มอแกนที่เกาะเหลา
ถ้าเอ่ยถึงข้าวหลามคนคิดถึงหนองมน ชลบุรี ถ้าจะกินขนมหม้อแกงก็พะยี่ห้อเพชรบุรีไว้เลย
ปลาทูต้องของแม่กลอง เจ้าตำรับหน้างอคอหัก ผ้าไหมแพรวาต้องที่กาฬสินธุ์ ฯลฯ แล้วกะปิ ผมก็เพิ่งรู้ว่าถ้ากะปิดีที่ขึ้นชื่อต้องเป็นกะปิเกาะเหลา ที่ระนอง เป็นกะปิที่ดีชั้น 1 ทำจากเคยแท้ อ่อนเกลือ มีกลิ่นหอม ที่สำคัญหายากแต่ไม่แพงนัก เมื่อมีโอกาสมาระนองก็เลยขอไปตามดูถึงย่านผลิตกะปิดีที่เกาะเหลาซะเลยครับ
เกาะเหลาที่ว่านี้จะเรียกว่าเกาะก็ไม่ค่อยถนัดปากนัก แต่ถ้านิยามเกาะคือที่ที่มีน้ำล้อมรอบก็คงจะใช่ แต่ต้องอธิบายเพิ่มว่าเป็นเกาะที่ใกล้แผ่นดิน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าโกงกางที่ขึ้นกันหนาแน่นจนแทบจะเชื่อมต่อกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเกาะใกล้แผ่นดินด้านระนอง ด้านที่หันหาแผ่นดินมีคลองน้ำกว้างเพียงชั่วว่ายน้ำข้ามได้ แต่ด้านที่หันหาทะเลอันดามันนั้น ก็จะเห็นจังหวัดเกาะสองของเมียนมาร์ เกาะช้าง เกาะทะลุของอุทยานฯหมู่เกาะระนอง และเกาะพยามอยู่ไกลๆ ออกไป
เริ่มแรกผมสะดุดตาเกาะเหลาเมื่อนั่งเรือผ่านไปเที่ยวเกาะพยาม เห็นบ้านเรือนสร้างบนน้ำยื่นออกมาในทะเล เป็นหย่อมบ้านเล็กๆ ดูสงบเงียบ แต่ครั้งเมื่อตั้งใจไปจริงๆ เราต้องมาลงเรือที่ท่าเรือปากน้ำระนอง ซึ่งจอกแจกจอแจไปด้วยผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้านที่สัญจรกันไปมา ท่าน้ำก็คับคั่งไปด้วยเรือรับจ้างที่แล่นกันขวักไขว่พลุกพล่านยิ่งกว่าท่าพระจันทร์ซะอีก โดยปกติไม่มีเรือโดยสารไปเกาะเหลาโดยเฉพาะ แต่โชคดีวันที่ผมเดินทางมีคณะอาสาสมัครจากมาเลเซียมาสมทบกับครูชาวบราซิลที่มาปักหลักสอนหนังสือและเผยแพร่ศาสนา เขาขนข้าวของไปให้โรงเรียนบนนั้นพอดี ก็เลยพลอยได้อาศัยใบบุญเขาเดินทางสู่แหล่งผลิตกะปิดีแห่งนี้ด้วย
บ้านเรือนที่ผมเห็นยื่นออกมาในทะเลนั้นจริงๆ เป็นด้านที่เรียกว่าเกาะเหลานอก เป็นหมู่บ้านมอแกนเกือบ 100 % มีครัวเรือนราว 40-50 หลัง คนราว 300 คน ที่ว่าเกือบ 100 % เพราะมีครัวเรือนคนไทยอยู่ด้วย 1 หลังคือครอบครัวพี่เนาวนิตย์ แจ่มพิศ ที่เป็นประธานกลุ่มสตรีเกาะเหลาอีกฐานะหนึ่ง ส่วนอีกด้านของเกาะหรือด้านที่หันเข้าหาแผ่นดินมีคลองกั้นนั้น เป็นหย่อมบ้านคนไทยทั้งหมด เรียกว่าด้านเกาะเหลาใน ทางนี้มีโรงเรียน มีกระชังเลี้ยงปลาด้วย
หมู่บ้านมอแกนบนเกาะเหลานั้นเป็นบ้านมอแกนแบบเดิมๆ สร้างด้วยวัสดุง่ายๆ บ้านยกพื้นเตี้ยๆ พอให้ทำงานใต้ถุนบ้านได้ สร้างเรียงกัน เกาะเหลาเป็นเกาะที่ไม่มีหาดทราย มีแต่หาดหิน ผมไปดูเขาทำกะปิเคยที่พี่เนาวนิตย์บอกว่าเดี๋ยวนี้หาเคยได้น้อยลงมากนับจากหลังสึนามิเป็นต้นมา มอแกนกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบจากสึนามิเช่นกัน แต่เดิมเขาหาเคยได้ พี่เนาว์นิตย์ก็รับซื้อเคยและทำกะปิออกขาย(กลุ่มคนไทยด้านเหลาในก็ทำกะปิเคยเช่นกัน) แต่พอเคยหายาก มอแกนกลุ่มนี้ก็แทบจะไม่มีอาชีพ อยู่กันแบบแร้นแค้นเครื่องมือประมงก็แทบไม่มี (เสียหายจากสึนามิ)
