างหนึ่งไหม
ก็อาจจะมีผลทำให้โครงสร้างอ่อนแอขึ้น เช่นเราดีไซน์เหล็กไว้ 8 เส้น แต่มีคนไปทำให้เหลือ 4 เส้น แปลว่าน้ำหนักที่ควรจะรับได้ก็หายไป 2 เท่า เพราะฉะนั้นอย่าว่าแต่แผ่นดินไหวเลยแม้กระทั่งตัวโครงสร้างเองรับน้ำหนักปกติก็ไม่ค่อยจะได้แล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง
อย่างในบางประเทศทำไมโรงเรียนเสียหายเยอะ อันนี้เป็นเพราะว่าการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานหรือเปล่า หรือเป็นเพราะราชการเองหรือเพราะการคอรัปชั่นหรือเปล่า ทำไมโรงเรียนถึงพังก่อนทั้งที่ควรจะต้องเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย
-จากการศึกษามีข้อบ่งชี้ว่าโรงเรียนเป็นจุดหนึ่งที่อันตราย?
ที่อันตรายเพราะว่าชั้นล่างจะสูงกว่าชั้นอื่นๆ เพราะชั้นล่างจะเป็นโถงเพื่อให้เด็กได้มีพื้นที่ แปลว่าเรามีชั้นใต้ถุนสูงส่วนชั้นบนเป็นห้องเรียนปกติก็ไม่ต้องสูงมาก ชั้นล่างเลยเป็นจุดอ่อนเนื่องจากแผ่นดินไหวไม่ชอบอะไรที่ผิดปกติ ถ้ามีอยู่ 4 ชั้น ชั้นล่างสุดสูงกว่าเพื่อนจะโดนทำลาย จะโดนซัดเสาหมดเหมือนกับเอามีดมาเฉือน ทำให้ลงไปกองกับพื้น เราเรียกว่าการพังทลายแบบชั้นอ่อนของอาคาร ซึ่งแบบของเราก็เป็นหน้าตาอย่างนั้น ก็เลยต้องไปหาแนวทางว่าจะไปเสริมอย่างไร วิธีการก็คือเอาเหล็กไปคาดเป็นทะแยงไปดามตึกดามเสา พอแผ่นดินไหวมาเหล็กที่เป็นกากบาทก็จะทำงานทำให้ตึกไม่ถล่มลงมา ถ้าเปรียบตึกเหมือนกับร่างกายของคนเราก็ย่อมมีจุดอ่อนว่าแผ่นดินไหวมาจะเล่นงานจุดไหน ซึ่งชาวบ้านไม่รู้หรอกแต่วิศวกรรู้ เพราะเราสามารถจำลองว่าถ้ามีคลื่นมีการเขย่าตรงไหนจะแตก และมันจะถล่มจากจุดไหนก่อน แล้วเราก็หาทางที่จะไปเสริมในจุดนั้น
-แล้วเราจะผลักดันให้เกิดการปฏิบัติได้อย่างไร
คือในเรื่องการจัดการความรู้ของเราดีกว่าเนปาลเยอะ เพราะว่าเราศึกษาเรื่องพวกนี้มานาน ตั้งแต่เรื่องของความเสี่ยงเรารู้ดีมากว่าเราเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน รู้ว่าต้องเสริมยังไงแต่เราขาดที่การปฏิบัติ ซึ่งต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริงๆ ล่าสุดเราส่งข้อเสนอไปทางสกว.และให้เขาเป็นคนประสานต่อไปยังคสช. แต่ก็ไม่แน่ใจว่าไปถึงแล้วจะเป็นยังไง เข้าใจว่าเขามีงานเยอะ แต่ว่าอย่างน้อยเราก็ได้ส่งเสียงออกไป
-ข้อเสนอที่ว่ามีอะไรบ้าง
อันดับแรก ฝรั่งบอกว่าแผ่นดินไหวไม่ได้ฆ่าคน ตึกต่างหากที่ฆ่าคน เราต้องคัดกรองความเสี่ยงตึกก่อน เพราะว่าชาวบ้านหรือเอกชนเขาก็ไม่รู้หรอกว่าตึกของเขาเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง รัฐต้องไปสกรีนนิ่งซึ่งราคาไม่แพง และให้คะแนนความเสี่ยงซึ่งดูได้จากรูปร่างของตึกภายนอก เมื่อแยกได้แล้วว่าตึกไหนเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย ตึกที่ไม่ค่อยเสี่ยงก็จบไม่ต้องไปยุ่งอะไร ตึกที่เสี่ยงมากๆ ก็มาดูว่าอันตรายจุดไหน เชื่อผมเถอะตึกที่สร้างออกมาจะจำแนกได้ไม่กี่ประเภทหรอก เป็นชั้นอ่อนบ้าง เสาเล็กเกินไปบ้าง เราก็เสริมไปทีละรูปแบบและทำให้เป็นลักษณะมาตรฐาน
ทีนี้ในขั้นตอนการเสริมรัฐบาลก็คงไปจ่ายเงินให้กับทุกบ้านไม่ได้ แต่รัฐบาลต้องออกมาช่วย เช่นถ้าคุณเสริมก็นำมาหักค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีได้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการได้ เป็นมาตรการที่เราวางแผนไว้หมดแล้ว คือมาตรการบางอย่างเกี่ยวกับภัยพิบัติเราป้องกันไม่ให้เกิด แต่แผ่นดินไหวมันป้องกันไม่ได้ต้องป้องกันตัวเอง โดยเน้นเรื่องของอาคาร วันนี้ทำได้ทันทีแต่เราขาดกำลังคน แค่เขาระดมคนเข้ามาคัดกรองตึกตัวแรกก่อนเลย จะได้รู้ว่าตึกไหนอันตราย เท่านี้เราก็ปลอดภัยแล้ว
-คิดว่าจะได้รับการตอบรับไหมคะ
คิดว่าครึ่งๆ เพราะว่าเรื่องแผ่นดินไหวได้รับการตอบรับมากขึ้น แรกๆ เราถูกโจมตีด้วยซ้ำหาว่ามาขู่ให้คนกลัว เรื่องที่เราเปรียบเทียบกับเม็กซิโกซิตี้ว่าเคยเกิดขึ้น ก็มีคนมาบอกว่าไม่เหมือนกันแต่เขาไม่ได้ดูข้อมูลที่เราวัดมา อย่างเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงรายดินกรุงเทพนี่กระเพื่อม 5 เท่า เมื่อเทียบกับอุดรที่มีระยะทางเท่ากัน แต่ของอุดรแผ่วมาก เพราะว่าดินอ่อนขยายได้ คนเขาไม่เห็นข้อมูลก็ไม่เชื่อ หรือว่าที่เชียงรายก่อนหน้านี้ก็ไม่คิดว่าจะถึงขั้นนั้น แผ่นดินไหวอะไรก็เกิดขึ้นได้ไม่ควรประมาท เราต้องยอมรับว่าพื้นที่เราเสี่ยง การที่ไม่เกิดแผ่นดินไหวแปลว่าพลังงานยังไม่ถูกปลดปล่อย ไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิด วางใจไม่ได้
-เรื่องความพร้อมของประชาชนมีมากน้อยแค่ไหน
ยังไม่ค่อยเป็นมาตรฐานเดียวกับต่างประเทศ คือมันไม่เหมือนกับญี่ปุ่นที่ภัยพิบัติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา ถ้าเกิดอะไรขึ้นเขาก็ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง นั่นแปลว่าเตรียมรับสถานการณ์ไว้แล้ว ซึ่งที่เนปาลเป็นคนละอย่างกัน เกิดความโกลาหล เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีใครอยู่เพราะเขาก็ต้องไปหาครอบครัวตัวเองก่อน ของประเทศไทยเรายังดีกว่าเนปาล แต่ถามว่าเท่าญี่ปุ่นไหมบอกเลยว่าไม่มีทาง ผมว่าถ้าเจอแผ่นดินไหวกันจริงๆ คงตกใจ ของญี่ปุ่นเขย่าปุ๊ปเขาหลบเลย เพราะฝึกกันตั้งแต่อนุบาล เรียกว่าการตอบสนองโดยไม่ต้องคิด ประเทศไทยถึงเวลาที่ต้องฝึกมานานแล้วและผมมองว่าไม่ได้เสียเงินอะไร เป็นความปลอดภัยของเราเอง และเป็นสิ่งที่ต้องทำ
-ปัจจุบันบ้านเราก็มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลภัยพิบัติต่างๆ คิดว่าเพียงพอหรือยัง
หน่วยงานเรามีหลายส่วน สำนักงานเฝ้าระวังแผ่นดินไหว มีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ หน่วยงานป้องกันภัยภิบัติก็มีทั้งหน่วยงานราชการทางด้านกรมโยธา กรมอุติวิทยา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านจะฟังใคร จริงๆ แผ่นดินไหวของไทยมีคณะกรรมการแผ่นดินไหวแห่งชาติ แต่ว่ามันเหมือนกับเป็นองค์กรที่แทบจะไม่มีการประชุมอะไรกันเลย เพราะอย่างนั้นทำอย่างไรถึงจะให้เรื่องนี้มีการทำงานแบบบูรณาการ เพราะถ้าเกิดเหตุขึ้นแล้วควบคุมคนไม่ได้ก็จะจลาจลอย่างที่เนปาล น้ำไม่มี อาหารไม่มี แล้วเดี๋ยวโรคระบาดจะตามมาเกิดปัญหาสารพัด เป็นเรื่องของการจัดการยามวิกฤต ข้อมูลจะต้องแม่น คนต้องฟังให้ชัดเจน
-ถึงวันนี้ยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับแผ่นดินไหวอะไรอีกไหมคะที่ประชาชนควรรู้
เวลาเกิดแผ่นดินไหวทุกครั้งทำให้ผมมีความรู้สึกว่าถ้าเราประมาทเมื่อไหร่เราโดนเล่นงานทุกที และคนไทยมักมีความเชื่อว่าไม่มีหรอกเพราะมันไม่เคยมี อันนี้เป็นความเชื่อที่ผิดและนำไปสู่การไม่ทำอะไร อย่างสึนามิคิดว่ามีไหมก็มี น้ำท่วมปี 54 ครึ่งประเทศก็มี สิ่งที่เราไม่เคยคาดการณ์ยังเกิดเลย แต่แผ่นดินไหวเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์อยู่แล้ว
เรื่องแผ่นดินไหวไม่ใช่แค่รัฐอย่างเดียวสื่อมวลชนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ต้องคอยรายงาน สังเกตได้ว่ารัฐจะเดินตามสื่อ คือถ้าสื่อเงียบรัฐก็จะเฉยๆ แต่ถ้าสื่อกระตุ้นเรื่อยๆ รัฐก็อยู่เฉยไม่ได้ เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนมีบทบาทมากในการกระตุ้นให้รัฐและประชาชนกระตือรือร้น