ทุกวันนี้พวกผู้ชายต้องออกไปรับจ้างดำปลิงทะเลถึงประจวบฯ บ้างก็ถูกนายทุนจ้างออกไปดำน้ำระเบิดปลา ซึ่งการดำน้ำลึกด้วยตัวเปล่านี้ส่งผลให้คนมอแกนบนเกาะเหลา โดนน้ำหนีบ พิการกลับมาก็หลายคน นี่ยังไม่นับคนที่ตายใต้น้ำอีก บางส่วนก็ออกไปรับจ้างบนฝั่ง แต่ไปไหนก็ไปยาก เพราะเขาไม่มีบัตรประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นมอแกนฝั่งไทย ส่วนใหญ่พูดไทยได้ พอไม่มีบัตรประชาชน การขอรับสวัสดิการทางการรักษาพยาบาลจึงเป็นเรื่องยาก คนกลุ่มนี้จึงไม่ค่อยไปหาหมอ เจ็บป่วยก็รักษากันเองตามมีตามเกิด ทางหน่วยงานปกครองก็ไม่ค่อยให้ความสนใจคนกลุ่มนี้ ปล่อยปละละเลยเขาเหมือนคนที่ถูกลืม
สิ่งที่เขาต้องการคือบัตรประชาชน บนเกาะมีมอแกนที่ได้บัตรประชาชนแค่ 5 คน ในนามสกุลประมงกิจ ที่สมเด็จย่าพระราชทานนามให้ เขาไม่อาจเร่ร่อนได้เหมือนแต่ก่อนจะต้องเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง ออกไปรับจ้างพม่าที่เกาะสอง พม่าก็ว่าเป็นคนไทย อยู่เมืองไทยทางการก็ไม่ให้บัตรประชาชน ไม่ดูแลความเป็นอยู่ ดูๆ ไปชีวิตแทบไม่ต่างจากโรฮินจาในยะไข่ของพม่าแม้แต่นิด เรื่องบัตรประชาชนนี่ก็จะดูใจหน่วยงานด้านปกครองในพื้นที่ว่าทางอำเภอ จังหวัด และกรมการปกครอง จะเร่งรัดให้เขาอย่างไรบ้าง
มอแกนกลุ่มนี้น่าสงสารมาก ตกสำรวจ แต่ครั้งหลังสึนามิกลุ่มเอ็นจีโอทั้งหลายมาดูมาเอาข้อมูลไปเหมือนกัน เสนอผลงานขอเงินต่างชาติ แต่เอาไปพัฒนาที่อื่น จนป่านนี้มอแกนที่นี่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากใครเลยแม้สึนามิจะผ่านมานับสิบปีก็ตาม ที่นี่จึงมีสภาพอย่างที่เห็น ทุกวันนี้มีศูนย์เมอร์ซี่เข้ามาดูแลในเรื่องเด็กๆ มาสร้างโรงเรียนเลี้ยงเด็กเล็กๆ มีอาหารกลางวันให้ มีครู แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำ ดันมีคนจากบนฝั่งเอาหมาไปปล่อยบนเกาะนี้มากมาย จนแทบจะเป็นเกาะหมาอยู่แล้ว อาหารที่จะเอามาเลี้ยงเด็ก ศูนย์เมอร์ซี่เลยต้องเจียดมาเลี้ยงหมาเสียเป็นส่วนมากอีก
บรรดาแม่บ้านชาวมอแกนก็มีอาชีพรับจ้างแกะหอยวันหนึ่งค่าแรงไม่กี่บาท ต้องไปเอาหอยจากฝั่งมาไม่ก็ไปเสาะหาหอยเจาะที่เป็นหอยนางรมขนาดเล็กเอามาแกะขาย กิโลกรัมละ 50 บาทเท่านั้น วันๆ อาจหาได้ไม่ถึงกิโล ดูเอาก็แล้วกันว่าเขาแร้นแค้นขนาดไหน
กะปินั้นหาเคยได้น้อยก็เลยมีผลผลิตน้อยไปด้วย กะปิเกาะเหลาแท้ๆ จึงหายาก มักเห็นแต่ของปลอมและของที่เอาไปผสม(ก็ปลอมอยู่ดี) สิ่งที่มอแกนเกาะเหลาอยากให้ช่วยเป็นการเฉพาะหน้าตอนนี้ก็คือ ยารักษาโรคพื้นฐาน อวนเพื่อใช้ทำกิน (ปากละ 2,000-3,000 บาท) แต่เท่าที่ผมดูเสื้อผ้า อาหารการกิน เงินบริจาคช่วยศูนย์เมอร์ซี่ก็ดูขาดแคลนไปหมด แต่ที่สำคัญเขาอยากได้บัตรประชาชนครับท่านนายกฯ
“แต่เราอยากให้คนภายนอกมาเยี่ยม มาดูเราด้วยตาตัวเองมากกว่า สิ่งที่เราบอก ไม่เท่ากับสิ่งที่จะมาเห็นเอง” เสียงเชิญชวนจากคนเกาะเหลาบอกมาแบบนี้
ใครที่อยากบริจาคสิ่งของช่วยมอแกนที่นี่หรือไปดูข้อเท็จจริง ติดต่อพี่เนาวนิตย์ โทร.08 1426 8309, 08 3590 6140 คนไทยไม่ทิ้งกันแม้เขาจะเป็นมอแกนก็ตาม ผมเชื่ออย่างนั้น....